วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
Home > Cover Story > บัตรทอง 6 รัฐบาล เป้าเพื่อไทยลุย “30 บาทพลัส”

บัตรทอง 6 รัฐบาล เป้าเพื่อไทยลุย “30 บาทพลัส”

บัตรทอง 30 บาท เป็นอีกหนึ่งนโยบายที่มีการสานต่อมานานกว่า 22 ปี ผ่านรัฐบาลมาแล้ว 6 ชุด จนถึงรัฐบาลชุดปัจจุบันของนายเศรษฐา ทวีสิน ที่มี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยประกาศเดินหน้ายกระดับ 30 บาทพลัส ที่คุยว่าครอบคลุมการดูแลสุขภาพทุกมิติ พร้อมแผนการใหญ่ โรงพยาบาล กทม. 50 เขต 50 โรงพยาบาล และปริมณฑล

ก่อนเกิดโครงการบัตรทอง 30 บาท ประเทศไทยมีระบบสวัสดิการและหลักประกันสุขภาพ 5 ระบบ ได้แก่ ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ ระบบประกันสังคม ระบบประกันสุขภาพโดยสมัครใจ หรือโครงการบัตรสุขภาพเสียเงินรายเดือนหรือรายปี โครงการสวัสดิการประชาชนด้านการรักษาพยาบาล (สปร.) หรือ บัตรอนาถา และระบบประกันสุขภาพของภาคเอกชน

ว่ากันว่า ทั้ง 5 ระบบสามารถครอบคลุมประชากรราว 70% แต่ยังเหลืออีกราว 20-30% ที่ยังไม่มีระบบประกันสุขภาพใดๆ รองรับ

จริงๆ แล้วโครงการบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค หรือชื่อทางการ โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีจุดเริ่มต้นมาจาก นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ประธานชมรมแพทย์ชนบทรุ่นที่ 8 เป็นผู้บุกเบิกและศึกษาความเป็นไปได้ตั้งแต่ปี 2533 จนมีการเสนอร่าง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ในขณะนั้น ทำให้ร่างกฎหมายตกไป

ภาพจากเพจพรรคเพื่อไทย

อย่างไรก็ตาม นพ.สงวนยังเดินหน้าวิจัยความเป็นไปได้และพิมพ์สมุดปกเหลืองสรุปสาระสำคัญ ทั้งหลักการ ความเป็นมาและโอกาสความเป็นไปได้ในการดำเนินการ ระบุว่า ใช้งบประมาณราว 30,000 ล้านบาทในขณะนั้น

กระทั่งนายชวนประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2543 และมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทย (สส.) เป็นการทั่วไปในวันที่ 6 มกราคม 2544 โดยถือเป็นการเลือกตั้ง สส. ครั้งที่ 20 และเป็นครั้งแรกในระบบของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ซึ่งแบ่งเป็นระบบบัญชีรายชื่อ 100 คน และแบบแบ่งเขตเลือกตั้งอีก 400 คน

นพ.สงวนนำหนังสือปกเหลืองเดินสายพูดคุยกับพรรคการเมืองในช่วงก่อนการเลือกตั้ง ปรากฏว่า มีเพียงพรรคไทยรักไทยที่เห็นความเป็นไปได้

เมื่อพรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งเหนือพรรคประชาธิปัตย์และเจรจารวมพรรคความหวังใหม่ของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เข้ากับพรรคไทยรักไทยและเป็นพันธมิตรกับพรรคชาติไทย ได้ สส. 325 ที่นั่งจากทั้งหมด 500 ที่นั่ง จัดตั้งรัฐบาล มี ทักษิณ ชินวัตร รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544

เวลานั้นมีการสำรวจข้อมูลพบว่า ประเทศไทยมีคนจน 10 ล้านคนที่ไม่สามารถซื้อประกันสุขภาพ รัฐบาลนายทักษิณเดินหน้าแนวคิดของ นพ.สงวน จัดตั้งระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า เกิดโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค และแต่งตั้ง นพ.สงวนเป็นเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) คนแรก

ต้องยอมรับว่า ในระยะเริ่มต้นโครงการแทบไม่มีเสียงคัดค้านโครงการ เพราะสามารถช่วยชาวบ้านเข้าถึงบริการสาธารณสุขเพิ่มขึ้นจาก 76% เป็น 96% ของประชากร โดยรัฐบาลนำร่อง 6 จังหวัด ได้แก่ พะเยา นครสวรรค์ ปทุมธานี สมุทรสาคร ยโสธร และยะลา ในเดือนเมษายน 2544 จากนั้นเพิ่มเติมอีก 15 จังหวัดในเดือนตุลาคม 2544 ก่อนขยายครอบคลุมทั่วประเทศในปี 2545 ภายใต้แนวคิดให้ประชาชนไทยทุกคนได้รับบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานและผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการของรัฐฟรี จนถูกเรียกเป็นนโยบายประชานิยมของพรรคไทยรักไทย

ทั้งนี้ โครงการบัตรทองเริ่มต้นตั้งงบประมาณจากรัฐ จ่ายค่าเบี้ยให้ประชาชนหัวละ 1,250 บาท โดยให้ประชาชนขึ้นทะเบียนกับโรงพยาบาลในเขตที่อาศัย เมื่อเจ็บป่วยให้เข้ารักษาตามที่ลงทะเบียนไว้ โรงพยาบาลได้เงินส่วนนี้ไปเฉลี่ยรักษาคนป่วยลักษณะคล้ายกับการประกันสุขภาพ

