วันจันทร์, พฤศจิกายน 25, 2024
Home > Cover Story > ฟื้นตำนานพม่ากุลาร้องไห้ 30 ปี พลิกท้องทุ่งหอมมะลิ

ฟื้นตำนานพม่ากุลาร้องไห้ 30 ปี พลิกท้องทุ่งหอมมะลิ

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดวิกฤตอาหารทั่วโลก องค์การสหประชาชาติจึงริเริ่มโครงการปฏิวัติเขียว ซึ่งประเทศไทยถือเป็นแหล่งอู่ข้าวอู่น้ำ คนไทยทำไร่นามาอย่างยาวนาน

ปี 2493 รัฐบาลอเมริกาส่งผู้เชี่ยวชาญ 2 คนมายังประเทศไทย เพื่อช่วยปรับปรุงพันธุ์ข้าว มีการส่งพนักงานข้าว 30 คนที่เข้าอบรมแยกย้ายไปเก็บรวบรวมตัวอย่างข้าวพันธุ์ดีจากทั่วประเทศ ศึกษาทดลองและคัดเลือกพันธุ์

เมื่อการคัดพันธุ์และปลูกทดลองข้าวหอมมะลิเป็นผลสำเร็จ คณะกรรมการพิจารณาพันธุ์จึงประกาศให้ใช้พันธุ์ข้าวหอมมะลิพันธุ์ที่ 105 ขยายพันธุ์ได้ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2502 ใช้ชื่อว่า “ขาวดอกมะลิ 4-2-105”  ซึ่ง 4 หมายถึงอำเภอที่ 4 คือ อำเภอบางคล้า 2 หมายถึงพันธุ์ข้าวที่ 2 และ 105 คือ รวงข้าวที่เลือกพันธุ์ออกมา แต่มักเรียกกันว่า ข้าวขาวดอกมะลิ 105

ปี 2502 กรมการข้าวเริ่มโครงการทำนาสาธิตแปลงใหญ่นับร้อยไร่รอบๆ ทุ่งกุลา ซึ่งขณะนั้นเป็นทุ่งร้างกว้างใหญ่ ครอบคลุมเขตรอยต่อ 5 จังหวัด คือ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ยโสธร ร้อยเอ็ด และมหาสารคาม มีหลายประเทศเข้ามาร่วมให้ความช่วยเหลือ เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย

การปลูกข้าวหอมมะลิรอบทุ่งกุลาในครั้งนั้นได้ผลผลิตดี ชาวนาแถบทุ่งกุลาจึงหันมาเพาะปลูกข้าวหอมมะลิกันมากขึ้น แต่กว่าข้าวหอมมะลิจะเต็มทุ่งกุลา 2 ล้านไร่ ต้องใช้เวลากว่า 30 ปี นับแต่ปี 2502-2536 เพราะต้องเผชิญกับสภาพมหาโหด ทั้งดินทราย รสเค็ม น้ำท่วมหนัก สภาพแห้งแล้ง อากาศหนาวเย็น และหมอกลงจัด แต่นั่นทำให้ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้มีเอกลักษณ์ด้านรสชาติและกลิ่นอันแตกต่างจากข้าวหอมมะลิในพื้นที่อื่นๆ

ขณะเดียวกันจังหวัดอื่นๆ ในภาคอีสาน เริ่มปลูกข้าวหอมมะลิเพื่อขายเพราะได้ราคาสูง ส่วนข้าวเหนียวปลูกไว้บริโภค และภาคอีสานกลายเป็นภูมิภาคที่ปลูกข้าวหอมมะลิใหญ่ที่สุด แต่คุณภาพข้าวหอมมะลิในพื้นที่อื่นสู้ทุ่งกุลาไม่ได้

ปี 2522 ประเทศไทยส่งออกข้าวหอมมะลิไปขายตลาดโลกเป็นครั้งแรก ช่วงชิงตลาดข้าวบัสมาติของอินเดียที่มีชื่อเสียงอยู่ก่อนหน้าแล้ว โดยตลาดหลักสำคัญ คือ อเมริกา จีน ยุโรป ไต้หวัน ฮ่องกง และสิงคโปร์

วันที่ 24 ตุลาคม 2540  ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ได้รับการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ถือเป็นข้าวหอมมะลิที่ดีมีคุณภาพที่สุด

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อถกเถียงเรื่องแหล่งกำเนิดของข้าวหอมมะลิ บางคนว่ามาจาก จ.ลพบุรี บ้างว่ามาจากแหลมประดู่ อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี โดยนายจรูญ ตัณฑวุฒ นำมาปลูกที่ อ.บางคล้า เมื่อปี 2488 ส่วนชื่อ “หอมมะลิ” มีผู้เล่าว่าเป็นชื่อที่นายพิศาล มูลศาสตรสาทร เมื่อครั้งเป็นผู้ว่าฯ จังหวัดสุรินทร์ ตั้งตามชื่อภรรยา คือ คุณหญิงมะลิ มูลศาสตรสาทร

