วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
Home > Cover Story > โอกาสของอุตสาหกรรมยา ในมุมมองผู้ประกอบการไทย

โอกาสของอุตสาหกรรมยา ในมุมมองผู้ประกอบการไทย

มูลค่าของอุตสาหกรรมยาในไทยที่สูงถึง 2 แสนล้านบาท ทว่ายาที่อยู่ในตลาดกลับเป็นยาที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ 60% อีก 40% เป็นยาจากผู้ประกอบการไทย หรือประมาณ 50,000 ล้านบาทของมูลค่าตลาด ด้วยสัดส่วนนี้ทำให้เห็นว่าตลาดยาในไทยมีผู้เล่นจากต่างชาติถือครองสัดส่วนมากกว่า แม้ว่าผู้ประกอบการยาไทยจะมีศักยภาพไม่แตกต่างกันก็ตาม

จากตัวเลขดังกล่าวทำให้มีความพยายามจากหลายฝ่ายที่จะเพิ่มสัดส่วนยาจากผู้ประกอบการไทยในตลาดมากขึ้น แม้ว่าจะมีปัจจัยที่ไม่เอื้ออำนวยในหลายด้าน โดยเฉพาะด้านวัตถุดิบและสารตั้งต้นในการผลิตยาที่ไทยจำเป็นต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศสูงถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่มีวัตถุดิบที่ผู้ประกอบการยาไทยสามารถผลิตเองได้มีเพียง 20 รายการ

ด้วยปัจจัยข้างต้นทำให้ราคายาในไทยมีราคาแพง เมื่อเทียบกับค่าแรง ค่าครองชีพและภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน “ผู้จัดการ 360 องศา” มีโอกาสได้พูดคุยกับผู้ผลิตยาไทยอย่าง ภก. ประพล ฐานะโชติพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีแมน ฟาร์มาซูติคอล จำกัด (มหาชน) หรือ ที แมน ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเวชภัณฑ์ยากว่า 50 ปี “สถานการณ์ตลาดยาไทย ที่ผู้ประกอบการไทยไม่ได้ถือครองสัดส่วนตลาดยาเป็นส่วนใหญ่ ทำให้เราไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราไม่สามารถผลิตวัตถุดิบและสารตั้งต้นในประเทศไทยได้ หากจะเทียบกับจีนและอินเดีย ซึ่งมีความพร้อม รวมถึงศักยภาพมากกว่า ซึ่งส่วนใหญ่เรานำเข้าวัตถุดิบจากสองประเทศนี้

ยาแผนปัจจุบันถ้าเราจะรุกตลาดต่างประเทศ ยังคงเป็นเรื่องยาก เพราะเทคโนโลยีของต่างประเทศมีศักยภาพสูงมาก แต่ไทยเรามีจุดเด่นในเรื่องสมุนไพร หากผสานการใช้เทคโนโลยีการผลิตยาแผนปัจจุบัน กับการผลิตยาสมุนไพร จะได้รับการตอบรับที่ดีจากต่างประเทศ

ในมุมของผู้ประกอบการไทย อยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยผลักดันและสนับสนุนผู้ประกอบการยาไทย รวมถึงการสนับสนุนการใช้วัตถุดิบยาในไทย โดยเฉพาะเรื่อง Healthcare ซึ่งน่าจะช่วยให้บริษัทยาไทยทัดเทียมหรือยืนหยัดต่อสู้กับบริษัทยาต่างชาติได้ และน่าจะเป็นอีกหนึ่ง Soft Power ได้ในอีกมิติ เราน่าจะกลับไปสู้ได้ในเกมนี้”

ขณะที่ สมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี กล่าวหลังการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2567 ว่า ในการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาระบบยาของประเทศไทย พ.ศ. 2566-2570 จะมีการยกร่างกฎหมายส่งเสริมเศรษฐกิจผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างครบวงจร ซึ่งเป็นกฎหมายในระดับ พ.ร.บ. ยังไม่มีชื่ออย่างเป็นทางการ แต่เป้าหมายโดยรวมของกฎหมาย คือ จะเป็นลักษณะการส่งเสริมอุตสาหกรรมยาและการใช้ยาอย่างสมเหตุผล

