วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
Home > Cover Story > Korean Wave แรงส์ เน็ตฟลิกซ์อัดคอนเทนต์ ยอดพุ่ง 6 เท่า

Korean Wave แรงส์ เน็ตฟลิกซ์อัดคอนเทนต์ ยอดพุ่ง 6 เท่า

แม้สงครามสตรีมมิ่งแข่งขันด้านราคารุนแรง แต่ “คอนเทนต์” คือตัวชี้ขาดสำคัญ ไม่ว่า Netflix, Disney+, Amazon, HBO Go, viu, iQIYI และ Apple TV+ ซึ่งซีรีส์และภาพยนตร์เกาหลีเป็นหนึ่งจุดขายที่สามารถขยายฐานสมาชิกในตลาดบ้านเราตามกระแส Korean Wave หรือ Hallyu ที่โด่งดังทั่วโลกแถมยาวนานและเหนียวแน่น

เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท เน็ตฟลิกซ์ (Netflix) ผู้ให้บริการสตรีมมิ่งภาพยนตร์รายใหญ่ของสหรัฐอเมริการายงานกำไรในไตรมาส 2 ปี 2566 สูงกว่าคาดการณ์ หลังใช้มาตรการห้ามแชร์รหัสบัญชีบริการสตรีมมิ่งโดยกำไรต่อหุ้นในไตรมาส 2/2566 อยู่ที่ 3.29 ดอลลาร์ และรายได้อยู่ที่ 8.19 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 3% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

สำหรับจำนวนสมาชิกที่จ่ายค่าบริการสตรีมมิ่งทั่วโลก เพิ่มขึ้น 5.9 ล้านราย หรือประมาณ 8% และคาดการณ์รายได้ในไตรมาส 3/2566 จะอยู่ที่ 8.5 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 7% เทียบปีต่อปี

ที่น่าสนใจ คือ จำนวนชั่วโมงการเข้าชมผลงานของเกาหลีใต้จากทั่วโลกเติบโตสูงต่อเนื่อง โดยเฉพาะปี 2564 จำนวนชั่วโมงการเข้าชมผลงานของเกาหลีใต้จากทั่วโลกเติบโตขึ้นถึง 6 เท่า เทียบปี 2563 เป็นผลจากซีรีส์ 2 เรื่อง คือ สควิดเกม เล่นลุ้นตาย (Squid Game) และทัณฑ์นรก (Hellbound)

Squid Game เริ่มออกอากาศตอนแรกในเดือนกันยายน 2564 สามารถขึ้นแท่นเป็นซีรีส์ของเน็ตฟลิกซ์ที่มียอดผู้ชมสูงสุดใน 94 ประเทศทั่วโลก ขณะที่ Hellbound เปิดตัวตามมาและทำสถิติเปิดตัวด้วยชั่วโมงการชม 43.48 ล้านชั่วโมง พร้อมติดอันดับ Top 10 ของ Netflix ใน 93 ประเทศ ครองอันดับ 1 ใน 34 ประเทศ

เน็ตฟลิกซ์ระบุว่า ช่วงปี 2559-2564 บริษัทเปิดตัวคอนเทนต์เกาหลีมากกว่า 130 เรื่อง จนกลายเป็นศูนย์รวมคอนเทนต์เกาหลีที่ดึงดูดและขยายฐานผู้ดูจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง โดยสถิติเมื่อปี 2565 มีกลุ่มผู้ชมเน็ตฟลิกซ์เลือกดูคอนเทนต์เกาหลีมากกว่า 60% จากจำนวนสมาชิกทั้งหมด สะท้อนให้เห็นถึงฐานแฟนคอนเทนต์เกาหลียังเติบโตทั่วโลก

ดอน คัง รองประธานฝ่ายคอนเทนต์เกาหลี บริษัท เน็ตฟลิกซ์ กล่าวว่า ปี 2566 บริษัทอัดทั้งซีรีส์ ภาพยนตร์ และรายการวาไรตี้มากกว่า 34 เรื่อง หลังจากปีที่ผ่านมาซีรีส์และภาพยนตร์เกาหลีติดอันดับในชาร์ต Global Top 10 ในกว่า 90 ประเทศทั่วโลกหลายครั้ง รวมถึงคอนเทนต์ที่มีผู้ชมสูงสุดตลอดกาลเป็นคอนเทนต์จากเกาหลีถึง 3 เรื่อง

