วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
Home > Cover Story > เปิดโมเดล “ธรรมธุรกิจ” กับผู้จัดการไปทั่ว “พิเชษฐ โตนิติวงศ์”

เปิดโมเดล “ธรรมธุรกิจ” กับผู้จัดการไปทั่ว “พิเชษฐ โตนิติวงศ์”

หลังจากเข้าไปช่วยแก้ปัญหาชาวนาปิดถนนประท้วง ตามคำขอของรัฐบาลใน พ.ศ. 2551 จนทำให้ธุรกิจของตัวเองเกือบล้มละลาย อีกทั้งปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไขได้อย่างยั่งยืน “หนาว-พิเชษฐ โตนิติวงศ์” เจ้าของโรงสีศิริภิญโญ จึงเกิดคำถามขึ้นมาว่า “จะทำอย่างไรเพื่อช่วยให้ชาวนามีชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างยั่งยืน” ซึ่งนั่นกลายเป็นที่มาของ “ธรรมธุรกิจ” ธุรกิจที่มีโมเดลไม่เหมือนใคร

“ผู้จัดการ 360 องศา” ชวนมาทำความรู้จัก “ธรรมธุรกิจ” ธุรกิจเพื่อสังคมที่ใช้หลักธรรมมานำธุรกิจ เพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจทางรอด กับ คุณหนาว – พิเชษฐ โตนิติวงศ์ “ผู้จัดการไปทั่ว” ของบริษัท ธรรมธุรกิจ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด

“ใช่ครับ ไม่ได้เรียกผิด ตำแหน่งผมคือ ‘ผู้จัดการไปทั่ว’ เพราะไปทั่วจริงๆ ไปมันทุกที่ และถ้าถามต่อว่า ‘ธรรมธุรกิจ’ คืออะไร ‘ธรรมธุรกิจ’ คือ ธุรกิจเพื่อสังคมที่ต้องการสร้างระบบเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้ธรรมนำหน้า” คุณหนาวเริ่มต้นบทสนทนาเมื่อเราถามถึงชื่อตำแหน่งของเขา พร้อมบอกเล่าเรื่องราวและจุดกำเนิดของ “ธรรมธุรกิจ” ต่อไปว่า

“ธรรมธุรกิจ เกิดขึ้นเพราะเราอยากช่วยชาวนา ปี 2551 ตอนนั้นชาวนาปิดถนนที่เชียงราย 3 วัน 2 คืน เพราะราคาข้าวเหนียวตกต่ำ รถที่จะขึ้นจากพะเยาเข้าเมืองเชียงรายเข้าไม่ได้ ต้องวิ่งอ้อมแม่น้ำโขง ผมเป็นเจ้าของโรงสีศิริภิญโญ จ.ฉะเชิงเทรา รับซื้อข้าวเหนียวจากเชียงใหม่และเชียงรายมาสีที่ฉะเชิงเทราและส่งขายเข้ากรุงเทพฯ จนได้รับการยกย่องจากคนในวงการสีข้าวว่าเราเป็นเจ้าพ่อข้าวเหนียว”

“พอชาวนาปิดถนนครั้งนั้นทุกคนเลยโฟกัสมาที่เราให้ช่วยแก้ปัญหา เอาโรงสีศิริภิญโญมาช่วยแก้ปัญหา โดยรับซื้อข้าวเหนียวจากชาวนา ผมรู้ว่ามันมีความเสี่ยง แต่มองว่ามันเป็นโอกาสที่จะช่วยเหลือชาวนา ตอบแทนที่เขาเอาข้าวเหนียวมาขายให้ผมตั้ง 6 ปี จนผมมีฐานะร่ำรวยขึ้น คิดแค่นี้”

