ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ความยั่งยืน” หรือ Sustainability เป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงบ่อยครั้งและกำลังทวีความสำคัญมากขึ้นเป็นลำดับ นั่นทำให้องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนต่างบรรจุกลยุทธ์เพื่อความยั่งยืนไว้ในแผนปฏิบัติการ เพื่อสร้างการเติบโตให้กับองค์กรควบคู่ไปกับสร้างความยั่งยืนให้กับโลก
เช่นเดียวกับ “สตาร์บัคส์ ประเทศไทย” เชนร้านกาแฟยักษ์ใหญ่จากสหรัฐอเมริกา ที่ล่าสุดออกมาตอกย้ำกลยุทธ์เพื่อความยั่งยืนอีกครั้งกับแคมเปญ LITTLE CHOICES. BIG CHANGES. พร้อมแต่งตั้งผู้ที่จะมาขับเคลื่อนสตาร์บัคส์สู่เป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมคนใหม่ ด้วยกลยุทธ์ที่ออกแบบสำหรับประเทศไทยโดยเฉพาะ
“เดือนกรกฎาคมปีนี้ สตาร์บัคส์จะก้าวเข้าสู่ปีที่ 26 ในการเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทย นอกจากประสบการณ์ผ่านแก้วกาแฟที่เราส่งมอบให้กับผู้บริโภคแล้ว พันธกิจด้านความยั่งยืนคือสิ่งที่สตาร์บัคส์ทำมาตลอดนับตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาทำธุรกิจในเมืองไทย” เนตรนภา ศรีสมัย กรรมการผู้จัดการ สตาร์บัคส์ ประเทศไทย เกริ่นนำถึงการขับเคลื่อนพันธกิจด้านความยั่งยืนที่ดำเนินมาตลอด 25 ปี
เนตรนภาฉายภาพต่อว่า นับตั้งแต่ปี 2541 ที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทย สตาร์บัคส์ได้ดำเนินธุรกิจภายใต้พันธกิจสร้างสัมพันธภาพที่ยั่งยืนระหว่าง “กาแฟ ผู้คน และโลก” (Coffee People Planet) รวมถึงดูแลสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำผ่านการเดินทางของเมล็ดกาแฟหรือที่เรียกว่า “From Bean to Cup Journey” มาโดยตลอด เพราะฉะนั้นเรื่องความยั่งยืนจึงไม่ใช่สิ่งใหม่สำหรับสตาร์บัคส์เท่าใดนัก
ทั้งนี้สตาร์บัคส์ทั่วโลกได้กำหนดเป้าหมายด้านความยั่งยืนไว้ว่า ภายในปี 2573 สตาร์บัคส์จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 50% ลดการใช้น้ำสำหรับผลิตบรรจุภัณฑ์และห่วงโซ่อุปทานด้านการเกษตรกรรมในการดำเนินงานทั่วโลกลง 50% และลดขยะที่จะนำไปฝังกลบลง 50% สำหรับกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนที่สตาร์บัคส์นำมาใช้ พอจะแยกย่อยได้ดังนี้
สร้างความยั่งยืนตามมาตรฐาน C.A.F.E. Practices
ที่ผ่านมาสตาร์บัคส์ทำงานร่วมกับมูลนิธิพัฒนาชาวเขาแบบผสมผสาน (Integrated Tribal Development Foundation: ITDF) มากว่า 20 ปี ในการพัฒนาชุมชนชาวไร่กาแฟให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยมีการเสาะหาและรับซื้อเมล็ดกาแฟคุณภาพตามมาตรฐาน C.A.F.E. Practices (Coffee and Farmer Equity Practices) ซึ่งเป็นมาตรฐานในการรับซื้อเมล็ดกาแฟระดับสูงของสตาร์บัคส์ ที่ชาวไร่ผู้ปลูกกาแฟต้องปฏิบัติตามแนวทางที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่สตาร์บัคส์กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด เริ่มตั้งแต่การปลูกกาแฟอย่างถูกวิธี
โดยสตาร์บัคส์มีข้อกำหนดว่า กาแฟที่ปลูกนั้นจะต้องไม่ใช้สารเคมี และปลูกใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ตามธรรมชาติ (Shade-Grown) เพื่อรักษาสภาพแวดล้อม แหล่งน้ำ เป็นการทำไร่กาแฟที่ยั่งยืนและกลมกลืนไปกับธรรมชาติ ไม่มีการตัดไม้ทำลายป่า ในส่วนของการรับซื้อนั้นเป็นการรับซื้อระยะยาวในราคายุติธรรมที่เกิดจากการตกลงราคาร่วมกันของทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะส่งผลดีต่อทั้งชาวไร่ ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อมในระยะยาว
