ประเด็นข้าว Ong Cua ST25 ของเวียดนามคว้ารางวัลชนะเลิศในการประชุมสุดยอดข้าวโลกนานาชาติ ประจำปี 2566 ที่เมืองเซบู ในประเทศฟิลิปปินส์ กลายเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายหวั่นวิตกมากขึ้น ทั้งที่ข้าวหอมมะลิจากไทยเคยยึดแชมป์รางวัลข้าวที่ดีที่สุดในโลก แต่ปี 2565 เสียตำแหน่งให้ “ผกาลำดวน” ของกัมพูชา และปีล่าสุดไม่ผ่านแม้กระทั่งรอบ 3 อันดับแรก
ตัวแปรหนึ่งที่ถกเถียงกัน คือ การพัฒนาพันธุ์และนวัตกรรมการเพาะปลูกแนวใหม่ ซึ่งข้าว ST25 ของเวียดนามมีการพัฒนาต่อเนื่องได้สายพันธุ์ผสมระหว่างข้าวหอมมะลิไทย ข้าวบาสมาติของอินเดียและข้าวญี่ปุ่น จนได้เม็ดเรียวยาว มีความหอม และเหนียวนุ่ม
ขณะที่ประเทศไทยมีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวมากถึง 4.68 ล้านครัวเรือน ประมาณ 17 ล้านคน เนื้อที่เพาะปลูกข้าวนาปีและนาปรัง เฉลี่ยปีละ 70-71 ล้านไร่ คิดเป็น 47% ของเนื้อที่ทำการเกษตรทั้งประเทศ 149 ล้านไร่ มีผลผลิตข้าว 31-32 ล้านตันข้าวเปลือกต่อปี หรือ 20 ล้านตันข้าวสาร แม้การส่งออกเติบโตแต่ยังต้องการการพัฒนาพันธุ์ข้าวและการเพิ่มผลผลิต
พณัญญา เจริญสวัสดิ์พงศ์ ผู้บริหารด้านธุรกิจและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท วรุณา (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวกับ “ผู้จัดการ 360 องศา” ว่า เรามองเห็นโอกาส เพราะประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม แต่ยังไม่มีเทคโนโลยีช่วยส่งเสริมภาคการเกษตรอย่างจริงจัง ซึ่ง “วรุณา” ก่อตั้งเมื่อปี 2563 เริ่มต้นจากเป็นหน่วยธุรกิจภายใต้บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จํากัด ในเครือบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ที่พุ่งเป้าพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ เพื่อตอบโจทย์ธุรกิจยุคใหม่
“เราตั้งคำถามว่า จะทำอะไรเพิ่มได้อีกไหม นอกเหนือจากการขายโดรน ให้บริการโดรน เราจึงต่อยอดสู่ภาคการเกษตร ใช้ Software Application ช่วยประเมินผลผลิตหรือช่วยดูแลแปลงเกษตร Link มาสู่เทรนด์เรื่อง Climate Change นำเสนอวิธีการปลูกข้าวแบบใหม่ที่สามารถช่วยเกษตรกร ทั้งการเพิ่มผลผลิตให้สามารถแข่งขันได้และช่วยลดโลกร้อน ซึ่งเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยยกระดับภาคการเกษตรในทุกมิติ”
อย่างไรก็ตาม การนำเทคโนโลยีเข้าไปให้เกษตรกรมีความท้าทายมาก เพราะเกษตรกรคุ้นเคยกับการทำการเกษตรแบบดั้งเดิมและยังไม่ชินกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ แต่เกษตรกรมีหลาย sector กลุ่มที่มีอายุค่อนข้างมากอาจยังไม่พร้อมใช้เทคโนโลยีจริงๆ เราจึงพุ่งเป้าไปที่เกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีการรวมกลุ่มกันเป็น Young Smart Farmer
เธอเล่าว่า ก่อนนำเทคโนโลยีใดๆ เข้าไปบริษัทจะติดต่อผ่านผู้นำชุมชนเข้าไปเผยแพร่องค์ความรู้ เข้าไปสอน พร้อมยกตัวอย่าง Success Case ถ้าเขาเห็นตัวอย่างที่ทำแล้วประสบความสำเร็จ จะเพิ่มความสนใจ บอกต่อ และเกิดการทำตาม ภายใต้ Smart Farm Solution คือ การทำการเกษตรอัจฉริยะที่นำเทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการการเพาะปลูกทุกขั้นตอน สามารถควบคุมทุกอย่างได้ด้วยเทคโนโลยี คิดค้น คันนา แอปพลิเคชัน (KANNA) เพื่อเป็นผู้ช่วยทุกกิจกรรมทางการเกษตรแบบครบวงจรและบูรณาการเทคโนโลยีดาวเทียม โปรแกรมจากดาต้า (Machine Learning) และการวิเคราะห์ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)