การเข้าไปช่วยแก้ปัญหาในครั้งนั้นทำให้คุณหนาวและโรงสีศิริภิญโญหมดเงินไปกว่า 120 ล้านบาท และอยู่ในสภาวะ “เกือบล้มละลาย” อีกทั้งยังเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ยั่งยืน เพราะผ่านมาสิบกว่าปีวัฏจักรของปัญหายังคงเกิดขึ้นอยู่เช่นเดิม ข้าวยังคงโดนกดราคา ค่าใช้จ่ายในการทำนายังสูง ทั้งค่าปุ๋ย ยาฆ่าแมลง จนทำให้ชาวนาไทยมีหนี้ท่วมหัว และสูญเสียที่ดินทำกินกันไปนักต่อนัก

“อีกอย่างเราเห็นวัฏจักรการขึ้นลงของราคาข้าวเหนียว ซึ่งถ้ารัฐจะแก้ปัญหามันแก้ง่ายมาก จนถึงตอนนี้ 15 ปีแล้ว ก็ยังเหมือนเดิม ไม่มีใครทำอะไร พรรคหนึ่งขึ้นมารับจำนำ พรรคหนึ่งขึ้นมาประกันราคา ไม่ใช่การแก้ปัญหาระยะยาว นี่คือตัวอย่าง ‘ความสำเร็จที่ล้มเหลว’ ว่าการแก้ปัญหาให้ชาวนาแบบนี้มันเป็นการแก้ปัญหาแบบคนรวยแบบราชการช่วยคนจน”

นั่นจึงเป็นที่มาให้คุณหนาวมองหาวิธีที่จะทำอย่างไรเพื่อช่วยให้ชาวนามีชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างยั่งยืน จนกระทั่งได้มาพบกับ “อาจารย์ยักษ์-ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร” ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และ “โจน จันใด” ผู้ก่อตั้งสวนพันพรรณ ศูนย์เรียนรู้การเก็บเมล็ดพันธุ์และการพึ่งพาตนเอง และกลายเป็นจุดกำเนิดของ “ธรรมธุรกิจ” ในที่สุด

แก้ปัญหาความยั่งยืนให้ชาวนา ไม่ใช่แก้ปัญหาความยากจน

คุณหนาวเล่าต่อว่า ในช่วงปี 2551-2556 เป็นช่วงการฟื้นฟูโรงสีศิริภิญโญ ซึ่งตอนนั้นกระแสข้าวออแกนิกหรือข้าวอินทรีย์กำลังมา และเขาคิดว่านี่น่าจะเป็นอีกหนึ่งทางออกในการช่วยเหลือชาวนา กระทั่งในปี 2556 คุณหนาวจึงมีโอกาสได้พบกับอาจารย์ยักษ์และคุณโจนครั้งแรกที่เชียงใหม่ในทริป “ยักษ์บุกรังโจน”

“พอผมมาเจออาจารย์ยักษ์กับพี่โจน ผมรู้เลยว่าอยากแก้ปัญหาชาวนาอีกครั้งแบบคนจน ด้วยการเอาองค์ความรู้ของ อ.ยักษ์ ที่เรียกว่า ‘ศาสตร์พระราชา’ และเอาองค์ความรู้ของพี่โจน ที่เรียกว่า “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” กลับไปแก้ปัญหาความยั่งยืน เพื่อให้ชาวนามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ยั่งยืน หนี้สินลด รายได้เพิ่ม ครอบครัวลูกหลานกลับมามีความสุข”

“เราไปสร้างความยั่งยืนให้ชาวนา ไม่ใช่ไปแก้ปัญหาเรื่องรายได้เหมือนเดิม แก้ปัญหาเรื่องเงิน เราเคยทำมาแล้วกับรัฐบาล มันไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน และไม่มีทางยั่งยืน ชาวนาปลูกข้าวขาย ได้เงิน เอาเงินกลับมาซื้อข้าวกิน ซื้อผักกิน ข้าวที่ตัวเองปลูกไม่กิน ไม่สี แต่เอาข้าวทั้งหมดไปขาย และเอาเงินกลับมาซื้อกิน นี่แปลว่าหลักคิดแบบนี้มันไม่โอเค ทำอย่างไรถึงจะเปลี่ยนหลักคิดแบบนี้ของชาวนาได้ มาเจออาจารย์ทั้งสองคน ซึ่งฝึกอบรมคน สอนคนให้รู้จักคิด ไม่ได้สอนเชิงเทคนิค แต่สอนหลักคิด นี่แหละคือทางออก”

