วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > เปิดเป้าหมาย หมอกัมพล โซ่เจริญธรรม จากคลินิกความงามสู่ Medical Hub

เปิดเป้าหมาย หมอกัมพล โซ่เจริญธรรม จากคลินิกความงามสู่ Medical Hub

จากค่านิยมและกระแสสังคมในปัจจุบัน ทำให้ธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพและความงามยังคงเป็นธุรกิจที่มาแรงและน่าจับตามอง เห็นได้จากผลสรุปเทรนด์ธุรกิจที่มาแรง หรือธุรกิจดาวรุ่ง ในแต่ละปีธุรกิจการแพทย์ สุขภาพและความงามมักจะอยู่ในอันดับต้นๆ เสมอ จึงไม่น่าแปลกใจหากเราจะเห็นคลินิกความงามเปิดใหม่จำนวนไม่น้อย และอยู่ในหลายพื้นที่ ทั้งบนห้างสรรพสินค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือในรูปแบบสแตนอโลน

Krungthai Compass มองว่าตลาดเสริมความงามของไทยเติบโตต่อเนื่อง ทั้งกลุ่มลูกค้าชาวไทยและนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ที่ต้องการเสริมความงาม โดย ISAPS ระบุว่า ไทยมีการเสริมความงามมากเป็นอันดับที่ 14 ของโลก เนื่องจากไทยมีชื่อเสียงและคุณภาพการรักษาเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ค่ารักษาพยาบาลถูกกว่าหลายประเทศ

รายงานของ Grand View Research ประเมินว่า ปี 2570 มูลค่าตลาดเสริมความงามทั่วโลกจะขึ้นไปแตะระดับประมาณ 7.14 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 2.16 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นประมาณ 2.5 เท่าของปี 2563

บริษัทวิจัยด้านการตลาด Allied Market Research พบว่า กลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์เพื่อเสริมความงามสร้างรายได้ให้ไทยมากที่สุด คาดว่าปี 2570 จะมีมูลค่าตลาดกว่า 5.86 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 24% ของมูลค่าตลาดท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทย

KTC Clinic คลินิกความงามในกลุ่มนิชมาร์เก็ต ที่มีผู้บริหารหลักอย่าง นายแพทย์กัมพล โซ่เจริญธรรม และแพทย์หญิงธีรธร ทองก้อนใหญ่ หลังจากที่สาขาแรกบนห้างสรรพสินค้า เดอะ มอลล์ บางแค เปิดให้บริการมาเกือบ 20 ปี ตัดสินใจขยายสาขาที่สองมาอยู่ทำเลสำคัญอย่างย่านสีลม บนห้างสรรพสินค้า สีลมเอจ หวังเพิ่มความถี่การเข้าใช้บริการของลูกค้า

“การขยายสาขาที่สอง เราต้องการเข้าถึงคนไข้มากขึ้น จริงอยู่ที่ว่า ที่ตั้งสาขาแรกของเราคนไข้ก็สามารถเดินทางได้ แต่ในบางครั้งคนไข้อาจรู้สึกว่าไกล เราจึงตัดสินใจขยับเข้ามาใจกลางเมือง ซึ่งจะช่วยให้คนไข้สามารถเข้ามารับบริการกับเราได้บ่อยขึ้น” นายแพทย์กัมพลขยายความ

ธุรกิจคลินิกความงามมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี ส่วนหนึ่งเพราะค่านิยมของผู้บริโภคที่เริ่มเปลี่ยนไป นอกจากการดูแลใส่ใจในสุขภาพของตัวเองแล้ว สิ่งหนึ่งที่เพิ่มขึ้นคือ ความต้องการดูดีจากภายนอก “ธุรกิจความงามเติบโตติดต่อกันมาในแต่ละปี 30-50% โดยเฉพาะในตลาดคนไทย ผมมองว่าเป็นโอกาสที่ดี นอกจากนี้ เรายังมีลูกค้าที่เป็นชาวต่างชาติ เพราะฉะนั้นการเติบโตยังสูงได้อีก เห็นได้จากการเพิ่มจำนวนของคลินิกความงาม”

ธุรกิจความงามในปัจจุบันไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงลูกค้าผู้หญิง นายแพทย์กัมพล บอกกับ “ผู้จัดการ 360 องศา” ว่า “ตลาดความงามไม่ได้จำกัดเพศอีกแล้ว เดี๋ยวนี้ผู้ชายเริ่มหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพตัวเองมากขึ้น โดยเฉพาะผิวพรรณ ลูกค้าผู้ชายต้องการมีสุขภาพผิวที่ดี เพียงแต่ไม่ได้ลงลึกในรายละเอียดเท่าลูกค้าผู้หญิง ปัจจุบันแบรนด์ต่างๆ มีการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับการดูแลผิวหน้าสำหรับผู้ชายโดยเฉพาะ”