ทันทีที่เกษตรกรลงทะเบียนในคันนา แอปพลิเคชัน และวาดแปลงเพาะปลูก ระบบจะแสดงข้อมูลของแปลงเพาะปลูกและช่วยแนะนำศักยภาพในการผลิตของพืชแต่ละประเภท ข้อมูลประกอบการวางแผนและการตัดสินใจ เช่น ปลูกอะไร ปลูกเมื่อไหร่ ปลูกอย่างไร ให้ข้อมูลสภาพอากาศเตือนภัยโรคและแมลงของแต่ละพื้นที่ ช่วยประเมินศักยภาพของพื้นที่เหมาะที่จะปลูกอะไร ได้ผลผลิตเท่าไร แนะนำการจัดการดินและปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ ใส่ปุ๋ยสูตรไหน ปริมาณเท่าไร ใส่ตอนไหน ใส่อย่างไร ช่วยติดตามสุขภาพพืชและการเจริญเติบโต ช่วยคาดการณ์ผลผลิต ช่วยคาดการณ์วันเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม
เป้าหมาย คือ เพิ่มผลผลิตและประสิทธิภาพในการทำเกษตรกรรม เพราะประชากรโลกเพิ่มขึ้น แต่พื้นที่การทำเกษตรกรรมน้อยลง ต้องใช้เทคโนโลยีที่สามารถเพิ่มผลผลิตได้ในพื้นที่ที่ลดลง เพราะในอีก 30 ปีต่อจากนี้ เวิลด์แบงก์เคยคาดการณ์ไว้ เราจะต้องผลิตอาหารเพื่อหล่อเลี้ยงคนทั้งโลกเท่ากับผลผลิตถึง 5,000 ปีก่อนหน้านี้
ล่าสุด บริษัทต่อยอด “แอปพลิเคชันคันนา” เปิดตัววิธีปลูกข้าวเปียกสลับแห้ง ไม่ใช่แค่เพิ่มผลผลิต แต่เชื่อมโยงกับการรักษาสิ่งแวดล้อม และเกษตรกรยังสามารถสร้างรายได้จากการซื้อขายคาร์บอนเครดิตด้วย
พณัญญากล่าวว่า หลายประเทศทั่วโลกตื่นตัวและให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อลดผลกระทบจากสภาวะโลกร้อน ซึ่งประเทศไทยประกาศเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 40% ภายในปี 2573 และภาคเกษตรกรรมมีกิจกรรมบางส่วนที่เป็นสาเหตุของการเกิดภาวะโลกร้อน โดยเฉพาะการปลูกข้าวมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 50.58% ส่วนใหญ่เป็นก๊าซมีเทน จากกระบวนการทำนาที่ขังน้ำไว้
“ก๊าซมีเทนเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 28 เท่า และก๊าซไนตรัสออกไซด์ที่เกิดจากการใส่ไนโตรเจนมากเกินความต้องการของพืช ซึ่งภาครัฐของไทยตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคการเกษตร 1 ล้านตัน ตรงนี้ถือเป็นอานิสงส์ให้วรุณาเปิดโครงการปลูกข้าวเปียกสลับแห้งผ่านแอปฯ คันนา วางแผนการเพาะปลูกจนถึงขั้นตอนการเก็บเกี่ยว มีข้อมูลสภาพอากาศแบบเรียลไทม์รายวันและรายชั่วโมง โรคและแมลง เปลี่ยนวิธีทำนาข้าวแบบดั้งเดิมที่หนึ่งฤดูกาลเพาะปลูก ใช้น้ำ 700-1,500 ลูกบาศก์เมตร/ไร่ มาเป็นการปลูกแบบเปียกสลับแห้ง ลดการใช้น้ำ 50% ลดต้นทุนการเพาะปลูก 8-13% และลดก๊าซมีเทน 80%
ในส่วนการขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งในประเทศไทยเริ่มซื้อขายคาร์บอนเครดิตเมื่อปี 2557 ในรูปแบบตลาดคาร์บอนแบบภาคสมัครใจ หรือ T-VERs (Thailand Voluntary Emission) และยังมีไม่มากนัก แต่แนวโน้มเติบโตก้าวกระโดด มีการคาดการณ์ความต้องการซื้อคาร์บอนเครดิตของไทย ตั้งแต่ปี 2563-2573 จะสูงถึง 1,600 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ (tCO2e) โดยวรุณาตั้งเป้าหมายส่งเสริมการทำนาเปียกสลับแห้งครอบคลุม 15 จังหวัด พื้นที่ 1 ล้านไร่ภายในปี 2573
สำหรับราคาคาร์บอนเครดิตในแต่ละตลาดหรือแต่ละมาตรฐานแตกต่างกัน หากเทียบราคาคาร์บอนเครดิตโลกอยู่ที่ประมาณ 25 ดอลลาร์สหรัฐ/ตันคาร์บอนฯ และราคาคาร์บอนเครดิตไทยเฉลี่ยเมื่อปี 2565 อยู่ที่ 107 บาท หรือประมาณ 3 ดอลลาร์สหรัฐ/ตันคาร์บอนฯ
พณัญญาย้ำว่า เป้าหมายของวรุณาอยากผลักดันให้เป็น Macro Scale ทำหน้าที่ซัปพลาย Carbon Credit ให้อุตสาหกรรมต่างๆ ช่วยประเทศ ช่วยโลกลด Climate Change และในระดับ Micro Scale นำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยพัฒนาภาคเกษตร ซึ่งแอปฯ คันนาจะขยายรองรับกลุ่มลูกค้าอื่นๆ เหมือนศูนย์รวมของตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตของทุกคน.