วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Life > ธุรกิจสินค้าหรูมีปัญหา

ธุรกิจสินค้าหรูมีปัญหา

 

Kering เป็นกลุ่มธุรกิจสินค้าหรูของฝรั่งเศส รวบรวมแบรนด์เนมหลายยี่ห้อคือ บาลองเซียกา (Balenciaga) อีฟส์ แซงต์โลรองต์ (Yves Saint-Laurent) บอตเตกา เวเนตา (Bottega Veneta) กุชชี (Gucci) เป็นต้น

 

ชื่อเดิมของ Kering คือ PPR ย่อมาจาก Pinault-Printemps-La Redoute ก่อตั้งโดยฟรองซัวส์ ปิโนลต์ (François Pinault) ก่อนที่จะยกให้ลูกชายคือ ฟรองซัวส์อองรี ปิโนลต์ (François-Henri Pinault) เป็นผู้บริหาร

 

PPR ประสบความสำเร็จมากจากการปลุกให้ยี่ห้อที่กำลังหลับอยู่อย่างกุชชี (Gucci) ให้กลับมาโดดเด่นบนเวทีแฟชั่น โดยมีทอม ฟอร์ด (Tom Ford) เป็นผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ ทำงานร่วมกันนับสิบปี จนทอม ฟอร์ดคิดว่าตนมีอำนาจต่อรอง ทว่าผิดคาด PPR หรือ Kering ไม่เล่นด้วย ผลก็คือทอม ฟอร์ดต้องลาจาก แล้วฟรองซัวส์อองรี ปิโนลต์ก็แต่งตั้งฟรีดา จานนีนี (Frida Giannini) ผู้ช่วยของทอม ฟอร์ดขึ้นมาเป็นผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์แทน

 

กิจการของกุชชีดำเนินไปด้วยดี จนเมื่อรัฐบาลจีนประกาศนโยบายปราบคอรัปชั่นและความเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนเริ่มถดถอย ทำให้กำลังซื้อหดหายไป กุชชีมี 60 สาขาในเมืองใหญ่ๆ ของจีน 31 เมือง มิใช่แต่เพียงกุชชีเท่านั้นที่มีปัญหา แบรนด์เนมอื่นๆ ก็ตกอยู่ในสภาพเดียวกัน

 

กุชชีเริ่มประสบปัญหา ยอดขายลดลง 7.9% ในไตรมาสแรกของปี 2015 ฟรองซัวส์อองรี ปิโนลต์ไม่เห็นเป็นปัญหาใหญ่ เขาเห็นว่าจำเป็นต้องมีความสร้างสรรค์ที่แปลกใหม่ จึงเลิกสัญญากับฟรีดา จานนีนี และให้อเลสซานโดร มีเกเล (Alessandro Michele) ซึ่งเป็นผู้ช่วยของฟรีดา จานนีนี ขึ้นมาแทนที่ และมีเสียงตอบรับดีหลังจากการเสนอคอลเลกชั่นแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2015 พร้อมกันนั้นเปลี่ยนผู้บริหารกุชชีใหม่ด้วย

 

เครื่องหนังของกุชชีผลิตในอิตาลีทั้งหมด

 

Puma เป็นอีกยี่ห้อหนึ่งของ Kering ที่มีปัญหาเช่นกัน ยอดขายลดลง 36% คิดเป็นเงิน 37 ล้านยูโรในไตรมาสแรกของปี 2015 ผลมาจากการที่เงินดอลลาร์แข็งตัว จากยี่ห้อรองเท้ากีฬา เมื่อ Kering ซื้อมา พยายามเปลี่ยนให้เป็นสินค้าหรูอันห่างไกลจากดั้งเดิม มีการพัฒนารูปแบบ ไลเซนส์ และขายดีจนถึงปี 2007 หลังจากนั้นมีการปรับปรุงองค์กร โดยหวังว่าภายใน 5 ปี Puma จะกลับมาดังอีก

 

ความเปลี่ยนแปลงของตลาดทำให้ชาแนล (Chanel) ต้องปรับราคา แต่ Kering เห็นว่าขึ้นอยู่กับสินค้าแต่ละยี่ห้อ เสื้อสำเร็จรูปมีการกำหนดราคาแต่ละครั้งที่ออกคอลเลกชั่น จึงไม่มีการปรับลด ทว่าบอตเตกา เวเนตามีการลดราคากระเป๋าใหม่บางรุ่นที่จำหน่ายในประเทศจีน แต่ขึ้นราคา 58% ในยุโรป

