วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > ถอดความสำเร็จ “เกตเวย์” โรงงาน RE100 กับหญิงแกร่งแห่งยูนิลีเวอร์ “พนิตนาถ จำรัสพันธุ์”

ถอดความสำเร็จ “เกตเวย์” โรงงาน RE100 กับหญิงแกร่งแห่งยูนิลีเวอร์ “พนิตนาถ จำรัสพันธุ์”

ยูนิลีเวอร์ถือเป็นหนึ่งในบริษัทสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยก่อตั้งมาแล้วกว่า 100 ปี ปัจจุบันมีจำนวนโรงงานถึง 280 แห่งทั่วโลก มีผลิตภัณฑ์วางจำหน่ายใน 190 ประเทศ ภายใต้แบรนด์ที่มีชื่อเสียงมากกว่า 200 แบรนด์ ปีที่ผ่านมาสร้างยอดขายไปได้ 60,000 ล้านยูโร โดยประชากรโลกราว 3,400 ล้านคน ใช้ผลิตภัณฑ์ของยูนิลีเวอร์ในทุกๆ วัน

สำหรับในไทย ยูนิลีเวอร์เข้ามาประกอบกิจการกว่า 90 ปี และครองตำแหน่งผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคเบอร์หนึ่งของประเทศเช่นกัน มีจำนวนโรงงานทั้งสิ้น 7  แห่ง และมีประเภทของผลิตภัณฑ์มากกว่า 2,000 ชนิด โดย 25 ล้านครัวเรือนในประเทศไทยใช้ผลิตภัณฑ์ของยูนิลีเวอร์เฉลี่ย 3 ครั้งต่อวัน

นอกจากตัวเลขทางธุรกิจที่มักปรากฏตามหน้าสื่ออย่างข้อมูลข้างต้นแล้ว ยังมีอีกหนึ่งสิ่งที่ควบคู่กับการทำธุรกิจและเป็นสิ่งที่ยูนิลีเวอร์พยายามนำเสนอมาตลอดระยะหลังมานี้ นั่นคือการขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนกับการตั้งเป้าปลดปล่อยมลพิษจากกระบวนการผลิตให้เป็น “ศูนย์” ภายในปี พ.ศ. 2582 โดยยูนิลีเวอร์ได้เดินเครื่องเรื่องความยั่งยืนตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา

ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวสำคัญจากยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย ที่ออกมาประกาศความสำเร็จด้านความยั่งยืนไปอีกขั้น กับการก้าวสู่การเป็นโรงงานพลังงานหมุนเวียน 100% (RE100)  ของโรงงานเกตเวย์ ในเขตนิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งนั่นหมายความว่าพลังงานทุกประเภทที่ยูนิลีเวอร์นำมาใช้ในโรงงานเกตเวย์ต้องเป็นพลังงานหมุนเวียนทั้งสิ้น

“ผู้จัดการ 360 องศา” จะพาไปถอดบทเรียนและความสำเร็จของโรงงานเกตเวย์แห่งนี้ กับ “พนิตนาถ จำรัสพันธุ์” ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร กลุ่มบริษัท ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตหญิงคนแรกและคนเดียวของกลุ่มบริษัทฯ อีกหนึ่งกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนของยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย

พนิตนาถให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า ยูนิลีเวอร์เข้ามาดำเนินกิจการในโรงงานเกตเวย์ตั้งแต่ปี 2548 เพื่อใช้เป็นฐานการผลิตสินค้าในกลุ่มผงปรุงรส ซุปก้อน โจ๊ก ซอส และน้ำสลัด ในแบรนด์คนอร์ (Knorr), เบสท์ฟู้ดส์ (Best Foods), เฮลล์แมนน์ (Hellmann’s) และ เลดี้ ชอยซ์ (Lady’s Choice) ซึ่งโรงงานเกตเวย์ถือเป็นโรงงานแรกของยูนิลีเวอร์ประเทศไทยที่บรรลุเป้าหมายสำคัญในการเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียน 100% แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องผ่านการทดลอง การหาเทคโนโลยี พร้อมแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพนิตนาถได้ขยายความในรายละเอียดต่างๆ ให้เราเห็นภาพชัดขึ้น ดังนี้

