วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > 4 ทศวรรษ ชุมชนเภสัชกรรม บนความมุ่งมั่นของ สุรชัย เรืองสุขศิลป์

4 ทศวรรษ ชุมชนเภสัชกรรม บนความมุ่งมั่นของ สุรชัย เรืองสุขศิลป์

ยาเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่มีความสำคัญต่อชีวิต และทุกชีวิตยากที่จะหลีกเลี่ยงการใช้ยา นั่นทำให้การดำรงชีวิตของมนุษย์ขาด “ยา” ไม่ได้ นี่อาจเป็นเหตุผลสำคัญต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมยา โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยาที่มีมูลค่าสูงหลายแสนล้านบาท

ด้วยขนาดของตลาดยาในไทยทำให้ผู้เล่นส่วนใหญ่เป็นบริษัทต่างชาติ มีบริษัทผู้ผลิตยาไทยเพียงไม่กี่ราย และหนึ่งในนั้นคือ บริษัท ชุมชนเภสัชกรรม จำกัด ที่อยู่ในธุรกิจยามานานกว่า 4 ทศวรรษ

“กว่า 4 ทศวรรษ ที่บริษัท ชุมชนเภสัชกรรม จำกัด ดำเนินกิจการภายใต้ปณิธานและความตั้งใจอันแรงกล้าที่จะผลิตยาที่ดี มีคุณภาพ เพื่อให้คนไทยมีโอกาสได้ใช้ยาคุณภาพในราคาที่เหมาะสมยุติธรรม ลดการสูญเสียดุลการค้าจากการนำเข้ายาจากต่างประเทศ ในขณะเดียวกันก็เป็นการพัฒนาทักษะความสามารถของเภสัชกรไทยให้มีศักยภาพมากขึ้นทั้งคุณภาพ และการบริการที่เหนือกว่า ด้วยราคายุติธรรม” ภก. สุรชัย เรืองสุขศิลป์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชุมชนเภสัชกรรม จำกัด (มหาชน) กล่าว

นอกจากปณิธานที่เป็นสิ่งขับเคลื่อนสำคัญของชุมชนเภสัชกรรมแล้ว การวางเป้าหมายด้านรายได้เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ ภก. สุรชัย ตั้งเป้าไว้สูงถึง 1,000 ล้านบาท

“เราตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 1,000 ล้านบาท ภายในปี 2668 โดยมีอัตราการเติบโตปีละ 15 เปอร์เซ็นต์ ด้วยมูลค่าตลาดยาในประเทศที่สูงถึง 2.4 แสนล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็นการนำเข้า 70 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 1.68 แสนล้านบาท และยาที่ผลิตภายในประเทศ 30 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 0.72 แสนล้านบาท ซึ่งมูลค่าทางตลาดยังมีการเติบโตอยู่ที่ปีละ 11 เปอร์เซ็นต์ โดยแบ่งเป็นการเติบโตในช่องทางโรงพยาบาล 15 เปอร์เซ็นต์ และช่องทางร้านขายยาเติบโต 5 เปอร์เซ็นต์”

ชุมชนเภสัชกรรมมีแบรนด์สินค้ารวมกว่า 145 รายการ (SKU) และยังมียาที่อยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนาอีกเป็นจำนวนมาก แบ่งเป็นผลิตภัณฑ์ยาแผนปัจจุบัน ประกอบด้วยยาสามัญและยาสามัญใหม่ เช่น แบรนด์ Apixa CCP ในกลุ่มยาต้านการแข็งตัวของเลือด, แบรนด์ Rovas ในกลุ่มยาลดไขมัน, แบรนด์ Amlopress, Enalapril, Apreszine ในกลุ่มลดความดัน, แบรนด์ Glycediab ในกลุ่มยารักษาเบาหวาน เป็นต้น รวมทั้งผลิตภัณฑ์สมุนไพร แบรนด์ Bee’en Plus เป็นต้น

บริษัทยาในไทยไม่สามารถเติบโตได้อย่างเต็มที่ แม้ว่าหลายบริษัทจะมีความสามารถทั้งการคิดค้นพัฒนา รวมถึงมีงานวิจัยเป็นของตัวเอง ปัจจัยที่ฉุดรั้งการเติบโตคือสิทธิบัตรยาที่ถูกถือครองโดยบริษัทจากต่างชาติ ทำให้บริษัทยาไทยไม่สามารถแข่งขันได้อย่างเต็มกำลัง หลายบริษัทเร่งพัฒนาในห้วงยามก่อนที่สิทธิบัตรยาเหล่านี้จะหมดลง ซึ่งกรอบเวลาที่ว่าสอดคล้องต่อการทำวิจัยและพัฒนาเพื่อเตรียมความพร้อมในการผลิต บ. ชุมชนเภสัชกรรมเองก็เช่นกัน

