วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > Waste Buy Delivery ซื้อขยะถึงบ้าน สู้วิกฤตล้นกรุง

Waste Buy Delivery ซื้อขยะถึงบ้าน สู้วิกฤตล้นกรุง

โจทย์ข้อใหญ่ของวิกฤตขยะล้นกรุงเทพฯ ปริมาณมากกว่าปีละ 3.17 ล้านตัน หรือเฉลี่ยวันละ 8,000-10,000 ตัน และมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นไม่หยุด คือ การไม่คัดแยกขยะและถูกทิ้งรวมกัน ทั้งที่เนื้อในอาจมีราคาไม่ต่างจากทองคำ สามารถสะสมสร้างรายได้ซื้อบ้านซื้อรถเสียด้วยซ้ำ

ดร.อิทธิกร ศรีจันบาล ประธานกรรมการบริหารบริษัท สถานีรีไซเคิล วงษ์พาณิชย์สุวรรณภูมิ จำกัด กล่าวว่า จริงๆ คนส่วนใหญ่ในยุคปัจจุบันมีความรู้เรื่องแยกขยะ แต่ไม่คัดแยกเพราะขาดแรงจูงใจ ไม่รู้ไปขายที่ไหน ไม่สะดวกขนไปขาย ไม่มีรถ ไม่รู้จะเอาไปอย่างไร

ส่วนผู้รับซื้อมีจำนวนน้อยเพราะติดปัญหาไม่มีสถานที่จัดเก็บ ค่าเช่าที่ดินแพง แต่ขยะมีมากจนถูกทิ้งสะสมล้นเมือง

ขณะเดียวกัน หลายคนเลือกทิ้งขยะรวมกันเพราะเข้าใจว่า รถเทศบาลจะคัดแยกขยะอีกรอบ ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่ และกลายเป็นการสูญเสียทรัพยากร เพราะจากการสำรวจข้อมูลรถเทศบาลหลายแห่งที่เก็บขยะจากบ้านเรือนชุมชนต่างๆ เป็นของดีมีราคามากถึง 70% เช่น กล่องกระดาษ ซึ่งรถเทศบาลไม่คัดเก็บไว้และไม่มีพื้นที่รองรับ ทั้งที่หากคัดแยกกล่องกระดาษและขายรีไซเคิล ราคารับซื้อสูงถึงกิโลกรัม (กก.) ละ 8-10 บาท บางช่วงราคาขึ้นไปถึง 14 บาท แต่ถูกทิ้งอย่างน่าเสียดาย

“ผมอยู่ในธุรกิจเก็บขยะมานานกว่า 25 ปี  เห็นวงจรทั้งหมด สิ่งที่จะตอบโจทย์ได้ คือ การรับซื้อถึงบ้านและทำให้ทุกคนรู้ว่า ขยะคือทองคำ มีราคา ถ้าผ่านการคัดแยกตั้งแต่ต้นทาง”

ดร.อิทธิกรคิดประเด็นเหล่านี้อยู่นานและมีโอกาสร่วมงานกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ตั้งแต่ยุคผู้ว่าฯ อภิรักษ์ โกษะโยธิน เช่น โครงการลดขยะ โครงการธนาคารขยะ เปิดศูนย์สุวรรณภูมิเป็นศูนย์ศึกษาดูงาน เขาเริ่มผลักดันโปรเจกต์ Waste Buy Delivery เพื่อเป็นนวัตกรรมการจัดการขยะเชิงรุกภายใต้แนวคิด Bio Circular Green Economy และขยะเหลือศูนย์ (Zero waste management) ตรงถึงบ้าน

ในที่สุด โครงการ Waste Buy Delivery เริ่มต้นขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยประเดิมความร่วมมือกับเขตลาดกระบัง ซึ่งเป็นเขตติดแชมป์ 1 ใน 5 สร้างขยะสูงสุด จาก 50 เขตในกรุงเทพฯ มีค่าเฉลี่ย 289.42 ตันต่อวัน หรือรวม 105,636.51 ตันตลอดปี 2565

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา สำนักงานเขตลาดกระบังและบริษัท สถานีรีไซเคิล วงษ์พาณิชย์สุวรรณภูมิ ได้จับมือกันเปิดโครงการ  Waste Buy Delivery อย่างเป็นทางการ พร้อมเผยโฉมศูนย์เรียนรู้การจัดการขยะมูลฝอย เป็นศูนย์นำร่องแห่งแรก เพื่อให้ทุกคนเรียนรู้หลักสูตรการคัดแยกขยะและการรีไซเคิล โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ เป็นเป้าหมาย Win-Win ทั้งคู่

