วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
Home > Cover Story > มอง “เศรษฐกิจดิจิตอล” ผ่านมายาของ ทีวีโฮมช้อปปิ้ง

มอง “เศรษฐกิจดิจิตอล” ผ่านมายาของ ทีวีโฮมช้อปปิ้ง

 
 
ทีวีโฮมช้อปปิ้งเติบโตอย่างต่อเนื่องสวนกระแสภาวะเศรษฐกิจขาลง ในปัจจุบันนี้ ซึ่งดูได้จากการขยายตัวต่อเนื่อง โดยคาดว่าในปีนี้จะมียอดขายรวม 8,000 ล้านบาท หรือเติบโตร้อยละ 20–25 จากปีก่อนที่มียอดขายรวม 6,000 ล้านบาท และคาดการณ์ว่า 3- 5 ปีข้างหน้ายอดขายทีวีโฮมชอปปิ้งจะสูงถึง 20,000–30,000 ล้านบาท
 
ทีวีโฮมช้อปปิ้งเป็นการหามูลค่าเพิ่มจากกิจการโทรทัศน์ แต่ก็เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่จะเป็นจิ๊กซอว์ในการขับเคลื่อนไปสู่ creative economy และ digital economy แม้ว่าจะเป็นธุรกิจที่ยังเล็ก แต่เป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตทุกขณะ สวนกระแสสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ในขณะที่บางประเทศ เช่น เกาหลีใต้ ซึ่งถือเป็นเบอร์หนึ่งของอุตสาหกรรมโฮมช้อปปิ้งในโลก และเป็นต้นแบบของอุตสาหกรรมนี้ มีการเติบโต และสร้างรายได้มากถึง 400,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งนับว่าช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้เป็นอย่างดี
 
โดยเฉพาะข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นหลังภาวะวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในเอเชียหรือวิกฤตต้มยำกุ้ง เมื่อปี 2540 ซึ่งเกาหลีใต้ได้พัฒนาแนวคิดและเริ่มดำเนินการทีวีโฮมช้อปปิ้งในปี 2542 และสามารถสร้างรายได้พร้อมกับเป็นกลไกส่วนหนึ่งที่ทำให้เกาหลีใต้ฟื้นตัวกลับมาอย่างรวดเร็ว 
 
ในส่วนของประเทศไทย กสทช. พยายามศึกษาแนวทางและนำหลักการของธุรกิจนี้ของเกาหลีใต้ มาประยุกต์ใช้กับประเทศไทย ภายใต้ปัจจัยหนุนหลายประการ เช่น การเกิดขึ้นของทีวีดิจิตอล การเพิ่มช่องฟรีทีวี พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปโดยหันมานิยมซื้อสินค้าทางทีวีมากขึ้น รวมถึงการออกใบอนุญาตของ กสทช.  ที่จะช่วยทำให้มีกฎระเบียบในธุรกิจนี้มากขึ้น ภายใต้การแข่งขันในระบบ กฎ กติกา ในบรรทัดฐานเดียวกัน
 
หากย้อนรอยทีวีโฮมช้อปปิ้งในไทย ซึ่งมีมานานกว่า 20 ปี โดยสามารถแบ่งอุตสาหกรรมทีวีโฮมช้อปปิ้งออกได้เป็น 3 ช่วงเวลา เริ่มจากระยะเริ่มต้นตั้งแต่ ปี 1994-1995 ซึ่งเป็นยุคของผู้ประกอบการไทยแท้ อาทิ ช้อปเซลออนแอร์ แป๊ะยิ้ม ทีวีช้อป หรือเคาะแล้วขายของค่ายแกรมมี่ 
 
ต่อมาเป็นช่วงปี 1996-1999 ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้ประกอบการต่างชาติ เข้ามา เช่น กรณีของทีวี มีเดีย จากสิงคโปร์, แควนตัม จาก นิวซีแลนด์ ก่อนที่จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในเอเชีย หรือวิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนทยอยหายไปจากตลาด 
 
