วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > วรลัญจ์ แต้ไพสิฐพงษ์ เจาะวิชั่น แผนปลุกปั้น Meatly!

วรลัญจ์ แต้ไพสิฐพงษ์ เจาะวิชั่น แผนปลุกปั้น Meatly!

วรลัญจ์ แต้ไพสิฐพงษ์ หรือคุณเตย ก้าวเข้ามาลุยงานในเครือเบทาโกรเมื่อ 3 ปีก่อน ในฐานะ Modern Trade Retail Sales Manager กระทั่งได้รับมอบหมายโปรเจกต์ใหญ่ การปลุกปั้นแบรนด์ Meatly! เจาะสมรภูมิ Plant-based Food ที่ล่าสุดมีมูลค่าตลาดสูงถึง 45,000 ล้านบาท

จริงๆ แล้ว อาณาจักรธุรกิจในกลุ่มตระกูลแต้ไพสิฐพงษ์ ไม่ใช่ประสบการณ์แรก หลังคว้าปริญญาตรี  BSc Economics and Management จากมหาวิทยาลัยบริสตอล (University of Bristol) และปริญญาโท MSc Strategic Marketing จากอิมพิเรียลคอลเลจลอนดอน (Imperial College London) ประเทศอังกฤษ

วรลัญจ์ใช้เวลาเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในตำแหน่ง Cash Management Department Management Trainee ที่ธนาคาร HSBC Thailand อยู่ 2 ปี จากนั้นย้ายไปอยู่บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด เริ่มจาก Commercial (Sales & Marketing) Management Trainee ก่อนขึ้นเป็น Brand Manager Nestle Professional Department ลุยงานด้านมาร์เกตติ้งอย่างเต็มตัว

ปี 2564 ตัดสินใจก้าวเข้าสู่อาณาจักรเบทาโกรของครอบครัวในจังหวะที่ทีมผู้บริหารระดับสูงกำลังต้องการไอเดียและ Passion ของคนรุ่นใหม่ เพื่อเสริมกลยุทธ์ธุรกิจตามเทรนด์ใหม่ๆ

วรลัญจ์กล่าวกับ “ผู้จัดการ 360 องศา” ว่า การเริ่มงานในบริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) เพราะมีความสนใจด้านอาหารอยู่แล้ว เคยเป็น Management Trainee ที่บริษัทอาหาร ซึ่งเป็น International Company มาก่อน และช่วงเรียนมหาวิทยาลัยที่อังกฤษ เริ่มสนใจเรื่องอาหารมากขึ้น เพราะมองอาหารไม่ใช่แค่เรื่องการกิน แต่ยังมีความหมายลึกซึ้งและเป็นสื่อกลางเชื่อมโยงกับผู้คนหลากหลาย Culture

ขณะเดียวกัน การได้รับภารกิจในตำแหน่งผู้บริหารโครงการ Meatly! บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) ทำให้เธอสามารถดึง Passion ลึกๆ อยากผลักดันให้คนไทยมีทางเลือกในการเข้าถึงอาหารที่ดีขึ้น โดยเฉพาะเรื่องโปรตีนทางเลือกที่มีคุณภาพและความหลากหลาย ที่สำคัญต้องมาพร้อมกับความอร่อยและรสชาติถูกปากด้วย เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีสุขภาพที่ดี

ยิ่งไปกว่านั้น เราต้องการสื่อสารข้อมูลต่างๆ ให้ผู้บริโภคเห็นถึงมุมมองของอาหารในเรื่องความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการลดโลกร้อน การดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่งผู้บริโภคทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยโลกผ่านการเลือกกินอาหารในชีวิตประจำวัน ซึ่งเทรนด์การกินอาหารประเภทพืชผัก หรือผลิตภัณฑ์จากพืช หรือ Plant-based Food ลึกๆ แล้วมาจากการปลุกกระแสความตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) ที่เกิดขึ้นทั่วโลก เพราะอาหารในกลุ่มโปรตีนทางเลือก (Alternative Protein) จากพืชที่ให้โปรตีนสูง เช่น ถั่ว เห็ด สาหร่าย ข้าวโอ๊ต อัลมอนด์ พุ่งเป้าให้ผู้คนลดการบริโภคเนื้อสัตว์ที่ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการเลี้ยงสัตว์และการผลิตเนื้อสัตว์ หนึ่งในตัวก่อก๊าซเรือนกระจก สาเหตุของภาวะโลกร้อน นอกจากนั้น กระบวนการผลิตเนื้อสัตว์ยังใช้ทรัพยากรมากกว่าการปลูกพืชอีกด้วย

