วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Recreation > From Paris > อันเกี่ยวเนื่องด้วยหลุยส์ 16

อันเกี่ยวเนื่องด้วยหลุยส์ 16

 

Societe des amis de Versailles เป็นกลุ่มชาวอเมริกันที่ชื่นชอบพระราชวังแวร์ซายส์ (Versailles) มักระดมทุนเพื่อช่วยบูรณะพระราชวังแห่งนี้ ล่าสุดสนับสนุนการเงินเพื่อซ่อมแซมห้องน้ำของพระนางมารี-อองตัวแนต (Marie-Antoinette) มเหสีในกษัตริย์หลุยส์ 16 (Louis 16)

ห้องน้ำนี้อยู่ในส่วนที่เป็นอพาร์ตเมนต์ส่วนตัว ประกอบด้วยโคมระย้า อ่างอาบน้ำ อ่างล้างเท้าที่ทำด้วยพอร์ซเลนเมืองแซฟวร์ (Sevres) และเตียงเล็กสำหรับนอนพักผ่อน นี่เป็นภาพที่คิดกันเอาเองว่าน่าจะเป็นอย่างนั้น เพราะไม่เคยมีภาพเขียนของห้องน้ำนี้ให้ชนรุ่นหลังศึกษา

โครงการบูรณะห้องน้ำมารี-อองตัวแนตเริ่มในทศวรรษ 1980 โดยชมรมผู้รักแวร์ซายส์และชมรมผู้รักแวร์ซายส์แห่งยุโรปให้ความสนับสนุนทางการเงิน มีการศึกษาห้องน้ำอื่นๆ ในพระราชวังแวร์ซายส์ แล้วค้นหาส่วนประกอบของห้องจากเครื่องเรือนโบราณที่เป็นสมบัติของรัฐ Mobilier national พบว่าอ่างอาบน้ำในแวร์ซายส์ทุกใบถูกขายทอดตลาดในช่วงปฏิวัติ อ่างที่นำมาประกอบในห้องน้ำมารี-อองตัวแนตเป็นอ่างทองเหลืองที่ไปซื้อมาจากร้านขายของเก่า เตียงเล็กสำหรับนอนพักเพื่อให้น้ำและเหงื่อไหลออกมาจากร่างกายให้หมดก่อน นำมาจากปราสาทกงปิแอญ (chateau de Compiegne) ก๊อกน้ำทองเหลืองได้มาจากห้องเก็บของของแวร์ซายส์นี่เอง และอ่างล้างเท้าพอร์ซเลนเมืองแซฟวร์ได้มาจากพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ (Louvre) เพื่อให้ห้องน้ำดูสวย จึงมีการสร้างหุ่นในเครื่องแต่งกายสวย

ชีวิตในพระราชวังแวร์ซายส์ไม่น่าจะมีอนามัยที่ดี หาห้องส้วมไม่มี นัยว่ากษัตริย์หลุยส์ 14 ไม่เคยอาบน้ำ ได้แต่เช็ด ตัวด้วยแอลกอฮอล์ พวกผู้หญิงไม่เคยสระผมเพราะกลัวน้ำจะชะล้างมันสมองไปด้วยเหตุนี้จึงต้องชะโลมด้วยน้ำหอมเพื่อกลบกลิ่นเหม็น ต่อเมื่อถึงยุคกษัตริย์หลุยส์ 15 จึงมีการติดตั้งระบบทำน้ำร้อนและอ่างอาบน้ำ 2 อ่าง อ่างหนึ่งสำหรับชำระล้าง อีกอ่างหนึ่งสำหรับล้างคราบไคลให้สะอาด

แม้กาลเวลาจะล่วงเลยไปเนิ่นนาน แต่เรื่องราวของมารี-อองตัวแนตและหลุยส์ 16 มีการพูดถึงอยู่เนืองๆ

หลุยส์ 16 ไม่เคยคาดคิดว่าจะได้ขึ้นครองราชย์ พรหมลิขิตบันดาลให้พระราชบิดาและพระเชษฐาสิ้นพระชนม์เสียก่อน เป็นกษัตริย์ที่ไม่อยากเป็นกษัตริย์ด้วยเห็นว่าภาระยิ่งใหญ่เกินตัว