“พลังงานไฟฟ้า” โรงงานเกตเวย์ร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในการจัดหาแหล่งพลังงานหมุนเวียน 100% มาจัดจำหน่ายให้กับยูนิลีเวอร์ อีกทั้งยังมีการซื้อพลังงานหมุนเวียนจากผู้ผลิตที่ได้ใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable energy certificates: RECs) ในประเทศ เพื่อทดแทนการปล่อยคาร์บอนจากการผลิตพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ภายในโรงงาน

“พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์บนอาคาร (Solar Roof)” นอกจากการทำ MOU กับ กฟผ. ในการจัดหาพลังงานหมุนเวียนแล้ว โรงงานยังมีการติดตั้งโซลาร์รูฟเพิ่มเติม โดยมีกำลังการผลิตที่ 560 กิโลวัตต์ (0.56 MWP) ซึ่งพนิตนาถเผยว่าแม้การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์จะเป็นแหล่งพลังงานสะอาด แต่ก็ตามมาด้วยความท้าทาย ทั้งเรื่องความแข็งแรงของโครงสร้างอาคาร และกระบวนการขอใบอนุญาตจาก 3 ภาคส่วน ทั้ง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และกระทรวงพลังงาน ซึ่งอาจมีความซับซ้อน และต้องมีการวางแผนเรื่องทรัพยากร การประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเวลาเป็นอย่างดี

“สารทำความเย็นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” สารทำความเย็นเป็นองค์ประกอบสำคัญในกระบวนการผลิต แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสารทำความเย็นส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศเนื่องจากมีคุณสมบัติของก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเมื่อปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศมีส่วนทำให้เกิดภาวะโลกร้อน

ยูนิลีเวอร์จึงเลือกใช้สารทำความเย็นในระบบต่างๆ ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด โดยยกเลิกการใช้สารทำความเย็นที่มีคุณสมบัติเป็นก๊าซเรือนกระจก ไม่ว่าจะเป็นสารคาร์โรฟลูออโรคาร์บอน (CFCs) หรือ สารไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (HCFCs) เช่น R22 R304 และ R407 ซึ่งใช้ในระบบทำความเย็นที่มีปริมาณในระบบมากกว่า 5 กิโลกรัม โดยโรงงานของยูนิลีเวอร์ได้ทำการเปลี่ยนสารทำความเย็นทั้งหมดให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแต่ยังคงมีประสิทธิภาพดี ตั้งแต่ธันวาคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นมา

และที่ถือเป็นจิ๊กซอว์ตัวสำคัญในการทำให้โรงงานเกตเวย์กลายเป็นโรงงานแห่งแรกของยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย ที่ได้รับรองให้เป็นโรงงานที่ใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ในปี 2566 คือ “พลังงานไอน้ำ” ที่มีการพัฒนาระบบหม้อต้ม (Boiler) ที่ใช้ในกระบวนการผลิตและการล้างทำความสะอาดเครื่องจักร โดยเปลี่ยนจากการใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงซึ่งมีการผลิตคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มาเป็นการใช้หม้อต้มที่ใช้เชื้อเพลิงชีวมวล (Biomass) มาผลิตเป็นพลังงานไอน้ำแทน

“ประเทศไทยมีความโดดเด่นในด้านอุตสาหกรรมเกษตรและมีความยั่งยืนในด้านปริมาณของเชื้อเพลิงชีวมวล ตั้งแต่ปี 2560 ทีมงานของโรงงานเกตเวย์ทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลสำหรับหม้อต้มของโรงงาน ปัจจุบันเชื้อเพลงชีวมวลที่ยูนิลีเวอร์นำมาใช้คือ Wood Pellet ซึ่งมีความท้าทายเป็นอย่างมาก ก่อนที่เราจะประสบความสำเร็จอย่างในปัจจุบัน”

โดยความท้าทายที่ว่านั้นมาจากหลายปัจจัย ทั้งการจัดหาแหล่งพลังงานชีวมวลที่ต้องได้มาตรฐานของยูนิลีเวอร์ เช่น ไม้ที่ใช้ต้องเป็นพืชที่ปลูกเพื่อเป็นแหล่งพลังงานเท่านั้น ไม่ได้มาจากการตัดไม้ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และต้องเป็นผลิตภัณฑ์พลอยได้หรือไม้ที่เป็นขยะจากอุตสาหกรรมที่ใช้ไม้ หรือของเหลือจากอุตสาหกรรมการเกษตร (Post-industrail waste)