 

Kering เป็นกลุ่มธุรกิจฝรั่งเศสที่จะไม่ยอมย้ายฐานไปที่อื่น และยังคงเสียภาษีในฝรั่งเศสแม้อัตราภาษีจะสูงก็ตาม

 

ฟรองซัวส์ ปิโนลต์ผู้ก่อตั้ง Kering และฟรองซัวส์อองรี ปิโนลต์มีความใกล้ชิดกับผู้นำพรรคสังคมนิยม ไม่ว่าจะเป็นประธานาธิบดีฟรองซัวส์ มิตแตรองด์ (François Mitterrand) หรือประธานาธิบดีฟรองซัวส์ โอลลองด์ (François Hollande)

 

Richemont เป็นกลุ่มธุรกิจหรูของสวิส เน้นนาฬิกาและเครื่องเพชร การ์ทีเอร์ (Cartier) วอง เคลฟ เอต์ อาร์เปลส์ (Van Cleef & Arpels) ปีอาเจต์ (Piaget) แฌเกอร์ เลอกูลเทรอะ (Jaeger Lecoultre) โบม เอต์ แมร์ซีเอร์ (Baume & Mercier) มีผลประกอบการที่น่าผิดหวังในไตรมาสแรกของปี 2015 ผลมาจากค่าของเงินฟรังก์สวิสที่แข็งตัวมาก และนโยบายปราบคอรัปชั่นของจีนที่ทำให้การบริโภคสินค้าหรูลดลงอย่างเห็นได้ชัดทั้งในจีนแผ่นดินใหญ่ และที่ฮ่องกงซึ่งมีการชุมนุมของนักศึกษาเป็นเวลานาน และแม้จะมีการเติบโตในไต้หวันและออสเตรเลีย แต่ยอดจำหน่ายในเอเชียแปซิฟิกก็ลดลง 6% ยอดขายนาฬิกาลดลง 2% ในต่างประเทศ แต่ในยุโรปยังขายดีด้วยมีนักท่องเที่ยวชาวจีน

 

Richemont ปรับตัวเล็กน้อย ด้วยการให้ราคาสินค้าในกลุ่มเป็นราคาเดียวกันในทุกสาขาทั่วโลกหลังจากคืนภาษีแล้ว ทำให้จำเป็นต้องปรับลดราคาในประเทศที่ใช้เงินดอลลาร์ ซึ่งรวมจีนด้วย และปรับเพิ่มราคาในเขตยูโร และญี่ปุ่น การปรับราคานี้ทำให้ผลประกอบการลดลง 17% ในเดือนเมษายน 2015 ในส่วนที่เกี่ยวกับการขายส่งให้แก่ห้างสรรพสินค้าและร้านที่ขายหลากยี่ห้อ เพราะห้างร้านเหล่านี้รอคอยการปรับลดราคา อย่างไรก็ตาม ในเดือนพฤษภาคม 2015 การซื้อขายเพิ่มขึ้น และ Richemont หวังว่าผลประกอบการโดยรวมจะกระเตื้องขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม การอ่อนตัวของเงินยูโรทำให้นักท่องเที่ยวหลั่งไหลมายุโรปตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักท่องเที่ยวจากจีน เกาหลีใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

Burberry ยี่ห้อหรูของอังกฤษก็ชะลอตัวเช่นกัน ผลประกอบการลดลง 17.5% สาเหตุจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินปอนด์ และคาดว่ายอดขายทั้งในบูติกของตนซึ่งเป็นรายได้หลัก และยอดขายส่งจะลดลง ผลกำไรจะได้ไม่ถึงการประมาณการที่ตั้งไว้ 50 ล้านยูโร

 

การชุมนุมของนักศึกษาในฮ่องกงทำให้ยอดขายของ Burberry ลดลง 5% ในไตรมาสที่สองของปี 2014

 

ความเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนทำให้สินค้าหรูมุ่งไปเปิดสาขา ทว่าเมื่อเกิดการชะลอตัว Burberry ปิดสาขาในจีนไปแล้ว 10 แห่ง และคาดว่าในปี 2015 นี้จะปิดอีก 5 แห่ง