“ตู้ยาเมดิสเกิดจากปัญหาส่วนตัว เป็นความต้องการของผู้บริหารอย่างผมเองนี่แหละ มีลูก ลูกไม่สบาย ผมไปร้านขายยาแล้ว ร้านปิด เราต้องการยาในเวลาฉุกเฉินแต่ไม่สามารถหาซื้อได้ เกิดเป็นแนวคิด เมื่อร้านขายยาไม่สามารถขายยาได้ 24 ชั่วโมง และผู้คนไม่สามารถเข้าถึงยาได้ 24 ชม. เราจึงผนวกเข้ากับตู้ Vending Machine เตรียมเทคโนโลยีรองรับอนาคต มีระบบเทเลพูดคุยกับเภสัชกร หรือหมอ รับยาได้เลย”
สรพล พันธุมะผล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมดิส คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ MEDIS กล่าวกับ “ผู้จัดการ360 องศา” ถึงไอเดียเริ่มต้นธุรกิจแพลตฟอร์มจำหน่ายยาสามัญประจำบ้าน 24 ชั่วโมง (24-Hour Medicine Dispenser Platform) ผ่านระบบตู้จ่ายยาอัตโนมัติ (Vending Phamacy) ซึ่งถือเป็นเจ้าแรกในประเทศไทย
สรพลเล่าว่า เขากับเพื่อนอีกคน คือ วีรธิป กระตุฤกษ์ มองเห็น Pain Point และความต้องการ “ยา” ซึ่งเป็นปัจจัยสี่ แต่เวนดิ้งแมชีนในปัจจุบันมีเพียงกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ไม่มียา ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ซึ่งจำเป็นต่อชีวิตเหมือนกัน
ขณะที่คนส่วนใหญ่ไม่ซื้อหรือสต็อกยาประจำบ้าน บางบ้านไม่มีตู้ยาสามัญประจำบ้านด้วย นั่นทำให้บริษัทวางเป้าหมายตั้งแต่วันแรกที่เปิดธุรกิจเมื่อ 3 ปีก่อน ต้องการให้ตู้เมดีสเป็นตู้ยาสามัญประจำบ้านของคนไทย หรือของชุมชนตลอด 24 ชม. ไม่ต้องซื้อตุนไว้ เพราะการซื้อตุนมีหลายเพนพอยต์ตามมา ไม่ว่าจะเป็นปัญหายาหมดอายุ เปิดตู้ยาสามัญประจำบ้านแล้วไม่รู้ต้องกินยาตัวไหน หรือรู้ว่าต้องกินยาอะไร แต่หมดโดยไม่รู้
“เมดิสเปิดบริษัทเข้าปีที่ 3 ทำเกี่ยวกับเวนดิ้งแมชีนด้านยาอย่างเดียวเลย บริษัทวางแผนและศึกษาเพื่อการจำหน่ายยาก่อน 1 ปี ดูความเป็นไปได้และเห็นโอกาสการเติบโต”
ทั้งนี้ บริษัทประเดิมติดตั้ง 2 ตู้แรกในปี 2564 เฟสแรกเน้นกลุ่มที่อยู่อาศัย คอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน โรงแรม โรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งได้รับเสียงตอบรับดีมาก และล่าสุดสามารถกระจายติดตั้งได้มากกว่า 45 ตู้ ครอบคลุมเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีการเซ็นเอ็มโอยูร่วมกับบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และบริษัทบริหารจัดการชุมชน เช่น แอลพีเอ็น, เอพี, แสนสิริ, อนันดา และ เมเจอร์ดีเวลลอปเม้นท์ รวมทั้งมีผู้สนใจอีกจำนวนมาก
ณ ปัจจุบัน ตู้ยาเมดิส บรรจุสินค้า 44 เอสเคยู แบ่งเป็นกลุ่มยาสามัญประจำบ้าน ซึ่งรวมถึงยาสมุนไพรที่ช่วยเหลือผู้ป่วยโควิดได้ เครื่องมือแพทย์ที่ขายได้ตามร้านขายยาทั่วไป อุปกรณ์ทำแผลเบื้องต้น ยาแดง พลาสเตอร์ แผ่นแปะแก้ปวดหลัง ยาดม ยาหม่อง อุปกรณ์ตรวจการตั้งครรภ์ ผ้าอนามัย ถุงยางอนามัย กลุ่มน้ำดื่มเฮลตี้ อาหารเสริมและวิตามิน ซึ่งราคาขายอยู่ในระดับเดียวกับร้านขายยาทั่วไป สามารถชำระเงินทั้งรูปแบบเงินสด และ Online Payment เช่น QR Code PromptPay, QR Credit, TrueMoney Wallet
สำหรับแผนในปี 2566 บริษัทวางเป้าหมายติดตั้งประมาณ 100 ตู้ ปี 2567 ขยายเพิ่ม 500 ตู้ หลังจากนั้นขยับขึ้นหลักพันและหลักหมื่นต่อไป โดยจะกระจายออกสู่ต่างจังหวัดภายในปีหน้าและมองไกลถึง 70,000 หมู่บ้าน 7,000 ตำบล ทั่วประเทศ ภายใน 5 ปี รวมทั้งจะดันบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายใน 3-4 ปี เพื่อระดมเงินทุนต่อยอดธุรกิจ ทั้งการขยายไลน์ตู้รูปแบบต่างๆ เพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย เช่น Mobile application เว็บไซต์
