20 กว่าปีก่อน “วรวุฒิ อุ่นใจ” เข้ามาพลิกฟื้นธุรกิจครอบครัว ร้านขายเครื่องเขียน “กิจวิทยา สเตชั่นเนอรี่” ที่กำลังอยู่ในสภาพย่ำแย่ เปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายจากลูกค้าทั่วไปเป็นกลุ่มองค์กร ฝ่ายจัดซื้อของบริษัทต่างๆ จนในที่สุดกลายเป็นจุดเริ่มก่อตั้งบริษัท ออฟฟิศเมท จำกัด สร้างกลยุทธ์ใหม่ขายสินค้าผ่านแค็ตตาล็อก และรับคำสั่งซื้อทางโทรศัพท์ หรือ Call Center แข่งขันกับซูเปอร์สโตร์อย่าง “แม็คโคร ออฟฟิศ” และ “ออฟฟิศดีโป”
เปิดบริษัทแค่ 2 ปี เจอวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 แต่ออฟฟิศเมทใช้เวลาไม่ถึง 6 เดือน พลิกสถานการณ์สร้างยอดขายเติบโตขึ้น 3 เท่า และเดินหน้าพัฒนาธุรกิจ ทำระบบการสั่งซื้อผ่านเว็บไซต์ ซีดี-รอม แค็ตตาล็อก นำระบบโรดแมปควบคุมและวางแผนเส้นทางการจัดส่งสินค้า การปรับปรุงระบบคอลเซ็นเตอร์ เริ่มพัฒนาสินค้าเฮาส์แบรนด์ ในชื่อ “Dee Den” และ “Furradec”
ปี 2542 วรวุฒิเปิดเว็บไซต์ www.officemate.co.th เพิ่มช่องทางการสั่งสินค้าของลูกค้าง่ายยิ่งขึ้น
ปี 2544-2546 ออฟฟิศเมทอยู่ในช่วงสร้างองค์ประกอบรองรับการขยายธุรกิจ เริ่มจากการตั้งคลังสินค้าขนาด 2,000 ตารางเมตร เปิด Intelligent Call Center พัฒนาระบบ ระบบสั่งซื้ออิเล็กทรอนิกส์เฉพาะแต่ละองค์กร (e-Procurement) และรุกธุรกิจการซื้อขายอี-คอมเมิร์ซ B2B
“ออฟฟิศเมท” กลายเป็นธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ รายใหญ่เบอร์แรกๆ ของคนไทย ยอดขายและรายได้เติบโตต่อเนื่อง จนต้องขยายคลังสินค้าเพิ่มเป็น 7,200 ตารางเมตร เพื่อรองรับสินค้ามากกว่า 20,000 รายการ และแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2551 ทุนจดทะเบียน 80 ล้านบาท
ปี 2552 บริษัทเปิดตัวเว็บไซต์ใหม่ www.trendyday.com จำหน่ายสินค้าออนไลน์เจาะคนรุ่นใหม่ที่นิยมสั่งซื้อสินค้าผ่านทางอินเทอร์เน็ต อายุ 18-35 ปี โดยมีสินค้าให้เลือกมากกว่า 2,000 รายการ รวม 9 หมวด เช่น เครื่องสำอาง หนังสือ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ สินค้าพรีเมียม ของเล่นเด็ก ไม่ใช่แค่อุปกรณ์สำนักงานหรือเครื่องเขียน โดยเป็นสินค้าแบรนด์เนม และราคาถูกกว่าท้องตลาด 20%
ที่สำคัญ www.trendyday.comจะเป็นมากกว่าอี-คอมเมิร์ซ แต่จะเป็น ECC หรือ Electronic community Commerce เป็นสังคมออนไลน์ที่เข้ามาเลือกพูดคุย หาเพื่อนใหม่ ซื้อของชอปปิ้ง ในสิ่งที่ชอบเหมือนๆ กัน ซึ่งเป็นเทรนด์ใหม่ที่กำลังเป็นที่นิยมและมีจุดแข็งด้านบริการดีลิเวอรีด้วย
ปี 2553 บริษัทรุกตลาดช่องทางออนไลน์ ขยายฐานตลาดการขยายสินค้าผ่านเว็บไซต์ www.trendyday.com สู่กลุ่มโฮมยูส หรือเท่ากับยึดตลาดทุกกลุ่มลูกค้า ทั้งวัยรุ่น กลุ่มครอบครัว กลุ่มองค์กรธุรกิจเอกชนและภาครัฐ
ในปีเดียวกัน วรวุฒินำหุ้นของบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) โดยเข้าซื้อขายวันแรก เมื่อ 28 กรกฎาคม 2553 จังหวะนั้นถือเป็นช่วงพีคของ “ออฟฟิศเมท” เพราะตลาดอี-คอมเมิร์ซในไทยเริ่มเติบโตชัดเจน อัตราขยายตัวก้าวกระโดดจาก 25% สูงถึง 50% เฉพาะปี 2552 ตัวเลขของกระทรวงพาณิชย์ระบุว่ามีมูลค่า 600,000 ล้านบาท เปรียบเทียบกับจำนวนประชากรคนไทยมีการเล่นอินเทอร์เน็ต 15 ล้านคน มีเพียง 400,000 กว่ารายที่กล้าสั่งซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์ ต่างจากเกาหลี ญี่ปุ่น อเมริกา ลิบลับ
หลายๆ ธุรกิจเห็นโอกาสเจาะช่องทางธุรกิจออนไลน์อย่างจริงจังมากขึ้นและ “ออฟฟิศเมท” คือ บริษัทที่มีหลายธุรกิจต้องการเข้ามาเป็นพันธมิตรร่วมทุนด้วย