หลุยส์ 16 เป็นหลานปู่ของหลุยส์ 15 ขึ้นครองราชย์ขณะอายุ 19 ปีในยุคที่เงินคงคลังร่อยหรอเพราะเพิ่งแพ้สงคราม 7 ปี จำต้อง กู้ฐานะของรัฐด้วยการตัดค่าใช้จ่าย และการจัดเก็บภาษีอย่างเท่าเทียม และการปฏิรูปการเมือง แต่ไม่เคยสำเร็จเพราะสภาซึ่งประกอบด้วยขุนนางและอภิสิทธิ์ชนไม่ยอมรับการปฏิรูปที่กระทบผลประโยชน์ของตน อัครมหาเสนาบดีของหลุยส์ 16 เปลี่ยนคนแล้วคนเล่า นักประวัติศาสตร์บางคนเห็นว่าเพราะหลุยส์ 16 ไม่กล้าให้ความสนับสนุนอย่างเต็มที่แก่รัฐบาลของพระองค์ ไม่กล้าใช้ความเด็ดขาดในการแก้ไขปัญหาของประเทศ เพราะเกรงจะถูกตราหน้าว่าเป็นทรราชย์ หลุยส์ 16 จึงเป็นกษัตริย์ที่ไม่ได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจากขุนนางและราษฎร ปัญหาของประเทศสั่งสมรอคอยการระเบิด อย่างไรก็ตามหลุยส์ 16 ได้ยกเลิกการทรมาน เลิกทาสที่ติดมากับที่ดินหลวง ผ่อนปรนให้พวกโปรเตสแตนต์ประกอบพิธีศาสนาตามความเชื่อของตนได้

หลุยส์ 16 พัฒนากองทัพเรือสนับ สนุนการเดินทางรอบโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งขบวนเรือของฌอง-ฟรองซัวส์ เดอ ลา เปรูซ (Jean-Fran”ois de la Perouse) ซึ่งเมื่อออกปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมาย ก็เงียบหายไปกับเกลียวคลื่น หลุยส์ 16 เป็นห่วง แม้เมื่อจะสู่แดนประหารแล้วยังถามข่าวคราวของนักเดินเรือผู้นี้ ให้ความสนับสนุนทางการเงินชาวอเมริกันที่ลุกฮือต่อต้านอังกฤษในขณะที่ฝรั่งเศสประสบปัญหาเศรษฐกิจ

ความยากจนของราษฎร

ในขณะที่ราชสำนักใช้ชีวิตหรูหรา ทำให้ราษฎรลุกฮือเข้ายึดคุกบาส-ตีล (Bastille) ซึ่งเป็นที่คุมขังนักโทษการเมืองในวันที่ 14 กรกฎาคม 1789 หลุยส์ 16 เดินทางไปปารีสเอง ประกาศยกเลิกอภิสิทธิ์และประกาศกฎบัติสิทธิมนุษยชน ทว่ากว่าจะลงนามก็เนิ่นนาน ผู้หญิงปารีสจึงเดินเท้ามุ่งสู่แวร์ซายส์ เรียกร้องให้ราชสำนักย้ายไปอยู่พระราชวังตุยเลอรีส์ (Tuileries) แล้วหลุยส์ 16 ก็มิได้เป็นกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชอีกต่อไป แต่เป็นกษัตริย์ของชาวฝรั่งเศส (roi des Fran”ais)

ราชสำนักย้ายมาที่พระราชวังตุยเลอรีส์ (Tuileries) สถานการณ์ตึงเครียด หลุยส์ 16 และพระราชวงศ์หนีไปยังวาแรนส์ (Varennes) แต่ถูกคณะปฏิวัติจับได้ในที่สุด ก่อนจะหนีหลุยส์ 16 ทิ้งหนังสือถึงชาวฝรั่งเศสทุกคน-Declara-tion a tous les Fran”ais ความยาว 16 หน้าไว้ที่ตุยเลอรี และสั่งให้นำไปมอบแก่อเล็กซองดร์ เดอ โบอาร์เนส์ (Alexandre de Beauharnais) ประธานสภาในวันรุ่งขึ้น (อล็กซองดร์ เดอ โบอาร์เนส์คือสามีคนแรก ของโจเซฟีน (Josephine) นั่นเอง)