ด้านหนึ่ง เขตลาดกระบังต้องการลดปริมาณขยะ ลดภาระการเก็บขยะ รักษาสภาพแวดล้อม

อีกด้านหนึ่ง บริษัท สถานีรีไซเคิล วงษ์พาณิชย์สุวรรณภูมิ สามารถขยายฐานลูกค้า เพิ่มจำนวนสินค้าเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล เพื่อส่งต่อให้เครือข่ายพาร์ตเนอร์ กลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ PET และเส้นใยโพลีเอสเตอร์ บริษัท อินเตอร์ แปซิฟิค เปเปอร์ จำกัด ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกครบวงจร รวมถึงการขยายความร่วมมือกับบริษัทเอกชนต่างๆ เช่น กลุ่มซีพีออลล์ ไทยเบฟเวอเรจ เนสท์เล่ แม็คโคร ไมโล และกลุ่มโค้วยู่ฮะ ผู้จำหน่ายรถอีซูซุรายใหญ่

“เมื่อเรารับซื้อขยะ เราต้องคัดแยกให้ได้สินค้าเกรดเอ ราคาสูงขึ้น พวกกระดาษส่งไปโรงหลอมกระดาษ ต้มทำกระดาษใหม่ เศษเหล็กส่งไปโรงหลอมเหล็ก พลาสติกส่งไปเข้ากระบวนการทำเส้นใย ทำเสื้อผ้า ส่งต่อให้พันธมิตรบริษัทผู้ผลิตที่มีเจตนารมณ์ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมด้วย ไม่ใช่ทุกบริษัทที่ให้ราคาดี”

ปัจจุบันรถบริการรับซื้อขยะถึงบ้านสามารถเข้าถึงทุกครัวเรือนในเขตลาดกระบัง อาคารสำนักงาน  สถานประกอบการ หมู่บ้าน คอนโดมิเนียม โรงพยาบาล โรงเรียน มหาวิทยาลัย วัด สถานที่ราชการ ห้างร้านต่างๆ โดยมีศักยภาพรองรับขยะคันละ 1 ตันต่อวัน

จากการทดลองให้บริการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2566 มีสถิติตอบรับสูงมาก โดยเดือนพฤษภาคมมีลูกค้า 141 ราย จำนวนขยะน้ำหนักรวม 29,101 กิโลกรัม เดือนมิถุนายนเพิ่มเป็น 198 ราย น้ำหนักรวม  99,554 กิโลกรัม เดือนกรกฎาคม 289 ราย น้ำหนักรวม 157,067 กิโลกรัม เดือนสิงหาคมเพิ่มเป็น 316 ราย น้ำหนักรวม 197,089 กิโลกรัม และมี Waiting List อีกจำนวนมาก

ที่สำคัญ กลุ่มลูกค้าไม่ใช่กลุ่มลูกค้าที่เคยคัดแยกขยะมาขายหน้าศูนย์สุวรรณภูมิและลูกค้ากลุ่มเดิมไม่ลดลง ยังมีปริมาณการขายต่อวัน  50-100 ตัน โดยเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ มีลูกค้าเดินทางมาต่อคิวขายขยะยาวมาก เพราะการคัดแยกขยะ ทั้งการนำมาขายและใช้บริการรถ Waste Buy Delivery ทุกคนได้ประโยชน์ ประหยัดงบประมาณแผ่นดิน รักษาทรัพยากรธรรมชาติ บริษัทได้คืนกำไรสังคม ซึ่ง ณ ขณะนี้ บริษัทมีรถร้อยกว่าคันและจะเพิ่มอีก 200 กว่าคันภายในปีนี้ รวมทั้งวางแผนขยายบริการครอบคลุมกรุงเทพฯ ทั้ง 50 เขต

เขาย้ำว่า Waste Buy Delivery เป็นนวัตกรรมใหม่ ในอดีตการซื้อถึงบ้านมีเยอะ ทั้งซาเล้ง  รถเก่า แต่การทำรูปแบบบริษัท มีแอปพลิเคชัน กำหนดราคามาตรฐาน บริษัทถือเป็นเจ้าแรก เราพยายามทำให้คนรุ่นใหม่เกิดแรงจูงใจในการคัดแยกขยะมากขึ้น โดยมีศูนย์เรียนรู้การจัดการขยะมูลฝอยเป็นกลไกส่งต่อความรู้ต่างๆ ตั้งแต่ประเภทขยะ ราคา วิธีแยกขยะให้ได้ราคาดี ไม่ถูกเอาเปรียบ เช่น ขยะพวกอะลูมิเนียม มีทั้งแบบหนา แบบบาง กระป๋อง ราคาไม่เท่ากัน ถ้าไม่รู้ประเภท คนส่วนใหญ่มักใส่รวมกัน แต่ถ้ารู้ราคาแตกต่างกัน การคัดแยกจะทำให้ราคารับซื้อดีขึ้น

ดร.อิทธิกรบอกว่า อยากให้ทุกคนมาที่นี่ รวยทุกคน ไม่มีใครกล้าทิ้งขยะแบบไม่คัดแยก 5 บาท 10 บาท ทุกชิ้นมีราคา จากเดิมไม่มีความรู้ ไม่รู้ไปขายที่ไหน แต่ตอนนี้ทุกคนตาเป็นประกาย เพราะขยะทุกชิ้นเป็นเงินได้ทั้งหมด.