“ต้องยอมรับว่า ระยะเวลากว่า 2 ปีตั้งแต่เปิดตัวแบรนด์ Meatly! มีความท้าทายมาก เพราะเป็นเรื่องใหม่มากๆ ในเมืองไทย รวมถึงผู้บริโภคชาวไทยกลุ่ม Alternative Protein เป็น Healthier Products มากกว่า More Sustainable Products ทำให้ผู้เล่นทุกรายในตลาดโปรตีนทางเลือกต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา เพื่อสามารถตอบสนองความความต้องการของผู้บริโภคได้ตลอดเวลา”

ขณะที่ตลาด Plant-based Food ในไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นและมีโอกาสการเติบโตอีกเยอะมาก ซึ่งการเจาะตลาด (Penetration) ของสินค้า Plant-based ยังไม่ถึง 10% ของผู้บริโภคที่เดินเข้ามาใน Category แช่แข็ง หรือในร้านอาหารเองยังไม่สามารถเข้าถึงเมนู Plant-based ได้อย่างเพียงพอด้วย

อย่างไรก็ตาม หากพูดถึงโอกาสของตลาด ผู้บริหารคนรุ่นใหม่คนนี้ให้มุมมองว่า ประเทศไทยมี Soft power ขึ้นชื่อเรื่องอาหารไทยอยู่แล้ว โอกาสการเติบโตและผลักดันให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักว่ามีศักยภาพในการผลิตอาหารไทยในรูปแบบของ Alternative Protein มีอยู่มาก ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะถูกผลักดันต่อยอดได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากมีการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชน เพิ่มโอกาสเติบโตให้ตลาดแพลนต์เบส ทั้งในประเทศและภาคการส่งออก

สำหรับโจทย์ข้อใหญ่ที่สุดของการขยายตลาด คือ การหาจุดกึ่งกลางที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญ และพยายาม Educate ให้ผู้บริโภคเข้าใจ เห็นความสำคัญในเรื่องนั้นๆ รวมถึงแบรนด์เองต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Product Development) และคิดค้นวิจัย (Research Development) อย่างต่อเนื่อง

เธอย้ำว่า “เราต้องทำงานอย่างหนักเพื่อให้ได้สินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ในสถานการณ์ของตลาดช่วงเริ่มต้น มองว่าทุกแบรนด์มีหน้าที่ต้องช่วยกันทำให้ตลาด Plant-based Food ของไทยและตลาดผู้บริโภคเติบโตไปพร้อมๆ กัน”

เมื่อถามถึงจุดขายและจุดแข็งของ “Meatly!” ที่คิดว่าเหนือคู่แข่ง ซึ่งทุกแบรนด์ล้วนเป็นบิ๊กแบรนด์ในธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ MEAT ZERO ของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF หรือ OMG Meat ของบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่มีทั้งผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์และอาหารทะเลจากพืชหลากหลาย ได้แก่ ฮ่อยจ๊อปู ขนมจีบปู เนื้อปู นักเก็ต ซาลาเปาหมูแดง และนักเก็ตไก่

วรลัญจ์กล่าวว่า ในช่วงแรกที่สินค้า Alternative protein เข้ามาในประเทศไทยใหม่ๆ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ได้รับinfluence จากโลกตะวันตก เช่น เบอร์เกอร์ นักเก็ต  อาจดึงดูดให้เกิดการทดลองครั้งแรก (first trial) ได้เยอะ แต่การ repeat ค่อนข้างน้อย  แต่ Meatly! เรารับฟังผู้บริโภคและปรับตัว โดยออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้เหมาะสมกับความต้องการของผู้บริโภคอยู่ตลอดเวลา

เช่น กลุ่มอาหารพร้อมรับประทาน มีเมนูข้าวแกงเขียวหวานเนื้อชิ้นจากพืช ราคา 89บาท เป็นผลิตภัณฑ์ที่ออกมาจากการใช้ข้อมูลและผลการสำรวจลูกค้าในการพัฒนาสินค้า ทำให้สินค้ามีการตอบรับดี และได้รับรางวัล Taste Innovation Award จากงาน THAIFEX – Anuga Asia 2024 ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

นอกเหนือจากนั้น การที่ Meatly! อยู่ภายใต้บริษัทเบทาโกร ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ในเรื่องมาตรฐานการผลิตที่มีคุณภาพและความปลอดภัยขั้นสูงสุดตามมาตรฐานระดับสากล ซึ่งในปีนี้และปีหน้า บริษัทวางแผนนำเสนอสินค้าที่เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น เน้นรสชาติคุ้นเคย อร่อย และมีคุณค่าทางโภชนา

ที่สำคัญ ต้อง Educate ลูกค้าในเรื่อง Benefit อื่นๆ ของ Plant-based ในอนาคต โดยเฉพาะประเด็นความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมจากอาหารด้วย.