ข่าวการประมูลคลื่นความถี่ในประเทศไทยเมื่อไม่นานมานี้ คงต้องถือเป็นข่าวใหญ่ประจำปี ซึ่งอาจจะมีผลต่อเนื่องไปสู่การปรับภูมิทัศน์ของอุตสาหกรรมสื่อสารโทรคมนาคมของไทยในอนาคตไม่น้อย
แต่สำหรับศรีลังกาประเทศที่มีประชากรประมาณ 21 ล้านคนบนพื้นที่ 6.56 หมื่นตารางกิโลเมตรแห่งนี้ ประเด็นว่าด้วยเทคโนโลยี 2G หรือ 3G ดูจะเป็นสิ่งที่โพ้นไปจากความสนใจในการสนทนามานานแล้ว โดยศรีลังกานับเป็นประเทศแรกๆ ในภูมิภาคเอเชียใต้ที่ได้รับบริการจากระบบ 4G-LTE มาตั้งแต่เมื่อปี 2012-2013 แล้ว
ตัวเลขที่น่าสนใจจากการสำรวจในช่วงปีที่ผ่านมาก็คือ ศรีลังกามีจำนวนคู่สายของโทรศัพท์ติดตั้งตามบ้าน (fixed landline) อยู่เพียง 2.6 ล้านเลขหมาย ซึ่งถือเป็นความเข้มข้น (teledensity) ในสัดส่วน 13: 100 หลังคาเรือนซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างน้อยมาก
หากแต่จำนวนหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ของศรีลังกากลับมีมากถึง 22 ล้านเลขหมาย ซึ่งทำให้สัดส่วนของประชากรต่อจำนวนผู้ใช้บริการมีสัดส่วนเป็น 100:107 ซึ่งสะท้อนภาพการเติบโตของตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ของศรีลังกาได้เป็นอย่างดี
ความเป็นไปของตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือโทรศัพท์มือถือในศรีลังกาในด้านหนึ่งเป็นภาพสะท้อนการแข่งขันของผู้ประกอบการระดับภูมิภาคที่มีนัยความหมายกว้างไกลชวนให้สนใจติดตาม เพราะด้วยขนาดของตลาดที่ดูเหมือนจะจำกัดอยู่ด้วยประชากร 20 ล้านคนนี้ กลับปรากฏว่าสมรภูมิโทรศัพท์มือถือของศรีลังกากลายเป็นสนามแข่งขันที่มีผู้สนใจเข้าลงทุนอย่างต่อเนื่อง
Sri Lanka Telecom ซึ่งมีสถานะวิสาหกิจของรัฐและเป็นผู้ดูแลโครงข่ายโทรคมนาคมหลักของประเทศ เป็นผู้ให้บริการที่ครอบคลุมทั้ง fixed line และโทรศัพท์เคลื่อนที่ในนาม Mobitel ซึ่งถือเป็นผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายแรกๆ ของศรีลังกา มาตั้งแต่เมื่อปี 1993 แต่นั่นก็มิได้เป็นหลักประกันว่า Mobitel จะสามารถครองบทบาทนำในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่กำลังเติบโตนี้ไว้ได้
เพราะพลันที่ Dialog Axiata หรือ MTN Networks ทุนโทรคมนาคมจากมาเลเซียภายใต้ร่มเงาของ Telekom Malaysia Berhad (TM) รุกคืบเข้ามาในศรีลังกาในช่วงปี 1993 ภูมิทัศน์ด้านการสื่อสารโทรคมนาคมของศรีลังกาก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง
เป็นการรุกคืบภายใต้ยุทธศาสตร์และวิสัยทัศน์ระยะยาวของ Mahathir Mohamad ผู้นำมาเลเซียในขณะนั้นที่มาพร้อมกับการประกาศ Vision 2020 ในฐานะเข็มมุ่งทางเศรษฐกิจของมาเลเซียด้วย
ภายใต้ระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา Dialog Axiata กลายเป็นผู้ประกอบการมือถือรายใหญ่ที่สุดของศรีลังกาโดยมียอดผู้ใช้บริการมากถึง 10.3 ล้านรายและครองส่วนแบ่งการตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ของศรีลังกาไว้มากกว่าร้อยละ 50 อีกทั้งยังเป็นประหนึ่งผู้นำในด้านเทคโนโลยี 4G LTE ไม่เฉพาะในบริบทของศรีลังกาเท่านั้นหากยังเป็นผู้นำในภูมิภาคเอเชียใต้นี้อีกด้วย
ศักยภาพและการเติบโตขึ้นของระบบเศรษฐกิจสังคมของศรีลังกา กลายเป็นแรงดึงดูดที่สำคัญให้ผู้ประกอบการจากต่างประเทศรายอื่นๆ หันมาให้ความสนใจเข้าลงทุนในระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ในศรีลังกาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในมิติมุมมองของรัฐบาลศรีลังกา ประเด็นดังกล่าวนี้ต้องถือเป็นการกระจายความเสี่ยงและลดทอนการผูกขาดจากผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่ง และทำให้ตลาดอยู่ในภาวะที่มีการแข่งขันเสรีอย่างแท้จริง
รัฐบาลศรีลังกาออกใบอนุญาตให้กับผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ที่สนใจเข้ามาลงทุนอยู่เป็นระยะไม่ว่าจะเป็นกรณีของ Hutch ซึ่งเริ่มเข้ามาลงทุนขยายเครือข่ายในศรีลังกาตั้งแต่ปี 2004 ด้วยความมุ่งหมายที่จะเป็นผู้ให้บริการครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศ แต่ดูเหมือนว่าเป้าประสงค์ดังกล่าวจะไม่สำเร็จโดยง่ายและจนถึงขณะปัจจุบันหรือช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา Hutch จะวางโครงข่ายครอบคลุมพื้นที่ได้เพียง 75-80% และมียอดผู้ใช้บริการระดับ 1 ล้านรายเท่านั้น
ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการจากประเทศเพื่อนบ้านในนาม Airtel Sri Lanka ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ Bharti Airtel ยักษ์ใหญ่ด้านธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมจากอินเดีย และถือเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่อันดับ 4 ของโลก กลับไม่ได้เริ่มเข้าสู่ตลาดทันที แม้จะได้รับใบอนุญาตจากรัฐบาลศรีลังกามาตั้งแต่ปี 2006 โดย Airtel เริ่มดำเนินกิจกรรมในศรีลังกาเมื่อช่วงต้นปี 2009 และมีฐานลูกค้าเติบโตอย่างช้าๆ ในระดับ 1.7-2 ล้านราย ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากการประเมินขนาดของตลาดและยุทธศาสตร์ของ Airtel ด้วย
แต่การมาถึงของ Etisalat Sri Lanka เมื่อปี 2009 โดยกลุ่มทุนจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สร้างแรงกระเพื่อมในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ของศรีลังกาอย่างรวดเร็วและสามารถสร้างฐานลูกค้าจำนวน 4.2 ล้านรายได้ในเวลาไม่ถึง 3 ปีและกำลังเร่งขยายฐานลูกค้าออกไปอย่างไม่หยุดยั้ง ด้วยการเปิดให้บริการ Dual Carrier-HSPA+ (High-Speed Packet Access) ในปี 2012 ซึ่งถือเป็นรายแรกในภูมิภาคเอเชียใต้ ที่นำเสนอเทคโนโลยีนี้
พัฒนาการของเทคโนโลยีที่ทำให้โทรศัพท์เคลื่อนที่ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา กำลังถูกนำไปใช้เพื่อพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานว่าด้วย Fixed 4G LTE ซึ่งจะเป็นการกระจายโอกาสให้กับประชากรในพื้นที่ห่างไกลของศรีลังกาให้สามารถสื่อสารและรับข้อมูลจากทั้งทางโทรศัพท์และการโหลดข้อมูลด้วยบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต ซึ่งจะเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่มีการแข่งขันสูงในระยะนับจากนี้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากข้อเท็จจริงที่ว่า ในบรรดาผู้ประกอบการด้านสื่อสารโทรคมนาคมในศรีลังกาซึ่งมี Sri Lanka Telecom อยู่ในฐานะผู้ประกอบการรายใหญ่และเป็นเจ้าบ้านเจ้าของพื้นที่เดิม กำลังต้องขับเคี่ยวและเผชิญความท้าทายจาก Dialog Axiata ทุนโพ้นทะเลที่เข้ามาประกอบการและจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ศรีลังกา แม้ว่าหุ้นจำนวนมากกว่า 83% จะถือครองโดย Axiata Group Berhad และจำนวนที่เหลือกระจายอยู่ในส่วนของผู้ถือหุ้นทั่วไป
ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ศรีลังกาเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ระบุว่า มูลค่าการตลาดของ Dialog Axiata มีจำนวนสูงถึง 9.7 หมื่นล้านศรีลังการูปี หรือประมาณ 700 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมากเป็นอันดับที่ 5 ของบริษัทจดทะเบียนในตลาด ขณะที่ Sri Lanka Telecom ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจของประเทศแม้จะยังได้รับการกล่าวถึงในฐานะบรรษัทที่ทรงคุณค่าและมีมูลค่ามากที่สุด แต่ก็ไม่อาจประมาทคู่แข่งขันที่มีโครงข่ายธุรกิจหลากหลายนี้ได้
เพราะไม่เพียงแต่ Dialog Axiata จะเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ หากยังเป็นผู้ให้บริการ fixed line และ broadband networks รายใหญ่ รวมถึงยังเป็นผู้ให้บริการโทรทัศน์ Dialog TV แบบ Direct to Home (DTH) ซึ่งภายใต้สถานะของการเป็นผู้ลงทุนจากต่างประเทศรายใหญ่ที่ได้รับสิทธิประโยชน์จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BoI) ของศรีลังกา ที่ได้ลงทุนไปแล้วรวมกว่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ Dialog Axiata เป็นผู้ลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) รายใหญ่ที่สุดของศรีลังกาในปัจจุบัน
หากคำกล่าวที่ว่าทุนได้ข้ามพ้นความมีและความเป็นสัญชาติไปนานแล้ว บางทีเทคโนโลยีที่กำลังพัฒนาอยู่อย่างไม่ลดละนี้อาจกำลังเปิดเผยให้เห็นจังหวะและโอกาสใหม่ๆ ที่รอคอยให้ต้องย้อนกลับไปศึกษารูปการณ์จิตสำนึกและวิสัยทัศน์ของทั้งผู้นำทางการเมืองและผู้นำทางธุรกิจที่สังคมไทยเคยมีกันอีกสักครั้งว่าได้กำหนดวางเข็มมุ่งสู่อนาคตไว้อย่างไรหรือไม่
สิ่งนี้คงเป็นประเด็นที่ต้องพิจารณาทบทวนอดีตก่อนการเริ่มต้นก้าวเดินครั้งใหม่ไปสู่อนาคตที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่ช้านี้
และบางทีชื่อของผู้ประกอบการที่กำลังโลดแล่นอยู่ในสังเวียนธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมในศรีลังกาขณะนี้อาจไปปรากฏตัวมีชื่ออยู่เป็นพันธมิตรหรือหุ้นส่วนทางธุรกิจสำหรับผู้ให้บริการในท้องถิ่นไทยก็ได้ ต้องติดตามชม