วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
Home > Cover Story > อิเซตันพลิกเกมส่ง “มิตซูโคชิ” บุกแนวรบซูเปอร์มาร์เกตไทย

อิเซตันพลิกเกมส่ง “มิตซูโคชิ” บุกแนวรบซูเปอร์มาร์เกตไทย

ทันทีที่กลุ่มอิเซตัน มิตซูโคชิ โฮลดิ้งส์ ประกาศจับมือกับ ทีซีซี แอสเซ็ทส์ (ประเทศไทย) และ เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) ร่วมลงทุนบิ๊กโปรเจกต์ วัน แบงค็อก ทาวเวอร์ 4 และที่สำคัญเตรียมส่ง มิตซูโคชิ ซูเปอร์มาร์เก็ต-ฟู้ดฮอลล์ เจาะแนวรบตลาดซูเปอร์มาร์เกตในประเทศไทย ได้สร้างแรงกระเพื่อมของสงครามครั้งใหม่ หลังเคยเจ็บหนักปิดห้างอิเซตันไปเมื่อ 4 ปีก่อน

แม้เวลานั้น บริษัท อิเซตัน (ประเทศไทย) แจ้งยุติกิจการเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2563 ระบุสาเหตุจากสัญญาเช่าพื้นที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์กับค่ายเซ็นทรัลพัฒนาสิ้นสุดลง และเซ็นทรัลพัฒนาต้องการขอคืนพื้นที่บางส่วนเพื่อพัฒนาใหม่

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีอีกสาเหตุใหญ่ คือ สงครามการค้าปลีกในกลุ่มห้างสรรพสินค้าในไทยรุนแรงมาก แม้อิเซตันทุ่มงบนับพันล้านบาทรีโนเวตครั้งใหญ่ ชูคอนเซ็ปต์ This is Japan สร้างจุดขายต่างจากคู่แข่ง เน้นสินค้าหลากหลายแบบเอ็กซ์คลูซีฟมีขายเฉพาะในอิเซตัน แต่พฤติกรรมนักช้อปไทยเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและมีช่องทางออนไลน์ขายสินค้ามากมาย รวมถึงของนำเข้าจากญี่ปุ่น ส่งผลให้ตัวเลขรายได้มีแนวโน้มไม่เติบโต

ปี 2562 ขาดทุนมากกว่า 200 ล้านบาท มิหนำซ้ำยังเจอผลกระทบวิกฤตโควิดแพร่ระบาดอย่างหนักหน่วง

ดังนั้น วงการค้าปลีกต่างจับตาการกลับมาในสมรภูมิใหม่ ซึ่งกลุ่มอิเซตัน มิตซูโคชิ โฮลดิ้งส์ เผยแผนเบื้องต้นจะเปิดซูเปอร์มาร์เกตและฟูดฮอลล์ แบรนด์ “มิตซูโคชิ” สไตล์ “เดปาจิกะ” หรือซูเปอร์มาร์เกตชั้นใต้ดิน (เดปา แปลว่าห้าง และจิกะ แปลว่า ชั้นใต้ดิน) ซึ่งเป็นโมเดลที่ได้รับความนิยมในญี่ปุ่น และมิตซูโคชิประสบความสำเร็จมาก โดยวางหมุดหมายแรกในไทย ภายใต้คอนเซ็ปต์ ฟูด เดสทิเนชัน ระดับเวิลด์คลาสแห่งแรกในประเทศไทย (One Bangkok unveils Mitsukoshi’s world-class food destination, the first in Thailand) เป็นศูนย์รวมอาหารและโกรเซอรีระดับพรีเมียมตามแบบฉบับของซูเปอร์มาร์เกตและฟูดฮอลล์ในห้างสรรพสินค้าชั้นนำของญี่ปุ่น พื้นที่รวม 4,600 ตารางเมตร ตั้งอยู่บนชั้น B1 วัน แบงค็อก รีเทล โซน Parade

พื้นที่หลักๆ แยกเป็น 2 ส่วน คือ ซูเปอร์มาร์เกต มีสินค้าทั้งในและต่างประเทศ อาหารสดคุณภาพสูง ผัก ผลไม้ เนื้อปลาสดส่งตรงจากตลาดปลาชื่อดังของญี่ปุ่นและเนื้อสัตว์สดจากฟาร์ม

ส่วนฟูดฮอลล์เน้นสุดยอดร้านบูติกขนมพาสทรี คาเฟ่ และร้านอาหารญี่ปุ่นระดับพรีเมียม ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย

โทชิยูกิ โฮโซยะ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของอิเซตัน มิตซูโคชิ โฮลดิ้งส์ จำกัด กล่าวว่า กลุ่มอิเซตัน มิตซูโคชิ วางเป้าหมายจะขยายฐานลูกค้าทั่วโลก ซึ่งเอเชียถือเป็นภูมิภาคที่มีความสำคัญมาก และกรุงเทพฯ เป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง มีฐานลูกค้าจำนวนมากที่ชื่นชอบคุณภาพของสินค้าญี่ปุ่นและห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่นของอิเซตัน มิตซูโคชิ ยังได้รับความนิยมในกลุ่มคนไทยด้วย

