นับตั้งแต่สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดในประเทศไทยคลี่คลาย ภาพรวมของตลาดชอปปิ้งออนไลน์ที่เคยมีมูลค่าลดลงในช่วงวิกฤต กลับมีทิศทางที่สดใสมากยิ่งขึ้น ปัจจัยหลักมาจากการเปิดประเทศ การเดินทางระหว่างประเทศ ภาคการผลิต ที่กลับสู่ภาวะปกติส่งผลเป็นแรงบวกสำคัญต่อตลาดนี้
ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS เปิดเผยผลการวิเคราะห์ข้อมูลตลาดอีคอมเมิร์ซ ของไทยว่า ปัจจุบันคนไทยมากกว่าครึ่งมีการซื้อหรือเคยซื้อสินค้า/บริการผ่านตลาดอีคอมเมิร์ซ โดยในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาจำนวนผู้ใช้งานสูงขึ้นจาก 30.7 ล้านคนในปี 2562 มาอยู่ที่ 41.5 ล้านคนในปี 2566 แรงผลักดันหลักมาจากการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลจาก eCommerce-Thailand ชี้ว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซยังคงได้รับความนิยมจากคนไทยอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้า/บริการผ่านตลาดอีคอมเมิร์ซ ที่สูงขึ้นเกือบสามเท่าตัวจากปีละ 2,970 บาทต่อคนในปี 2562 ขึ้นมาอยู่ที่ 8,840 บาทต่อคนในปี 2566
มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซของไทยในปี 2565 มีมูลค่ากว่า 6.2 แสนล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องปีละ 6% และอาจแตะที่ 6.34-6.94 แสนล้านบาท ในปี 2566-2567
อีกด้านของตลาดอีคอมเมิร์ซในไทยที่น่าสนใจคือ สินค้านำเข้าจากจีนเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มผู้บริโภคไทย เนื่องจากมีราคาถูก สินค้ามีความหลากหลาย ตอบโจทย์การใช้งาน รวมถึงรีวิวสินค้าที่มีจำนวนไม่น้อย สินค้าจากจีนที่ขายในตลาดอีคอมเมิร์ซ ปัจจุบันการนำเข้ามี 2 รูปแบบ คือ ผู้ประกอบการไทยเป็นผู้นำเข้าเพื่อสต๊อกไว้จำหน่าย และสั่งโดยตรงจากผู้ขายที่อยู่ในประเทศจีน
ความนิยมในสินค้าจีนเมื่อมีมากขึ้นส่งผลให้ผู้ประกอบการชาวจีนเริ่มมองเห็นทิศทางเป็นบวกของตลาดอีคอมเมิร์ซ ไทย และหันมาลงทุนเช่าพื้นที่โกดังสำหรับสต๊อกสินค้าไว้จำหน่าย ซึ่งทำให้ไม่ต้องใช้เวลาในการขนส่งมากนัก แน่นอนว่านี่กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการไทย ที่ทำธุรกิจนำเข้าสินค้าจากจีนด้วยเช่นกัน นั่นเพราะผู้ประกอบการไทยในธุรกิจนำเข้าเสียเปรียบในด้านภาษี เพราะดูเหมือนว่ารัฐบาลจีนจะมีการสนับสนุนค่าขนส่งบางส่ววนให้แก่ผู้ประกอบการจีนที่มีการส่งออกสินค้า ทำให้ค่าขนส่งไม่แพงมาก ซึ่งมีผลต่อต้นทุนราคาสินค้าโดยตรง
นี่เป็นหนึ่งเหตุผลที่ผู้ประกอบการในธุรกิจอีคอมเมิร์ซไทยจะต้องรับมือ หากจะต่อสู้ในอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าตลาดสูงหลายแสนล้านบาท ที่แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไม่คาดฝัน แต่เป็นธุรกิจที่สามารถกลับมายืนระยะได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า สินค้าที่คาดว่าจะยังคงมีแนวโน้มใช้จ่ายเพิ่มขึ้นบนช่องทางอีคอมเมิร์ซ ได้แก่ กลุ่มสินค้าจำเป็นอย่างพวกอาหารสด อาหารแห้งและเครื่องดื่ม รวมถึงของใช้ส่วนตัว จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในยุค New normal ขณะที่กลุ่มสินค้าแฟชั่น สินค้าเพื่อสุขภาพและความงาม การใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์อาจจะไม่ได้ขยับเพิ่มขึ้นเร็ว เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นรองลงมาในภาวะที่กำลังซื้อของผู้บริโภคมีจำกัดและต้องเลือกใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น ทั้งนี้ โดยรวมแล้วศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ส่วนแบ่งตลาดของธุรกิจ B2C อีคอมเมิร์ซ ในทุกหมวดสินค้าน่าจะขยับเพิ่มขึ้นจาก 8.5% ในปี 2562 (ก่อนเกิดโควิด-19) เป็น 16.0% ในปี 2566 เมื่อเทียบกับมูลค่าตลาดค้าปลีกสินค้ารวมท้ังหมด