“ม่วนใจ๋ เบลนด์” เมล็ดกาแฟพันธุ์อะราบิกาที่ปลูกโดยชาวไร่กาแฟทางภาคเหนือของไทยที่สร้างชื่อให้กับสตาร์บัคส์มานานถึง 20 ปี คือหนึ่งในผลิตผลของความร่วมมือดังกล่าว โดยสตาร์บัคส์จะนำรายได้ 5% จากการขายเมล็ดกาแฟม่วนใจ๋ เบลนด์ และสมทบกับรายได้ทุกๆ 10 บาทจากการขายเครื่องดื่มทุกแก้วในร้านกาแฟสตาร์บัคส์สาขาเพื่อชุมชน (Starbucks Community Store) ส่งมอบให้กับ ITDF เพื่อนำไปใช้ปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไร่กาแฟทางภาคเหนือต่อไป
นอกจากนั้น สตาร์บัคส์ยังร่วมมือกับ Planet Water Foundation องค์กรไม่แสวงหากำไรเพื่อส่งมอบน้ำสะอาดให้กับชุมชนที่ขาดแคลน โดยเริ่มโครงการมาตั้งแต่ปี 2563 และได้ติดตั้งส่งมอบถังเก็บน้ำสะอาดให้กับชุมชนที่จังหวัดสระแก้วไปแล้ว 5 ถัง และปีนี้จะเพิ่มอีก 2 ถัง อีกด้วย
Greener Store ร้านกาแฟที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
อีกหนึ่งกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนที่สตาร์บัคส์นำมาใช้ คือโมเดลการสร้างร้านกาแฟสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามมาตรฐาน “Greener Store” (กรีนเนอร์ สโตร์) มาตรฐานใหม่สำหรับร้านสตาร์บัคส์ที่ได้รับการพัฒนาร่วมกับกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) ซึ่งออกแบบมาเพื่อเร่งการเปลี่ยนแปลงไปสู่การเป็นร้านสตาร์บัคส์ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำ ซึ่งสตาร์บัคส์ได้ประกาศโครงการร้านกาแฟสีเขียวครั้งแรกในปี 2560
โดยร้านกาแฟสีเขียวแต่ละแห่งจะมีคุณสมบัติด้านความยั่งยืนที่แตกต่างกัน และจะได้รับการรับรองผ่านองค์กรภายนอกเพื่อมาตรฐาน โดยมีหลักเกณฑ์ที่ต้องปฏิบัติทั้งสิ้น 25 ข้อ ได้แก่ ประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน การดูแลน้ำ และการแยกของเสีย เป็นต้น
สำหรับการยื่นพิจารณากรีนเนอร์ สโตร์ของสตาร์บัคส์นั้น มีเกณฑ์ในการวัดดังนี้
“การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ” ที่ระบุให้หลอดไฟทั้งหมดที่ใช้ภายในร้านต้องเป็นหลอดไฟ LED การใช้หม้อต้มน้ำร้อนที่ตัดการทำงานโดยอัตโนมัติเมื่ออุณหภูมิของน้ำถึง 70 องศาเซลเซียส และจะเริ่มทำงานอีกครั้งเมื่ออุณหภูมิต่ำกว่าประมาณ 10 องศาเซลเซียส ใช้เครื่องทำน้ำแข็งและเครื่องล้างจานที่ได้มาตรฐานการประหยัดพลังงานของประเทศสหรัฐอเมริกา (Energy Star) รวมไปถึงตู้แช่เย็นและตู้แช่แข็งที่มีคุณสมบัติการใช้พลังงานเทียบเท่าเกณฑ์ประหยัดพลังงาน และการติดตั้งระบบปรับอากาศอินเวอร์เตอร์ (Inverter) และ VRF ที่มีค่าประหยัดพลังงาน SEER สูงเทียบเท่าหรือดีกว่าเกณฑ์ที่เคยใช้ก่อนหน้า
“การบริหารจัดการขยะ” ต้องใช้บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนและดำเนินการตามนโยบายของสตาร์บัคส์สากล พร้อมทั้งมีการจัดเก็บกากกาแฟเพื่อให้ลูกค้านำไปปลูกต้นไม้ โดยลูกค้าสามารถรับได้ฟรีที่ร้านสตาร์บัคส์ทุกสาขา
“การจัดการระบบน้ำ” ต้องมีการติดตั้งระบบกรองน้ำทั้งแบบกรองหยาบและกรองละเอียดเพื่อให้น้ำมีคุณภาพตามเกณฑ์ที่กำหนด ใช้ก๊อกประหยัดน้ำที่มีอัตราการไหลของน้ำไม่เกิน 4.5 ลิตร/นาที ติดตั้งก๊อกปิดน้ำอัตโนมัติบริเวณซิงก์ล้างมือ
“การเลือกใช้วัสดุที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม” เช่น กาว ยาแนว สีพ่น และสีทาภายใน รวมถึงวัสดุแผ่น HMR, MDF เป็นวัสดุ low VOC หรือค่าฟอร์มาลดีไฮด์ต่ำ พร้อมทั้งดำเนินการโปรแกรมการจัดหา Ethical Sourcing Program และการรับซื้อเมล็ดกาแฟตามมาตรฐาน C.A.F.É. Practices Coffee
“สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี” กำหนดให้เลือกใช้ยิปซัมเป็นฝ้าเพดานภายในร้านและใช้ฝ้าแบบดูดซับเสียงบริเวณเพดานเหนือบาร์ พร้อมการออกแบบการวางไฟตาม Lighting Guideline ของสตาร์บัคส์
ปัจจุบันทั่วโลกมีร้านกาแฟสีเขียวทั้งสิ้น 6,091 สาขา สำหรับในไทยได้มีการเปิดตัวร้านกาแฟสีเขียวที่ผ่านการรับรองตามมาตรฐาน Greener Store ไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2566 ด้วย 3 สาขานำร่อง ได้แก่ สตาร์บัคส์ ท็อปส์ มาร์เก็ต สาธุประดิษฐ์ สตาร์บัคส์ โรบินสัน ปราจีนบุรี และ สตาร์บัคส์ สถานีบริการน้ำมันเชลล์ นครชัยศรี ณ วันนี้ ร้านกาแฟของสตาร์บัคส์ในไทยได้รับการรับรองเป็นร้านกาแฟสีเขียวไปแล้ว 12 สาขา และจะเปิดเพิ่มให้ครบ 20 สาขาภายในสิ้นปี
ผุดแคมเปญเพื่อลดการใช้พลาสติก
นอกจากนี้ สตาร์บัคส์ยังลดการใช้พลาสติก โดยใช้แก้วเย็นเสิร์ฟในร้าน (ForHere) ใช้ถุงกระดาษและทิชชู่ที่ทำจากวัสดุรีไซเคิล รณรงค์ไม่รับมีดส้อมพลาสติก อีกทั้งยังได้ทำงานร่วมกับ รศ. ดร.สิงห์ อินทรชูโต ในการเปลี่ยนกากกาแฟให้เป็นสิ่งของและเฟอร์นิเจอร์สำหรับใช้งานภายในร้าน เช่น ที่รองแก้ว ถาดและโต๊ะกาแฟ อีกด้วย
ล่าสุดสตาร์บัคส์ต่อยอดกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนอีกครั้ง ด้วยการเปิดตัวแคมเปญ LITTLE CHOICES. BIG CHANGES. สนับสนุนให้ลูกค้านำแก้วส่วนตัว (Personal Cup) มาใช้ที่ร้านสตาร์บัคส์ทั่วประเทศ ด้วยการมอบส่วนลด 10 บาทต่อเครื่องดื่มหนึ่งแก้ว โดยปีนี้สตาร์บัคส์ตั้งเป้าลดขยะใช้ครั้งเดียวทิ้งลง 50% และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 เป็นต้นมา สตาร์บัคส์สามารถลดการใช้แก้วพลาสติกไปได้กว่า 29 ล้านใบจากการใช้แก้วส่วนตัว และตั้งเป้าเพิ่มการใช้แก้วส่วนตัวขึ้น 50% หรือกว่า 3 ล้านแก้วภายในปี 2567
นอกจากแคมเปญ LITTLE CHOICES. BIG CHANGES. แล้ว สตาร์บัคส์ยังได้เปิดตัวโปรแกรม Grounds for Your Garden เพื่อให้ลูกค้าสามารถนำกากกาแฟที่สตาร์บัคส์กลับไปผสมดินเพื่อปลูกต้นไม้หรือทำสวนที่บ้านได้ โดยในปี พ.ศ. 2566 สตาร์บัคส์ได้แจกกากกาแฟไปแล้วกว่า 4,000 กิโลกรัมทั่วประเทศ
ไม่เพียงเท่านั้น อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวสำคัญคือการประกาศแต่งตั้ง “จุฑาทิพย์ เก่งมานะ” ลูกหม้อคนสำคัญที่ร่วมงานกับสตาร์บัคส์มานานกว่า 20 ปี นั่งในตำแหน่งผู้จัดการด้านผลกระทบทางสังคมและความยั่งยืน เพื่อขับเคลื่อนสตาร์บัคส์ในการผลักดันเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมด้วยกลยุทธ์ที่ออกแบบสำหรับประเทศไทยโดยเฉพาะ
ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ร่วมงานกับสตาร์บัคส์ ประเทศไทย จุฑาทิพย์ถือเป็นแรงผลักดันสำคัญในการสนับสนุนและช่วยเหลือชุมชนชาวไร่กาแฟ ในด้านการสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนชาวไร่ รวมถึงกิจกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในด้านต่างๆ ทั้งการพัฒนาเครื่องดื่มด้วยการใช้นมทางเลือก การพัฒนาสินค้าเพื่อสร้างความยั่งยืนร่วมกับ ศ. ดร.สิงห์ อินทรชูโต และยังทำงานร่วมกับ SACICT พัฒนาผลิตภัณฑ์จากชุมชนในจังหวัดต่างๆ เป็นสินค้าคอลเลกชันพิเศษ และทำงานร่วมกับมูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ ในการเพิ่มความเท่าเทียมทางด้านอาหารและลดขยะอาหาร
ถือเป็นการก้าวสู่ขั้นใหม่ของความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมของสตาร์บัคส์ และในปีนี้เราคงได้เห็นความเคลื่อนไหวและแคมเปญต่างๆ ออกมาให้เห็นเป็นระยะ เพื่อบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนตามที่สตาร์บัคส์วางไว้.