วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > กลุ่ม Eco-Actives เบ่งบาน ค้าปลีก-อาหาร เร่งปูพรมโกยเงิน

กลุ่ม Eco-Actives เบ่งบาน ค้าปลีก-อาหาร เร่งปูพรมโกยเงิน

บริษัทวิจัยการตลาด Kantar เพิ่งเผยรายงาน Who Cares? Who Does? 2023 ซึ่งเป็นการสำรวจด้านความยั่งยืนระดับโลกที่ใหญ่ที่สุด จากกลุ่มตัวอย่างผู้บริโภคมากกว่า 112,000 ราย เชื่อมโยงกับพฤติกรรมการจับจ่ายเชิงลึกในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) เผยให้เห็นว่าแบรนด์ต่างๆ จำเป็นต้องพัฒนา เพื่อจับเม็ดเงินการจับจ่ายที่มีมูลค่ามหาศาลถึง 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือคิดเป็นเงินไทยมากกว่า 17.5 ล้านล้านบาท

Who Cares? Who Does? ระบุว่า กลุ่ม Eco-actives หรือผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากที่สุด ในปี 2566 มีสัดส่วนราว 22% เพิ่มขึ้นจากปี 2565 อยู่ที่ระดับ 18% และคาดว่าผู้บริโภคเหล่านี้มีแนวโน้มการใช้จ่ายสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2570

ทว่า ประเด็นที่น่าสนใจ คือ  43% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุอุปสรรคสำคัญ คือ ข้อจำกัดทางการเงิน ซึ่งชี้ให้เห็นว่าแบรนด์ต่างๆ ควรผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แบบยั่งยืนในราคาเอื้อมถึงได้ เพื่อฉกฉวยโอกาสดึงดูดผู้บริโภคหันไปใช้ผลิตภัณฑ์แบรนด์ของตนเองได้ โดยเฉพาะในช่วงเกิดวิกฤตค่าครองชีพ เพราะผลิตภัณฑ์เหล่านี้มักมีราคาสูงกว่าราคาสินค้าทั่วไป 70%

สำหรับกลยุทธ์หลักๆ ได้แก่ การใช้บรรจุภัณฑ์ที่ไม่ใช่พลาสติก การใช้ส่วนผสมจากท้องถิ่นและจากธรรมชาติ การเพิ่มทางเลือกรีฟิลและการรีไซเคิล รวมถึงการใช้แนวทางปฏิบัติด้านการค้าที่เป็นธรรม

เมื่อพูดถึงพฤติกรรม Who Cares? Who Does? พบว่าผู้บริโภค 3 ใน 4 หรือ 74% นำกระเป๋าของตัวเองมาใส่สินค้าเพิ่มขึ้น 3% เกือบครึ่งหนึ่งใช้ถุงผ้าเพิ่มขึ้น 12% และผู้บริโภคเกือบ 2 ใน 3 ใช้ขวดแบบรีฟิลได้ ขณะที่การใช้ “ถ้วย to-go” มีสัดส่วน 42% เพิ่มขึ้น 6% ซึ่งสะท้อนว่าทั้งผู้ค้าปลีกและแบรนด์สามารถสร้างนิสัยลูกค้าได้

ชีวานนท์ ปิยะพิทักษ์สกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาดอาวุโส ประจำประเทศไทยและมาเลเซีย Kantar, Worldpanel Division กล่าวว่า แบรนด์ในประเทศไทยต้องทำให้ผู้บริโภคเกิดความไว้วางใจในตัวสินค้า โดยนำความยั่งยืนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการลงทุน ตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงกระบวนการสื่อสาร ซึ่งการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ใช้พลาสติกและส่วนผสมจากธรรมชาติ ยังคงเป็นความต้องการของผู้บริโภคกลุ่ม Eco-Actives

อย่างไรก็ตาม แบรนด์สินค้าต้องดึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกระบวนการผลิตลดต้นทุนต่างๆ เพื่อทำให้ราคาสินค้าด้านความยั่งยืนเท่ากับราคาสินค้าทั่วไป แบรนด์ต่างๆ จึงจะเข้าถึงกลุ่มตลาดที่กำลังเติบโตและโกยส่วนแบ่งมากยิ่งขึ้น

ด้าน  Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า แนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (Environmental, Social, Governance: ESG) ซึ่งเน้นความรับผิดชอบ 3 ด้านหลัก คือ สิ่งแวดล้อม สังคม การกำกับดูแล ESG กลายเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ผู้ประกอบการธุรกิจบริการอาหารและค้าปลีกให้ความสำคัญมากขึ้น เพราะกระแสผู้บริโภคหันมาใช้เป็นเงื่อนไขเลือกซื้อสินค้า หรือใช้บริการ

ตัวอย่างการนำ ESG มาใช้ในการดำเนินงานของธุรกิจบริการอาหาร เช่น บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ZEN ตั้งเป้าหมายลดการใช้พลังงาน 3% ในปี 2566 และ 5% ในปี 2569 รวมถึงการคัดแยกขยะรีไซเคิล 150 ตัน ขณะที่สนับสนุนการสร้างรายได้ให้ชุมชน 300,000 บาทต่อปี และเปิดช่องทางการร้องเรียน ตรวจสอบคุณภาพของซัปพลายเออร์