กระทั่งยุคปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุคที่ธุรกิจทีวีโฮมช้อปปิ้งมีผู้ประกอบการมากขึ้น ทั้งไทยและการเข้ามาของบริษัทโฮมช้อปปิ้งต่างชาติ อาทิ เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน ที่เข้ามาร่วมทุนกับบริษัทไทย เปิด ทีวีโฮมช้อปปิ้ง ช่องทรู ซีเล็คท์, โอช้อปปิ้ง, ช้อปชาแนล
 
ผู้ประกอบการทีวีโฮมช้อปปิ้ง ที่จัดว่าเป็นผู้นำตลาดรายใหญ่ในห้วงขณะปัจจุบันประกอบด้วย ทีวีไดเร็ค จำกัด (มหาชน) TV D ภายใต้แนวคิด “Entertaining people with Information” ก่อตั้งเมื่อปี 2552 โดยได้เปิดตัวทีวีโฮมช้อปปิ้งเต็มรูปแบบ 24 ชั่วโมงช่องแรกในไทย และครองความเป็นเจ้าตลาดทีวีโฮมช้อปปิ้งในไทยอยู่ในขณะนี้
 
ติดตามมาด้วย ทรู ซีเล็คท์ “Home Shopping You can trust” ก่อตั้งขึ้นในปี 2554 ภายใต้การผนึกกำลังของ 4 บริษัทชั้นนำ ประกอบด้วยบริษัท ทรูวิชั่นส์ ผู้นำด้านโทรทัศน์ จีเอส ช้อป ธุรกิจโฮมช้อปปิ้งจากเกาหลี เดอะมอลล์ กรุ๊ป ผู้นำค้าปลีกรายใหญ่ของไทย และซีพีออลล์ ผู้นำค้าปลีกไทย โดยได้ร่วมทุนในนาม บริษัท ทรู จีเอส จำหน่ายสินค้าผ่านช่องทรูซีเล็คท์
 
ขณะที่ โอ ช้อปปิ้ง ภายใต้สโลแกน “โอ ช้อปปิ้ง เพื่อนบ้านที่คุณไว้ใจ” ก่อตั้งขึ้น ในปี 2555 โดยความร่วมมือระหว่างจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ และC J O Shop ซึ่งเป็นหนึ่งในเครือบริษัท C J Group ผู้นำทีวีโฮมช้อปปิ้ง ของเกาหลี 
 
นอกจากนี้ยังมี ช้อป ชาแนล “ตื่นตากับสินค้า คุ้มค่าไม่ซ้ำใคร ที่ช้อปชาแนล” ก่อตั้งในปี 2556 โดยความร่วมมือของ 3 บริษัทยักษ์ใหญ่ ได้แก่ บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล, ซูมิโตโม่ คอร์ปอเรชั่นกรุ๊ป จากญี่ปุ่น และห้างเซ็นทรัล 
 
และทีวีดี ช้อป “TVD Shop ชอบช้อป คุ้มชัวร์” ก่อตั้งในปี 2556 โดยบริษัท ทีวีไดเร็ค ร่วมทุนกับบริษัทโมโม่ ดอทคอม อินคอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทโฮมช้อปปิ้งอันดับหนึ่งของไต้หวัน โดยมี ไฮ ช้อปปิ้ง เป็นโฮมชอบปิ้งน้องใหม่ ที่เพิ่งก่อตั้งเมื่อต้นปี 2558 จากการร่วมทุนของบริษัทอินทัช มีเดีย จำกัด และบริษัท รถยนต์รายใหญ่ของเกาหลี ฮุนได ก็ได้ร่วมลงมาในตลาดทีวีโฮมช้อปปิ้งด้วย
 
แม้ทีวีโฮมช้อปปิ้งจะเป็นธุรกิจที่มีมานานกว่า 20 ปี แต่ทีวีโฮมช้อปปิ้งก็ประสบปัญหาด้านสังคมอย่างมาก ภายใต้ความคลุมเครือด้านกฎระเบียบ หรือการดูแลจากภาครัฐและผู้ประกอบการ โดยมีประเด็นว่าด้วยความเข้าใจในผลิตภัณฑ์ของผู้บริโภค ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ที่มีต่อธุรกิจนี้
 