สำหรับทุ่งกุลาร้องไห้เดิมชื่อ ทุ่งหมาหลง หรือทุ่งป่าหลาน มีตำนานพื้นบ้านเล่าต่อๆ กันมาว่า เมื่อหลายร้อยปี พื้นที่แห่งนี้มีพ่อค้าหาบสินค้าเที่ยวขายไปตามหมู่บ้านเป็นประจำ โดยเฉพาะพ่อค้าพม่าเผ่ากุลา รวมกลุ่ม 20-30 คนเร่ขายสีย้อมผ้า เข็ม เสื้อผ้า ยาสมุนไพร เครื่องถมสานด้วยไม้ไผ่ทารักลงสี

ครั้งหนึ่งมีกุลาเที่ยวเร่ขายของจากจังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ เรื่อยมาจนถึงสุรินทร์พอมาถึงอำเภอท่าตูม พวกเขาซื้อครั่งจำนวนมากเพื่อนำไปขายต่อ พอหาบครั่งข้ามแม่น้ำมูลได้สักหน่อยมาเจอท้องทุ่งอันกว้างใหญ่ ตั้งใจจะเดินตัดทุ่งไปเมืองป่าหลาน หรืออำเภอพยัคฆภูมิพิสัย เมืองมหาสารคาม ขอนแก่น อุดรธานี ขึ้นเหนือไปเรื่อย ๆ

ทว่า พ่อค้ากลุ่มนี้ไม่เคยเดินผ่านทุ่งกว้างใหญ่มาก่อน ไม่รู้ระยะทาง เล่าว่ามองเห็นเมืองป่าหลานอยู่ไม่ไกล แต่เดินทางอยู่นานไม่ถึงสักที เหนื่อยแสนสาหัสและเป็นช่วงฤดูแล้งด้วย ไม่มีแหล่งน้ำดื่ม ครั่งที่หาบมาจะทิ้งก็เสียดาย จึงพากันโอดครวญและคิดว่าคงต้องเอาชีวิตมาตายแน่ๆ ร้องไห้หนักตามๆ กัน ร้องไห้ไป พักไป เดินทางต่อไป ครั่งที่หาบมาหนักมาก จึงตัดสินใจเท “ครั่งน้อย” หรือเศษครั่งที่แยกตัวขายได้ราคาไม่ดี ซึ่งจุดที่ทิ้งครั่งน้อย ต่อมากลายเป็นหมู่บ้านชื่อ “บ้านดงครั่งน้อย” อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด

พวกกุลาเดินต่อไปจนถึงกลางทุ่งจึงตัดสินใจเทครั่งใหญ่ หรือครั่งที่ยังไม่แยกตัว คงเหลือแต่อาหารเท่านั้น ซึ่งเล่ากันอีกว่า บริเวณนี้กลายเป็นหมู่บ้านชื่อ “บ้านดงครั่งใหญ่” อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด

ในที่สุด เหล่าพ่อค้าเร่เดินทางพ้นทุ่งเข้าสู่หมู่บ้าน แต่กลับไม่เหลือสินค้าขายให้ชาวบ้าน เสียใจและเสียดายสินค้าที่เททิ้งกลางทุ่ง พากันร้องไห้อีก กลายเป็นชื่อเรียกท้องทุ่งอันกว้างใหญ่ไพศาลนี้ว่า ทุ่งกุลาร้องไห้

วงการภาพยนตร์ไทยมีการสร้างหนังอ้างถึงตำนานของทุ่งกุลาร้องไห้เมื่อปี 2524 เล่าเรื่องราวของคณะชนกลุ่มน้อยเชื้อสายกุลาที่เดินทางมาค้าขายในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง พวกเขาต้องต่อสู้ดิ้นรนกับการไม่ได้รับการยอมรับจากคนในหมู่บ้าน ความแห้งแล้งของธรรมชาติ รวมทั้งนายทุนที่หวังเข้ามายึดครองพื้นที่ กำกับโดย กฤษณพงษ์ นาคธน นำแสดงโดย ปิยะ ตระกูลราษฎร์ และสุพรรษา เนื่องภิรมย์

ปัจจุบันทุ่งกุลาร้องไห้ไม่ใช่ภาพผืนดินแห้งแตก แต่เต็มไปด้วยทุ่งนาเขียวขจี พืชพรรณธัญญาหาร มีถนน อ่างเก็บน้ำผันน้ำเข้าคลองย่อย เรียกขานชื่อใหม่ว่า ทุ่งกุลาสดใส และถือเป็นแหล่งข้าวหอมมะลิคุณภาพดีเลิศของไทยด้วย.