วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Life > “ณัฐพงศ์ พันธเกียรติไพศาล” กงสุลกิตติมศักดิ์มองโกเลีย ประจำจังหวัดภูเก็ต และพังงา “อดีต ปัจจุบัน และอนาคต”

“ณัฐพงศ์ พันธเกียรติไพศาล” กงสุลกิตติมศักดิ์มองโกเลีย ประจำจังหวัดภูเก็ต และพังงา “อดีต ปัจจุบัน และอนาคต”

ที่ผ่านมาชื่อของ “ณัฐพงศ์ พันธเกียรติไพศาล” มักปรากฏให้เห็นตามหน้าสื่ออยู่เสมอ ในบทบาทที่แตกต่างกันออกไป ทั้งในบทบาททางการเมืองภาคนโยบายที่มุ่งลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของประเทศ และบทบาทในฐานะประธานกรรมการการเคหะแห่งชาติที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในองค์กร รวมถึงบทบาทสำคัญในฐานะ กงสุลกิตติมศักดิ์มองโกเลียประจำจังหวัดภูเก็ต และพังงา (Mongolia Honorary Consul of Phuket and Phang-nga) ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานสารน์ตราตั้งกงสุล เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา

ในโอกาสใกล้ครบรอบ 1 ปี ในตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์ฯ “ผู้จัดการ 360 องศา” มีโอกาสได้สนทนาเพื่อรู้จักตัวตนกงสุลฯ ในหลายมิติ ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ซึ่งกงสุลฯ ออกตัวว่าขอคุยแบบสบายๆ ที่สุด และพร้อมตอบทุกเรื่องทุกคำถาม

ณัฐพงศ์ในอดีต : บทบาททางการเมือง?

ณัฐพงศ์ พันธเกียรติไพศาล เป็นผู้ที่มีความสนใจเป็นพิเศษในเรื่องของการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและการลดการผูกขาด โดยใช้กฎหมายที่เป็นสากลเป็นต้นแบบ ไม่ว่าจะเป็นด้านตลาดเงิน ตลาดทุน หรือระบบการค้าและภาษี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมุ่งผลักดันให้เกิดการเข้าถึงแหล่งทุนของผู้ประกอบการในทุกระดับอย่างทั่วถึงในรูปแบบต่างๆ และในขณะเดียวกัน “การเมือง” ก็เป็นสิ่งที่อยู่ในความสนใจเขามาตั้งแต่ต้นเช่นกัน

“ผมสนใจการเมืองตั้งแต่วันเด็ก จนได้สัมผัสการเมืองจริงครั้งแรกในฐานะอนุกรรมาธิการสอบสวนและรับเรื่องร้องเรียนในคณะกรรมาธิการ ศาล องค์กรตามรัฐธรรมนูญ และองค์การมหาชน สภาผู้แทนราษฎร ประมาณปี 2555  จำได้ว่าชอบบรรยากาศในสภาฯ ไม่ว่าผู้ใหญ่วงการเมืองชวนให้เป็นกรรมาธิการคณะไหน ก็จะไม่ปฏิเสธ เพราะได้เรียนรู้อะไรมากมาย”

“หลังจากปฏิวัติ คสช. ในปี 2559 ผมได้รับการทาบทามจากวุฒิสภา โดยท่านพีระศักดิ์ พอจิต อดีตรองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ชักชวนผมให้ไปเป็นที่ปรึกษา จุดนั้นผมรู้สึกว่านี่คือการทำหน้าที่การเมืองจริงจังครั้งแรก และมุ่งมั่นจะทำให้ดีที่สุด จนกระทั่งมารู้ภายหลังว่า ตำแหน่งที่ปรึกษารองประธาน สนช. คือ ข้าราชการการเมืองระดับ 10 เทียบเท่าตำแหน่งอธิบดี หรือผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ตอนรับปากท่านพีระศักดิ์ ผมไม่ได้สนใจเลยว่าเทียบเท่าตำแหน่งระดับใด”