“มีขวดมาขาย…” ภาพทรงจำ อาแปะซาเล้ง

 ภาพอาแปะหาบเข่งคู่บนบ่าเดินร้องตะโกนไปตามบ้าน “มีขวดมาขาย…” เป็นหนึ่งความทรงจำของอาชีพซื้อขายของเก่า กระทั่งมีการนำเอารถซาเล้ง หรือสามล้อแดงมาดัดแปลงต่อกระบะยาวขึ้น ซึ่งยุคแรกๆ ยังเป็นสามล้อใช้แรงถีบ จนปี  2526 เกิดน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯ จึงนำเครื่องยนต์ขนาดเล็กมาติดตั้งกับซาเล้ง วิ่งรับจ้างตามตรอกซอยต่างๆ

ทุกวันนี้ คนเก็บขยะและรับซื้อของเก่ายังใช้ทั้งซาเล้งถีบกับซาเล้งติดตั้งเครื่องยนต์ แต่คนที่มีเงินทุนมากมักออกรถกระบะวิ่งตามบ้าน เพื่อรับซื้อของเก่าชิ้นใหญ่และหลากหลายชนิดมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ซาเล้งที่เรียกกันนั้นเป็นหนึ่งในรถสามล้อที่เมืองไทยใช้ขับขี่สัญจรมานานเกือบร้อยปี เล่ากันว่า เริ่มจากนาวาอากาศเอก เลื่อน พงษ์โสภณ นำรถลาก หรือรถเจ๊กในประเทศจีนมาดัดแปลงร่วมกับจักรยานและเป็นต้นแบบของรถสามล้อรับส่งผู้โดยสาร มีใช้กันครั้งแรกในจังหวัดนครราชสีมา เมื่อปี 2476

หลังจากนั้น เกิดการดัดแปลงรถสามล้อรูปแบบต่างๆ เช่น สามล้อพ่วงข้าง เป็นรถจักรยานดัดแปลง เพิ่มล้อและกระบะพ่วงเข้าด้านข้าง ติดตั้งเก้าอี้หวายกับกระบะ ออกวิ่งรับจ้างโดยสารอย่างแพร่หลาย ซึ่งทุกวันนี้ยังมีให้บริการในบางจังหวัด โดยเฉพาะในจังหวัดทางภาคใต้

ต่อมามีการดัดแปลงติดเครื่องจักรยานยนต์กับรถสามล้อเป็นสามล้อเครื่อง เพื่อทุ่นแรงและรับส่งผู้โดยสารในระยะไกลขึ้น รวดเร็วขึ้น

ส่วน รถตุ๊ก ตุ๊ก มีกำเนิดจากการนำสามล้อเครื่องกระบะบรรทุกจากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาดัดแปลงเป็นรถนั่งโดยสาร เมื่อปี 2503 เพื่อทดแทนรถสามล้อถีบ ซึ่งถูกห้ามวิ่งในเขตกรุงเทพฯ จนประเทศไทยสามารถผลิตและส่งจำหน่ายไปต่างประเทศ ที่สำคัญ ตุ๊ก ตุ๊ก หรือ TUK-TUK ถือเป็นหนึ่งเอกลักษณ์ของเมืองไทยและเป็นที่นิยมมากในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ

นอกจากนี้ ยังมี ตุ๊ก ตุ๊ก สองแถว หรือ “รถกะป๊อ” วิวัฒนาการจาก ตุ๊ก-ตุ๊ก ดัดแปลงเบาะนั่งด้านหลังเป็นที่นั่งสองแถว ให้บริการตามแหล่งชุมชน ท่ารถโดยสาร ท่าเรือข้ามฟาก ตลาดสด และสามล้อ “สกายแล็บ” ใช้ชื่อสถานีอวกาศ “สกายแล็บ” ของสหรัฐอเมริกา มีใช้ครั้งแรกใน จ. อุดรธานี และแพร่กระจายไปทุกจังหวัดแถบอีสาน ลักษณะเป็นสามล้อใช้กำลังเครื่องยนต์มอเตอร์ไซค์ ที่นั่งโดยสารตอนหลังเป็นสองแถว สีสันสดใส ช่วงหน้าเชิดสูงขึ้น.

หมายเหตุ : ตารางราคารับซื้อขยะ ของ Waste Buy Delivery