ขณะที่การแข่งขันของคลินิกความงามที่เพิ่มสูงขึ้น ตามอัตราการเติบโต แต่ KTC Clinic วางตำแหน่งทางการตลาดของตัวเองไว้ในระดับนิชมาร์เกต ที่ชูจุดแข็งเรื่องการใช้เทคโนโลยีที่ได้มาตรฐาน ผลิตภัณฑ์สำหรับผิวหน้าคุณภาพสูง รวมถึงไม่เน้นการโฆษณาประชาสัมพันธ์มากจนเกินพอดี “เราไม่ลงไปแข่งขันในเรื่องราคา แต่เราแข่งขันในเรื่องมาตรฐาน เทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง ซึ่งตลาดนี้จะมีลูกค้าอยู่แล้ว เห็นได้ชัดหลังโควิดคลี่คลาย เมื่อคลินิกสามารถเปิดให้บริการได้ ลูกค้าของเรากลับมาใช้บริการทันที เราไม่ได้รับผลกระทบเลย

“ขณะที่เรื่องการทำการตลาด เราไม่มีเซลส์แบบเจ้าอื่นๆ เราใช้วิธีพูดคุยโดยตรงระหว่างหมอกับคนไข้ เน้นให้ความรู้ ความเข้าใจ ความเป็นเหตุเป็นผล คนไข้ของเราจะบอกต่อถึงความประทับใจ นี่จึงกลายเป็นจุดแข็งของเรา คลินิกมีการใช้สื่อโซเชียลบ้าง จุดประสงค์เพื่อให้ลูกค้ารู้จักเรา แต่ไม่ใช้โซเชียลมากเกินความจำเป็นซึ่งจะไปลดความน่าเชื่อถือของเราลง”

“ถึงเราจะเป็นคลินิกที่มีลูกค้าระดับบนเป็นส่วนใหญ่ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ต้อนรับลูกค้ากลุ่มอื่นๆ บางครั้งลูกค้าศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับคลินิกเรา มีความเชื่อมั่นในมาตรฐานของเรา เก็บเงินเพื่อมาหาเราโดยเฉพาะ ถึงเราจะเป็นคลินิกระดับนิช แต่ไม่ได้หมายความว่าจะมีค่ารักษาที่แพงเสมอไป เราดูตามพื้นฐานของคนไข้เป็นหลัก ไม่ได้เน้นขาย เพราะบางคนอาจไม่ต้องแก้ไขจุดบกพร่องอะไรเลย เราก็แนะนำตามตรง”

นอกจากการขยายสาขาสองแล้ว นายแพทย์กัมพลยังตั้งเป้าหมายไว้ไกลกว่านั้น เมื่อเห็นว่าธุรกิจ Wellness ในประเทศไทยยังมีทิศทางการเติบโตอีกมาก “ธุรกิจของเราเจริญเติบโตขึ้น เบื้องต้นเรามองว่า จะเพิ่มจำนวนสาขา แต่ว่า ณ ปัจจุบัน ผมมีเป้าหมายไปถึงการทำโรงพยาบาลเพื่อสร้างมาตรฐานให้แก่ธุรกิจความงาม ในฐานะที่เราเป็นอาจารย์ การรักษามาตรฐานวิชาชีพเป็นสิ่งสำคัญ อย่ามองเรื่องเหตุผลของธุรกิจอย่างเดียว ตลาดนี้มักจะมีกลุ่มทุนที่เป็นนักธุรกิจเข้ามาร่วมเล่น แต่เขาจะมีมุมมองของการทำธุรกิจ มองผลกำไร แต่ไม่มีจรรยาบรรณทางการแพทย์ นี่เป็นจุดแตกต่างระหว่างเจ้าของคลินิกความงามที่เป็นนักธุรกิจกับเจ้าของที่เป็นแพทย์”

