มหกรรมยานยนต์ หรือ งานมอเตอร์ เอ็กซ์โป 2023 อาจเป็นดัชนีชี้วัดทิศทางและแนวโน้มของอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยในปัจจุบันและอนาคต ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ยังต้องเฝ้าระวังทั้งจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ภาวะเงินเฟ้อ กำลังซื้อภาคครัวเรือนที่เริ่มแผ่วลงและหนี้ครัวเรือนสูงขึ้น
ข้อมูลจากวิจัยกรุงศรี เกี่ยวกับอุตสาหกรรมรถยนต์ในช่วงปี 2566-2568 มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากปัจจัยหนุน ได้แก่ 1. ทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการกระเตื้องขึ้นของกำลังซื้อท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อที่น่าจะทยอยปรับลดลง 2. ปัญหาขาดแคลนชิปแม้จะยังคงมีอยู่เป็นระยะในปี 2566 ภายใต้แรงกดดันของสงครามเทคโนโลยี โดยเฉพาะ สหรัฐฯ และจีน แต่คาดว่าจะคลี่คลายลงในช่วงปี 2567-2568 หลังจากอุปทานชิปเริ่มเข้าสู่ตลาดโลกมากขึ้นจากการเร่งลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตชิปในหลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ เยอรมนี และญี่ปุ่น
3. นโยบายอุดหนุนการใช้รถไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ BEV ยังมีต่อเนื่อง 4. การเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานหลายโครงการของภาครัฐ และการขยายตัวต่อเนื่องของธุรกิจค้าปลีกออนไลน์และโลจิสติกส์ ตลอดจนการฟื้นตัวของธุรกิจท่องเที่ยวหลังการเปิดประเทศมากขึ้น ช่วยหนุนความต้องการรถเพื่อการพาณิชย์ และ 5. ผู้ประกอบการมีแผนเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่เพื่อกระตุ้นตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าตอบรับนโยบายอุดหนุนของภาครัฐ
ส่วนการส่งออก คาดว่าในปี 2566 จะยังเติบโตในอัตราไม่สูงนักตามทิศทางกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าที่ยังคงซบเซาก่อนที่จะกระเตื้องขึ้นในปี 2567-2568 ภายใต้ความเสี่ยงจากนโยบายลดการใช้รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน ของหลายประเทศ ในขณะที่การส่งออกรถยนต์ของไทยส่วนใหญ่ยังเป็น ICE หรือ เครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engine)
อานิสงส์จากนโยบายอุดหนุนการใช้รถไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ของภาครัฐทำให้คาดว่าผลประกอบการของผู้ผลิตรถยนต์และตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ใหม่จะยังเติบโตดี ขณะที่ผลประกอบการธุรกิจเต็นท์รถมือสองมีแนวโน้มซบเซาจากการแข่งขันที่รุนแรงและอุปทานรถยนต์เก่าเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้น