“บริษัทฯ เตรียมความพร้อมล่วงหน้ามากกว่า 5 ปี ในการพัฒนาสูตรผลิตยาโมเลกุลใหม่ ๆ ที่ให้ผลการรักษาดี มีความปลอดภัย และกำลังจะหมดสิทธิบัตรลง ซึ่งเป็นการช่วยให้คนไทยเข้าถึงยาได้ง่ายขึ้น และเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้ป่วยสูงวัย ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนเกิน 14% ของจำนวนประชากรของประเทศ และจะเพิ่มเป็น 28% ในอีก 6 ปีข้างหน้า เช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่น ทำให้มีความจำเป็นต้องใช้ยาโรคเรื้อรังชนิดไม่ติดต่อ (Non communicable diseases – NCDs) เพิ่มขึ้นในอัตราสูง” ภก. สุรชัย กล่าว

ภก. สุรชัย ยังเสริมว่า อุตสาหกรรมยาของไทยมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ แนวโน้มการใส่ใจดูแลสุขภาพของคนไทยและตัวเลขของผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งต้องการยาที่มีคุณภาพมาทำการรักษาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีความต้องการจากตลาดในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจากปัจจัยที่กล่าวมานี้ทำให้อุตสาหกรรมยาของไทยมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมากในอนาคต

นอกจากการเตรียมความพร้อมในการพัฒนาสูตรยา เพื่อรอสิทธิบัตรยาที่กำลังจะหมดอายุลง ซึ่งเป็นโอกาสที่บริษัทยาไทยจะแข่งขันในตลาดได้อย่างยุติธรรม บ. ชุมชนเภสัชกรรมยังใช้กลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจอีกหลายด้าน ภก. สุรชัย อธิบายเพิ่มเติมว่า

“กลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ นอกจากการมุ่งมั่นวิจัยและพัฒนาเวชภัณฑ์ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพให้มีคุณภาพ ประสิทธิภาพที่ดีแล้ว เรายังมีการพัฒนากระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่อง ด้วยการใช้เครื่องจักร และเทคโนโลยีที่ทันสมัย คัดสรรบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ สร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง เกิดการจดจำแบรนด์ ครองใจลูกค้าด้วยคุณภาพ และบริการที่เหนือกว่าด้วยราคายุติธรรม”

นโยบายส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมยาของภาครัฐ ที่ตั้งเป้าว่าในช่วงปี 2566-2570 จะต้องเพิ่มมูลค่าผลิตยามากกว่า 1 แสนล้านบาท และขยายตลาดส่งออกเป็น 1.3 หมื่นล้านบาท ทั้งองค์กรที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม รวมถึงผู้ประกอบการล้วนแต่คิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า มีโอกาสที่จะเป็นไปได้ ทว่าภาครัฐจำเป็นต้องส่งเสริมอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการผลิตวัตถุดิบที่จะสามารถใช้ในกระบวนการผลิตยา กระนั้นก็ยังคงเป็นเรื่องที่ท้าทาย และยังมีปัจจัยที่ต้องพิจารณาอีกหลายด้าน เมื่อไทยยังไม่ได้อยู่ในจุดที่มีความพร้อมแบบร้อยเปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า งาน CPHI South East Asia 2024 จะเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนที่มีความสำคัญไม่น้อยในอุตสาหกรรมยาไทย

โอกาสของอุตสาหกรรมยาในไทยมีศักยภาพสูง ทั้งด้านการวิจัยและพัฒนา พร้อมการยอมรับในมาตรฐานเทียบเท่ากับต่างประเทศ พร้อมยกระดับอุตสาหกรรมยาไปสู่ New S-Curve เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและก้าวไปสู่การเป็น Medical Hub ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะดึงเม็ดเงินสะพัดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคต

โดยแนวคิดการพัฒนางาน ซีพีเอชไอ เซาท์อีสต์ เอเชีย 2024 (CPHI South East Asia 2024) จัดขึ้นเป็นงานแสดงสินค้า เทคโนโลยี และการประชุมด้านอุตสาหกรรมการผลิตยาครบวงจรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในงานจะมีผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย ร่วมโชว์ศักยภาพด้านนวัตกรรมเทคโนโลยี และยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมยาของไทยให้ก้าวขึ้นเทียบเท่าระดับสากล และเพื่อให้คนไทยเข้าถึงยาคุณภาพได้ง่ายขึ้น

“การเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในงาน CPHI South East Asia 2024 เป็นหนึ่งในการนำเสนอศักยภาพด้านการวิจัยและพัฒนายาของบริษัท และเราพร้อมที่จะได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยาไทยให้เป็น Medical Hub ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอนาคต พร้อมกันนี้บริษัทฯ เตรียมนำผลิตภัณฑ์ใหม่ล่าสุดคือ Apixaban 2.5 mg และ Apixaban 5 mg ซึ่งเป็นยาป้องกันการแข็งตัวของเลือดในระบบไหลเวียน โดยเฉพาะที่หลอดเลือดสมอง โดยเป็นหนึ่งในไม่กี่บริษัทที่สามารถผลิตยาชนิดนี้ขึ้นเองภายในประเทศ”

เป้าประสงค์ และปณิธานของ ภก. สุรชัย เรืองสุขศิลป์ จะเป็นแรงขับสำคัญนำพาให้ชุมชนเภสัชกรรมไปสู่เป้าหมายได้หรือไม่.