จากเชียงใหม่คุณหนาวตามอาจารย์ยักษ์ไปที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี และได้ฟังบรรยายเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งนั่นทำให้เขาปิ๊งไอเดียขึ้นมาว่า “ผมจะเอาอันนี้ไปให้ชาวนาเพื่อแก้ปัญหาความยั่งยืน” และนำไปสู่การจัดตั้งบริษัท ธรรมธุรกิจ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ขึ้นในปี 2556 เป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่ใช้หลักธรรมมานำการทำธุรกิจ โดยเน้นใน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ อาหาร สุขภาพ และการท่องเที่ยว ตามหลักทฤษฎีบันได 9 ขั้น เพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจพอเพียง หรือ ระบบเศรษฐกิจทางรอด

“คำว่า ‘ธรรมธุรกิจ’ เป็นคำที่อยู่ในหัวผมมาตั้งแต่ตอนบวช เป็นการเอาธรรมมานำธุรกิจ ผมพูดให้ชัดเลยนะ หรือคุณจะเอา ‘กิเลส’ นำธุรกิจ เปรียบเทียบง่ายๆ ธุรกิจเกือบทั้งหมดสมัยนี้เอากิเลสนำ อยากได้กำไร เงิน อยากรวย เอากำไรเยอะๆ ‘ธรรมธุรกิจ’ ไม่อยากได้กำไรเหรอ? ไม่ใช่ อยากได้กำไร แต่ต้องเป็นกำไรที่สมควรจะได้รับตามธรรม”

เขาขยายความต่อว่า กำไรที่เป็นธรรม มาจากการตั้งราคาขายที่เหมาะสมเป็นธรรม ซึ่งมาจากราคารับซื้อและต้นทุนที่เป็นธรรม และเป้าหมายของธรรมธุรกิจ คือการสื่อสารไปถึงคนทุกศาสนาสามารถเอาธรรมของศาสนาที่แต่ละคนนับถือมานำธุรกิจได้อย่างไม่จำกัด ไม่ใช่แค่พุทธศาสนา

ชาวนารุ่นแรกเข้าอบรม 100 คน จุดติด 16 คน กับทฤษฎีบันได 9 ขั้น

ในระยะแรกคุณหนาวนำชาวนาที่เคยช่วยตอนปิดถนนมาเรียนกับอาจารย์ยักษ์ เป็นการทำนาที่ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ไม่ฉีดยาฆ่าแมลง เพื่อสร้างความยั่งยืนทางอาหาร ซึ่งคำถามแรกที่ปะทะเข้ามาเต็มๆ คือ ”ถ้าไม่ใช้ปุ๋ยเคมีก็ไม่มีทางมีข้าวกิน” เพราะแปลงข้างๆ ที่ฉีด แมลงก็จะมากินข้าวที่แปลงเราแทน

แต่อาจารย์ยักษ์พิสูจน์ให้เห็นว่าแม้จะไม่ใช้สารเคมี ผลผลิตก็ไม่ลดลง โดยขอแค่คนละหนึ่งไร่เป็นไข่แดงตรงกลางในการไม่ใช้สารเคมี

