วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
Home > Cover Story > กลยุทธ์กัปตันหนุ่ม “โก๋นักบิน” ธุรกิจต้องมีแผนสำรองสู้วิกฤต

กลยุทธ์กัปตันหนุ่ม “โก๋นักบิน” ธุรกิจต้องมีแผนสำรองสู้วิกฤต

“ผมไม่เคยคิดอยากเป็นนักธุรกิจ เพราะอาชีพเป็นนักบิน แต่โควิดทำให้ผมหยุดบิน ตอนนั้นบริษัทการบินไทยประชุมจะเลย์ออฟนักบิน มีกระแสข่าวออกมาเยอะมาก ผมคิดว่าโดนไล่ออกแน่ๆ ไม่มีโอกาสเป็นนักบินแน่ๆ”

ณัฐธร และขวัญ นักบินฝูงบิน Boeing 777 และ Boeing 787 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และผู้ก่อตั้งบริษัท โก๋นักบิน กรุ๊ป จำกัด กล่าวกับ “ผู้จัดการ 360 องศา” ถึงจุดเริ่มต้นกิจการร้านปาท่องโก๋ หลังเจอวิกฤตโควิดเล่นงานอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแบบ 100% ช่วงปี 2563 ต้องหยุดการบินติดต่อกันยาวหลายเดือน

“แรกๆ ผมจะขายของในตลาดบางกะปิ แต่เผอิญช่วงโควิดตอนนั้นปาท่องโก๋ครัวการบินไทยดังมาก ผมไปต่อคิวซื้อเพราะแม่อยากรับประทาน ต่อคิวตั้งแต่ 6 โมงเช้าก่อนประชุม 8 โมงเช้า ได้คิวที่ 200 กว่าๆ ผมฝากพี่หลังร้านช่วยเก็บให้ 1 ชุด พอประชุมกลับมาเกือบสิบโมง เขาไม่ได้เก็บให้เพราะคิวเยอะมาก ใช้อภิสิทธิ์ไม่ได้ ผมโมโหมาก ปาท่องโก๋นี่ขายดีจัดเลยหรือ  คิดขึ้นทันทีปาท่องโก๋แค่นี้ ทำเองได้”

ทว่า ความฮึกเหิมไม่ได้ทำให้สำเร็จง่ายๆ เพราะทำทิ้งเยอะมาก หลายรอบ กระทั่งได้สูตรเด็ดและทดลองทำตามสูตร แต่ปรับส่วนผสมเพื่อลดเวลาการหมัก จากปกติต้องหมักแป้งข้ามคืน เขาเปลี่ยนส่วนผสม สามารถลดเวลาการหมักเหลือเพียง 1 ชั่วโมง ทำเกือบสิบครั้ง ประมาณเดือนเศษๆ จนได้สูตรที่ลงตัว ปรากฏว่า อร่อย ชนิดที่ภรรยาชิมแล้วต้องตะโกน “อร่อยที่สุดเท่าที่เคยกินมา!!”

ขณะเดียวกัน ด้วยความที่ภรรยาเป็นคนหัวธุรกิจ เธอคิดทันทีทำขายได้ สามารถสร้างสตอรี่จากความเป็นนักบิน  นักบินตกงานมาทอดปาท่องโก๋ขาย ทั้งสองคนจึงเริ่มโพสต์ขายผ่านเฟซบุ๊ก ใช้ชื่อ “โก๋นักบิน” โชว์ความน่ารับประทานพร้อมบริการส่งถึงบ้าน ผลตอบรับดีมาก จึงตัดสินใจเปิดหน้าร้านเล็กๆ ย่านซอยมิสทิน จากปากต่อปาก ได้ลูกค้าประจำเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ที่สุดมีคนสนใจติดต่อขอซื้อแฟรนไชส์

ณัฐธรกล่าวว่า โมเดลการทำแฟรนไชส์ของเขาเน้นความง่าย สมมุติให้คนคนหนึ่งที่ไม่เคยทำปาท่องโก๋ เรียนวิธีการทำเพียงวันเดียว ทำได้และอร่อยด้วย รสชาติไม่เพี้ยนและใช้เวลาหมักไม่นาน เพราะได้โรงงานผลิตแป้งในไทย ซึ่งนำเข้าแป้งสาลีจากสหรัฐอเมริกาบวกกับยีสต์คุณภาพจากฝรั่งเศส ทำปฏิกิริยากับแป้งได้เร็ว จากปกติ สูตรเดิมๆ ต้องหมักแป้ง 6-8 ชั่วโมง หรือต้องหมักตอน 5 ทุ่ม เที่ยงคืน เพื่อทำขายตอนเช้า แต่การใช้ยีสต์จากฝรั่งเศสช่วยลดการหมักเหลือเพียง 1 ชั่วโมง และทอดได้เลย

