วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > ส่งออกข้าวพุ่งทะยาน สวนทางชีวิตชาวนาจนที่สุด

ส่งออกข้าวพุ่งทะยาน สวนทางชีวิตชาวนาจนที่สุด

ขณะที่เถ้าแก่โรงสีและผู้ส่งออกกำลังตื่นเต้นกับราคาข้าวพุ่งทะยานต่อเนื่องรับตลาดส่งออกขยายตัว ผลพวงสถานการณ์ภัยแล้ง พิษปรากฏการณ์เอลนีโญและการประกาศมาตรการห้ามการส่งออกข้าวขาวของอินเดีย แต่ดูเหมือนว่า ปัญหาชีวิตชาวนายังเรื้อรัง หนี้เพิ่ม และยากจนที่สุดเมื่อเปรียบเทียบประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งอินเดีย เวียดนาม และเมียนมา

ทั้งนี้ ในช่วง 1-2 สัปดาห์ ราคารับซื้อข้าวในประเทศไทย ทั้งข้าวเปลือกและข้าวขาวปรับสูงขึ้นทุกชนิด โดยราคารับซื้อข้าวเปลือกเจ้า กข.89 และข้าวหอมปทุม ความชื้น 15% เดิมอยู่ที่ 8,000-8,500 บาทต่อตัน ปรับขึ้นเป็น 12,000 บาทต่อตัน ข้าวปทุมธานี 1 จากเดิม 6,000-6,500 บาท/ตัน ปรับขึ้นไปอยู่ที่ 9,800 บาทต่อตัน

ด้านกระทรวงพาณิชย์รายงานภาวะการค้าระหว่างประเทศช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 พบว่า การส่งออกข้าวไทยยังขยายตัวทั้งปริมาณและมูลค่า โดยส่งออกข้าวได้ทั้งสิ้น 4.04 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 75,526.2 ล้านบาท (2,223.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) หรือปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้น 14.9% และมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น 23.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2565 ที่มีการส่งออกปริมาณ 3.51 ล้านตัน มูลค่า 61,021.2 ล้านบาท (1,839.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

ขณะเดียวกัน ราคาข้าวไทยเฉลี่ยในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 550.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เทียบกับราคาเฉลี่ยทั้งปี 2565 อยู่ที่ 515.9 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน โดยเฉพาะในเดือนมิถุนายน 2566 ข้าวไทยมีราคาเฉลี่ย 572.7 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น 13.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

อย่างไรก็ตาม แม้การส่งออกข้าวทุกชนิดมีปริมาณเพิ่มขึ้นมาก โดยเพราะตลาดหลักสำคัญ ได้แก่ อินโดนีเซีย อิรัก ญี่ปุ่น แต่ช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ อินเดียยังคงเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลก ปริมาณส่งออก 9.27 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทว่า ไทยกลับถูกเวียดนามช่วงชิงส่วนแบ่งตลาด หล่นจากอันดับ 2 มาอันดับ 3 โดยเวียดนามส่งออกได้ 3.62 ล้านตัน ส่วนไทยส่งออกได้ 3.47 ล้านตัน แม้สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยตั้งเป้าหมายการส่งออกปีนี้ 7.5 ล้านตัน เทียบกับปี 2565 ส่งออกได้ 7.69 ล้านตัน แต่ยังต้องติดตามความเป็นไปได้ โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ เนื่องจากสหรัฐฯ ผู้ซื้อรายใหญ่ของไทยยังมีสต๊อกค้างอยู่ รวมถึงอีกหลายๆ ประเทศ หลังเกิดกระแส Panic Buying จึงมีสต๊อกเหลือ และต้องเผชิญการแข่งขันกับเวียดนาม ทั้งเรื่องราคาและคุณภาพ

จากการรวบรวมข้อมูลพบว่า ประเทศไทยมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวคิดเป็นสัดส่วน 43.7% ของพื้นที่เกษตรทั้งหมดของประเทศและครอบคลุมครัวเรือนถึง 5.1 ล้านครัวเรือน คิดเป็น 63.6% ของจำนวนครัวเรือนภาคเกษตรทั้งหมด ทำให้กลุ่มชาวนายังคงได้รับความสนใจเป็นพิเศษจากรัฐบาล มีนโยบายประชานิยมช่วยเหลือ เช่น ประกันราคา รับจำนำ สนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิต ช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว

แต่ดูเหมือนว่าชาวนากลับไม่สามารถยกระดับรายได้และยังเป็นหนี้ไม่สิ้นสุด แม้ตลาดส่งออกดี ราคาขายดี มีมาตรการอุดหนุนจากภาครัฐทุกปี โดยเฉพาะข้อมูลของศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยืนยันชัดเจนว่า เวลาผ่านมา 10 ปี ชาวนาไทยยังจนและมีหนี้เพิ่มขึ้น เปรียบเทียบตัวเลขล่าสุดในปี 2565 กับปี 2555 ประเทศไทยมีผลผลิตข้าวต่อไร่ต่ำกว่าเวียดนาม 3 เท่า โดยปี 2565 ไทยเฉลี่ย 450 กิโลกรัมต่อไร่ ลดลง 3.9% จากปี 2555 ขณะที่เวียดนามพุ่งสูงขึ้น เฉลี่ยมากกว่า 1,000 กิโลกรัม หรือมากกว่า 1 ตันต่อไร่ เพิ่มขึ้น 8.7% จากปี 2555

