วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > 39 ปี แสนสิริ พลิก 1 ล้าน สู่แสนล้าน

39 ปี แสนสิริ พลิก 1 ล้าน สู่แสนล้าน

28 กันยายน 2527 จุดเริ่มต้นของอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ “แสนสิริ” เมื่อกลุ่มจูตระกูลจดทะเบียนก่อตั้งบริษัท แสนสราญ โฮลดิ้ง จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 1 ล้านบาท

ปี 2531 หลังวางยุทธศาสตร์นานกว่า 4 ปี บริษัท แสนสำราญ บุกเข้าสู่ธุรกิจเรียลเอสเตท ปลุกปั้นโครงการแรก คือ “บ้านไข่มุก” คอนโดมิเนียมตากอากาศริมหาดหัวหิน มีมูลค่าต้นทุน 250 ล้านบาท และประสบความสำเร็จกลายเป็นผู้เล่นใหม่ในฐานะผู้พัฒนาโครงการในตลาดระดับสูง ภายใต้การบริหารของ 2 บิ๊กเนม คือ อภิชาติ จูตระกูล และเศรษฐา ทวีสิน

คนแรกเป็นลูกชายคนที่ 2 ของชนาทิพย์ น้องสาวของบัญชา ล่ำซำ ที่แต่งงานกับโชติ จูตระกูล ส่วนคนหลัง คือ ลูกโทนของชดช้อย จูตระกูล ซึ่งแต่งงานกับอำนวย ทวีสิน

ปี 2536 แสนสำราญ โฮลดิ้ง ผุดโครงการอาคารพักอาศัยระดับแฟลกชิป “บ้านแสนสิริ” ในซอยมหาดเล็กหลวง 2 ถนนราชดำริ ใช้เงินลงทุน 615 ล้านบาท

ปี 2537 กลุ่มล่ำซำเข้ามาถือหุ้น 50% ของทุนจดทะเบียนของ แสนสำราญ โฮลดิ้ง เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท แสนสิริ จำกัด

วันที่ 22 พฤศจิกายน 2538 บริษัทจดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) และเพิ่มทุนจดทะเบียนอีก 100 ล้านบาท รวมเป็นทุนจดทะเบียนทั้งสิ้น 645.5 ล้านบาท

ปี 2539 หุ้นสามัญของบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เริ่มซื้อขายหุ้น SIRI ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2539 พร้อมตั้งบริษัทในเครือ “พลัส พร็อพเพอร์ตี้” ให้บริการด้านบริหารจัดการโครงการอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจนายหน้าซื้อขายอสังหาริมทรัพย์

กระทั่งปี 2540 ประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียเผชิญกับพิษเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุด หรือวิกฤต ต้มยำกุ้ง ในยุครัฐบาล พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ประกาศลอยตัวค่าเงินบาทในวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวจากประมาณ 25.60 บาท เป็น 28.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในเวลาเพียง 24 ชั่วโมง และอ่อนลงเรื่อยๆ เคยตกลงถึง 55 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ

วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนั้นทำให้ธุรกิจเอกชน เช่น บริษัทบ้านจัดสรร อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมผลิตวัสดุก่อสร้าง สถาบันการเงิน ธนาคาร ธุรกิจการพิมพ์การโฆษณา ถูกกระทบอย่างรุนแรงเพราะยอดหนี้พุ่งสูงขึ้นหลายเท่า หลายแห่งต้องปิดกิจการ เลิกจ้างพนักงาน ขณะที่แสนสิริตัดสินใจเทขายโครงการทั้งหมดออกสู่ตลาด เพื่อเร่งระดมเงินชำระหนี้ทั้งหมด

ปี 2543 บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กลายเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาฯ อันดับต้นๆ ที่ปรับโครงสร้างหนี้เสร็จสิ้นภายหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง พร้อมกับเร่งขยายแผนธุรกิจครั้งใหญ่จากเดิมเน้นการพัฒนาอาคารสูงในเขตใจกลางเมืองสู่การพัฒนาที่ดินแนวราบ ได้แก่ โครงการบ้านจัดสรร โดยขยายโครงการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ปี 2544 เปิดตัวโครงการบ้านเดี่ยวแห่งแรก “นาราสิริ วัชรพล”

ปี 2545-2546 ลงทุนเพิ่มขึ้นในธุรกิจโรงแรม อพาร์ตเมนต์ และอาคารพาณิชย์ให้เช่า บริเวณใจกลางย่านธุรกิจสำคัญ ทั้งการลงทุนโดยตรง การเข้าถือหุ้นและร่วมทุนกับพันธมิตรทางธุรกิจ

ช่วงปี 2553 บริษัท ที.เอส.สตาร์ จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจ Holding Company ของนายเศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ได้ซื้อหุ้นจากกองทุนต่างชาติ ทั้งสิ้น 318,174,400 ล้านหุ้น เพื่อเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในแสนสิริจากเดิม 2.52% เพิ่มขึ้นเป็น 24.10% ของทุนที่เรียกชำระแล้ว ส่งผลให้กลุ่มนายเศรษฐาขึ้นแท่นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับแรกของแสนสิริ มีผลตั้งแต่เดือนเมษายน 2553

ปี 2556 เปิดตัว ESCAPE, Sansiri Hotel Collection แบรนด์ดีไซน์รีสอร์ตระดับกลางที่หัวหินและเขาใหญ่

ปี 2557 จัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับ บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ เพื่อพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมตามแนวรถไฟฟ้า

ปี 2559 เปิดตัวโครงการแฟลกชิปคอนโดมิเนียม ‘98 ไวร์เลส’ บนถนนวิทยุ มูลค่ากว่า 8,500 ล้านบาท

ปี 2560 ตั้งบริษัทร่วมทุนร่วมกับบริษัท โตคิว คอร์ปอเรชั่น จำกัด เพื่อพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมและพัฒนา Community ร่วมกัน รวมทั้งร่วมทุนกับธนาคารไทยพาณิชย์ ก่อตั้ง Venture Capital ในชื่อ บริษัท สิริ เวนเจอร์ จำกัด มีสัดส่วนการถือหุ้นระหว่างแสนสิริกับธนาคารไทยพาณิชย์ 90:10 ทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท เพื่อลงทุนพัฒนานวัตกรรมด้านอสังหาริมทรัพย์เพื่ออนาคต และการใช้ชีวิตในที่อยู่อาศัย “พร็อพเพอร์ตี้ เทคโนโลยี” (Property Technology) อย่างเต็มรูปแบบรายแรกของไทย

ปีเดียวกันยังลงทุน 6 ธุรกิจด้านเทคโนโลยีและไลฟ์ไตล์ เพื่อสร้างพันธมิตรธุรกิจที่หลากหลายและเป็นแหล่งรายได้ใหม่ ประกอบด้วย Standard International, One Night, Hostmaker, Justco, Farmshelf และ Monocle

ปี 2561 เปิดตัว Sansiri Backyard เนื้อที่กว่า 20 ไร่ในโครงการ T77 ย่านสุขุมวิท ชูไอเดีย Green & Well-being เป็นอาวุธด้านการตลาดฉีกคู่แข่งและดึงพันธมิตร Passion เดียวกันเข้ามาร่วมสร้างอาณาจักร The Co-Growing Community for Sustainable Urban Living

ปี 2562 ลงทุนเพิ่มใน Standard International กว่า 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของแบรนด์โรงแรมระดับโลก โดยถือหุ้นกว่า 60% เพื่อสร้างรายได้และการเติบโต นอกเหนือจากธุรกิจหลักอสังหาริมทรัพย์

ปี 2564 ตั้งบริษัท บีเอฟทีแซด บางปะกง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนสัดส่วน 50:50 ร่วมกับบริษัท พรอสเพค ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด เพื่อประกอบธุรกิจพัฒนาพื้นที่และธุรกิจประเภทกิจการคลังสินค้าและอาคารโรงงานให้เช่า รวมถึงพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกและธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้อง นอกจากนั้น เข้าลงทุนใน บมจ. เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล (XPG) สร้างความร่วมมือด้านสกุลเงินดิจิทัล เช่น การใช้คริปโทซื้อบ้าน คอนโด จ่ายค่าส่วนกลางได้ทุกโครงการ

เดือนตุลาคม 2565 ตั้งบริษัทร่วมทุนแห่งใหม่กับโตคิว คอร์ปอเรชั่น คือ บริษัท สิริทีเค ไฟว์ จำกัด ทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท สัดส่วนการถือหุ้น 70:30 เพื่อประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และต่อมาเข้าซื้อหุ้นสามัญสัดส่วน 30% เปลี่ยนสภาพเป็นบริษัทย่อยในเครือ

วันที่ 1 มีนาคม 2566 เศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) แถลงว่า ปี 2565 บริษัทปิดยอดขายรวม 50,000 ล้านบาท โตขึ้นเกือบ 50% จากปีก่อนหน้า และมีรายได้รวม 34,983 ล้านบาท โดยมีกำไรสุทธิสูงถึง 4,280 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 112% เป็นบริษัทที่มีอัตราการเติบโตด้านกำไรสูงที่สุดในอุตสาหกรรมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

อย่างไรก็ตาม การเข้าสู่เส้นทางการเมืองทำให้เศรษฐาตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ รวมทั้งทุกตำแหน่งในฐานะกรรมการบริษัทและกรรมการชุดย่อยของบริษัท ได้แก่ ประธานกรรมการบริหาร รองประธานกรรมการลงทุน กรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืน มีผลตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2566

ส่วนบริษัทแสนสิริยังเดินหน้าตามแผนและมั่นใจตัวเลขกำไรปีนี้จะเติบโตทะลุ 40-50% เป็นผลจากการบันทึกรายได้จากการขายที่สูงขึ้นจากโครงการระดับลักชัวรีที่มีการโอนต่อเนื่อง ทั้งนาราสิริ กรุงเทพกรีฑา คอนโดมิเนียม XT พญาไท นาราสิริ พหล-วัชรพล บูก้าน 3 โครงการ ทั้งกรุงเทพกรีฑา พัฒนาการและเหม่งจ๋าย รวมถึงยอดโอนจากบ้านเดี่ยวแบรนด์เศรษฐสิริ 10 โครงการใหม่ และมีแผนเตรียมเปิดตัวคอนโดฯ “NIA by Sansiri” ในเดือนกันยายนนี้

ล่าสุด รายงานยอดขายครึ่งปีแรก 25,000 ล้านบาท เติบโตขึ้นถึง 37% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และคาดปิดปีนี้จะทะลุ 55,000 บาท ทำนิวไฮต่อเนื่อง มีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 134,734.07 ล้านบาท พลิกจากเงินทุนก้อนแรกเมื่อ 39 ปีก่อน เพียง 1 ล้านบาทเท่านั้น.