กลุ่มไมเนอร์ ฟู้ด ที่มีร้านอาหารมากกว่า 2,500 สาขา ใน 23 ประเทศ มีทั้งแบรนด์เดอะ พิซซ่า คอมปะนี เดอะ คอฟฟี่ คลับ ริเวอร์ไซด์ ไทยเอ็กซ์เพรส บอนชอน สเวนเซ่นส์ ซิซซ์เลอร์ แดรี่ ควีน และเบอร์เกอร์ คิง ตั้งเป้าลดการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง หรือ Singleuse plastic 75% ภายในปี 2567 และเข้าสู่การเป็น Carbon neutrality ภายในปี 2593 นอกจากนั้น หยิบยกเรื่องการพัฒนาพนักงานอย่างยั่งยืน สนับสนุนการศึกษา การสร้างงาน ความเป็นอยู่ที่ดี

ในกลุ่มธุรกิจค้าปลีก เช่น บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) วางเป้าหมายการบริหารธุรกิจร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น ลดการใช้พลังงานลง 25% ภายในปี 2573 ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็น 0 ภายในปี 2593 และวางแผนพัฒนาทักษะ ส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการขนาดเล็ก และกลุ่มเปราะบางอย่างต่อเนื่องในระดับสากล

ขณะเดียวกันวางเป้าหมายให้ “แม็คโคร” เข้าสู่การเป็น Carbon neutrality ภายในปี 2573 เพิ่มการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน ลดการใช้น้ำต่อหน่วยลง 20% และเพิ่มสัดส่วนยอดขายจากผลิตภัณฑ์ส่งเสริมสุขภาพให้ได้ 70% สร้างงานและรายได้ให้ชุมชน

บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ โฮมโปร ตั้งเป้าเพิ่มผลิตภัณฑ์รีไซเคิล ผลิตภัณฑ์ย่อยสลายได้ 50% ภายในปี 2568 เปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียน 100% เช่น ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในศูนย์โฮมโปรทั้งหมดภายในปี  2573

ส่วนเซ็นทรัลกรุ๊ป ตั้งเป้าภายในปี 2573 ใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas: GHG) และปริมาณขยะลง 30% ยกระดับความเป็นอยู่และสร้างรายได้ให้ชุมชน-เกษตรกร 5,400 ล้านบาทต่อปี พัฒนาความสัมพันธ์และเพิ่มความพึงพอใจของลูกค้าเป็น 95%

กรณีห้างโลตัส ล่าสุดร่วมมือกับ Altervim Super Charge เปิดให้บริการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV Charging Station) รองรับประชาชนในโลตัสไฮเปอร์มาร์เก็ต 100 สาขา ทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมืองท่องเที่ยว เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางด้วยรถยนต์พลังงานสะอาดทั่วประเทศ โดยถือเป็นค้าปลีกแรกที่มีสถานีให้บริการครอบคลุมมากที่สุดทั่วไทย

เบญจวรรณ อ่องศรี ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานบริหารพื้นที่ศูนย์การค้า โลตัส กล่าวว่า โลตัสพยายามเพิ่มบทบาทธุรกิจค้าปลีกที่มีนโยบายด้านความยั่งยืนที่ผนวกเข้ากับการดำเนินธุรกิจทุกมิติ ซึ่งบริการ Altervim Super Charge มาจากเทรนด์รถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังมาแรงและมีจำนวนผู้ใช้เติบโตสูงขึ้น โดยใช้จุดแข็งของโลตัสที่มีสาขาครอบคลุมและเข้าถึงชุมชน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนโดยรอบสาขาที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้า เชื่อมต่อการเดินทางด้วยพลังงานสะอาดตามแผนการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ด้านการเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)

ในแง่การสนับสนุนเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อยนั้น โลตัสพยายามออกโปรเจกต์ต่างๆ ด้านหนึ่งสร้างการรับรู้ในฐานะ SMART Community Center อีกด้านหนึ่ง ดึงกลุ่มลูกค้า Eco-Actives เพิ่มการจับจ่าย เช่น การร่วมกับมูลนิธิโครงการหลวง รับซื้อผลิตผลจากศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ จังหวัดตาก พร้อมจัดงานมหกรรมสินค้าจากโครงการหลวงเลอตอ ทั้งผักผลไม้เมืองหนาวและสินค้าจากพื้นที่อื่นๆ ในโครงการหลวงกว่า 700 รายการ

นอกจากนั้น บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) (CP Axtra) เดินหน้ากิจกรรม SME FOODIES’ PARADISE ตลาดนัด SME สัญจร ซึ่งเริ่มจัดครั้งแรกที่โลตัส สาขาพระนครศรีอยุธยา ช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เปิดพื้นที่ให้ผู้ประกอบการรายย่อยและเกษตรกรมาออกบูธจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน รวมถึงจัดกิจกรรมจับคู่เจรจาทางธุรกิจ (Business Matching) สร้างแพลตฟอร์มการสร้างโอกาสสำหรับผู้ประกอบการSME และเกษตรกรไทย

เหตุผลสำคัญ เพราะยิ่งธุรกิจสะท้อนภาพลักษณ์ ESG สร้างแรงดึงดูดกลุ่ม Eco-Actives ได้มากเท่าไร นั่นหมายถึงเม็ดเงินยอดขายที่เพิ่มสูงขึ้นในระยะยาว ชนิดที่ว่า “ได้ทั้งเงินและกล่อง” ด้วย.