“ขนส่งพัสดุและไปรษณีย์” เป็นหนึ่งธุรกิจแฟรนไชส์ยอดนิยมไม่แพ้ร้านสะดวกซื้อ จากการเติบโตของอีคอมเมิร์ซและการขายของออนไลน์ รวมถึงแฟรนไชส์ร้านสารพัดบริการ One Stop Service มีตั้งแต่ไปรษณีย์เอกชน รับส่งพัสดุ จ่ายบิลออนไลน์ ค่าน้ำค่าไฟ บัตรเครดิต เติมเงินโอนเงิน ถ่ายรูปด่วน ถ่ายเอกสาร จองตั๋วเดินทาง ต่อภาษี ไปจนถึงทำประกัน
แน่นอนว่า ไลฟ์สไตล์ของผู้คนเน้นความสะดวกสบาย ลดการเดินทาง ทำให้แฟรนไชส์ทั้งสองรูปแบบเกิดขึ้นมากมาย เอาเฉพาะที่ Thaifranchise center รวบรวมไว้ เช่น เมล์บ็อกซ์ วินเซ็นท์เซ็นเตอร์เซอร์วิส น้องฟ้าเซอร์วิส ควิกเซอร์วิส เก้าหน้าโพสเซอร์วิส กะปุกท็อปอัพ/สยามท็อปอัพ แอร์เพย์เคาน์เตอร์ เพย์พอยท์ เซอร์วิส ชิปป์สไมล์ เซอร์วิส ซุปเปอร์เอส มายเซฟ เดอะ เลตเตอร์โพสต์ เซอร์วิส
ส่วนแฟรนไชส์ผู้ให้บริการขนส่งพัสดุอย่างเดียว เช่น แฟลชเอ็กซ์เพรส, J&T Express, ดีเอชแอล อีคอมเมิร์ซ, เบสท์ เอ็กซ์เพรส, คิวโคเวิร์คกิ้งสเปซ, วัน สต๊อป เซอร์วิส, ชิปป๊อป, ซีพลัส เอ็กซ์เพรส, แซดทีโอ ฟาสต์ชิป
ถ้าว่ากันเฉพาะบริการไปรษณีย์ แรกเริ่มเดิมทีบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) ไม่ได้เปิดขายแฟรนไชส์ จนกระทั่งบริการไปรษณีย์ได้รับความนิยมมากขึ้น และเอกชนแห่เปิดให้บริการ โดยขออนุญาตจาก ปณท รับรวบรวมสิ่งของเพื่อส่งต่อไปรษณีย์ รวมทั้งเปิดดำเนินการเองโดยไม่ได้รับอนุญาต บางรายลักไก่ขายแฟรนไชส์ด้วย ทำให้ร้านไปรษณีย์เอกชนและรับส่งพัสดุผุดขึ้นมากมายในพื้นที่ชุมชน หมู่บ้าน และย่านธุรกิจ
ในที่สุด ปณท ตัดสินใจจัดตั้งจุดให้บริการไปรษณีย์ในลักษณะให้บุคคลภายนอกที่มีความสนใจเข้ามาลงทุนและเป็นผู้รับดำเนินงานภายใต้การควบคุมและกำกับดูแล รวมทั้งจัดระบบบริหารบนมาตรฐานการให้บริการแบบเดียวกัน
สำหรับร้านไปรษณีย์ไทยให้บริการและจำหน่ายสินค้าเช่นเดียวกับที่ทำการ ปณท เช่น ส่งพัสดุ จดหมาย ธนาณัติออนไลน์ จำหน่ายแสตมป์ รับชำระค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าบัตรเครดิต รับจองตั๋วรถทัวร์ รวมถึงสินค้าไปรษณีย์ต่างๆ โดยผู้ลงทุนจะได้รับค่าตอบแทนจากการดำเนินงานทุกเดือน ซึ่งอัตราค่าตอบแทนขึ้นอยู่กับประเภทบริการและปริมาณงาน
ขณะที่เงื่อนไขแฟรนไชส์ไปรษณีย์ไทยล่าสุด คำนวณค่าธรรมเนียมแรกเข้า ค่าธรรมเนียมประจำปี เงินลงทุนและค่าตกแต่งร้าน ประมาณ 5 แสนบาท
ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่า ปณท มีเครือข่ายสาขาทุกรูปแบบรวมทั้งหมดกว่า 12,000 สาขา ทั้งเครือข่ายที่ร่วมกับพันธมิตร ร้านไปรษณีย์ ร้านไปรษณีย์อนุญาต และจุด EMS Point ซึ่งเป็นร้านค้าของประชาชน โดยเตรียมแผนเชิงรุกสาขาแฟรนไชส์ เพราะปัจจุบันใช้วิธีการดำเนินงานเชิงรับ คือ รอผู้สนใจจะเป็นเจ้าของธุรกิจติดต่อผ่านไปรษณีย์ไทย แต่ในอนาคตจะมีแผนเชิงรุกโซนนิ่งทำแบบสำรวจแต่ละพื้นที่ หาผู้สนใจและคัดเลือกสถานประกอบกิจการเองด้วย