“ขณะนั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติมุ่งการปฏิรูประบบเศรษฐกิจไทย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ผมเป็นที่ปรึกษาในคณะกรรมาธิการพาณิชย์ อุตสาหกรรมและแรงงาน ได้ศึกษากฎหมายหลายฉบับ เช่น กฎหมายป้องกันการผูกขาด กฎหมายสถาบันการเงิน Non-Bank เช่น Pico, Nano Finance เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น ในส่วนนี้ สนช. ออกกฎหมายหลายฉบับที่ช่วยลดความเหลือมล้ำได้จริงและยังใช้ถึงทุกวันนี้ และส่วนที่สนุกที่สุดคือโครงการ สนช. พบประชาชน โดยสมาชิก สนช.จะผลัดเปลี่ยนไปรับข้อร้องเรียนจากประชาชนโดยตรงในทุกจังหวัด”

“ในช่วงนั้นยังไม่มี สส. สมาชิก สนช. จึงต้องสวมบทบาทเป็นทั้ง สส. และ สว. ต้องลงพื้นที่ฟังเสียงประชาชน แม้จะมีทั้งถูกวิจารณ์และชื่นชม แต่ก็ทําให้ผู้ใหญ่ได้เห็นความเป็นจริงของประเทศไทยว่ามีความเหลื่อมล้ำสูง ผมมีหน้าที่สรุปปัญหาและเสียงประชาชนส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ผมเห็นประเทศมากขนาดนี้ หลายจังหวัดไม่เคยไป และได้เรียนรู้กฎหมายจริงจัง ในช่วงนั้นที่สุดของความภูมิใจ คือ การได้เข้าร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9 ผมเดินขึ้นไปวางดอกไม้จันทน์พร้อมผู้ใหญ่ท่านอื่นๆ พอเดินลงมา เห็นหลายคนก้มกราบพระบรมศพที่พื้นสนาม รวมทั้งผมด้วย เป็นความเสียใจอย่างอธิบายไม่ถูก ไม่อยากถ่ายรูป ขอเก็บเป็นความรู้สึกครั้งเดียวในชีวิตก็พอ”

บทบาทประธานบอร์ดการเคหะแห่งชาติ ที่มีเรื่องราวมากที่สุด

ถัดมาในปี 2562 ณัฐพงศ์ได้เข้ารับตำแหน่ง ประธานกรรมการการเคหะแห่งชาติ โดยมีความตั้งใจเข้าไปแก่ปัญหาสะสม ด้วยนโยบาย 10 ประการ จากมุมมองทางการเงิน และจัดโครงสร้างองค์กรให้มีความคล่องตัว โปร่งใส ที่สำคัญคือเน้นการเข้าไปพัฒนาชุมชนของการเคหะแห่งชาติด้วยนโยบายการสร้างเศรษฐกิจชุมชน อีกทั้งในช่วงการระบาดของโควิด-19 การเคหะแห่งชาติยังได้ร่วมมือกับเอกชนจำนวนมาก เพื่อเข้าไปดูแลชุมชนในทุกรูปแบบเพื่อให้ผ่านวิกฤตการระบาดในระลอกแรกไปได้โดยมีผลกระทบน้อยที่สุด

กระทั่งปลายปี 2563 ณัฐพงศ์ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งประธานบอร์ดการเคหะฯ แต่ถึงกระนั้น แนวคิดด้านการสร้างเศรษฐกิจชุมชนด้วยชาวชุมชนเองและเพื่อชาวชุมชนยังคงอยู่ และยังจะนำไปต่อยอดในบริบทอื่นต่อไป ซึ่งตลอดระยะเวลาที่นั่งในตำแหน่งประธานบอร์ดการเคหะแห่งชาติ อาจเรียกได้ว่าเป็นช่วงที่มีเรื่องราวมากที่สุดช่วงหนึ่ง