ความท้าทายด้านการเก็บรักษาเชื้อเพลิงชีวมวลและบริหารปริมาณการจัดเก็บเชื้อเพลิงให้เหมาะสมกับอัตราการใช้งาน เนื่องจาก Wood Pellet เป็นวัสดุที่ติดไฟได้ง่ายจึงต้องจัดเก็บในอาคารที่มีขนาดเล็ก ระบายอากาศได้ดี ไม่มีความเสี่ยงจากลมและฝน และมีการบริหารการขนส่งเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดเพลิงไหม้

อย่างไรก็ตาม Wood Pellet รวมถึงเชื้อเพลิงชีวมวลอื่นๆ มีข้อเสียคือ เมื่อเผาไหม้แล้วจะมีเขม่าและฝุ่นออกจากปล่องระบาย ทำให้ต้องติดตั้งระบบบำบัดอากาศ ซึ่งโรงงานเกตเวย์มีการติดตั้งระบบดักฝุ่นด้วยไซโคลน (Cyclone System) และ Wet Scrubber โดยใช้น้ำ เพื่อให้มั่นใจว่าอากาศที่ปล่อยออกจากปล่องผ่านมาตรฐานที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมกำหนด

อีกหนึ่งโจทย์ยากคือการจัดการขี้เถ้าจากการเผาไหม้ เนื่องจากการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลนั้นทำให้เกิดตะกอนหรือขี้เถ้าในปริมาณมาก ซึ่งเมื่อก่อนการจัดการกับขี้เถ้าเป็นสิ่งที่ท้าทาย เพราะต้องใช้พลังงานคนในการเก็บขี้เถ้าและต้องทำความสะอาดในทุกๆ อาทิตย์ ทำให้ต้องใช้เชื้อเพลิงเตาเข้ามาช่วยเพื่อไม่ทำให้การทำงานของหม้อต้มต้องหยุดชะงัก

กระทั่งเมื่อปีที่ผ่านมามีการพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถใช้งานเครื่องกำเนิดไอน้ำชีวมวลได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องหยุดทำความสะอาดขี้เถ้าคงค้างในห้องเผาไหม้อย่างน้อย 3 สัปดาห์ ซึ่งถือเป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่ทำให้ภาพโรงงานพลังงานหมุนเวียน 100% ของโรงงานเกตเวย์สมบูรณ์แบบ

แม้จะแก้โจทย์ยากได้สำเร็จจนบรรลุความเป็นโรงงานพลังงานหมุนเวียน 100% แต่ความท้าทายใหม่ก็กำลังมาเคาะประตูโรงงาน นั่นคือ การหาเชื้อเพลิงชีวมวลในรูปแบบอื่นไว้สำรอง เพราะ Wood Pellet ที่ยูนิลีเวอร์ใช้มาจากซัปพลายเออร์เพียง 2 เจ้า แม้ว่าปัจจุบันจะเพียงพอต่อความต้องการ แต่ในอนาคตยูนิลีเวอร์ต้องมองหาเชื้อเพลิงประเภทอื่นไว้สำรองเพื่อป้องกันความเสี่ยงเช่นกัน

แม้ว่าจะมีความท้าทายใหม่ๆ รออยู่ข้างหน้า แต่พนิตนาถมั่นใจว่าความสำเร็จของโรงงานเกตเวย์ในวันนี้จะเป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจให้กลุ่มธุรกิจอื่นๆ ได้ใช้เป็นแนวทางเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับโลก โดยได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า

“สิ่งนี้ไม่ใช่ One Day Journey แต่เราทำมาตั้งแต่ปี 2553 มีความพยายาม หาทางเลือก หาเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา แต่ยูนิลีเวอร์คนเดียวทำไม่ได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากคู่ค้า ทุกภาคธุรกิจ ภาครัฐ ในการขับเคลื่อนไปด้วยกัน”.