เหตุผลสำคัญ เพราะรูปแบบการใช้ชีวิตแบบ New Normal ส่งผลให้พฤติกรรมของผู้คนเปลี่ยนไป จากเดิมซื้อของตามหน้าร้าน เปลี่ยนมาสั่งออนไลน์มากขึ้น ทำให้ยอดการใช้บริการไปรษณีย์ด่วนพิเศษ (EMS) เพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 60% และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม การเติบโตของบริการขนส่งพัสดุและการรุกเข้ามาของยักษ์ใหญ่ทำให้รูปแบบบริการขยายขอบเขตมากขึ้นตามการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซ พร้อมๆ กับสงครามการแข่งขันที่ดุเดือดร้อนแรง มีทั้งไปรษณีย์ไทยในฐานะรัฐวิสาหกิจและเจ้าตลาดเก่าแก่ ซึ่งพยายามชูความน่าเชื่อถือตามนโยบาย Zero Complaints กับบรรดาขนส่งพัสดุเอกชนยักษ์ใหญ่ทั้งในไทยและข้ามชาติ
ไม่ว่าจะเป็น Kerry Express, J&T Express, BEST EXPRESS, Ninja Van, FLASH EXPRESS, SCG EXPRESS, DHL EXPRESS, LALAMOVE, Deliveree และ Shopee Express ที่เป็นของ Shopee แพลตฟอร์ม E-commerce ขนาดใหญ่ในไทย ยังไม่รวมร้านสารพัดบริการที่รับส่งพัสดุด้วย ซึ่งทุกค่ายต่างเร่งขยายเครือข่ายสาขา ทั้งลงทุนเองและปูพรมแฟรนไชส์ บวกกลยุทธ์ตัดราคาดึงดูดกลุ่มลูกค้า ช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดที่มีมูลค่านับแสนล้านบาท
ทั้งนี้ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) ประเมินธุรกิจขนส่งพัสดุในปี 2566 มีแนวโน้มเติบโต 18% มูลค่ารวมไม่น้อยกว่า 1.15 แสนล้านบาท ตามการเติบโตของตลาด E-Commerce เทียบกับช่วงปี 2561-2562 ธุรกิจขนส่งพัสดุมีมูลค่าในตลาดเพียง 4.6 หมื่นล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 15% ต่อปี
จุดเปลี่ยนสำคัญอยู่ในช่วงปี 2563-2564 เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตลาดเติบโตสูงกว่า 30% มูลค่าเม็ดเงินพุ่งพรวดเป็น 7 หมื่นล้านบาทต่อปี ผู้ประกอบการหลายรายเข้ามาลงทุน เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่หันมาใช้บริการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มธุรกิจขนส่งพัสดุดั้งเดิม มีส่วนแบ่งตลาด 75% ลดลงจาก 93% ในปี 2561 และกลุ่มธุรกิจขนส่งพัสดุที่ต่อยอดมาจากธุรกิจ E-Commerce มีส่วนแบ่งตลาด 25% เพิ่มจาก 7% ในปี 2561
ปี 2565 แม้การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ธุรกิจขนส่งพัสดุยังมีแนวโน้มเติบโตดี มีมูลค่าในตลาดราว 9.6 หมื่นล้านบาท เพราะผู้คนคุ้นชินกับการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์
Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ชี้ 4 เทรนด์การให้บริการขนส่งที่กำลังเติบโตและเป็นสงครามต่อสู้ของผู้ประกอบการขนส่งพัสดุ ประกอบด้วยเทรนด์การให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ รองรับการซื้อสินค้า E-commerce ข้ามพรมแดน ทั้งการขนส่งสินค้าขาเข้ามายังไทย และการขนส่งสินค้าขาออกไปต่างประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อาเซียน
เทรนด์การให้บริการขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ (Bulky) หรือแบบไม่เต็มคันรถ (Less than Truckload: LTL) เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ อุปกรณ์ออกกำลังกาย ของใช้สัตว์เลี้ยง เฟอร์นิเจอร์ ต้นไม้ รองรับเทรนด์การซื้อสินค้าผ่าน online platform ซึ่งผู้ประกอบการรายใหญ่หลายรายต่างเปิดให้บริการรองรับสินค้าในกลุ่มนี้แล้ว เช่น Shopee Express Bulky, DHL Bulky, Best big parcel, Flash bulky, Kerry XL
เทรนด์การบริการโลจิสติกส์แบบครบวงจรตั้งแต่ขั้นตอนบริการจัดเก็บสินค้าที่คลังสินค้า บริการแพ็กสินค้า จนถึงบริการขนส่งไปยังผู้บริโภค เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ขายออนไลน์
สุดท้าย คือเทรนด์การให้บริการขนส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิแบบด่วน สินค้าแช่เย็นแช่แข็ง เช่น อาหารสด อาหารทะเล ผักผลไม้ รองรับเทรนด์การขายสินค้าจากแหล่งผลิตผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียที่เพิ่มสูงขึ้น เพื่อยืนยันถึงมือลูกค้าแบบสดจริงๆ.
ไปรษณีย์ยอดนิยม เงินลงทุนไม่ธรรมดา
Thaifranchise center รวบรวมแฟรนไชส์ไปรษณีย์เอกชน รับส่งพัสดุ ร้านสารพัดบริการที่มีผู้สนใจค้นหามากเป็นอันดับต้นๆ
๐ ดีเอชแอล อีคอมเมิร์ซ ค่าสิทธิ์ 1,000 บาทต่อเดือน ไม่รวมงบลงทุนร้าน สัญญา 1 ปี
๐ เคอรี่ เอ็กซ์เพรส เป็นตัวแทนรับ-ส่งพัสดุ เงินลงทุนเริ่มต้น 2,000 บาท ไม่รวมค่าลงทุนร้าน
๐ เจแอนด์ที เจแอนด์ที โฮม คิดค่าเช่าระบบ 2,000 บาทต่อเดือน
๐ แฟลชเอ็กซ์เพรส งบเริ่มต้น 13,000 บาท พร้อมเซตอุปกรณ์เปิดร้าน
๐ เบสท์เอ็กซ์เพรส ค่าแฟรนไชส์ 1 แสนบาท ลงทุน 1.5 แสนบาท เงินประกัน 1 แสนบาท
๐ เดอะ เลตเตอร์โพสต์ เซอร์วิส ค่าแฟรนไชส์ 1,990 บาท ลงทุน 250,000 บาท ระยะสัญญา 1 ปี
๐ ชิปป์สไมล์ เซอร์วิส ค่าแฟรนไชส์ 1,990 บาท ลงทุน 99,999 บาท ระยะสัญญา 2 ปี
๐ ซุปเปอร์เอส ค่าแฟรนไชส์ 89,000 บาท สัญญา 5 ปี ค่ารอยัลตี้ฟี 5,000 บาทต่อปี ค่ามาร์เก็ตติ้งฟี 2,500 บาทต่อปี
๐ ควิก เซอร์วิส ค่าแฟรนไชส์และงบลงทุน 175,000-235,000 บาท
๐ น้องฟ้า เซอร์วิส ค่าแฟรนไชส์ 6,999 บาท
๐ วินเซ็นท์ เซ็นเตอร์เซอร์วิส ค่าแฟรนไชส์ 195,000 บาท
๐ เมล์บ็อกซ์ ค่าแฟรนไชส์และงบลงทุน 250,000-400,000 บาท