ทั้งนี้ ชื่อชั้นของมิตซูโคชิและอิเซตันต่างเป็นค้าปลีกยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น

มิตซูโคชิกรุ๊ปมีจุดเริ่มต้นเมื่อปี 2216 โดยนายทาคาโทชิ มิตซุย เปิดร้านผ้ากิโมโน ชื่อ “เอจิโกยะ” Echigoya ในเมืองเอโดะ ฮอนโช หรือโตเกียวในปัจจุบัน เขาปฏิวัติวงการขายสินค้าด้วยวิธี “selling by cash-sale at fixed prices” ทำให้ชุดกิโมโนที่เคยมีไว้เฉพาะลูกค้าคนรวยกลายเป็นสินค้าที่คนทั่วไปสามารถซื้อหาได้เช่นกัน

ปี 2447 ร้านผ้ากิโมโน Mitsukoshi ประกาศพลิกโฉมใหม่สู่ห้างสรรพสินค้า ดีพาร์ทเมนต์สโตร์ จำหน่ายสินค้าหลากหลายมากขึ้น

ปี 2457 ห้าง Mitsukoshi Nihombashi แห่งใหม่ สร้างความตื่นเต้นให้ลูกค้าชาวญี่ปุ่นด้วยการติดตั้งลิฟต์และบันไดเลื่อนในห้างเป็นแห่งแรกของญี่ปุ่น นับจากนั้นกลุ่มมิตซูโคชิเติบโตและกลายเป็นห้างค้าปลีกยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น

ด้านอิเซตันก่อตั้งเมื่อปี 2429 ในเขตชิโยดะ โดย Tanji Kosuge ก่อนขยายสาขาทั่วประเทศญี่ปุ่นและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

วันที่ 1 เมษายน 2551 อิเซตันรวมกิจการกับมิตสึโคชิ ก่อตั้งบริษัท อิเซตัน มิตสึโคชิ โฮลดิ้งส์ จำกัด มีธุรกิจหลัก 3 กลุ่ม คือ ธุรกิจห้างค้าปลีก (Department Store Business) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Business) และธุรกิจการเงิน (Finance Business) โดยธุรกิจห้างดีพาร์ทเมนต์สโตร์คือรายได้หลักถึง 86%
ปัจจุบันในกลุ่มอิเซตัน มิตซูโคชิ โฮลดิ้งส์ มีห้างสรรพสินค้าในญี่ปุ่นรวม 22 สาขา ภายใต้ 4 แบรนด์คือ Mitsukoshi, Marui Imai, Isetan และ Iwataya ร้านค้าปลีกขนาดกลางและขนาดเล็กอีก 130 สาขา ส่วนสาขาในต่างประเทศมีมากกว่า 34 สาขา แบ่งเป็น Isetan Mitsukoshi 19 สาขา Shinko Mitsukoshi 15 สาขา

อย่างไรก็ตาม การเจาะแนวรบซูเปอร์มาร์เกตในไทยไม่ใช่โจทย์ง่าย แม้เป็นการบุกเฉพาะกลุ่มพรีเมียม แต่ทุกค่ายต่างจัดเต็มกลยุทธ์ต่างๆ และเน้นสินค้าระดับพรีเมียม เพื่อขยายฐานลูกค้าระดับ A-B

หากสำรวจแบรนด์ซูเปอร์มาร์เกตรายใหญ่ในไทยจำนวนมากกว่าสิบแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็นค่ายบิ๊กซี ซึ่งอยู่ภายใต้เครือข่ายทีซีซีกรุ๊ปเช่นเดียวกัน ทั้งบิ๊กซีซูเปอร์เซ็นเตอร์ มินิบิ๊กซี บิ๊กซี มาร์เก็ต บิ๊กซี ฟู้ดเพลส

ค่ายเซ็นทรัล ได้แก่ เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล ท็อปส์เดลี่ ท็อปส์มาร์เก็ต ท็อปส์ มาร์เก็ต ฟู้ด แอนด์ ไวน์ ท็อปส์ซูเปอร์คุ้ม
กลุ่มซีพีมีทั้งแบรนด์ซีพีเฟรชมาร์ท โลตัส โลตัส โก เฟรช โลตัส โก เฟรช ซูเปอร์มาร์เก็ต แม็คโคร และร้านสะดวกซื้อ เซเว่นอีเลฟเว่น ซึ่งให้บริการสินค้าสไตล์ซูเปอร์มาร์เกตด้วย

กลุ่มเดอะมอลล์ ได้แก่ กูร์เมต์ มาร์เก็ต พรีเมียมซูเปอร์มาร์เก็ต และกูร์เมต์ อีทส์

ขณะที่ถ้าเจาะเฉพาะกลุ่มซูเปอร์มาร์เกตสายพันธุ์แดนอาทิตย์อุทัยมี 3 ค่ายหลัก คือ แม็กซ์แวลู ดองกิ และทาคามาร์เช่ ซึ่งทุกค่ายต่างอยู่ในสถานการณ์ต่อสู้แย่งชิงกลุ่มลูกค้าและมีการทบทวนแผนการลงทุนหลายรอบ