เฉพาะปีนี้เสริมรายชื่อหนังเกาหลีอย่างน้อย 6 เรื่อง ทั้งภาพยนตร์แนวไซไฟทริลเลอร์ จอง_อี (JUNG_E) คิลบกซุน (Kill Boksoon) Believer 2 Ballerina: ร่ายระบำฆ่า เดอะ แมตช์ (The Match) และเรื่อง แค่ทำโทรศัพท์มือถือหาย ทำไมต้องกลายเป็นศพ (Unlocked)

เพิ่มสารคดี 2 เรื่อง คือ Yellow Door: Looking for Director Bong’s Unreleased Short Film (Working Title) พาผู้ชมติดตามภารกิจตามหาภาพยนตร์เรื่องแรกของบงจุนโฮ ผู้กำกับเจ้าของรางวัลออสการ์ และสารคดีแนวอาชญากรรมสร้างจากเรื่องจริง In the Name of God: ศรัทธาลวง (In the Name of God: A Holy Betrayal) เรื่องราวของบุคคลที่เรียกตัวเองเป็น “พระเมสสิยาห์” หรือ “พระผู้ช่วยให้รอด” แห่งเกาหลียุคใหม่

ขณะเดียวกัน ยังมีซีรีส์รักโรแมนติกที่มีจำนวนผู้ชมทั่วโลกเพิ่มขึ้นถึงสามเท่าในช่วงปี 2561-2565 และผู้ชมมากกว่า 90% อยู่นอกเกาหลีใต้ทั้งสิ้น โดยยิงยาว 6 เรื่อง ประกอบด้วย See You in My 19th Life, King The Land, Behind Your Touch, Destined with You, A Time Called You และ Doona!

ทั้งนี้ พฤติกรรมคนดูไทยส่วนใหญ่คลั่งไคล้ศิลปินดารานักร้องแดนกิมจิ จนผู้กำกับเลือกเข้ามาถ่ายทำในประเทศไทย ไม่ใช่แค่แหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม แต่ยังมัดใจและขยายฐานคนดูได้ด้วย อย่างซีรีส์ King the Land สร้างกระแสได้ดีมาก หลังเรื่องราวมาถึงฉากพระเอกหนุ่ม กูวอน และนางเอก ซารัง พร้อมผองเพื่อนเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย เช่น วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร โลหปราสาท วัดราชนัดดารามวรวิหาร สะพานหัน คลองโอ่งอ่าง เมืองโบราณ สมุทรปราการ

นอกจากนั้น ยังไปเล่นลานน้ำพุที่ไอคอนสยาม ไปดินเนอร์ในห้องอาหาร Vertigo โรงแรมบันยันทรี กรุงเทพ และเลือกที่พัก Siri Sala Private Villa ริมคลองบางกอกน้อย

แน่นอนว่า Korean Wave หรือ Hallyu รุกคืบเข้าสู่ตลาดเอเชียและประเทศไทยมานานมากกว่า 20 ปีแล้ว  ถือเป็น Soft Power ที่หลายประเทศ รวมถึงไทยต่างต้องการผลักดันกระจายไปทั่วโลกเช่นเดียวกัน

หากย้อนกลับไปในปี 2540 วิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชียส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเกาหลีใต้อย่างมาก ทางการต้องกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ถึง 57 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และกลายเป็นแรงผลักดันให้เกาหลีต้องปรับตัวหันมาเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมบันเทิงอย่างจริงจัง ทั้งเพลง ละคร ภาพยนตร์ เกมออนไลน์ และวัฒนธรรมทุกรูปแบบ เพราะรัฐบาลเกาหลีเริ่มเล็งเห็นว่า วัฒนธรรมประจำชาติมีมูลค่า มีการประกาศนโยบายเสริมสร้างปัจจัยพื้นฐานทางวัฒนธรรมตั้งแต่ปี 2543 เกิดองค์การมหาชน ศูนย์วิจัยทางวัฒนธรรม สถาบันการศึกษาเทคโนโลยีทางวัฒนธรรม มีการขยายศูนย์วัฒนธรรมและศิลปะทั่วประเทศ

ปี 2544 กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวประกาศปีแห่งการท่องเที่ยวเกาหลี จัดเทศกาลกีฬา เทศกาลดนตรี เทศกาลอาหาร เทศกาลแฟชั่น เทศกาลการละเล่นต่างๆ จนเกิดกระแส และที่เติบโตโดดเด่น คือ วงการเพลง ภาพยนตร์ และละครโทรทัศน์ ทำให้รัฐบาลเกาหลีมองเห็นช่องทางขยายอุตสาหกรรมบันเทิง