ในวงการแพทย์หลายปีก่อนศัลยกรรมความงามอาจถูกต่อต้านจากแพทยสภา แต่ปัจจุบันคงไม่ใช่อีกแล้ว เมื่อความไม่สวยเป็นโรคอย่างหนึ่ง เหมือนคนไข้ที่ไม่สบายกาย แต่นี่คือความไม่สบายใจ เขาต้องการรับการรักษา คำปรึกษา ดังนั้นการรักษามาตรฐานเกี่ยวกับความงาม เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องถ่ายทอดให้แพทย์รุ่นหลังด้วย นี่คือวิชันของเรา เราต้องการพัฒนา KTC ให้เป็นสแตนดาร์ดเพื่อเป็นตัวอย่างให้แพทย์เจนต่อไป เราจึงต้องขยับจากคลินิกไปเป็นโรงพยาบาลหรือเมดิคอลเซ็นเตอร์ความสวยความงามระดับแถวหน้าหรือระดับท็อปของประเทศ” นายแพทย์กัมพลอธิบายเหตุผลการมุ่งสู่เป้าหมายใหม่

“แผนการทำโรงพยาบาล เราอยู่ในช่วงของการพาพาร์ตเนอร์ คิดว่าจะเห็นความชัดเจนขึ้นในช่วง 1-2 ปีนี้ ซึ่งสถานที่เรามีวางไว้ระหว่างย่านสุขุมวิทหรือวิภาวดี ซึ่งที่ดินเป็นลักษณะ Land Lord คือเราเช่าในระยะยาว ซึ่งขนาดของโรงพยาบาลจะอยู่ที่ 5,000-10,000 ตร.ม. เป็นโรงพยาบาลขนาด 70 เตียง โดยการก่อสร้างจะแบ่งเป็นเฟส เฟสแรกใช้งบประมาณ 400 ล้านบาท เพื่อให้พร้อมใช้งาน 20 เตียง จากนั้นค่อยๆ ขยายจนเต็มพื้นที่ คาดว่าจะใช้งบประมาณทั้งสิ้นประมาณ 2,000 ล้านบาท”

ดูเหมือนเป้าหมายของนายแพทย์กัมพลจะไม่ใช่การสร้างโรงพยาบาลที่เกี่ยวกับศัลยกรรมความงามเท่านั้น โดยนายแพทย์กัมพลระบุว่า โรงพยาบาลแห่งนี้จะมีทั้งการทำศัลยกรรมตกแต่ง ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ทันตกรรม ให้คำปรึกษาเรื่องการมีบุตรยาก ศูนย์ดูแลเรื่องผิวหนัง จักษุแพทย์ Wellness ศูนย์รักษาโรคหายาก โรคทางพันธุกรรมบางชนิด โรคมะเร็ง “เราไม่ได้ต้องการจะเป็นแค่ Thailand Leader แต่เราต้องการจะเป็น Asia Leader หรือ World Leader”

Health & Wellness เป็นหนึ่งในเมกะเทรนด์ของโลกที่ยังคงแรงไม่ตก Global Wellness Institute เคยคาดการณ์ไว้ว่า มูลค่าเศรษฐกิจเพื่อสุขภาพของทั้งโลกจะแตะ 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 266 ล้านล้านบาทในปี 2568 ซึ่งสาขาที่มีมูลค่าธุรกิจสูงที่สุดคือ การดูแลตัวเอง ความสวยงาม และเวชศาสตร์ชะลอวัย

เป้าหมายของนายแพทย์กัมพลกับการสร้างโรงพยาบาลที่ไม่ใช่เพียงโรงพยาบาลศัลยกรรม หรือโรงพยาบาลเฉพาะทางเท่านั้น น่าจะเป็นเพราะการจำกัดตัวเองอยู่ในด้านเดียว อาจเป็นกรอบที่ไม่สามารถนำไปสู่โรงพยาบาลที่ครบครัน แบบ one stop service ได้ แต่แน่นอนว่า การครอบคลุมการรักษาในหลายๆ ด้าน ย่อมต้องใช้งบประมาณที่สูงขึ้นด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ ยังแย้มให้ฟังถึงงานวิจัยใหม่ที่คุณหมอและทีมร่วมกันพัฒนาขึ้นมา ซึ่งคาดว่าจะออกผลิตภัณฑ์ในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ โดยโครงการวิจัยนี้ทุ่มทุนไปราว 100 ล้านบาท

การขยายตัวของตลาดเสริมความงามในไทยจะเอื้อประโยชน์ให้แก่ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจการบริการ ธุรกิจยาและเครื่องมือแพทย์ ธุรกิจนำเข้า แม้ว่าปัจจุบันไทยยังไม่ใช่เบอร์หนึ่งในตลาดเสริมความงามของโลก ไทยอยู่ในอันดับ Top 3.