ชาวนารุ่นแรกที่คุณหนาวนำมาอบรมกับอาจารย์ยักษ์ที่มาบเอื้อง รวม 100 คน ออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด มีเพียง 50 คน เป็นกลุ่มที่อาจารย์ยักษ์จุดติด และมุ่งมั่นตั้งใจกลับไปทำงานธรรมชาติ กระทั่งผ่านไป 4 เดือน เหลือชาวนาที่ทำนาธรรมชาติไม่ใช้สารเคมี 16 คน แต่นั่นถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่สามารถขยายเครือข่ายได้อย่างแข็งแกร่งในระยะต่อมา

สำหรับบันได 9 ขั้น ที่ทั้งอาจารย์ยักษ์และ “โจน จันใด” สอนนั้น ประยุกต์มาจากหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ได้รับพระราชทานมาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙  มี 2 ระดับ คือระดับพื้นฐานกับก้าวหน้า บันไดขั้นที่ 1-4 คือ เศรษฐกิจพอเพียงขั้นพื้นฐาน “พอกิน-พอใช้-พออยู่-พอร่มเย็น” เกษตรกรและชาวนาต้องทำอย่างไรให้พอกิน ไม่ต้องซื้อกิน ทำอย่างไรให้พอใช้ สบู่ แชมพู ทำเองได้หรือไม่ จะได้ไม่ต้องซื้อใช้ ทำอย่างไรให้พออยู่ ปลูกป่า จะได้มีอากาศร่มเย็น ไม่มี PM สร้างบ้านเองได้หรือไม่ โดยยึดหลัก “เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาสิของจริง” ให้ความสำคัญกับข้าวปลาอาหารมากกว่าเงิน

บันไดขั้นที่ 5-9 คือ “บุญ-ทาน-เก็บรักษา-ขาย-สร้างเครือข่าย” เป็นเศรษฐกิจพอเพียงขั้นก้าวหน้า ถ้าเหลือจากการบริโภคแล้วให้ทำบุญและเผื่อแผ่ก่อน รวมถึงเก็บรักษาแปรรูปไว้กินไว้ใช้ยามวิกฤต เหลือจากนี้ค่อยขายในราคาที่เป็นธรรม เพื่อสร้างเครือข่ายต่อไป

“ข้าวกล้องสันป่าตอง” ข้าวกล้องแสนอร่อย ผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อของธรรมธุรกิจ

ในปีแรก ธรรมธุรกิจสนับสนุนให้ชาวนาปลูกข้าวโดยไม่ใช้สารเคมี ในปีต่อๆ มาสนับสนุนให้ปลูกผักกินเอง และทำโคกหนองนาโมเดล หลังจากเหลือจากบริโภคแล้วจึงนำมาจำหน่ายผ่านธรรมธุรกิจ ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อคือ “ข้าวกล้องสันป่าตอง” ตลอดจนผักและผลไม้ปลอดสารพิษ โดยมี “ตลาดนัดธรรมชาติ” เป็นหน้าร้าน

“เราไม่สั่งให้ปลูก เขาอยากกินอะไรก็ปลูกอันนั้น เหลือเรารับมาขาย ปี 2559 เราเริ่มทำตลาด เปิดตลาดนัดธรรมชาติที่วัดพระราม 9 ตอนแรกเปิดในวัดเลย หน้าอาคารธรรมสถาน พอปี 2563 โควิดมา เราก็ทำตลาดนัดธรรมชาติเคลื่อนที่ เป็นเหมือนรถพุ่มพวง”

คุณหนาวเล่าถึงที่มาของ “ข้าวกล้องสันป่าตอง” ว่า เป็นข้าวกล้องข้าวเหนียวที่มาจากชาวนาที่ปิดถนนตอนนั้น สามารถหุงด้วยหม้อไฟฟ้าได้ มีรสชาติและรสสัมผัสที่นุ่มอร่อย โดยตอนแรกใช้คำว่า “ข้าวกล้องมหัศจรรย์” และเปลี่ยนเป็น “ข้าวกล้องสันป่าตอง” ตามชื่อที่ร้านอาหารชื่อดังอย่าง “อิษยา” ใช้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งลูกค้ารายใหญ่  ปัจจุบันข้าวกล้องสันป่าตองเป็นที่นิยมของผู้บริโภคเป็นวงกว้าง เพราะสามารถแก้เพนพอยต์ของข้าวกล้องได้อย่างอยู่หมัด ลบภาพข้าวกล้องแบบเดิมๆ เป็นข้าวกล้องที่อร่อยและรับประทานง่าย