ตัวอย่างที่เห็นชัดเจน คือ การส่งออกละครโทรทัศน์เรื่อง แดจังกึม จอมนางแห่งวังหลวง ที่ทำรายได้จากลิขสิทธิ์ถึง 103.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ปี 2552 ก่อตั้งสถาบัน The Korea Creative Content Agency หรือ KOCCA ผ่านความร่วมมือจากหลายองค์กร เพื่อบริหารจัดการและพัฒนาธุรกิจด้านวัฒนธรรมเกาหลีอย่างครบวงจร ส่งเสริมให้เนื้อหาสาระความเป็นเกาหลีสอดแทรกในทุกสื่อบันเทิง

KOCCA จะมีหน้าที่ออกกฎระเบียบคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา พัฒนาเทคโนโลยี สนับสนุนภาคเอกชนโดยเฉพาะรายเล็กๆ จัดตั้งธุรกิจ ร่วมลงทุนและให้กู้ ลงทุนสตูดิโอให้เช่าในราคาถูก และสนับสนุนการขยายตลาดวัฒนธรรมไปยังต่างประเทศ เพื่อเป็นธุรกิจส่งออก ปัจจุบันมีสำนักงานสาขาในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และจีน

นั่นจึงไม่แปลกที่เกาหลีสามารถปลุกกระแส Korean Wave และประสบความสำเร็จอย่างมากมาย.

Netflix Top 10 เกาหลีแห่ติดชาร์ต

สถิติการจัดอันดับ Netflix Top 10 ที่มีการสตรีมมิ่งตั้งเดือนมกราคมถึงเดือนสิงหาคม 2566 พบว่า มีคอนเทนต์เกาหลีติดชาร์ตอันดับ 1 ในหมวดซีรีส์ภาษาต่างประเทศจากทั่วโลกมากถึง 8 เรื่อง คือ ร้อยแกร่งแข่งอึด (Physical:100), The Glory ภาค 2, Queenmaker: ฉันจะปั้นราชินี, Black Knight, Siren: เปิดไซเรนพิชิตเกาะร้าง, Bloodhounds, คิง เดอะ แลนด์ (King the Land) และ Celebrity: คนเด่น คนดัง คนดับ

ส่วนหมวดภาพยนตร์ที่ติดอันดับ 1 มี 3 เรื่อง ได้แก่ จอง_อี (JUNG_E), แค่ทำโทรศัพท์มือถือหาย ทำไมต้องกลายเป็นศพ (Unlocked) และคิลบกซุน (Kill Boksoon)

สำหรับสถิติอันดับ 2 มีซีรีส์ติดชาร์ต 2 เรื่อง ได้แก่ ยี้ให้หนัก รักให้เข็ด (Love to Hate You) และคุณหมอชา (Dr.Cha)

อันดับ 3 มีหมวดซีรีส์ 2 เรื่อง ได้แก่ โรแมนซ์ฉบับเร่งรัด (Crash Course in Romance) และ แม่ดี แม่ร้าย (The Good Bad Mother)

อันดับ 4 มีหมวดซีรีส์ 2 เรื่อง คือ ทนายรัก คดีหย่าร้าง (Divorce Attorney Shin) และชาตินี้ก็ฝากด้วยนะ (See You In My 19th Life) ส่วนหมวดภาพยนตร์มี 1 เรื่อง คือ Dream

อันดับ 5 หมวดซีรีส์ 3 เรื่อง ได้แก่ In the Name of God: ศรัทธาลวง, D.P. หน่วยล่าทหารหนีทัพ ซีซัน 2 (D.P. Season 2) และ ซอมบี้เวิร์ส (Zombieverse)

อันดับ 6 มีหมวดซีรีส์ 1 เรื่อง คือ เคาน์เตอร์ คนล่าปีศาจ ซีซัน 2 (The Uncanny Counter: Season 2)

ส่วนช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ที่รอไต่ขึ้นชาร์ตนั้น หมวดซีรีส์ ได้แก่ รักสุดวิสัย หัวใจไม่ให้เลี่ยง (Destined with You), เวลาเพรียกหาเธอ (A Time Called You), ลำนำคนโฉด (Song of the Bandits), รับแดดอุ่น กรุ่นไอรัก (Daily Dose of Sunshine), ดูนา ไอดอลสาวข้างบ้าน (Doona!), สวีทโฮม ซีซัน 2 (Sweet Home Season 2) และสัตว์สยองกยองซอง (Gyeongseong Creature)

หมวดภาพยนตร์ 2 เรื่อง ได้แก่ Believer 2 และ Ballerina.