ณัฐพงศ์หัวเราะแล้วบอกว่าอาจจะจริง ก่อนจะย้อนเรื่องราวในช่วงเวลานั้นให้เราฟังว่า

“ย้อนไปช่วงใกล้หมดยุค คสช. ผมได้ทำจดหมายลาออกจากตำแหน่งที่ปรึกษารองประธาน สนช. ถึง 3 ครั้ง ด้วยเหตุผลเรื่องครอบครัวที่ไปลงหลักปักฐานที่ประเทศอังกฤษ ทำให้ไม่ค่อยมีเวลาให้สภาฯ จึงตัดสินใจขอลาออก ซึ่งท่านพีระศักดิ์เข้าใจและอนุมัติ ผมลาออกวันเดียวกับ ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ ในตำแหน่งเดียวกัน ภายหลัง ดร.ธนกร ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในสายตาผมคิดว่า ดร.แด็กเป็นนักการเมืองคุณภาพคนหนึ่ง”

“หลังจากการเลือกตั้งก็มีรัฐบาล  ผมได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานกรรมการการเคหะแห่งชาติ (ปี 2562-2563) ตามขั้นตอนรัฐธรรมนูญใหม่ ที่รัฐมนตรีต้องเสนอชื่อต่อสํานักงานคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจและคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ต่างจากสมัยก่อนที่รัฐมนตรีสามารถแต่งตั้งประธานบอร์ดฯ ได้ทันที”

“ผมว่าเป็นเจตนาที่ดีของรัฐธรมนูญที่จะถ่วงดุลการเมืองและคัดสรรบุคลากรที่ไม่ได้มาจากการเมืองให้เข้าไปทำงาน ถือว่าเป็นจังหวะที่ดีได้รับการอนุมัติและไปนั่งในตำแหน่งประธานคณะกรรมการการเคหะฯ 1 ปีกว่า ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีเรื่องราวมากมาย ทั้งบ้านเอื้ออาทรที่ค้างสต๊อกจำนวนมาก ก็ช่วยกันหาวิธีระบาย ทั้งให้เช่าบ้าง และลดราคาบ้าง เพราะทุกหน่วยที่มีคนเข้ามาอยู่ การเคหะฯ จะประหยัดค่าใช้จ่ายลง แต่ที่ส่วนตัวให้ความสําคัญมากๆ คือ ชุมชนการเคหะฯ ผมได้รับเรื่องร้องเรียนจากชุมชนว่าถูกดูแคลนว่า ใครอาศัยบ้านการเคหะฯ เหมือนเป็นประชาชนชั้นสอง ซึ่งคำนี้ผมไม่ชอบอย่างมาก ได้ยินแล้วจะโมโหทุกครั้ง”

“ผมเข้าไปทำงานกับชุมชนอย่างใกล้ชิด พาเอกชนไปเยี่ยมและบริจาคหวังเพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนเคหะ ที่สําคัญคือการร่วมมือกับมูลนิธิชัยพัฒนาในการช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ของชุมชน จนทำให้สินค้าบางอย่างของชาวบ้านมีโอกาสได้วางขายอยู่ในร้านภัทรพัฒน์ของมูลนิธิชัยพัฒนา”

“มีคนบอกว่าสิ่งที่ผมทำไม่ใช่หน้าที่ประธานบอร์ด แต่ผมกลับคิดว่านี่เป็นเรื่องที่ดีที่สุดที่ทำให้คนยืนได้ตัวยขาของตัวเอง”

“พอเจอโควิค ผมเลยได้อีกสมญานามว่า ‘ประธานข้าวกล่อง’ (ยิ้มอย่างภูมิใจ) โควิคระบาดช่วงแรกยังไม่มีวัคซีน รัฐบาลล๊อกดาวน์ ชุมชนบางส่วนที่ค้าขายในตลาดเดือดร้อน ผู้ใหญ่ที่เคารพเสนอว่าจะบริจาคเงินให้ชาวบ้านทำข้าวกล่องไปแจก 3,000 กล่อง พอเกิดจุดเริ่มต้นก็ขยายไปถึงภาคธุรกิจ บริษัทมหาชน มาร่วมปันน้ำใจแจกข้าวกล่องให้ชาวชุมชนการเคหะฯ รวม 200,000 กล่อง และถุงยังชีพอีกจำนวนมาก”

