สถานการณ์เศรษฐกิจของสิงคโปรที่เปิดเผยโดยกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ ระบุว่า เศรษฐกิจสิงคโปร์มีการขยายตัว 2.7 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบเป็นรายปีในไตรมาส 1/2567 โดยขยายตัวเร็วกว่าในไตรมาส 4/2566 ที่ขยายตัว 2.2 เปอร์เซ็นต์
โดยภาคการผลิตขยายตัว 0.8 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบเป็นรายปี ในไตรมาสแรกชะลอตัวลงหลังจากขยายตัว 1.4 เปอร์เซ็นต์ในไตรมาส 4/2566 โดยกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมระบุว่า การขยายตัวของภาคการผลิตอยู่ในกลุ่มเคมีภัณฑ์ วิศวกรรมความแม่นยำ และวิศวกรรมการขนส่ง ซึ่งได้ชดเชยการหดตัวของผลผลิตในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตชีวการแพทย์ และกลุ่มการผลิตทั่วไป ในขณะที่ภาคการก่อสร้างขยายตัว 4.3 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบเป็นรายปีในไตรมาส 1/2567 โดยได้รับสนับสนุนจากผลผลิตการก่อสร้างสาธารณะ ส่วนภาคบริการขยายตัว 3.2 เปอร์เซ็นต์ในไตรมาสแรก เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 4/2566 ที่ขยายตัว 2.2 เปอร์เซ็นต์
ที่น่าสนใจ คือ สิงคโปร์เป็นประเทศเล็กๆ ที่มีความพร้อมด้านระบบนิเวศของธุรกิจสตาร์ทอัปในอันดับ 1 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นอันดับ 7 จาก 100 ของโลก จากการจัดอันดับของ Startup Blink ซึ่งเป็น Startup Eco-system Index 2022 ทั้งนี้ สตาร์ทอัปของสิงคโปร์มีความโดดเด่นในด้านการศึกษา ฟินเทค และสังคม สันทนาการ ปัจจุบันสิงคโปร์มีสตาร์ทอัปสายเทคโนโลยีมากกว่า 1,000 ราย และมีระดับยูนิคอร์น 12 รายที่ผ่านการประเมินมูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์
และ Oatside แบรนด์นมข้าวโอ๊ตสัญชาติสิงคโปร์รายนี้ถือเป็นอีกหนึ่งสตาร์ทอัปที่น่าสนใจ เมื่อมีจุดเริ่มต้นการดำเนินธุรกิจในช่วงวิกฤตโรคระบาดที่ทั่วโลกต้องเผชิญ
อะไรคือปัจจัยหลักที่เอื้อให้ Oatsideเติบโต และขยายตลาดไปยังต่างประเทศได้ในเวลาอันรวดเร็ว มีโมเดลในการดำเนินธุรกิจอย่างไร
เบเนดิกต์ ลิม ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Oatside ผันตัวจากมนุษย์เงินเดือนมาเป็นผู้ประกอบการ และเริ่มทดลองทำนมข้าวโอ๊ตดื่มเองเมื่อต้องกักตัวอยู่บ้านในช่วงสถานการณ์โควิด และหลังจากลองผิดลองถูกประมาณ 6 เดือน วางระบบการผลิต 1 ปี และหาทุนด้วยความยากลำบาก กระทั่งเบเนดิกต์ระดมเงินทุนได้ 22 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือประมาณ 577 ล้านบาท จากบริษัท โปรเทอร์ร่า อินเวสเมนต์ พาร์ทเนอร์ส เอเชีย ในที่สุด เขาส่งนมข้าวโอ๊ต Oatside ชิมลางตลาดในช่วงต้นปี 2565
ซึ่งการตอบรับแบรนด์ Oatside ในสิงคโปร์เป็นไปด้วยดี เพราะนี่คือแบรนด์แรกที่เป็นแบรนด์ของสิงคโปร์ในตลาด ก่อนจะออกไปรุกตลาดต่างประเทศ อย่างมาเลเซีย ไต้หวัน เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย และไทย ในช่วงแรกของการเริ่มต้นธุรกิจ
ซินดี้ ลิน ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดของโอ๊ตไซด์ ให้ข้อมูลกับ “ผู้จัดการ 360 องศา” ว่า “เราเริ่มต้นธุรกิจจากการเป็นสตาร์ทอัป โดยในช่วงแรกรัฐบาลสิงคโปร์ให้การสนับสนุน ซึ่งเป็นนโยบายหลักของการส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในสิงคโปร์ และหลังจากที่เราได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้บริโภคในประเทศ เราใช้เวลาประมาณปีครึ่งก่อนที่จะเริ่มมองหาตลาดต่างประเทศ โดย 5 ประเทศที่ส่งแบรนด์ของเราไปทำการตลาดคือ มาเลเซีย ไต้หวัน เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย และไทย
การดำเนินธุรกิจในต่างประเทศช่วงแรกมีความคล้ายคลึงกัน คือ เจาะกลุ่มร้านกาแฟ เบเกอรี่ คาเฟ่ ก่อนจะเริ่มขยายไลน์ไปสู่ตลาดรีเทล”
สำหรับประเทศไทยที่กระแสตลาดนมทางเลือกเริ่มขยายตัว และสร้างฐานลูกค้าได้เพิ่มขึ้นจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพ รวมไปถึงกลุ่มคนที่ไม่สามารถบริโภคนมวัว หรือนมจากถั่วได้ กระนั้นตลาดนี้ก็ไม่ง่ายสำหรับแบรนด์น้องใหม่อย่าง Oatside เช่นกัน เมื่อปัจจุบันนมข้าวโอ๊ตในตลาดไทยมีอยู่ประมาณเกือบ 10 แบรนด์