ภายใต้สถานการณ์กำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังเปราะบางหรือมีจำกัด ธุรกิจจึงต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การบริหารจัดการตลอด Supply chain ตั้งแต่การคัดสรรสินค้าที่มีคุณภาพและตอบโจทย์ลูกค้า ช่องทางการขายที่หลากหลาย รวมถึงการใส่ใจในการให้บริการลูกค้าที่ดีสม่ำเสมอ จะเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างหรือรักษายอดขาย ท่ามกลางกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึงและมีทางเลือกค่อนข้างมาก
สินค้าที่ผู้บริโภคซื้อผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซ เพิ่มมากขึ้นในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา มีด้วยกัน 3 หมวด ได้แก่ 1. หมวด Personal & Household Care ซึ่งครอบคลุมสินค้าในหมวด Beauty และ Health เช่น ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม เครื่องสำอาง วิตามิน อาหารเสริม และผลิตภัณฑ์สำหรับทำความสะอาดครัวเรือน ซึ่งมีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้นจาก 36,000 ล้านบาทในปี 2562 มาอยู่ที่ 139,000 ล้านบาทในปี 2565 โดยมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นจาก 17% เป็น 22% ในช่วงเวลาเดียวกัน
2. สินค้าหมวดเครื่องดื่ม ที่มีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้นจากราว 22,000 ล้านบาท มาอยู่ที่ 126,000 ล้านบาทในช่วงปี 2562-2566 คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดที่มากขึ้น 2 เท่าเป็น 20% ในปี 2566 และ 3. หมวดอาหาร ที่มียอดขายเพิ่มขึ้นจาก 11,500 ล้านบาท ในปี 2562 ขึ้นมาอยู่ที่ 55,000 ล้านบาทในปี 2566 โดยมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นจาก 6% เป็น 9% ในช่วงเวลาเดียวกัน ส่วนหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า พบว่าแม้จะมียอดขายที่เพิ่มขึ้นตามตลาดอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่ขึ้น แต่กลับมีส่วนแบ่งตลาดในช่วง 5 ปีหลัง ที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญถึง 18%
สถานการณ์ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยที่เริ่มมีผู้เล่นจากประเทศมหาอำนาจจากจีนเข้ามาเป็นหนึ่งในผู้ค้าทั้งปลีกและส่ง ส่งผลต่อผู้ประกอบการไทยในหลายมิติ ทั้งในแง่มุมของผู้ประกอบการในธุรกิจนำเข้าที่เสียเปรียบในด้านภาษี จากการขยายตลาดของนักลงทุนจากจีน การมีแพลตฟอร์มที่มากขึ้นส่งผลต่อการแข่งขันโดยตรง ทั้ง Facebook, Line, Tiktok นอกเหนือจากแพลตฟอร์มเดิมอย่าง Lazada และ Shopee
การเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซ อาจเป็นอีกหนึ่งหนทางที่สำคัญในการสู้ศึกครั้งนี้ ECOM Thailand Conference 2023 the next level ที่จะถูกจัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของ ECOM Thailand, GDK และ 2T Multimedia นำเสนอสิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ความรู้ในการทำธุรกิจ ปัญหาและแนวทางการแก้ไขในการทำตลาดอีคอมเมิร์ซ
เนตรประวีณ์ ศักดิ์ศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทูที มัลติมีเดียแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด กล่าวว่า เวลานี้เรากลับมาเปิดประเทศกันอย่างจริงจัง การฟื้นตัวด้านอีคอมเมิร์ซคาดว่าจะกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง ทั้งยังมีแรงบวกของโมเมนตัมที่ทุกธุรกิจเข้าสู่อีคอมเมิร์ซอย่างเต็มรูปแบบในช่วงหลังโควิดช่วงผลักดัน เชื่อแน่ว่าอีคอมเมิร์ซของไทยจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดอีกครั้งแน่นอน
ไทยยังคงเป็นตลาดสำคัญในการทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซ แต่ผู้ค้าไทยอาจไม่ใช่ผู้เล่นหลักในอนาคต หากยังมีนักลงทุนจากต่างชาติเข้ามาแย่งส่วนแบ่งในตลาดมากขึ้น แม้ในด้านหนึ่งอาจเป็นการสร้างความหลากหลายในตลาดด้วยสินค้าที่มีมากขึ้น แต่นั่นยังต้องกังวลว่าสินค้าจากต่างชาติอาจยังไม่ผ่านมาตรฐานที่สำคัญของภาครัฐของไทย ซึ่งจะส่งผลร้ายต่อระบบการซื้อขาย และเป็นอันตรายต่อผู้ใช้งาน นั่นเป็นอีกหนึ่งหน้าที่ที่ภาครัฐต้องเข้ามาควบคุมดูแล
แต่เชื่อว่าตลาดอีคอมเมิร์ซ ยังมีทิศทางการเติบโตที่น่าสนใจอยู่ ด้วยมูลค่าที่สูงหลายแสนล้านบาทซึ่งมีผู้เล่นจำนวนมากต้องการที่จะเข้ามาชิมลาง.