“การที่สังคมดูแลแบ่งปันซึ่งกันและกันในยามลำบากที่สุด ผมรู้สึกเป็นห่วงชาวชุมชนการเคหะฯ แม้ความช่วยเหลืออาจไม่มากในสายตาคนที่ร่ำรวย แต่สำหรับบางคนนั่นคือชีวิต ผมขอขอบคุณผู้ใหญ่หลายท่าน รวมทั้งเจ้าหน้าที่การเคหะฯ ที่ร่วมด้วยช่วยกัน แม้จะกลัวติดโควิด พอได้สัมผัสถึงชุมชนแล้วผมมั่นใจว่าถ้าการเคหะฯ มีทิศทางและผู้นําที่ดี เจ้าหน้าที่การเคหะฯ ทุกคนมีศักยภาพที่จะดูแลชุมชนได้อีกมาก”

ความวุ่นวายในการเคหะแห่งชาติ

ปลายปี 2563 ณัฐพงศ์ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งประธานบอร์ดการเคหะฯ ท่ามกลางกระแสความวุ่นวายในการเคหะฯ

“ผมทำหน้าที่เท่าที่ผมอยากทำและเหมาะสมเท่าที่สถานการณ์อำนวย ปัญหาบางเรื่องสะสมมา 20 ปี จะแก้ให้จบทันทีคงเป็นไปไม่ได้ เป็นเรื่องธรรมดาที่องค์กรจะมีปัญหาการเมืองภายใน และการเมืองภายนอก หากการเมืองไม่เข้าไปยุ่มย่ามหรือแทรกแซงองค์กร ปัญหาจะมีทางออก ส่วนตัวเมื่อคิดว่าอาจไม่เหมาะกับการแก้ปัญหาการเมือง จึงตัดสินใจลาออก ประกอบกับมีปัญหาสุขภาพรุมเร้าตั้งแต่ช่วงโควิดที่ออกไปยังพื้นที่ จึงคิดว่าถึงเวลาพอเสียที”

มีกระแสข่าวว่าขณะนั้นความขัดแย้งสูงทั้งภายในและภายนอก?

“เป็นธรรมดาเรื่องภายในก็ควรให้ภายในค่อยๆ จัดการ ส่วนบอร์ดฯ ควรเป็นกลาง ไม่ควรไปยุ่ง ช่วงนั้นผมเหนื่อยมาก ประชุมบอร์ดฯ ทุกสัปดาห์ จนป่วยสัปดาห์เว้นสัปดาห์ แต่ก็ต้องประชุมเพราะการเคหะฯ ไม่มีบอร์ดฯ เกือบปีที่เกิดภาวะสูญญากาศ เรื่องรออนุมัติคั่งค้างมาก บางคนไม่เข้าใจว่าทำไมประชุมบอร์ดฯ บ่อยมาก แต่มีหลายเรื่องที่ต้องอาศัยอำนาจบอร์ดฯ อนุมัติเท่านั้น ถ้าไม่เร่งประชุมชดเชยช่วงสูญญากาศ งานที่ล่าช้าอยู่แล้วก็จะยิ่งล่าช้าไปอีก”

“ส่วนเรื่องศักยภาพของบุคลากรการเคหะฯ เท่าที่ผมสัมผัสมีคนเก่งมากที่รู้และเข้าใจปัญหาจริง ซึ่งถ้าให้เวลาและโอกาส องค์กรก็จะเดินหน้าแก้ปัญหาได้เอง ส่วนกับการเมืองภายนอกยอมรับว่ามีความคิดเห็นไม่ตรงกันบ้าง แต่ผมเคารพเสมอ เราเหมือนอยู่ตรงกลาง อะไรที่ทำแล้วไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดระเบียบ และผมเห็นด้วย ผมก็ทำ ส่วนถ้าผมไม่เห็นด้วยผมไม่ทําหรือไม่สบายใจ ก็จะพูดตรงๆ เกิดข่าวลือข่าวปล่อยมาก ซึ่งผมไม่เคยสนใจ มุ่งทำเฉพาะหน้าที่ เพราะผมไม่ใช่นักการเมือง ยกเว้นเรื่องหมิ่นประมาทใส่ร้ายใต้ดิน ผมไม่ปล่อยไว้ แก้ข่าว ตอบโต้ ฟ้องบ้าง แต่คู่กรณีที่มาขอขมา ขอจับมือขอโทษ ผมถอนฟ้องให้ทุกกรณี ให้อภัยไม่มีอะไรติดใจ”

“ผมไม่คิดว่าเป็นความสำเร็จอะไร นอกจากได้ช่วยชุมชนแบบเป็นรูปธรรมจริง แต่เกิดแรงกระเพื่อม ทำให้องค์กรอาจเห็นศักยภาพตัวเองมากกว่าที่คิด สำหรับผม การเคหะแห่งชาติ คือ นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย แต่คนในต้องพาองค์กรไปถึงจุดนั้นเอง ผมเปรียบว่า ‘เหมือนยักษ์ที่ถูกมัดไว้” เป็นยักษ์ที่สามารถทำประโยชน์และลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างดี”

ในฐานะอดีตประธานบอร์ดฯ อยากฝากอะไรถึงการเคหะแห่งชาติ?

“ผมพ้นวาระมานานแล้วขอฝากความระลึกถึงและความทรงจำดีๆ นะครับ”

ณัฐพงศ์ในปัจจุบัน : 1 ปี ในฐานะกงสุลกิตติมศักดิ์มองโกเลีย ประจำจังหวัดภูเก็ตและพังงา

หลังลาออกจากตำแหน่งประธานบอร์ดการเคหะแห่งชาติ ณัฐพงศ์ยังคงใช้ความรู้และความสามารถที่มีในการพัฒนาและแก้ปัญหาของประเทศอย่างต่อเนื่อง ในบทบาทของการเป็นที่ปรึกษา ทั้งการเป็นที่ปรึกษาประธานกรรมาธิการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา, อนุกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน, ที่ปรึกษาประจำกรรมาธิการฟอกเงินและยาเสพติด, ที่ปรึกษาศูนย์ศึกษาการพัฒนาที่ยั่งยืนและเศรษฐกิจพอเพียง สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เป็นต้น

กระทั่งวันที่ 28 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา ณัฐพงศ์ได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานสารน์ตราตั้งกงสุล ดำรงตำแหน่ง กงสุลกิตติมศักดิ์มองโกเลียประจำจังหวัดภูเก็ต และพังงา (Mongolia Honorary Consul of Phuket and Phang-nga)

“ผมชอบประวัติศาสตร์อ่านเรื่องราวของเจงกิสข่านมามาก ซึ่งมองโกเลียเป็นอาณาจักรที่เคยใหญ่ที่สุดในโลก หลังพักผ่อนจากงานสักพักก็มีผู้ใหญ่ท่านมาทาบทามและได้มีโอกาสพบกับเอกอัครราชทูตมองโกเลียประจำประเทศไทย ท่านมีความทันสมัยและต้องการเปิดประตูมองโกเลียสู่โลกและสู่ประเทศไทย ผมรู้สึกท้าทายและมองว่าเป็นงานที่ใช้จิตสาธารณะในบทบาทดูแลชาวมองโกเลียในภูเก็ตและพังงา โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี”

“รัฐบาลมองโกเลียเสนอชื่อผมในตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์ฯ หลังจากนั้นรัฐบาลไทยรับรอง จึงตั้งสถานกงสุลขึ้นที่ จังหวัดภูเก็ต หลังจากได้รับโปรดเกล้าพระราชทานสาสน์ตราตั้งถือเป็นเกียรติสูงสุด รัฐบาลมองโกเลียโดยท่านทูตฯ จึงได้มอบนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวการค้าและการลงทุนระหว่างไทย-มองโกเลีย”

