วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > แฟรนไชส์เลิกกิจการ ผลพวง วิกฤต-ไม่วิกฤต

แฟรนไชส์เลิกกิจการ ผลพวง วิกฤต-ไม่วิกฤต

แม้ด้านหนึ่งมีข้อมูลชี้ชัดภาพรวมธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทย ปี 2567 จะมีมูลค่าสูงถึง  300,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตไม่หยุด แต่อีกด้านหนึ่งจำนวนกิจการแฟรนไชส์เพิ่มขึ้นเพียง 3% หรือมียอดรวม 619 กิจการ จากปีก่อนหน้า 606 กิจการ ยิ่งไปกว่านั้น มีกรณีเลิกขายแฟรนไชส์กว่า 60 แบรนด์

ศูนย์รวมแฟรนไชส์ ThaiFranchiseCenter.com ระบุว่า ศูนย์ได้ปรับปรุงแก้ไขข้อมูลการลงทุนธุรกิจแฟรนไชส์ประจำปี 2567 โดยขอความร่วมมือจากเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์ อัปเดตข้อมูลการลงทุน ซึ่งจากการโทรสอบถามเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์ มีแบรนด์ที่หยุดขายแฟรนไชส์แล้วราวๆ 60 แบรนด์ และติดต่อไม่ได้เกือบ 70แบรนด์ ไม่ว่าจะเป็นแฟรนไชส์อาหาร ค้าปลีก สมุนไพร ความงาม ฟิตเนส สถาบันสอนภาษา การศึกษา ไอศกรีม เบเกอรี่ เครื่องดื่ม ชา กาแฟ และอื่นๆ ซึ่งศูนย์ต้องลบข้อมูลออกจากระบบรวม 49 ราย

ส่วนสาเหตุมาจากหลายปัจจัย เช่น การแข่งขันสูง เจ้าของแฟรนไชส์เปลี่ยนไปทำธุรกิจอื่น การแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ขาดรายได้ ไม่มีเงินทุนหมุนเวียนทำธุรกิจต่อและเข้าถึงแหล่งเงินทุนยาก ธุรกิจไม่ได้รับความนิยมแล้ว และที่สำคัญ คือ ธุรกิจไม่มีระบบแฟรนไชส์ที่เป็นมาตรฐาน ไม่มีระบบสนับสนุนแฟรนไชซี โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กที่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ได้

แน่นอนว่า ข้อดีของธุรกิจแฟรนไชส์ช่วยให้เจ้าของกิจการขยายสาขาได้อย่างรวดเร็ว ใช้เงินลงทุนต่ำ มีรายได้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ผู้ซื้อสิทธิ์ไม่ต้องลองผิดลองถูกในการเริ่มต้น ได้แบรนด์แฟรนไชส์ที่มีชื่อเสียง สินค้าและบริการได้รับความนิยมของตลาด แต่ถ้าเลือกลงทุนธุรกิจแฟรนไชส์ที่ไม่ดี หรือไม่ศึกษาข้อมูลธุรกิจแฟรนไชส์ที่จะซื้ออย่างละเอียด อาจได้รับความเสียหายทั้งเงินลงทุนและเวลา

ด้านผู้ประกอบการเอสเอ็มอี Thaismescenter.com ได้รวบรวมกรณีตัวอย่างแฟรนไชส์หลายแบรนด์ในช่วงปี 2566 บางแบรนด์เคยออกสื่อและขยายสาขามากมาย

เช่น กรณีแฟรนไชส์ “ย่างให้” เกิดเป็นข่าวเมื่อช่วงเดือนมีนาคม 2566 กลุ่มผู้เสียหายรวมตัวร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เนื่องจากถูกเจ้าของแฟรนไชส์ย่างให้ชักชวนให้ร่วมลงทุน อ้างเรื่องผลตอบแทนสูง ลงทุนแค่ 7,000 บาท สามารถปลดหนี้ 10 ล้านบาท ภายใน 6 เดือน คืนทุนได้ภายใน 1 เดือน สร้างความน่าเชื่อถือโดยการออกรายการโทรทัศน์และสื่อออนไลน์ต่างๆ การันตีความสำเร็จของธุรกิจย่างให้ด้วยจำนวนสาขากว่า 400 แห่งทั่วประเทศ แต่สุดท้ายไม่เป็นไปตามนั้น  สร้างความเสียหายกว่า 5.53 ล้านบาท

วันที่ 16 เมษายน 2566 พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แถลงผลการจับกุมนายมณฑล ทองคำ ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ที่ 1122/2566 ลงวันที่ 10 เมษายน 2566 ข้อหาฉ้อโกงประชาชน กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์บิดเบือน หรือปลอมไม่ทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยจับกุมได้ที่บ้านพักแห่งหนึ่งใน ต. ปากเพรียว ใน จ. สระบุรี แต่นายมณฑลปฏิเสธข้อกล่าวหา

หรือกรณีแฟรนไชส์สตรีทฟู้ดอาศัยชื่อเสียงแหล่งสตรีทฟู้ดหลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หลอกขายสิทธิ์ในราคาเพียง 10,000 บาท แต่ไม่มีหนังสือสัญญาใดๆ อ้างขอเพียงเงินค่าทำสัญญาและค่าวัตถุดิบ รวมทั้งหลอกขายแฟรนไชส์ 1 สาขา ให้ 2 คน ทับซ้อนกัน แต่ตรวจสอบแล้วไม่มีสาขาอยู่จริง