ทว่า สถานการณ์ของตลาดยานยนต์กลับดูสวนทางกับเศรษฐกิจในภาพรวมอย่างเห็นได้ชัด เมื่อยอดการจองรถยนต์ในช่วงวันที่ 29 พฤศจิกายน – 5 ธันวาคม 2566 ในช่วงเวลาการจัดงานมอเตอร์ เอ็กซ์โป 2023 มียอดจองสูงกว่าสองหมื่นคัน ซึ่งสูงกว่าปีก่อนหน้าถึง 66.1 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะค่ายรถยนต์ที่ยังชิงชัยกันอยู่ 5 แบรนด์ ได้แก่ โตโยต้า, บีวายดี, ฮอนด้า, ไอออน และเอ็มจี
ด้านยอดจองรถจักรยานยนต์ภายในงานครึ่งทางประมาณ 3,000 คัน ซึ่งยังสูงกว่าปีก่อนถึง 12.7 เปอร์เซ็นต์ โดยแบรนด์ที่มียอดจองสูงสุดได้แก่ ยามาฮ่า 493 คัน แลมเบรตต้า 336 คัน รอยัล เอนฟิลด์ 259 คัน ฮอนด้า 224 คัน และเฟโล 201 คัน
ขวัญชัย ปภัสร์พงษ์ ประธานจัดงานมหกรรมยานยนต์ครั้งที่ 40 ระบุว่า รถยนต์ไฟฟ้า EV หลายค่ายได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมงานอย่างมาก และประเภทรถที่ได้รับความนิยมสูงสุด ได้แก่ รถ SUV ตามด้วยรถเก๋ง รถกระบะ ด้านรถจักรยานยนต์มียอดจองเพิ่มขึ้นกว่าปีก่อนซึ่งเป็นไปตามการคาดการณ์
แบรนด์รถยนต์ รถจักรยานยนต์หลายค่ายใช้โอกาสงานมหกรรมยานยนต์ เปิดตัวรถรุ่นใหม่โดยหวังเอาฤกษ์เอาชัย สร้างการรับรู้ให้แก่ผู้บริโภค แม้ว่างานมหกรรมยานยนต์จะเป็นหมากสำคัญ แต่นั่นแบรนด์รถยนต์หลายค่ายจะต้องงัดกลยุทธ์ขึ้นมาฟาดฟันกัน โดยเฉพาะโปรโมชันบนเวทีแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นส่วนลด ของแต่ง ของแถม การตัดสินใจของผู้บริโภคอาจเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงผลตอบรับที่ทำให้ได้คำตอบของทิศทางการดำเนินงาน หรืออย่างร้ายคือการต้องหาแนวทางการตลาดใหม่ หากผลที่ได้ไม่ใช่คำตอบที่คาดหวัง
อีกหนึ่งแบรนด์รถจักรยานยนต์จากอังกฤษที่เพิ่งเข้ามาบุกตลาดในไทยได้ไม่นานอย่าง สโกมาดิ ที่เริ่มเข้ามาชิมลางตลาดรถจักรยานยนต์ในไทยเมื่อปี 2558 ที่ผู้ก่อตั้งอย่าง พอล เมลีซี และ แฟรงก์ แซนเดอร์สัน สองคู่หูที่ได้รับแรงบันดาลใจจากแลมเบรตต้าของอิตาลี ที่ปัจจุบันเลิกกิจการไปแล้ว สานฝันของตัวเองด้วยการพัฒนารถสกู๊ตเตอร์สไตล์โมเดิร์นคลาสสิก Scomadi ออกมาในปี 2005
หลังจากเข้ามาทำการตลาดในไทยได้เพียง 1 ปี สโกมาดิ ตัดสินใจย้ายฐานการผลิตจากจีนมาไทย จากเหตุผลที่โรงงานผลิตเดิมในจีนทำผิดเงื่อนไขบางประการ ทำให้สโกมาดิตัดสินใจยกเลิกสัญญา นอกจากนี้ ผู้ก่อตั้งแบรนด์สโกมาดิยังมองว่า ไทยมีศักยภาพในการผลิตรถจักรยานยนต์คุณภาพสูงได้เป็นอย่างดี และมีรถจักรยานยนต์แบรนด์ระดับโลกอื่นๆ ที่ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเช่นกัน อีกทั้งยังเป็นความชอบส่วนตัวที่มีต่อประเทศไทยของผู้ก่อตั้งแบรนด์ทั้งสองอย่าง พอล เมลีซี และ แฟรงก์ แซนเดอร์สัน
ล่าสุด สโกมาดิ เกาะกระแสความนิยมรถ EV ในไทยด้วยการส่งรถสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้ารุ่นแรกของสโกมาดิเข้าชิมลาง และยังสร้างความลิมิเต็ดด้วยการเปิดจำหน่ายเพียง 200 คัน