“ผู้ก่อตั้งแบรนด์ได้ทำการศึกษาผลิตภัณฑ์นมข้าวโอ๊ตในตลาดสิงคโปร์และตลาดต่างประเทศที่มีเป้าหมายจะไปบุก ซึ่งจุดนี้ทำให้แบรนด์พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์พฤติกรรมและความต้องการ หรืออาจเรียกว่าเราพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่กลบจุดด้อย และเปลี่ยนให้มาเป็นจุดแข็งของแบรนด์” ซินดี้ ลิน เผย
ระยะเวลาเพียง 2 ปีกับการเติบโตที่เรียกว่าก้าวกระโดด จากจุดเริ่มต้นเพียงแค่ทำตลาดในประเทศ ก่อนจะขยายไปยังตลาดต่างประเทศ 5 ประเทศในช่วงแรกและขยายไปอย่างต่อเนื่อง กระทั่งปัจจุบัน Oatside มีการส่งออกไปแล้ว 18 ประเทศ
“ต้องบอกว่าเป็นการเติบโตที่เกินความคาดหมายไปมากทีเดียว แต่แน่นอนว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากภาครัฐในช่วงเริ่มต้น ก่อนที่จะมีนักลงทุนให้ความสนใจในธุรกิจอาหารเครื่องดื่มทางเลือก เป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันให้เราโตแบบก้าวกระโดด”
มูลค่าตลาดนมทางเลือกหรือ Plant Based ปี 2567 ที่ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทยได้คาดการณ์ไว้ว่า จะมีมูลค่าสูงถึง 45,000ล้านบาท และจะขยายตัวต่อเนื่องกว่า 1 ล้านล้านบาทในปี 2570แม้จะไม่สามารถแยกออกมาได้อย่างชัดเจนถึงมูลค่านมข้าวโอ๊ต นมจากถั่ว แต่สัดส่วนของนมข้าวโอ๊ตมีมูลค่ามากกว่านมอัลมอนด์อย่างชัดเจน เมื่อพิจารณาจากการตอบรับจากผู้บริโภค
“ส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้นมข้าวโอ๊ต Oatside เติบโตคือ เราขับเคลื่อนแบรนด์ด้วยรสชาติเป็นหลัก แม้ว่าราคาของนมข้าวโอ๊ตจะมีราคาแพงที่สุดในบรรดานมทางเลือก หรือ นมจาก Plant Based และกระแสเรียกร้องจากผู้บริโภคในไทย ที่ต้องการให้เราออกผลิตภัณฑ์ไซซ์เล็กลงเพื่อสะดวกในการบริโภค ทำให้เราตัดสินใจปล่อย Oatside Mini ขนาด 200 มิลลิลิตร 3 รสชาติ ได้แก่ รสออริจินัล รสกาแฟ รสช็อกโกแลต ออกมาตอบโจทย์ของลูกค้าชาวไทย”
จากการขยายตลาดส่งออกไป 18 ประเทศในเอเชีย แน่นอนว่าโรงงานผลิตหลักที่อยู่ในเมืองบันดุง อินโดนีเซียใกล้เต็มกำลังการผลิต คำถามที่น่าสนใจคือ มีความเป็นได้มากน้อยแค่ไหน ที่สตาร์ทอัปที่เติบโตเร็วอย่าง Oatside จะขยายฐานการผลิตและปักหลักในประเทศไทย เมื่อไทยเป็นอีกหนึ่งในตลาดที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี
“การผลิตที่อินโดนีเซียปัจจุบันใกล้เต็มกำลังการผลิตแล้ว ซึ่งเรากำลังพิจารณาขยายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศ โดยเลือกอยู่ 2-3 ที่ ปัจจัยหลักในการพิจารณาเลือกฐานการผลิตจะต้องส่งผลดีต่อการส่งออกไปยังอีก 18 ประเทศด้วย ทั้งภาษีการส่งออก นำเข้าวัตถุดิบ และแน่นอนว่า ไทยคือหนึ่งในประเทศที่เรานำมาพิจารณาเช่นกัน”
แม้สถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศไทยจะอยู่ในภาวะกำลังซื้อหดตัว ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น จากการที่มีซัปพลายเข้ามาในตลาดเพิ่มขึ้น แต่นี่ดูจะไม่ใช่ความกังวลของแบรนด์ Oatside เท่าใดนัก เมื่อแบรนด์มีเป้าหมายที่จะขยายฐานลูกค้าในกลุ่ม Gen Z และกลุ่ม Millennial เพิ่มขึ้น เพราะเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อและให้ความใส่ใจในการเลือกอาหาร และเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ
นับเป็นสตาร์ทอัปที่เติบโตได้อย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น และใช้กลยุทธ์การตลาดแบบค่อยเป็นค่อยไป ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค ที่ทำให้ผู้ก่อตั้งอย่าง เบเนดิกต์ ลิม เลือกที่จะเจาะตลาดนี้ อาจกล่าวได้ว่า เป็นการไขว่คว้าโอกาสและเลือกลงทุนได้เหมาะสมกับช่วงเวลา
อย่างไรก็ตาม สำหรับตลาดนมทางเลือกในไทยทั้งปัจจุบันและอนาคตยังคงเป็นตลาดที่ท้าทายผู้เล่นเสมอ เมื่อตลาดผู้บริโภคพร้อมที่จะขยายตัวเช่นกัน.