#SAVE ชุมพรคาบาน่า รักษาผืนดินของประเทศ พร้อมต่อยอดทางธุรกิจ

ปี 2562 เกิดความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญของธรรมธุรกิจ กับการเกิดขึ้นของโครงการ #SAVE ชุมพรคาบาน่า คำถามคือ ชุมพรคาบาน่ามีความสำคัญอย่างไร และเกิดเหตุการณ์อะไร ทำไมต้องเข้าไปช่วย

“ชุมพรคาบาน่า” เป็นรีสอร์ตของคุณวริสร รักษ์พันธุ์ ลูกศิษย์อาจารย์ยักษ์รุ่นแรกที่ทำตามเศรษฐกิจพอเพียงจนโด่งดัง สามารถสร้างชุมพรคาบาน่าจากผืนทรายให้กลายเป็นผืนป่า บนที่ดิน 20 ไร่ มีทั้งป่า รีสอร์ต ศูนย์ฝึกอบรม ที่อบรมคนไปแล้วกว่า 7,000 คน แต่เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ทำให้ชุมพรคาบาน่าต้องประสบปัญหาทางการเงิน และกำลังจะถูกขายทอดตลาด

“อย่างแรกเลยคือเขาเป็นศิษย์พี่ เป็นลูกศิษย์อาจารย์ยักษ์และมีอุดมการณ์เดียวกัน ยุคนั้นคุณอภิชาติ ดำดี ไปถ่ายรายการถึงที่นั่นจนดัง ปลูกข้าว ปลูกผัก บนพื้นทรายได้อย่างไร เพราะเอาองค์ความรู้ของอาจารย์ยักษ์ไปทำ ตอนเราไปช่วยเขา ผมใช้คำว่าเซฟ เพราะไปช่วยกันรักษาแผ่นดินเอาไว้ไม่ให้ถูกขายทอดตลาด ต้องหาเงิน 120 ล้านไปจ่ายเจ้าหนี้ของชุมพรคาบาน่า”

เดือนมีนาคม 2562 ธรรมธุรกิจเปิดโครงการเซฟชุมพรคาบาน่าเพื่อระดมเงิน ด้วยการเปิดขายหุ้น แต่ถ้าย้อนกลับไปตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทธรรมธุรกิจ คุณหนาวมีการขายหุ้นมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว แต่ ณ ตอนนั้น ยังไม่มี พ.ร.บ. วิสาหกิจเพื่อสังคม (ซึ่งมาประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2562)

“ผมบอกอาจารย์ยักษ์กับพี่โจนตอนเริ่มทำโครงการว่า ผมไม่ใช่เถ้าแก่โรงสีร่ำรวยอย่างเมื่อก่อนแล้ว ผมอยากชวนคนมาเป็นเจ้าของร่วมกัน มาหุ้นกัน มาเปิดบริษัทร่วมกัน กฎหมายแก้แล้วว่า บริษัทจำกัดสามารถมีผู้ถือหุ้นได้ไม่จำกัด แต่เราไม่รู้ว่ามันห้ามขายหุ้นเป็นการทั่วไป เพราะมี พ.ร.บ. หลักทรัพย์อยู่”

“แต่ตอนนั้นผมขายไปแล้ว ประกาศผ่านเฟซบุ๊ก อาจารย์ยักษ์ขึ้นไปประกาศบนเวทีในงานมหกรรมคืนชีวิตให้แผ่นดิน งานประจำปีของเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติที่มาบเอื้องว่า เราจะทำบริษัทธรรมธุรกิจ ใครอยากจะหุ้นกับเรา หุ้นเลย แต่ต้องฝึกอบรมก่อน โอกาสที่เจ๊ง 98% โอกาสรอด 2% คนสนใจยกมือกันพรึบพรับเพราะอาจารย์ยักษ์”

ช่วงปี 2559 ก.ล.ต. มีความกังวลเพราะกลัวว่าจะผิดกฎ แต่เมื่อคุณหนาวเข้าไปชี้แจงแล้ว ก.ล.ต. เห็นว่าเป็นโครงการที่ดีน่าสนับสนุน แต่ขอให้หยุดขายหุ้นไว้ก่อน พร้อมไปผลักดัน พ.ร.บ. วิสาหกิจเพื่อสังคมให้ผ่านก่อน

ดังนั้น ในช่วงแรกจึงยังไม่สามารถขายหุ้นเพื่อมาเซฟชุมพรคาบาน่าได้เพราะยังมี พ.ร.บ. หลักทรัพย์ กำหนดอยู่ คุณหนาวจึงทำหนังสือถึง ก.ล.ต. ว่าความจำเป็นต้องระดมเงิน 120 ล้าน และไม่ใช้คำว่า “หุ้น” แต่ใช้คำว่า “ลงขัน” แทน ซึ่งการลงขันมี 2 แบบ คือ 1. ลงขันแบบมีส่วนร่วม บริจาคเท่าไรก็ได้ 2. ลงขันแบบให้กู้ ให้บริษัทธรรมธุรกิจกู้ ดอกเบี้ย 3% ต่อปี

สุดท้ายสามารถหาเงินได้ครบและเซฟชุมพรคาบาน่าไว้ได้ ถือเป็นการรักษาทั้งผืนดินและต่อจิ๊กซอว์ธุรกิจของธรรมธุรกิจด้านการท่องเที่ยวไปในตัว ซึ่งคุณหนาวเปิดเผยว่า ภายในปีนี้ธรรมธุรกิจจะมีการเปิดตัวแอปพลิเคชันจองห้องพักกับโรงแรมในเครือข่ายที่ต้องเป็นลูกศิษย์ของยักษ์กะโจนเพื่อเดินหน้าขยายธุรกิจท่องเที่ยวตามที่วางไว้

เปิดตัวร้านอาหาร “ยักษ์กะโจน” สร้างระบบอาหารธรรมชาติแท้ ตั้งเป้าเปิดทุกอำเภอ

ปลายปี 2564 ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังไม่จางหาย ธรรมธุรกิจต่อยอดธุรกิจด้านอาหารด้วยการเปิดตัว “ร้านยักษ์กะโจน” ร้านอาหารที่ใช้วัตถุดิบจากศิษย์ยักษ์กะโจน และเป็นซูเปอร์มาร์เกตขายสินค้าจากเครือข่าย ที่มีทั้งข้าวกล้องสันป่าตอง ข้าวหอมมะลิธรรมชาติ พืชผักพื้นบ้าน มะละกอ กล้วย แตงโม ไข่ไก่ อาหารทะเลจากประมงพื้นบ้าน จ.ชุมพร และผลิตภัณฑ์แปรรูปของเกษตรกร เช่น น้ำมันมะพร้าว สบู่เหลว น้ำยาล้างจาน วางจำหน่าย

ร้านยักษ์กะโจนถือเป็นช่องทางกระจายสินค้าและแบรนดิ้งชั้นดี แต่สิ่งที่ธรรมธุรกิจต้องการมากกว่านั้น คือการเปลี่ยนวิถีการกินของคนในปัจจุบัน มาสู่การกินที่หลากหลายและกินอย่างรู้ที่มา ตามหลัก “กินที่มี รู้ที่มา” เพื่อสร้างระบบอาหารธรรมชาติแท้

“วันนี้ลูกศิษย์ยักษ์กะโจนในเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ จัดตั้งคณะทำงานระดับจังหวัดไปแล้วถึง 57 จังหวัด ขับเคลื่อนสังคม ปลูก แปรรูป ประมงพื้นบ้าน เปิดธุรกิจห้องปลาขึ้นเพื่อรับซื้อปลาจากประมงพื้นบ้านมาขายในร้านอาหาร เราจะไม่ใช้เนื้อสัตว์ที่เลี้ยงด้วยอาหารกระสอบ นี่คือระบบอาหารธรรมชาติแท้ รู้ว่าอาหารที่เรากินมีที่มาอย่างไร”

ปัจจุบันร้านยักษ์กะโจนมีจำนวนทั้งสิ้น 4 สาขา ได้แก่ ถนนบรรทัดทอง, หมู่บ้านสัมมากร, รุ่งอรุณ และชุมพรคาบาน่า แต่ความฝันขั้นต่อไปของธรรมธุรกิจคือการขยายเครือข่ายไปทุกอำเภอทั่วประเทศด้วยโมเดล “ร้านยักษ์กะโจนพาร์ตเนอร์” ลักษณะเหมือนแฟรนไชส์แต่ไม่เก็บค่าแฟรนไชส์ เปิดโอกาสให้ทุกคนได้เข้ามาเป็นเจ้าของร่วมกัน เพื่อเป็นการขยายตลาดและปรับวิถีการกินได้อย่างยั่งยืน โดยระยะต้นตั้งเป้าขยายสาขาใน 4  จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ ให้ครบ 69 สาขา 69 เขต

ซึ่งคุณหนาวกล่าวว่าการขยายสาขาร้านยักษ์กะโจนนั้นไม่ได้เพื่อต้องการขายของเพียงอย่างเดียว แต่ยังทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานของศิษย์ยักษ์กะโจนทั้งประเทศอีกด้วย

เป้าหมายหลักสร้างระบบเศรษฐกิจพอเพียงผ่าน อาหาร การท่องเที่ยว และสุขภาพ

ตามที่กล่าวไปข้างต้นว่า เป้าหมายของธรรมธุรกิจคือการสร้างระบบเศรษฐกิจพอเพียง ผ่าน 3 หมวดธุรกิจ ได้แก่ อาหาร การท่องเที่ยว และสุขภาพ ซึ่งเกี่ยวโยงกันทั้งหมด

สำหรับธุรกิจด้าน “อาหาร” คือการสร้างระบบอาหารธรรมชาติแท้ ขยายตลาดอาหารปลอดสารเคมีจากชาวนาและเกษตรกรในเครือข่าย มีช่องทางการจำหน่ายผ่านตลาดนัดธรรมชาติ ถ.พระราม 9 ซอย 17 เปิดทุกวันเสาร์-อาทิตย์, รถพุ่มพวง จำนวน 2 คัน วิ่งรถทุกวันพุธ พฤหัสบดี และเสาร์-อาทิตย์, ร้านยักษ์กะโจน รวมถึงช่องทางออนไลน์

“ธุรกิจท่องเที่ยว” มีชุมพรคาบาน่าเป็นพี่ใหญ่ รวมถึงมีการจัดทริปพาคนกินไปพบคนปลูกที่สะเมิง เป็นต้น

ส่วนอีกหนึ่งหมวดคือ “สุขภาพ” ธรรมธุรกิจจะใช้เครือข่ายของลูกศิษย์ยักษ์กะโจนที่มีอยู่ทั่วประเทศและครอบคลุมธุรกิจด้านสุขภาพ รวมถึงแพทย์ทุกศาสตร์ที่ไม่ใช่ศาสตร์ฝรั่งที่อยู่ในเครือข่ายเป็นตัวขับเคลื่อน โดยปัจจุบันมีบริการหมอนวดกดจุดจากสะเมิงเป็นตัวนำร่อง และคาดว่าจะขยายไปด้านต่างๆ มากขึ้นในอนาคต