ปี 2554 บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) เข้าซื้อหุ้นบริษัท ออฟฟิศเมท จำกัด (มหาชน) จำนวน 4 ล้านหุ้น มูลค่า 40 ล้านบาท หวังต่อยอดธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) โดยกลุ่มแกรมมี่ต้องการเพิ่มฐานลูกค้าและช่องทางการจัดจำหน่ายในระบบออนไลน์นอกเหนือจากเว็บไซต์ www.gmember.com และ shopping8000 ขณะที่ออฟฟิศเมทสามารถเพิ่มสินค้าในแค็ตตาล็อกจากเครือจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ ซึ่งมีความแข็งแกร่งในเนื้อหาด้านบันเทิง
แต่เพราะปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์แพร่ระบาดอย่างหนัก และการใช้เม็ดเงินมหาศาลในกลุ่มธุรกิจทีวีดาวเทียม ทีวีดิจิตอล ทำให้ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ต้องตัดขายธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก ซึ่งรวมถึงการขายหุ้นออฟฟิศเมท
ปี 2555 ทศ จิราธิวัฒน์ ในนามกลุ่มจิราธิวัฒน์ ประกาศนำบริษัท บีทูเอส และบริษัท ออฟฟิซ คลับ (ไทย) ผู้บริหารร้าน “ออฟฟิศ ดีโป” ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์เครื่องใช้เฟอร์นิเจอร์สำนักงาน และบริการครบวงจร เข้าควบรวมกิจการกับบริษัท ออฟฟิศเมท เพื่อนำสินค้าที่หลากหลายในกลุ่มค้าปลีกเครือเซ็นทรัล มาต่อยอดในธุรกิจออนไลน์
ทั้งนี้ สินทรัพย์บีทูเอส และออฟฟิซ คลับ (ไทย) ณ สิ้นปี 2555 มีมูลค่ารวมกันกว่า 3,400 ล้านบาท และมียอดขายรวมกว่า 6,700 ล้านบาท ดังนั้น ภายหลังการควบรวมกิจการส่งผลให้ “ออฟฟิศเมท” มีสินทรัพย์รวมกว่า 4,000 ล้านบาท และมียอดขายรวมกว่า 8,000 ล้านบาทต่อปี
26 ธันวาคม 2555 บมจ. ออฟฟิศเมท (OFM) ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอย้ายเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ กลุ่มบริการ หมวดพาณิชย์
ทศ จิราธิวัฒน์ ประกาศชัดเจนถึงการควบรวมกิจการครั้งนั้นว่า วรวุฒิจะเข้ามามีบทบาทในการผลักดันสินค้าของกลุ่มเซ็นทรัลเข้าสู่ธุรกิจออนไลน์อย่างเต็มตัว เพื่อเตรียมพร้อมรับการเปิดตลาดเออีซี โดยดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัทออฟฟิศเมท บริหารจัดการธุรกิจหลักของทั้ง 3 บริษัท คือ บริษัทออฟฟิศเมทเดิม บริษัท ออฟฟิซ คลับ (ไทย) และบริษัทบีทูเอส
ล่าสุด “ออฟฟิศเมท” เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) โดยวรวุฒินั่งตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและถือเป็นซีอีโอกลุ่มธุรกิจออนไลน์ในอาณาจักรเซ็นทรัลกรุ๊ป
ตามแผนของทศที่มองธุรกิจออนไลน์มีการขยายตัวปีละไม่ต่ำกว่า 100% มูลค่าตลาดรวมมากกว่า 80,000-90,000 ล้านบาท แบ่งเป็นเฉพาะธุรกิจออนไลน์ที่มีระบบจัดส่ง มีมูลค่าประมาณ 30,000 ล้านบาท และแนวโน้มโลกพบว่าในอีก 10 ปีจากนี้ ธุรกิจออนไลน์อย่างอะเมซอนจะมีรายได้เกินธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่อย่างวอลมาร์ท
ขณะที่เซ็นทรัลกรุ๊ปในฐานะผู้นำในธุรกิจค้าปลีก ยอดขายเป็นหลักแสนล้านบาท ธุรกิจออนไลน์จะเข้ามาต่อยอดธุรกิจค้าปลีกในประเทศและการทำตลาดทั่วโลก หากธุรกิจออนไลน์สร้างรายได้ สัดส่วนแค่ 10-20% หมายถึงยอดขายไม่ต่ำกว่า 20,000-30,000 ล้าน และตั้งเป้าเป็นผู้นำตลาดออนไลน์ในระดับภูมิภาคอาเซียนด้วย
ถอดรหัสเส้นทางธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ของ “วรวุฒิ อุ่นใจ” เป้าหมายของทศ จิราธิวัฒน์ แม้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ไม่ใช่เรื่องยากเช่นกัน