ก่อนหน้านี้คณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ศึกษารูปแบบและพัฒนาการของทีวีโฮมช้อปปิ้งของทั้งเกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา โดยหวังว่าจะนำผลการศึกษามาวางเป็นกรอบโครงสำหรับการจัดสรรใบอนุญาตในประเภทกิจการให้บริการโทรทัศน์แบบประยุกต์ให้แก่ธุรกิจขายสินค้าผ่านโทรทัศน์ หรือโฮมช้อปปิ้งทีวี ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งในจังหวะก้าวที่สำคัญของ กสทช.
 
ความพยายามที่จะพัฒนาทีวีโฮมชอปปิ้งในประเทศไทย ภายใต้กรอบโครงแนวความคิดที่ประสบผลสำเร็จจากต่างประเทศ อาจเป็นอีกหนทางหนึ่งในการยกระดับและมาตรฐานการให้บริการทีวีโฮมช้อปปิ้งไทยในอนาคต 
 
หากแต่ประเด็นที่ต้องพิจารณาอย่างยิ่ง อยู่ที่ทีวีโฮมช้อปปิ้งที่กำลังจะได้รับการสนับสนุนนี้ เป็นไปเพื่อผู้ประกอบการรายใหญ่ๆ ที่เป็นเจ้าตลาดอยู่แล้ว หรือจะเป็นกลไกช่วยผลักดันให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม SMEs ได้มีโอกาสเข้าสู่ตลาดได้บ้าง
 
นอกจากนี้ การลงทุนเพื่อก้าวเข้าสู่ “เศรษฐกิจดิจิตอล” ไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้โดยง่าย หากปราศจากความเข้าใจในระบบโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งในกรณีของเกาหลีใต้ ที่ผลักดันเศรษฐกิจดิจิตอลอย่างเต็มรูปแบบ ได้ทุ่มเทงบประมาณมหาศาลในการสร้างศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่หลายแห่ง และได้ชื่อว่าเป็นดาต้าเซ็นเตอร์ดีที่สุดติดอันดับ 3 ของโลก รองจากอันดับ 1 อย่างสหรัฐอเมริกา และอันดับ 2 ญี่ปุ่น นอกจากนี้ ยังพัฒนาระบบคลาวด์คอมพิวติ้งสำหรับรองรับการทำธุรกรรมออนไลน์ทุกประเภทที่เกิดขึ้นในแต่ละวันด้วย
 
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ใครจะเป็นผู้ลงทุนในระบบที่ว่านี้ และผู้ประกอบการรายย่อยจะสามารถเข้าถึงช่องทางเหล่านี้ได้อย่างไรหรือไม่ ยังไม่นับรวมประเด็นว่าด้วยใบอนุญาตประกอบการที่อาจต้องมีการประมูลหรือชำระค่าธรรมเนียม รวมถึงการแบ่งสรรผลประโยชน์ตอบแทนให้กับรัฐว่าจะคิดจากยอดจำหน่ายหรือยอดกำไรหลังหักต้นทุน สิ่งเหล่านี้ยังเป็นความคลุมเครือที่ยังต้องรอความชัดเจนต่อไป
 
ความพยายามของ กสทช. ก็ดี หรือการรวมกลุ่มสมาคมทีวีโฮมช้อปปิ้งโดยผู้ประกอบการรายใหญ่ 6 แห่งก็ดี จึงน่าสนใจว่ากำลังเป็นส่วนหนึ่งในการหนุนนำโอกาสให้กระจายสู่ผู้ประกอบการรายย่อยภายใต้กำหนดนิยามเศรษฐกิจดิจิตอล หรือถึงที่สุดแล้วจะกลายเป็นมาตรการกีดกันไม่ให้มีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดท่ามกลางการแข่งขันที่จะเข้มข้นขึ้นนับจากนี้กันแน่