ส่วนน้ำเต้าหู้มีกระบวนการทำง่ายเช่นกัน โดยใช้ผงถั่วเหลืองออแกนิก ไม่ต้องเสียเวลาคั้นสด สามารถควบคุมรสชาติความอร่อยและมาตรฐานเหมือนกันทุกสาขา

ที่สำคัญ จุดขายที่ทำให้โก๋นักบินเดินอยู่ได้ในตลาด คือ น้ำมันทอดต้องใส ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ไม่ใส่สารแอมโมเนีย และน้ำเต้าหู้ทำจากถั่วเหลืองออแกนิก เพิ่มความพรีเมียมมากขึ้น แม้ต้นทุนวัตถุดิบสูงกว่าปาท่องโก๋ในตลาดทั่วไป แต่เป็น Pain Point ที่ผู้บริโภคยุคใหม่สามารถเลือกได้

“ผมเริ่มขายจริงจังช่วงปี 2564 และเซตระบบแฟรนไชส์เปิดสาขาแรกที่ตลาดร่มเหลือง พาราไดซ์พาร์ค ศรีนครินทร์ ขายดีมาก สามารถขยายสาขาแฟรนไชส์เกือบร้อยสาขา แต่เศรษฐกิจช่วงปี 2566 ถึงตอนนี้ ตลาดนัด พวกตลาดเดินเล่นเจ๊งเกือบหมด เราเองต้องปิดตัว ต้องเน้นทำเล เปิดสาขาในห้างหรือศูนย์การค้ามากขึ้น”

ปัจจุบันโก๋นักบินมีสาขา 50 กว่าแห่ง แบ่งเป็นสาขามาสเตอร์ที่บริษัทลงทุนเอง 7 สาขา ที่เหลือเป็นสาขาแฟรนไชส์ โดยบริษัทตั้งเป้าหมายภายในสิ้นปีนี้จะขยายสาขามาสเตอร์เพิ่มเป็น 10-15 สาขา ส่วนสาขาแฟรนไชส์ไม่จำกัด หากมีผู้สนใจพร้อมลงทุน สามารถเปิดได้ทันที 1-2 สาขาต่อเดือน ซึ่งสาขาส่วนใหญ่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ขณะที่ต่างจังหวัดมีที่ จ. สุราษฎร์ธานี เซ็นทรัลหาดใหญ่ และสระบุรี

ล่าสุด บริษัทตัดสินใจแตกแบรนด์ใหม่ “โก๋มินิ” ลดอัตราค่าแฟรนไชส์ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ โดยลดเกรดน้ำมันลงเล็กน้อยและลดจำนวนกรัมของโปรดักส์ เพื่อกดราคาเมนูต่างๆ รองรับกำลังซื้อหดตัว แต่ในทำเลที่มีลูกค้ากำลังซื้อสูงและมีผู้สนใจลงทุน สามารถเปิดแบรนด์ “โก๋นักบิน” ได้ เป็นการขยายฐานลูกค้าหลากหลายขึ้น

อย่างไรก็ตาม การเป็นทั้งนักบินและนักธุรกิจทำให้เขาทุ่มเวลากับธุรกิจไม่ได้เต็มที่ ต้องเน้นขยายสาขาแฟรนไชส์และลงทุนเปิดสาขามาสเตอร์ เพื่อเป็นต้นแบบให้แฟรนไชซีเท่านั้น

“ผมมีปัญหาเรื่องเวลาเพราะยังเป็นนักบิน ช่วงโควิดโชคดีที่การบินไทยเปลี่ยนแผนเลย์ออฟนักบินแอร์บัสและเรียกนักบินโบอิ้งกลับมาบิน ผมเลยได้กลับมาเป็นนักบิน ตอนนั้นผมต้องปิดหน้าร้านซอยมิสทิน บริหารสาขาแฟรนไชส์ เพราะทุกครั้งที่ทำการบิน ผมต้องเตรียมตัว นอนเพียงพอ ศึกษาเส้นทาง แผนที่อากาศ เราต้องซื่อสัตย์กับการบิน กับลูกค้าที่ฝากชีวิตนั่งเครื่องที่ผมขับ เราจะไม่กเฬวราก วันนี้ทำธุรกิจเหนื่อยไม่ได้พักแล้วต้องบินลอนดอน ไปนอนพักบนเครื่อง ผมทำไม่ได้ มันเหนื่อยเกินไปที่จะเปิดร้านและบินไปด้วย จึงเลือกทำเฉพาะสาขาแฟรนไชส์”