อินเดียอยู่ที่ 1,106 กิโลกรัมต่อไร่ เพิ่มขึ้น 13.7% จากปี 2555 และเมียนมา 664 กิโลกรัมต่อไร่ เพิ่มขึ้น 34.5% เทียบจากปี 2555

ส่วนต้นทุนการปลูกข้าวของไทยเฉลี่ย 5,898.5 บาทต่อไร่ เพิ่มขึ้น 2,058.8 บาทต่อไร่ หรือ 53.6% เทียบปี 2555 ขณะที่อินเดียเฉลี่ย 6,993 บาทต่อไร่ เพิ่มขึ้น 58.5% เทียบจากปี 2555 เวียดนาม 5,098 บาทต่อไร่ เพิ่มขึ้น 25.2% เทียบจากปี 2555 เมียนมา 4,574 บาทต่อไร่ เพิ่มขึ้น 45% เทียบจากปี 2555

สำหรับรายได้ชาวนาไทยลดลง 777.7 บาทต่อไร่ โดยปี 2565 มีรายได้ 3,900.3 บาทต่อไร่ น้อยกว่าในปี 2555 ที่มีรายได้ 4,678.0 บาทต่อไร่ และยิ่งหนักหนาสาหัส เพราะข้อมูลปี 2555 ชาวนายังมีเงินเหลือจากการทำนา 838.3 บาทต่อไร่ แต่ปี 2565 ขาดทุนถึง 1,998.2 บาทต่อไร่ เทียบกับอินเดีย มีรายได้ 11,115 บาทต่อไร่ เวียดนาม  8,320 บาทต่อไร่ เมียนมา 5,953 บาทต่อไร่

ที่สำคัญ ชาวนามีรายได้เพียงเพื่อเอาไปปลดหนี้ หลายรายต้องขายที่ดิน ไม่เหลือที่นาและต้องเช่าที่ทำนาแทน เจอปัญหาแหล่งน้ำไม่พร้อม ทำนาได้เพียง 1-2 ครั้ง และปล่อยร้างอีก 3-6 เดือน เปรียบเทียบกับเวียดนามทำนาได้ 3 ครั้งต่อปี

ทั้งหมดกลายเป็นว่า ชาวนาไทยยิ่งทำนา หนี้ยิ่งเพิ่ม ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ผลผลิตต่อไร่ลดลง แถมราคาขายลดลงเพราะถูกหักค่าความชื้นระหว่างทาง

ยิ่งไปกว่านั้น สภาพตลาดค้าข้าวในประเทศ แม้ผู้บริโภคปลายน้ำซื้อข้าวสารแพงขึ้น แต่ชาวนากลับไม่ได้ผลประโยชน์ใดๆ เพิ่มขึ้น

ศูนย์วิจัยกรุงศรีฯ ระบุว่า ไทยมีผลผลิตข้าวเปลือกเฉลี่ยปีละ 31-33 ล้านตัน นำไปสีเป็นข้าวสารได้ 20-22 ล้านตัน ใช้บริโภคภายในประเทศ 10-12 ล้านตัน แบ่งเป็น 1. ข้าวเพื่อใช้บริโภคโดยตรง ประมาณ 30% ผ่าน 3 ช่องทาง คือ การขายบรรจุถุง ซึ่งมีความนิยมเพิ่มขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคในชุมชนเมือง มีผู้ประกอบการเพิ่มมากขึ้น  ทั้งกลุ่มโรงสีข้าว ผู้ส่งออกและผู้ประกอบการค้าปลีกสมัยใหม่หันมาออกเฮาส์แบรนด์ เช่น เทสโก้ แม็คโคร ขายผ่านไฮเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ต

ช่องทางที่ 2 ร้านขายของชำแบบดั้งเดิมหรือการตักแบ่งขาย และช่องทางสุดท้ายผ่านออนไลน์ (E-Commerce)

กลุ่มที่ 2 ใช้เป็นวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรม มีสัดส่วน 25% แยกเป็นอุตสาหกรรมแปรรูปข้าว เช่น แป้งข้าวเจ้า แป้งข้าวเหนียว โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป เส้นก๋วยเตี๋ยว ขนมขบเคี้ยว แอลกอฮอล์ เครื่องดื่ม น้ำมันรำข้าว กับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์

กลุ่มที่ 3 ข้าวทำเมล็ดพันธุ์ มีสัดส่วน 5% และกลุ่มที่ 4 ข้าวเพื่อการส่งออก มีสัดส่วน 40% ของปริมาณผลผลิตข้าวเปลือกทั้งหมดของไทย

ดังนั้น แนวทางการยกระดับชาวนารุ่นใหม่ควรมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพข้าวและเปลี่ยนบทบาทต่อยอดการเพิ่มมูลค่ามากขึ้น

ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า หากยังใช้นโยบายประกันรายได้และนโยบายรับจำนำ ข้าวไทยจะไปไม่ได้ไกลและต้องเอางบประมาณมาช่วยชาวนาเพิ่มขึ้นทุกปี ปีละ 1 แสนล้านบาท เทียบกับรายได้ส่งออกข้าวได้ปีละ 1.3 แสนล้าน ควรเอาเงิน 1 แสนล้านบาท มาพัฒนาพันธุ์ข้าว ระบบการขนส่ง พัฒนาโรงงานปุ๋ย ระบบน้ำและชลประทานให้ชาวนา

นั่นจึงต้องหวังรัฐบาลชุดใหม่จะมีวิสัยทัศน์มากกว่าการจำนำและประกันรายได้ ซึ่งได้ประโยชน์ไม่เต็มที่และยังมีโอกาสรูรั่วเบี้ยบ้ายรายทางอีกด้วย.