จักรพงษ์ ศานติรัตน์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท สโกมาดิ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “สโกมาดิ ใช้พื้นที่งานมอเตอร์เอ็กซ์โป สร้างแรงสั่นสะเทือนวงการรถจักรยานยนต์ด้วยการเปิดตัว “TURISMO ELECTRONICA” รถสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าพรีเมียม โมเดิร์นคลาสสิกรุ่นแรกของสโกมาดิ ที่ใช้ระยะเวลาการชาร์จไฟเต็มเพียง 3 ชั่วโมงสามารถขับระยะทางไกลได้ถึง 101 กิโลเมตร ด้วยแบตเตอรี่ความจุ 72 โวลต์ 40Ah”
นอกจากรุ่น TURISMO ELECTRONICA ที่ใช้ไฟฟ้าในการขับขี่แล้ว สโกมาดิยังเปิดตัวสกู๊ตเตอร์รุ่นใหม่อย่าง TURISMO PICCOLO 125i ที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมัน แต่ยังคงความคลาสสิกแบบ บริทิช โมเดิร์น
6 Key Messages ของสโกมาดิ ประกอบด้วย 1.โมเดิร์น คลาสสิก 2. กลุ่มคนรักรถคลาสสิกรุ่นใหม่ 3. ความแตกต่างอย่างเป็นเอกลักษณ์ 4. รักในการคัสตอมรถ 5. สกู๊ตเตอร์คอมมิวนิตี้ และ 6. การบริการลูกค้า
จักรพงษ์ ขยายความให้เห็นภาพชัดขึ้น รวมถึงกลยุทธ์ที่สโกมาดิใช้ “สโกมาดิ เริ่มดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 สำหรับการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยตอนนี้ สโกมาดิเริ่มกลับมา Reengineering แบรนด์อีกครั้งหนึ่งทั้งในเชิงโครงสร้างองค์กร R&D การตลาด ไปจนถึงการขาย โดยเน้นย้ำไปที่ความชัดเจนของ Brand Identity ความเป็น “British Modern Classic” ที่สะท้อนให้เห็นในคาแรกเตอร์ที่ชัดเจนของรถทุกรุ่นใน Product line up ปัจจุบัน”
“ประกอบกับสารสำคัญที่แบรนด์สร้าง Global Campaign #LetSCO เพื่อให้กลุ่มลูกค้าเข้าถึงและเชื่อมโยงกับ Brand Identity ถือเป็นแมสเสจที่สะท้อนถึงการทำการตลาดแบบไลฟ์สไตล์ ให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดี ในทุกๆ เส้นทางที่เริ่มต้นออกเดินทาง”
จักรพงษ์ ศานติรัตน์ ผู้ที่คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงยานยนต์ด้วยดีเอ็นเอที่ถูกถ่ายทอดมาตั้งแต่รุ่นพ่อ จนเกิดเป็นความชอบส่วนตัว และด้วยประสบการณ์การบริหารงานในค่ายยานยนต์ การเข้ามาทำงานกับสโกมาดิอาจเป็นอีกหนึ่งจุดแข็งของสโกมาดิ “ด้วยความที่สโกมาดิเป็นรถสกู๊ตเตอร์แนวโมเดิร์นคลาสสิก นี่จึงเป็นการ Explore เซกเมนต์รถใหม่ๆ ในตลาด ผสานกับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจอย่างครอบคลุม ตลอดจนประสบการณ์ในแวดวงที่ได้ทำมา เชื่อมั่นว่าจะช่วยสนับสนุนและสร้างการเติบโตให้แบรนด์มีความแข็งแกร่งต่อเนื่อง”
ขณะที่กรุงศรีออโต้ มองยอดขายรถจักรยานยนต์ไทยในปี 2566 ไว้ว่าจะลดลงเล็กน้อย ในขณะที่ทิศทางการเติบโตแบบก้าวกระโดดของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ากำลังมาแรง ด้วยการแข่งขันของแบรนด์ต่างๆ ที่สร้างการรับรู้ให้แก่ผู้บริโภค ประกอบกับมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งยอดขายรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าน่าจะขยายตัวได้ถึง 203 เปอร์เซ็นต์ อยู่ที่ 30,000 คัน.