วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > อนาคตผู้ประกอบการไทย กับนโยบายการแข่งขันที่ยุติธรรม

อนาคตผู้ประกอบการไทย กับนโยบายการแข่งขันที่ยุติธรรม

ธุรกิจที่เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยหรือธุรกิจประเภท SMEs คิดเป็น 95 เปอร์เซ็นต์ของธุรกิจทั้งหมด และยังมีการจ้างงานกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของธุรกิจทั้งหมดเช่นกัน SMEs จึงมีส่วนสำคัญต่อการสร้างงาน สร้างรายได้ และเป็นแรงขับสำคัญในการพัฒนาธุรกิจขนาดใหญ่

แต่ธุรกิจขนาดย่อมยังไม่อาจเติบโตได้ซึ่งมีหลายปัจจัยที่สร้างผลกระทบ นั่นคือ การไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่สำคัญ การถูกกีดกันทางการค้า ทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้อย่างเต็มที่ อำนาจการแข่งขันตกไปอยู่ในมือของธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีความมั่งคั่งด้านการเงิน จนเกิดอำนาจเหนือตลาด

สิ่งสำคัญที่จะช่วยลดปัญหาข้างต้นคือการมีกฎหมายการแข่งขันทางการค้า ไทยเริ่มมีกฎหมายการแข่งขันทางการค้าตั้งแต่ พ.ร.บ.ป้องกันการค้ากำไรเกินควร พ.ศ. 2490 และมีการพัฒนามาตามลำดับจนเป็น พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งออกมาแทน พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542

นอกจากการมีกฎหมายเพื่อให้ผู้ประกอบการทั้งรายเล็กและรายใหญ่มีสิทธิในการแข่งขันทางการค้าอย่างยุติธรรม ยังมีสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า หรือ กขค. (TCCT) ซึ่งมีหน้าที่สนับสนุนผู้ประกอบการ รับเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวกับการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูล ทำความตกลงและร่วมมือกับองค์กรหรือหน่วยงานในและต่างประเทศเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อผู้ประกอบการ

ล่าสุด TCCT ร่วมกับองค์การศูนย์กลางการค้าระหว่างประเทศจัดงาน TCCT Competition Policy Symposium: An Optimal Competition Policy For Thailand นโยบายการแข่งขันที่เหมาะสมต่อไทย ภายใต้การสนับสนุนจากโครงการ รวมถึงทางเศรษฐกิจภูมิภาคอาเซียนจากสหภาพยุโรปเพิ่มเติมต่อประเทศไทย โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ ในการกำหนดนโยบายและทิศทางการพัฒนาการกำกับการแข่งขันที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับประเทศไทย ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีระบบการแข่งขันที่สามารถสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

ขณะที่การทำงานของรัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญกับการปรับตัว และการเตรียมความพร้อมของภาคธุรกิจไทยเพื่อรับมือกับผลกระทบจากมาตรการทางการค้าที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และแนวโน้มความยั่งยืนของโลก โดยเฉพาะการต้องดูแลSME ขนาดเล็ก ขนาดกลาง ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีนโยบายที่สำคัญดังนี้

1. เน้นให้ทุกภาคส่วนมีการผลักดันส่งเสริมหรือสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน บริหารให้เกิดความสมดุลระหว่างเกษตรกร ผู้ประกอบการภาคธุรกิจและผู้บริโภค ให้ทุกฝ่ายสามารถดำเนินกิจการได้อย่างมั่นคง ยั่งยืน และเป็นประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมีภารกิจที่จะต้องบริหารให้เกิดความสมดุลแห่งผลประโยชน์ของผู้ประกอบการในแต่ละภาคส่วน ซึ่งอาจจะมีความแตกต่างกัน จึงเป็นความท้าทายของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด

2. รัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์ต้องส่งเสริมพัฒนาทักษะความรู้และขีดความสามารถในด้านการตลาดที่จำเป็น เพื่อให้ผู้ประกอบการมีความคิดสร้างสรรค์สามารถแข่งขันได้ภายใต้การค้ารูปแบบใหม่

3. สร้างหรือทบทวนบทบัญญัติกฎหมายเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างสำนักงาน กขค. จะได้พิจารณาวางกฎเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานเกี่ยวกับพฤติกรรมทางธุรกิจการค้าใหม่ๆ ให้เป็นแนวทางปฏิบัติการค้าที่ชัดเจนและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยการสร้างบรรทัดฐานต้องคำนึงการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน สำหรับนโยบายด้านการค้าและนโยบายการแข่งขันทางการค้าในระดับรัฐบาลได้ถูกกำหนดในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนมีเป้าหมายร่วมกันที่จะต้องมุ่งให้บรรลุตามแผนดังกล่าว

การประชุม TCCT Competition Policy Symposium 2024 จะเป็นการออกแบบนโยบายการแข่งขันที่เหมาะสมกับประเทศไทยและมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาต่อไป โดยส่วนที่เกี่ยวข้องกับมิติระหว่างประเทศหรือในเวทีโลก จะเกี่ยวข้องกับพันธสัญญาต่างๆ ภายใต้  WTO หรือ FTA ความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจการค้าต่างๆ ซึ่งอยู่ในหลักการและทิศทางเดียวกันทั้งในประเทศและระหว่างประเทศนั้น จำเป็นต้องมีกฎเกณฑ์กติกาเกี่ยวกับการแข่งขันทางการค้าที่เสรีและเป็นธรรมที่มีประสิทธิภาพและชัดเจน กติกาเหล่านี้สามารถขับเคลื่อนโดยกลไกที่เป็นอิสระ ซึ่งท้ายที่สุดจะทำให้ผู้ประกอบการในประเทศสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล

ด้าน ดร. รักษเกชา แฉ่ฉาย ในฐานะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เปิดเผยว่า การจัดงานในครั้งนี้จะนำไปสู่การดำเนินการทั้งระยะสั้นและระยะยาว ทั้งแนวทางต่างๆ ในระยะสั้นๆ เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างคล่องตัว รวมถึงการแก้ไขกฎหมาย การแก้ไขระเบียบวิธีปฏิบัติในระยะยาว ซึ่งเป็นกระบวนการด้านสภานิติบัญญัติที่จำเป็นต้องใช้เวลา

นอกจากนี้ หลายฝ่ายยังมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวกับการแข่งขันทางการค้า เช่น การกระจุกตัวของอำนาจในการแข่งขัน ความเหลื่อมล้ำทางธุรกิจในไทยที่สูง การแข่งขันที่มีการผูกขาด เหล่านี้ล้วนเป็นความท้าทายที่รัฐนาวาจะต้องเร่งแก้ เพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจไทยซ้ำรอยต้มยำกุ้ง หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์

“ตลอดระยะเวลากว่า 5 ปี ที่มีการบังคับใช้ พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมามีการปรับปรุงการออกนโยบายกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าของไทยให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ พร้อมรับมือกับกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบธุรกิจและเศรษฐกิจไทย อีกทั้งเพื่อเป็นการยกระดับนโยบายการแข่งขันทางการค้าของไทยให้ทัดเทียมมาตรฐานสากล เตรียมพร้อมสำหรับการเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาหรือ OECD ซึ่งขณะนี้ไทยอยู่ในกระบวนการเข้าสู่การเป็นสมาชิกกลุ่ม สะท้อนให้เห็นศักยภาพด้านการแข่งขันทางการค้าของไทยในสายตานานาชาติ” ดร. รักษเกชา ทิ้งท้าย.