“ตลอดปีที่ผ่านมา ผมได้ทํางานร่วมกับสถานทูตมองโกเลีย กรมเอเชีย กระทรวงต่างประเทศ จังหวัดภูเก็ต และพังงา รวมถึงชมรมกงสุลที่จังหวัดภูเก็ตเกือบ 30 ประเทศ ซึ่งต่างให้คำแนะนำและช่วยเหลือเกื้อกูลกันอย่างดี”

“คาดว่าจะบรรลุเป้าหมายดึงนักท่องเที่ยวมองโกเลียมาไทยปีละ 100,000 คนในไม่ข้า ผมคิดว่าหากทําให้คนไทยรู้จักมองโกเลียเพิ่มขึ้นวันละ 1 คน ก็ดีใจแล้ว ตอนนี้เราสนับสนุน Lovely Mongolia และอีกหลายๆ เพจในเฟสบุ๊ก และอินสตาแกรม เพื่อประชาสัมพันธ์ให้คนไทยได้เห็นความสวยงามของมองโกเลีย และเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวมองโกเลียมาเที่ยวไทยผ่านสถานกงสุลฯ ผมว่าเป็นงานที่สนุกมาก”

“1 ปีที่ผ่านมามีโครงการต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ตั้งแต่เราตั้งสถานกงสุลฯ ที่ภูเก็ต การประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวมองโกเลียมาเที่ยวไทย และการดูแลนักท่องเที่ยวมองโกเลียก้าวหน้าขึ้นมาก ทั้งด้านการรักษาพยาบาลที่ร่วมกับโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต ด้านความปลอดภัย โดยร่วมมือกับกงสุลประเทศอื่นๆ ในภูเก็ต ตั้งกลุ่มสายด่วนร่วมกับตำรวจท่องเที่ยว ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง และตำรวจท้องที่เพื่อให้เป็น One Stop Service สถานกงสุลสามารถเข้าถึงและแก้ปัญหาให้นักท่องเที่ยวทุกชาติร่วมกับเจ้าหน้าที่ได้แบบนาทีต่อนาที”

“มีการสนับสนุนด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์มองโกเลีย ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น งานดนตรีตลอดทั้งปี ทีมงานกงสุลได้เก็บข้อมูลและทำสถิติ พบว่ามีคนไทยรู้จักมองโกเลียในเชิงลึกเพิ่มขึ้นประมาณ 300,000-350,000 คน  และมีการจับคู่ Business Matching สร้างโอกาสให้นักธุรกิจไทย-มองโกเลียเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน”

“สำหรับเป้าหมายต่อไป คือ ทำให้คนไทยเดินทางไปมองโกเลียมากขึ้น เพิ่มมูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างกันให้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2-3 เท่า”

“ผมเชื่อว่ามองโกเลียกำลังเปิดตัวสู่โลก ด้วยประชากร 3.5 ล้านคน แต่พื้นที่ใหญ่กว่าไทยถึง 3 เท่า แร่ธาตุและทรัพยากรที่มีจำนวนมาก ธรรมชาติสวยงามทุกฤดู จะสามารถสร้างโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายได้เป็นอย่างดี และในหลากหลายมิติ”

สิ่งที่น่าประทับใจที่สุดของมองโกเลีย?

“คนมองโกเลียเป็นคนจริงใจ พูดตรง ภาษาอังกฤษดี เข้ากับนิสัยคนไทย คนมองโกเลียชอบอาหารไทยที่เผ็ดไม่มาก มีนักท่องเที่ยวมองโกเลียคนหนึ่ง ลงเครื่องที่ภูเก็ต วิ่งไปหาผัดไทยทานทันที ตอนแรกนึกว่าจะตรงดิ่งไปลงทะเล”

ตัวตนของผู้ชายที่ชื่อ “ณัฐพงศ์ พันธเกียรติไพศาล”