แต่อีกด้านหนึ่ง โครงการนี้เพิ่มภาระงานแก่ลูกจ้างสาธารณสุขจนทำให้แพทย์จำนวนมากลาออก การบริการล่าช้าและด้อยประสิทธิภาพลง จึงถูกโจมตีเป็นโครงการ “30 บาท ตายทุกโรค” แต่ยังเป็นที่นิยม โดยเฉพาะกลุ่มคนชนบทและกลุ่มคนด้อยโอกาส นอกจากนั้น ยังทำให้รายได้ของอุตสาหกรรมโรงพยาบาลลดลงมาก โรงพยาบาลหลายแห่งต้องหาแหล่งรายได้อื่น หันไปเจาะฐานตลาดคนมีกำลังซื้อสูง ชาวต่างชาติ กลุ่มนักท่องเที่ยว ส่งผลให้เกิดการเติบโตอย่างมากในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทางการแพทย์ (medical tourism)

ปี 2549 ในยุครัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ สั่งยกเลิกการจ่ายค่าธรรมเนียม 30 บาท ในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ปี 2553 รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เข้ามาสานต่อนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผลักดันการรักษาฟรีและใช้บัตรประชาชนแทนบัตรทอง

ปี 2555 รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประกาศให้ประชาชนร่วมจ่าย 30 บาทเมื่อรับบริการจนสิ้นสุดและได้รับยา แต่มีเสียงคัดค้านจากภาคประชาสังคม จึงต้องกำหนดข้อยกเว้นไว้สำหรับคนที่ไม่ประสงค์จ่ายค่าบริการ

ช่วงปี 2560 เกิดกระแสข่าวลือสะพัดในโลกออนไลน์ว่า รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เตรียมยกเลิกโครงการหลักประกันสุขภาพ รวมทั้งเกิดกระแสคัดค้านของกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพต่อการแก้กฎหมายบัตรทอง เพราะเห็นว่าเนื้อหาการแก้ไขกฎหมายขัดกับหลักการของระบบบัตรทอง

สุดท้าย พล.อ.ประยุทธ์ และ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ออกมายืนยันรัฐบาลไม่มีความคิดล้มเลิกโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขและ สปสช. พยายามปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของสิทธิบัตรทอง รองรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ จนล่าสุดในปีงบประมาณ 2566 เพิ่มสิทธิประโยชน์กองทุนบัตรทองหลายรายการ จนมีหลายฝ่ายเริ่มเปรียบเทียบกับระบบประกันสังคม ซึ่งลูกจ้างถูกหักเงินสมทบจากรายได้ทุกเดือน 5%

โดยเฉพาะสิทธิประโยชน์ใหม่ๆ เช่น การดูแลภาวะความดันเลือดในปอดสูงในทารกแรกเกิด (Persistent Pulmonary Hypertension of the Newborn) บริการทันตกรรม Vital Pulp Therapy หรือการรักษาเนื้อเยื่อในฟันกรามแท้ บริการรากฟันเทียม บริการห้องฉุกเฉิน ผ้าอ้อมผู้ใหญ่และแผ่นรองซับ

บริการยาป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี เพิ่มยาจำเป็นที่ราคาแพงในกลุ่มบัญชียา จ (2) 14 รายการ  บริการดูแลผู้ป่วยกึ่งเฉียบพลัน บริการกายภาพบำบัด คลินิกชุมชนอบอุ่น คลินิกเวชกรรมและคลินิกทันตกรรม

นอกจากนั้น เพิ่มเติมบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เช่น การตรวจไวรัสตับอักเสบบี (HBe Ag) ในหญิงตั้งครรภ์ คัดกรองธาลัสซีเมียในสามีหรือคู่ของหญิงตั้งครรภ์ทุกราย คัดกรองซิฟิลิสในสามีหรือคู่ของหญิงตั้งครรภ์ทุกราย คัดกรองปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด  คัดกรองมะเร็งและมะเร็งช่องปาก คัดกรองผู้ป่วยโรคพันธุกรรมเมตาบอลิกด้วยเครื่องTandem mass spectrometry (TMS) เด็กแรกเกิด คัดกรองและค้นหาวัณโรคในกลุ่มเสี่ยงสูง ตรวจยีน BRCA1/BRCA2 ในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีความเสี่ยงสูงและญาติสายตรงที่มีประวัติครอบครัว ตรวจพบยีนกลายพันธุ์

ช่วงปี 2565 สปสช. ยังสร้างเครือข่ายร้านยาชุมชนอบอุ่นที่มีกลุ่มร้านขายยาเข้าร่วมมากกว่า 500 แห่งทั่วประเทศ ให้บริการปรึกษาเภสัชกรและรับยารักษาอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยฟรี

เมื่อเร็วๆ นี้ สปสช. ประกาศจับมือกับบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือโออาร์  และบริษัท คลิกนิกเฮลท์ จำกัด (Clicknic) เปิดโครงการ “โอบอ้อมคลินิก” ในสถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น ให้บริการด้านสาธารณสุขรูปแบบใหม่ในรูปแบบพบแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine โดยมีแผนปูพรมขยายอย่างต่อเนื่อง.