“เรื่องอุตสาหกรรมยาเราไม่มีข้อติดขัดอะไร แต่เรายังไม่มีกฎหมาย อีกทั้งที่ผ่านมาเราไม่ค่อยได้ทำเรื่องการส่งเสริมการลงทุนโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่ง สธ. เป็นกระทรวงที่ใช้งบประมาณซื้อเวชภัณฑ์มาก อย่างตอนประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ผมก็บอกให้ตั้งโรงงานวัคซีน เพราะอย่างบางคณะในมหาวิทยาลัยลงทุน 700 ล้านบาททำโรงงานวัคซีน 2 ปีคืนทุน ลักษณะอย่างนี้เราไม่ค่อยได้ทำ เราใช้การซื้อเป็นหลัก เราต้องส่งเสริมให้โรงงานผลิตวัตถุดิบยาเกิดในไทย มีความพร้อม จะได้ใช้ยาถูก ส่งออกนำเข้าได้ประโยชน์ต่อประเทศ เรามองว่าอุตสาหกรรมประเภทนี้มีน้อยมาก ประเทศเราสามารถเพิ่มเติมได้ เป็นหมุดหมายของนายกฯ ที่จะลงทุนด้านนี้มีประโยชน์และได้ของถูก”

นอกจากนี้ ยังมีความเห็นจากผู้บริหารจากเกร็ทเตอร์ฟาร์มา ภก. เชิญพร เต็งอำนวย กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัท เกร็ทเตอร์ฟาร์มา จำกัด ที่มองว่า หากไทยไม่ใช้กลยุทธ์ด้าน Innovation จะทำให้ผู้ผลิตยาไทยเติบโตได้ยาก

“ไทยมีความจำเป็นที่ต้องพึ่งพาการนำเข้ายาจากต่างประเทศเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 65% ของตลาดอุตสาหกรรมยาที่มีมูลค่าสูงถึง 2 แสนล้านบาท โดยมีเพียง 35% เท่านั้นที่เป็นการผลิตยาในไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมยาสำเร็จรูปหรือขั้นปลายน้ำ หรือเป็นการผลิตยาชื่อสามัญ (Generic drug) โดยเป็นการผลิตลอกเลียนสูตรยาต้นตำรับหรือยาต้นแบบจากต่างประเทศที่หมดสิทธิบัตรไปแล้ว ส่วนการผลิตยาขั้นต้นน้ำ หรือยาค้นคว้าขึ้นมาใหม่ และการผลิตยาขั้นกลางหรือการผลิตวัตถุดิบนั้นยังมีน้อยมาก”

“เราต้องการเป็นผู้ผลิตยาแบบครบวงจร ตั้งแต่ขั้นต้นน้ำถึงปลายน้ำโดยเฉพาะในยากลุ่มเฉพาะทาง เพื่อทดแทนการนำเข้า เช่น ยากลุ่มผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง (Advance Therapy Medicinal Products) ยาชีววัตถุ และผลิตภัณฑ์โพรไบโอติก

ผู้ผลิตยาไทยติดอันดับ อยู่ตรงกลางของตลาดยาในไทย ถ้าเราไม่หนีไปพัฒนาด้าน Innovation จะทำให้ผู้ผลิตยาไทยโตได้ยาก และต้องยอมรับว่า FTA อาจเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคสำคัญในการเติบโตของอุตสาหกรรมยาไทย”

เกร็ทเตอร์ฟาร์มาได้พัฒนาจนกลายกลุ่มผลิตภัณฑ์ โดยร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล พัฒนาชุดทดสอบและวัคซีนโรคภูมิแพ้ ตั้งแต่กระบวนการเพาะเลี้ยงไรฝุ่น และแมลงสาบ รวมถึงกระบวนการสกัดเพื่อให้ได้สารสำคัญซึ่งเป็นวัตถุดิบที่จำเพาะต่ออาการแพ้ของคนไทย ตลอดจนกระบวนการผลิตชุดทดสอบและวัคซีนจนได้ผลิตภัณฑ์สู่ตลาดเป็นรายแรกในอาเซียน รวมทั้งเป็นผู้ผลิตรายแรกของอาเซียน ที่เริ่มการวิจัยและพัฒนายากลุ่มผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง เช่น สเต็มเซลล์ และการพัฒนา NK cell เพื่อเป็นการรักษาทางเลือกในการรักษามะเร็งจากการที่บริษัทได้รับการอนุมัติใบอนุญาตเพื่อการผลิตอย่างเป็นทางการจากคณะกรรมการอาหารและยากระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทย

ความพยายามที่ภาครัฐกำลังผลักดันให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการแพทย์ครบวงจร หรือ Medical Hub ด้วยการสนับสนุนให้มีการพัฒนาเครื่องมือแพทย์ที่มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล และเพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมสูงอายุในระดับสุดยอด (Super Aged Society) หรือการมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ

นอกจากการขับเคลื่อนของภาครัฐเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวยังคงมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ภาคเอกชนมีหนึ่งคีย์แมนสำคัญในการผลักดัน ส่งเสริมการสร้างโอกาสความมั่นคงทางการยาในไทยอย่าง รุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการภูมิภาคอาเซียน อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ และผู้จัดการทั่วไปฟิลิปปินส์ มองสถานการณ์ในอุตสาหกรรมยาไทยว่า

“ด้วยมูลค่าตลาดประมาณ 225 พันล้านบาท ประเทศไทยจึงเป็นหนึ่งในตลาดเภสัชกรรมชั้นนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทำให้ยามีราคาไม่แพงและเข้าถึงได้มากขึ้น ซึ่งส่งผลให้มูลค่าตลาดยาในประเทศไทยเพิ่มขึ้น อีกทั้งรัฐบาลยังได้เสนอแผนยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการแพทย์ในเอเชีย เพื่อดึงดูดผู้ป่วยชาวต่างชาติและนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ คาดว่าจะมีส่วนสนับสนุนอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพ รวมทั้งเป็นโอกาสที่สำคัญสำหรับบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลาง (MSMEs) ในภาคเภสัชกรรมที่จะเพิ่มศักยภาพของบริษัทตนเอง”

อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ในฐานะผู้จัดงาน CPHI South East Asia 2024 งานแสดงสินค้าเทคโนโลยี นวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรมยาแห่งเอเชีย โดยรุ้งเพชร มองว่า “การจัดแสดงงานในปีนี้มีเป้าหมายสำคัญ คือ การร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่จะสร้างความมั่นคงทางการยาของประเทศไทย เพื่อช่วยขับเคลื่อนสุขภาพและเศรษฐกิจ ให้ก้าวไปสู่การเป็น Medical Hub ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยมาตรฐานการผลิตยาในประเทศไทยนั้นมีมาตรฐานในระดับสากลพร้อมแข่งขันในการเป็นผู้ผลิตยาสู่ตลาดต่างประเทศ”

“โดยในปีนี้มีการจัดแสดงงานคู่กับ Medlab Asia & Asia Health 2024 เพื่อให้ครอบคลุมทั้งอุตสาหกรรมยา อุปกรณ์ในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ เครื่องมือแพทย์ และการดูแลสุขภาพอย่างครบวงจร ซึ่งงานนี้จะเป็นอีกหนึ่งตัวกลางสำคัญในการเชื่อมโยงศักยภาพของภาคส่วนในอุตสาหกรรมยาไทยให้เป็นที่ประจักษ์ในสายตาของนานาชาติ ภายใต้คอนเซ็ปต์ International Healthcare Week ที่มุ่งเน้นการสร้างศักยภาพการพัฒนาระบบและการดูแลสุขภาพครบวงจร”

แม้ว่าผู้ประกอบการยาไทยจะมีศักยภาพสูง แต่ด้วยข้อจำกัดในหลายด้านทำให้ผู้ประกอบการไทยยังไม่ใช่ผู้ถือครองส่วนแบ่งการตลาดรายใหญ่ ทั้งด้านการผลิตวัตถุดิบและสารตั้งต้น และที่สำคัญ คือ ผู้ประกอบการไทยจะไม่สามารถผลิตยาที่สิทธิบัตรยังมีเจ้าของเดิมถือครองอยู่ ซึ่งจะมีอายุถึง 20 ปี

ซึ่งหากภาครัฐจะผลักดันให้ไทยเป็น Medical Hub ในทุกมิติ ต้องไม่ลืมประเด็นเรื่องยา ซึ่งเป็นหนึ่งในสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการเข้าถึงยาได้ในราคาที่สามารถจ่ายได้.