“ผมโชคดีที่มีธุรกิจครอบครัวที่มั่นคงพ่อแม่สร้างไว้ทำให้ไม่ต้องมีภาระมากนัก ส่วนตัวผมชอบเป็นอาจารย์ เคยเป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และสถาบันปัญญาภิวัฒน์หลายปี  ผมยังเป็นนักเขียนเริ่มตั้งแต่อายุ 27 ปี ผมเขียนหนังสือแนวธุรกิจที่เปลี่ยนโลก และมีงานแปลหนังสือฝรั่งบ้าง เช่น หนังสือ ‘ปิ๊งแล้วรวย.คอม’ เขียนถึง Amazon, Google ตั้งแต่ยังไม่มีใครรู้จัก หนังสือ ‘11 แม่ทัพไอที’ คนไอทีไทยที่ช่วยเปลี่ยนวงการไอที ‘คัมภีร์เศรษฐี MAI’ หนังสือเล่มนี้เขียนให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ เกี่ยวกับการนำบริษัทขนาดกลางจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ MAI และอีกหลายเล่ม หลังจากหยุดงานเขียนไปสักพักจะเริ่มเขียนใหม่”

นอกจากเป็นอาจารย์พิเศษและนักเขียนแล้ว ดนตรีคืออีกสิ่งหนึ่งที่เขาชื่นชอบ

“ผมเล่นดนตรีตั้งแต่เล็ก ร้องเพลง เล่นกีตาร์ ยามว่างจะรวมวงกับเพื่อนฝูง ดีเอ็นเอดนตรีส่งต่อถึงลูกสาวทั้งสองคน ตอนนี้คนโตมุ่งเป็นนักดนตรีอาชีพ กำลังจะขึ้นปี 1 วิชาเอกดนตรี ในมหาวิทยาลัยดนตรีที่อังกฤษ”

“ส่วนตัวผมชอบชีวิตสันโดษ เรียบง่าย ชอบชนบทอังกฤษ นั่งคิดและเขียนอะไรไว้มาก เคยเขียนเรื่องการแข่งขันทางเศรษฐกิจของไทยไว้เมื่อหลายปีก่อน เป็นคอลัมนิสต์ พล.อ ท่านหนึ่งสมัย สนช. ขอไม่เอ่ยนาม บอกให้เขียนความคิดลงหนังสือพิมพ์แล้วเอามาให้อ่าน เพราะฟังผมอธิบายไม่รู้เรื่อง (หัวเราะเสียงดัง) ผมต้องส่งการบ้านท่านทุกอาทิตย์ ท่านเมตตามาก สุดท้าย ผมรวบรวมส่งเป็นงานวิจัยได้ปริญญาPostgraduate จาก Aston University ที่อังกฤษ ผมคิดว่าถ้ามีเวลาจะทําต่อ”

มุมมองต่อการเมืองไทย และอนาคตทางการเมือง

 “ผมมีมุมมองที่เป็นบวกต่อการเมืองไทยครับ เห็นคนเก่งๆ เข้ามาในแวดวงการเมืองมากขึ้น และเชื่อว่าความขัดแย้งทุกอย่างจะค่อยๆ ปรับเข้าหากัน ยกเว้นว่ามีคนกระตุ้นให้เกิดความรุนแรง ซึ่งหวังว่าสังคมจะรู้เท่าทัน สำหรับผมเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้สูงสุด ไม่ว่าการเมืองฝ่ายไหนไม่ควรดึงสถาบันมาเกี่ยวข้องทุกกรณี โดยเฉพาะช่วงที่ยังมีความขัดแย้ง”

“ส่วนอนาคตด้านการเมือง ผมขอให้เป็นเรื่องอนาคต ยังติดตามบ้าง เพียงตอนนี้ขอเน้นทำบทบาทของการเป็นกงสุลฯ มีความสุขกับหน้าที่และได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก” ณัฐพงศ์ พันธเกียรติไพศาล กงสุลกิตติมศักดิ์มองโกเลียประจำจังหวัดภูเก็ต และพังงา กล่าวทิ้งท้าย