“ตอนนี้ทำไปครบทุกหมวดธุรกิจแล้ว เหลือแค่เพียงขยายเชิงปริมาณและรักษาคุณภาพไว้ให้ได้ ตลาดนัดไม่ขยาย รถพุ่มพวงขยายได้ ร้านอาหารยักษ์กะโจนขยายในลักษณะยักษ์กะโจนพาร์ตเนอร์ แฟรนไชส์ที่ไม่เก็บค่าแฟรนไชส์และ GP เราได้ตลาด ระบายของ กำไร พาร์ตเนอร์ต้องหุ้นกัน เงื่อนไขแรกต้องติดกระดุมทางความคิดให้ตรงกัน โดยการไปอบรมกับอาจารย์ยักษ์ก่อน เราต้องการได้คนทำงาน เพราะเขาจะรู้สึกความเป็นเจ้าของ”

หุ้นละ 101 บาท ไม่จำกัดจำนวนหุ้น เพื่อเป็นเจ้าของร่วมกัน

สำหรับการหาแหล่งเงินทุนของธรรมธุรกิจนั้น จะใช้วิธีระดมทุนจากผู้ที่สนใจสามารถซื้อหุ้นของบริษัทธรรมธุรกิจได้ โดยตั้งไว้ที่ 3 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 101 บาท สามารถซื้อได้ไม่จำกัดจำนวนหุ้น ข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2566 มีจำนวนผู้ถือหุ้น 17,000 คน คิดเป็น 1.6 ล้านหุ้น ธรรมธุรกิจคาดหวังคนอีกหนึ่งล้านคนมาซื้อหุ้นอีกล้านหุ้นเพื่อเป็นเจ้าของระบบอาหารธรรมชาติด้วยกัน

“ณ วันนี้ ผ่านมา 10 ปี คิดว่าเดินทางมาแล้ว 30% จากเป้าใหญ่ที่วางไว้ จะขึ้นไปถึง 50% เมื่อมีคนล้านคน หนึ่งล้านหุ้น คนไทยมี 70 ล้านคน ถ้า 1 ล้านคนเข้าใจเรื่องนี้มันจะเปลี่ยนแปลงประเทศไทย และเปลี่ยนเพียงแค่ ‘กิน’ เรียกว่า กินเปลี่ยนประเทศ”

แผนต่อไปของธรรมธุรกิจคือการเดินหน้าระดมทุน เพื่อเพิ่มทุนและขยายเครือข่าย เพิ่มจำนวนรถพุ่มพวงสำหรับขายผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ ขยายสาขาร้านอาหารยักษ์กะโจนในลักษณะยักษ์กะโจนพาร์ตเนอร์ ซึ่งคนที่เข้ามาเป็นพาร์ตเนอร์ต้องอบรมกับอาจารย์ยักษ์ก่อน รวมถึงขยายทุกหมวดธุรกิจในเชิงปริมาณมากขึ้น

กับคำถามสุดท้ายว่าตลอด 10 ปีของการเดินทางที่ผ่านมา อะไรคือความท้าทายที่สุด

“สิ่งที่ท้าทายคือ ‘คน’ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดทุกภาคส่วน รัฐ นักวิชาการ คนปลูก คนกิน เอกชน คนทำงาน สื่อมวลชน เพราะความเข้าใจในธรรมในทุกศาสนามันมีหลายระดับ ทำอย่างไรให้คนเข้าใจเรื่องนี้ได้อย่างลึกซึ้ง และนำมาขับเคลื่อนธุรกิจมันไม่ง่ายเลย อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือคนกินต้องเปลี่ยนแปลง ถ้าคนไทยเปลี่ยนวิถีการกิน เราจะเปลี่ยนแปลงการเกษตรของไทยให้ดู”.