ในหนังสือฉบับนี้ หลุยส์ 16 ได้ถ่ายทอดความคิดเห็น ยอมรับสถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่ต้องมีกษัตริย์ที่เข้มแข็ง หนังสือฉบับนี้ไม่ได้รับการเผยแพร่เพราะสภายับยั้งไว้ แล้วหนังสือ ฉบับนี้ก็หายไป เพิ่งมีการค้นพบว่าอยู่ในสหรัฐอเมริกาและนำกลับมาฝรั่งเศสเมื่อเดือนพฤษภาคม 2009 เรียกหนังสือฉบับนี้ว่า พินัยกรรมของหลุยส์ 16 (testament de Louis 16) ปัจจุบันเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์จดหมายและลายมือเขียน (Musee des lettres et des manuscrits)

คณะปฏิวัติยึดพระราชวังตุยเลอรีส์ ประกาศยกเลิกสถาบันกษัตริย์ สถาปนาระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐ (republique) หลุยส์ 16 ซึ่งกลายเป็นราษฎรธรรมดาคนหนึ่งในชื่อหลุยส์ กาเปต์ (Louis Capet) ถูกคุมขังที่ตองปล์ (Temple) โดนตั้งข้อหาว่าทรยศต่อประเทศชาติ และถูกพิพากษาประหารชีวิตด้วยกีโยติน (guillotine) การประหารทำกันในวันที่ 21 มกราคม 1793 ที่ปลาซ เดอ ลา เรโวลูซิอง (Place de la Revolution) ซึ่งปัจจุบันคือปลาซ เดอ ลา กงกอร์ด (Place de la Concorde) นั่นเอง ศพถูกฝังที่สุสานของมาดแลน (cimetiere de la Madeleine) เช่นเดียวกับศพของมารี-อองตัวแนต ต่อมากษัตริย์หลุยส์ 18 ซึ่งเป็นอนุชาของหลุยส์ 16 ให้ย้ายไปฝังที่วิหารแซงต์-เดอนีส์ (basilique Saint-Denis) อันเป็นที่ฝังศพของกษัตริย์ฝรั่งเศสทุกพระองค์ยกเว้นนโปเลอง (Napoleon) หลังจากนั้นให้สร้าง chapelle expiatoire ในที่ที่เป็น  cimetiere de la Madeleine

ล่าสุดพบหลักฐานประวัติ ศาสตร์ชิ้นใหม่ เป็นลูกน้ำเต้าที่จารลวดลายเป็นบุคคลสำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิวัติฝรั่งเศส ลูกน้ำเต้านี้เป็นสมบัติของตระกูลขุนนางเก่าของอิตาลี เล่าสืบต่อมาว่า ภาย ในลูกน้ำเต้ามีผ้าเช็ดหน้าเปื้อนเลือด ของหลุยส์ 16 ในวันที่ถูกประหารด้วยกีโยติน และมีคำเขียนประกอบ ว่า มักซิมิเลียง บูร์ดาลู (Maximilien Bourdaloue) ได้นำผ้าเช็ดหน้าไปจุ่มเลือดของหลุยส์ 16 ทันที่คอขาด เมื่อวันที่ 21 มกราคม 1793

เจ้าของลูกน้ำเต้าซึ่งไม่ยอมให้เปิดเผยชื่อ อยากทราบความจริง จึงขอให้นักชีววิทยาชาวสเปนและอิตาลีทำการตรวจสอบ คณะทำงาน ของสถาบันชีววิทยาแห่งบาร์เซโลนา ที่มีคาร์ลส์ ลาลูเอลา-ฟอกซ์ (Carles Laluela-Fox) เป็นหัวหน้า และมหาวิทยาลัย แห่งโบโลญา (Bologna) ของอิตาลีได้ทำ การทดลองและพบว่ารอยเลือดเป็นเลือดมนุษย์ ความเห็นของนักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้ตีพิมพ์ในนิตยสาร Forensic science international: genetics ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2011

แม้จะได้รับการยืนยันว่าเป็นเลือดมนุษย์ แต่ไม่สามารถบ่งว่าเป็นเลือดของหลุยส์ 16 หรือเปล่า อย่างไรก็ตามการตรวจสอบยีนบ่งว่าเจ้าของเลือดมีตาสีฟ้า ซึ่งหลุยส์ 16 ก็มีตาสีฟ้า

ขั้นตอนต่อไปคือการตรวจดีเอ็นเอ (DNA) ด้วยการตรวจเนื้อเยื่อหัวใจของหลุยส์ 17 ซึ่งเป็นโอรสของหลุยส์ 16 และปัจจุบันอยู่ที่วิหารแซงต์-เดอนีส์ เพื่อเปรียบ เทียบโครโมโซม 

กรรมวิธียังอีกยาวนานกว่าจะรู้ความจริง