กรณีต่อมา แฟรนไชส์หม่าล่า ย่านราษฎร์บูรณะ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2566 เมื่อนายธีรภัทร แร่อร่าม ผู้เสียหาย ซึ่งตกงานและกำลังมองหาอาชีพใหม่ เขาโพสต์หาแฟรนไชส์ที่น่าลงทุนในเฟซบุ๊ก ปรากฏว่า มีชายคนหนึ่งอ้างเป็นเจ้าของแฟรนไชส์หม่าล่าคอมเมนต์แนะนำแฟรนไชส์ชุดโปรโมชันราคา 9,900 บาท ลดเหลือ 8,900 บาท โดยนัดทำสัญญาเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2566 มีการชำระเงินค่าแฟรนไชส์ หลังจากนั้นหาทำเลในตลาดตั้งเป้าเปิดขายวันที่ 2 ตุลาคม 2566 และโอนเงินค่าวัตถุดิบ 2,030 บาทให้เจ้าของแฟรนไชส์

สุดท้าย เจ้าของแฟรนไชส์อ้างเหตุเลื่อนส่งวัตถุดิบ เลื่อนติดตั้งเคาน์เตอร์ขายสินค้า และหายไปอย่างไร้ร่องรอย สร้างความเสียหายกว่า 86,000 บาท

อีกตัวอย่างเป็นกรณีแฟรนไชส์ขนส่งจีนชื่อดังอักษรย่อ “บ” ซึ่งมีกลุ่มผู้เสียหายกว่า 20 คน เข้าแจ้งความเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2566 ขอให้กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางตรวจสอบบริษัทแฟรนไชส์ขนส่งชื่อดังจากจีน ย่านบางนา ปัจจุบันมีสาขากว่า 100 สาขาทั่วประเทศ เข้าข่ายฉ้อโกงประชาชน โดยกลุ่มผู้เสียหายรายหนึ่งได้ซื้อแฟรนไชส์เมื่อปี 2563 และบริษัทอ้างว่าจะให้เงินสนับสนุน 8 เดือน พอถึงเวลากลับได้แค่เดือนครึ่ง

บริษัทดังกล่าวยังเปลี่ยนผู้บริหารบ่อยครั้ง ปรับรูปแบบการส่งพัสดุจากชิ้นเล็กเป็นชิ้นใหญ่ โดยไม่แจ้งสาขาแฟรนไชส์ล่วงหน้า ทำให้สินค้าตกค้าง และไม่รับผิดชอบ อีกทั้งผู้เสียหายต้องจ่ายเงินประกัน 400,000 บาทต่อสาขา พอเกิดปัญหาขึ้นผู้เสียหายขอทำเรื่องขอคืนเงินประกัน แต่ไม่ได้เงินคืน ซึ่งจริงๆ ต้องได้เงินคืนภายใน 90 วัน บางรายลงทุน 100 ล้านบาท สร้างความเสียหายรวมกว่า 300 ล้านบาท

ทั้งข้อมูลการปิดตัวแฟรนไชส์และกรณีฉ้อโกงอาจเกิดเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ เป็นปมถกเถียงกันว่า “เศรษฐกิจวิกฤตหรือไม่วิกฤต” ในมุมมองที่แตกต่างกัน ระหว่างรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน กับหน่วยงานดำเนินนโยบายด้านการเงินอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และนักวิชาการหลายคน

โดยเฉพาะเมื่อนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศตัวเลขเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/2566 ขยายตัวได้เพียง 1.7% ทำให้ทั้งปี 2566 ขยายตัวได้ 1.9% ชะลอตัวลงจากการขยายตัว 2.5% ในปี 2565 จึงปรับลดคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ปี 2567 เหลือโต 2.2-3.2% จากเดิม 2.7-3.7% เนื่องจากการลงทุนรวมติดลบ 0.4% เทียบกับช่วงเดียวกันปี 2566 และติดข้อจำกัดเรื่องงบประมาณปี 2567 ที่ยังไม่เบิกจ่ายออกมา

ที่สำคัญ เศรษฐกิจไทยสะท้อนปัญหาที่อยู่ในโครงสร้างเศรษฐกิจไทย คือ หนี้สูง โดยเฉพาะภาคครัวเรือนและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้ใช้มาตรการต่างๆ เกือบทั้งหมดแล้ว เช่น มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว ดึงดูดการลงทุนใหม่ในประเทศ แต่ปัญหาหนี้ครัวเรือนและธุรกิจยังอยู่ จึงน่าจะถึงเวลาหามาตรการการเงินลดภาระครัวเรือนและเอสเอ็มอี เช่น การลดอัตราดอกเบี้ยต่างๆ เน้นลงไปภาคครัวเรือนและเอสเอ็มอี เพื่อให้ส่วนต่างดอกเบี้ยแคบลง

นอกจากนั้น ควรผ่อนคลายในกรณีชำระบัตรเครดิตขั้นต่ำ ซึ่งปัจจุบันใช้อัตรา 8% ของยอดชำระรวม อาจพิจารณากลับไปใช้ที่ขั้นต่ำ 5% อีกสักระยะ เพื่อช่วยให้ภาคครัวเรือนและผู้ประกอบการรายย่อยมีกำลังใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

ถกเถียงกันมาหลายเดือนยังไม่ยุติ สรุปว่า เศรษฐกิจไทยวิกฤต ไม่วิกฤต!!