อย่างไรก็ตาม ช่วงปี 2566 วิกฤตเศรษฐกิจซบเซาและกำลังซื้อหดตัวทำให้สาขาแฟรนไชส์หลายแห่งกำไรลดลงจนต้องปิดสาขา ทำให้โก๋นักบินเพิ่มทีมงานประมาณ 30 คน ทั้งทีมประจำร้านมาสเตอร์กับทีมบริหารสาขาแฟรนไชส์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและแก้ปัญหาหน้างานต่างๆ

“วันนี้ ผมยังสนุกมากกับการเป็นนักบิน ซึ่งจริงๆ แล้ว ผมไม่เคยรู้ว่ามีอาชีพนี้ กระทั่งวันหนึ่งผมอ่านหนังสือเตรียมสอบของมหาวิทยาลัย เจอหนังสือพิมพ์เปิดรับสมัครนักบิน คุณสมบัติ ชายไทย สายตาสั้นไม่เกิน 300 ผ่านการเกณฑ์ทหาร ปริญญาตรีสาขาอะไรก็ได้ ผมเลยอยากเป็นนักบินตั้งแต่นั้นมา”

แต่กว่าจะเป็นกัปตันการบินไทยเขาใช้เวลากว่า 13 ปี หลังจบคณะวิทยาศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณัฐธรลุยสอบชิงทุนบริษัทการบินไทยฯ โดยทุกปีต้องสอบ 7 รอบ นาน 8 เดือน ถ้าสอบตกรอบที่ 1-3 สามารถสอบในปีถัดไปได้ แต่ถ้าสอบตกรอบที่ 4 ขึ้นไป โดนห้ามสอบ 3 ปี

“ผมจบปริญญาตรี ปี 2548 ใช้เวลา 6 ปีกว่าๆ สอบชิงทุน 7 ครั้ง รวม 4 สายการบิน กว่าจะสอบชิงทุนได้ สอบซ้ำแล้วซ้ำอีก จนปี 2554 สอบชิงทุนได้ ต้องเรียนการขับเครื่องบินเล็ก 1 ปี เรียนขับเครื่องบินพาณิชย์อีก 1 ปี กว่าจะได้ขับเครื่องบินพาณิชย์ ใช้เวลาอีก 1 ปี ได้เป็นนักบินผู้ช่วย ใช้เวลาอีก 4 ปี เป็นซีเนียร์ และอีก 2 ปี กว่าจะได้เป็นกัปตันการบินไทย รวมแล้ว 13 ปี และทุก 6 เดือน ต้องเทสต์ความรู้และบินในเครื่องซีมูเลเตอร์ สมมุติเหตุการณ์ต่างๆ เครื่องยนต์ไฟไหม้ ปีกหัก เครื่องยนต์ระเบิด นักบินอีกคนตาย จะนำเครื่องลงอย่างปลอดภัยอย่างไร ถ้าเทสต์ผ่าน จะได้ทำการบินและอีก 6 เดือนมาสอบใหม่ แต่ถ้าสอบตกถูกห้ามบิน เป็นอาชีพที่ไฮสแตนดาร์ดมาก”

เมื่อถามว่า การเป็นนักบินช่วยเรื่องธุรกิจหรือไม่ เขาบอกว่า นักบินต้องเตรียมความพร้อม ถ้าทุ่มเทจะปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่ธุรกิจไม่มีสูตรสำเร็จชัดเจน แม้อุตสาหะ ทำเต็มที่ อาจเจอเหตุการณ์เหนือความคาดหมาย อย่างเช่นโควิด

“สิ่งที่ปรับใช้ได้ คือ นักบินต้องมี Alternate plan เสมอ สมมุติลงสนามบินปลายทางไม่ได้ เราต้องมีน้ำมันพอเพื่อลงสนามบินสำรอง การทำธุรกิจของผมจึงมีแผน A แผน B ถ้าแผน A ไม่สำเร็จ จะมีแผน B เช่น แฟรนไชส์โก๋นักบิน ขายได้ยากขึ้น เพราะราคาสูง เราทำแบรนด์ลูก ราคาถูกลง คนจับต้องได้ นี่คือ แผนสำรอง”.