อย่าง “แม็กซ์แวลู” ภายใต้บริษัท อิออน ไทยแลนด์ เข้ามาลงหลักปักฐานในประเทศไทยมากกว่า 40 ปีแล้ว เริ่มต้นจากบริษัท สยามจัสโก้ จำกัด เปิดห้างจัสโก้สาขาแรกที่ถนนรัชดาภิเษกเมื่อปี 2527 และขยายสาขาเรื่อยมา

ต่อมาในปี 2550 บริษัท อิออน ไทยแลนด์ เปลี่ยนรูปแบบห้างจัสโก้เป็นแม็กซ์แวลู ซูเปอร์มาร์เก็ต เปิดสาขาต้นแบบแห่งแรกที่ถนนนวมินทร์ และขยายสาขาต่อเนื่อง จนปี 2553 บริษัทลุยร้านสะดวกซื้อ แม็กซ์แวลู ทันใจ สาขาแรกที่ซอยทองหล่อ 18 และปูพรมสาขาตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า ย่านชุมชน ย่านธุรกิจ คอนโดมิเนียม และอาคารสำนักงาน รวมแล้วทั้งสองแบรนด์ราวร้อยสาขา

ช่วงปี 2566 เกิดกระแสข่าวว่า บริษัท อิออน (ไทยแลนด์) ทยอยปิดร้านแม็กซ์แวลู เตรียมถอนการลงทุนเพราะสู้การแข่งขันไม่ไหว แต่ต่อมาผู้บริหารออกมายืนยันเดินหน้าธุรกิจในไทย ส่วนการปิดบางสาขาเป็นไปตามแผนการพัฒนาธุรกิจ โดยเฉพาะการดึงร้านอาหารพร้อมรับประทานยอดนิยมของบริษัท ในชื่อ โอคาวาริมอร์ (Okawari More) เข้ามาเปิดให้บริการ เน้นนำเสนอเมนูพร้อมรับประทาน ทั้งอาหารไทย อาหารญี่ปุ่น และอาหารนานาชาติ รวมทั้งเพิ่มกลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพ ทั้งกลุ่มวีแกน แพลนท์เบส ออแกนิก และสินค้าพรีเมียม

ด้านค่ายที่กำลังมาแรง “ดองกิ” เป็นการจับมือกันระหว่างบริษัท แพน แปซิฟิค อินเตอร์เนชันแนล โฮลดิงส์ จำกัด บริษัทในกลุ่มดองกิโฮเต้ (Don Quijote) เครือข่ายร้านค้าปลีกจากประเทศญี่ปุ่นกับผู้ร่วมทุนไทย ได้แก่ บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทีโอเอ เวนเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด โดยประเดิมโปรเจกต์แรก DONKI Mall Thonglor ซอยทองหล่อ และสามารถสร้างการรับรู้ โดนใจกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่ จนกระทั่งลุยขยายสาขาในศูนย์การค้าขนาดใหญ่

ร้านดองกิ ชูคอนเซ็ปท์ Japan Brand Specialty Store นำเสนอสินค้า Made in Japan หรือ Made by Japan ผลิตและนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น เพื่อเป็นทั้งแหล่งช้อปปิ้ง แฮงก์เอาต์ และฟูดเดสทิเนชัน ล่าสุดเปิดให้บริการ 8 สาขา ได้แก่ สาขาทองหล่อ ซีคอนสแควร์ เอ็มบีเคเซ็นเตอร์ ซีคอนบางแค เจพาร์คศรีราชา ธนิยะพลาซา แฟชั่นไอส์แลนด์ เดอะมอลล์ ไลฟ์สโตร์ บางกะปิ และกลางปีนี้จะเปิดสาขาใหม่ในศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวสต์เกต
ตามแผนงานของบริษัท แพน แปซิฟิค อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิงส์ ต้องการขยายสาขาในประเทศไทย จะต้องมีสาขาในไทยไม่ต่ำกว่า 20 สาขา ขณะที่ปัจจุบันร้านดองกิโฮเต้ในประเทศญี่ปุ่นมีจำนวนสาขามากกว่า 600 แห่ง ส่วนสาขาในต่างประเทศ นอกจากไทยยังขยายไปยังฮ่องกงและสิงคโปร์

สุดท้าย TAKA Marché (ทาคา มาร์เช่) ของทาคาชิมายะ ซูเปอร์มาร์เกตที่รวมสินค้าอุปโภคบริโภคระดับพรีเมียมจากญี่ปุ่น โดยเฉพาะของสด เครื่องปรุงรส อาหารพร้อมรับประทาน ซูชิ ซาชิมิ วัตถุดิบจากทะเล และเนื้อวากิว โดยปัจจุบันเปิด 2 สาขาในห้างสยาม ทาคาชิมายะ และอยู่ในกูร์เมต์ มาร์เก็ต สยามพารากอน

ดังนั้น ต้องจับตา มิตซูโคชิ” สไตล์ “เดปาจิกะ” จะสามารถพลิกกลยุทธ์ในสมรภูมิใหม่ได้อย่างแข็งแกร่งหรือไม่!!