ล่าสุด เมดิส คอร์ปอเรชั่นร่วมเป็นพาร์ตเนอร์กับบริษัท โรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ JSP จัดงานเปิดตัวแฟรนไชส์ตู้ขายยาอย่างเป็นทางการในวันที่ 23 เมษายนที่เมืองทองธานี โดยพุ่งเป้าเจาะร้านขายยาเป็นกลุ่มแรก เพื่อรุกขยายออกสู่ต่างจังหวัดอย่างรวดเร็ว
เช่น กลุ่มร้านขายยาในตำบลที่ต้องการขยายจุดจำหน่ายรอบๆ ในระยะ 5 กิโลเมตร ภายใต้เงินลงทุนหลักแสนต่อตู้ เทียบกับการเปิดร้านขายยา 1 แห่ง ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนหลักล้านบาท และถ้าได้ผลตอบรับที่ดีจากกลุ่มร้านขายยา นั่นหมายถึงการสร้างเครือข่ายดิสทริบิวเตอร์ทั่วประเทศ
“ตู้ยาเฟสแรกเน้นขายยาสามัญ อุปกรณ์เบื้องต้น แต่บริษัทเตรียมเทคโนโลยีในอนาคตรองรับการสั่งยากลุ่มยาอันตราย เมื่อกฎหมายอนุญาตให้สามารถทำได้และไม่ใช่ทุกคนซื้อได้ เพราะต้องเสียบบัตรประชาชน ควบคุมอายุผู้ซื้อและเทเลคอนเฟอเรนซ์แบบเห็นหน้า หมอต้องเป็นคนกดสั่งยาในตู้เท่านั้น เราเตรียมไว้แล้ว เมื่อกฎหมายรองรับ ตู้ทำได้หมด”
ดังนั้น บริการเทเลฟาร์มาซีเฟสแรกจะเป็นการให้คำปรึกษาทั่วไป เช่น ให้คำปรึกษาต้องรับประทานยาอะไร แนะนำให้ซื้อจากร้านขายยาได้ ให้คำปรึกษาฟรี โดยจ้างเภสัชกร หรือร่วมมือกับโรงพยาบาล เพื่อช่วยเหลือสังคม ให้ประชาชนสามารถใช้อินเทอร์เน็ตฟรีเทเลคุยกับเภสัชกร คุยกับหมอได้
แน่นอนว่า Vending Phamacy ถือเป็นช่องทางใหม่ที่ท้าทายทั้งในแง่ผู้ขาย ลูกค้าและการกระตุ้นตลาด เพราะถ้าพลิกดูข้อมูลสำรวจของศูนย์วิจัยธนาคารกรุงศรีอยุธยาประเมินว่า ธุรกิจการจำหน่ายยาทั้งระบบยังเติบโตได้ต่อเนื่อง โดยปี 2565 มูลค่าจำหน่ายยาในประเทศมีแนวโน้มเติบโต 4.5-5.0% จากปี 2564 และคาดการณ์ปี 2566-2568 จะเติบโตขึ้นอีก จากแนวโน้มการเจ็บป่วยเพิ่มขึ้น การเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และกระแสการใส่ใจสุขภาพ ความต้องการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน
ที่สำคัญ หากเจาะเฉพาะกลุ่มร้านขายยาทั่วไป (Stand-alone) ข้อมูลล่าสุดเมื่อปี 2565 มีร้านขายยาทั่วประเทศสูงถึง 22,205 แห่ง และเป็นร้านขายยาแผนปัจจุบันในสัดส่วนถึง 83.5% หรือ 18,551 แห่ง ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ 19.8% และต่างจังหวัด 80.2%
ในกลุ่มร้านขายยาแผนปัจจุบันยังแบ่งเป็นร้านขายยาเดี่ยว (Stand-alone) ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นรายกลางและเล็ก (SMEs) ประมาณ 75% และร้านขายยาสาขา (Chain store) ส่วนใหญ่เป็นของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ลงทุนเองและขยายธุรกิจในรูปของแฟรนไชส์ เช่น ร้านขายยาฟาสซิโน ร้านขายยา Save drug เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ
นอกจากนี้ มีกลุ่มโมเดิร์นเทรด เช่น ดิสเคาน์สโตร์ ซูเปอร์มาร์เกต ร้านสะดวกซื้อ และกลุ่มร้านค้าหมวดสินค้าสุขภาพ ซึ่งเร่งขยายขอบข่ายธุรกิจ เพิ่มพื้นที่จำหน่ายสินค้ากลุ่มยาและเวชภัณฑ์ เพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคมากขึ้น เช่น วัตสัน บู๊ทส์ ซูรูฮะ ยังไม่รวมร้านค้าส่งผลิตภัณฑ์เภสัชภัณฑ์ที่หันมาทำตลาดร้านค้าปลีกมากขึ้นและค่อนข้างได้เปรียบด้านต้นทุนการจัดซื้อยาเมื่อเทียบกับธุรกิจร้านค้าปลีก/ร้านขายยาทั่วไป
ด้านมูลค่าจำหน่ายยาในประเทศมีอัตราเติบโต 2.5% แบ่งเป็นยาที่จำหน่ายผ่านโรงพยาบาลและสั่งจ่ายโดยแพทย์ (Prescription drug) ซึ่งเป็นตลาดหลักเติบโต 2.6% มูลค่ารวม 1.56 แสนล้านบาท กับยาที่จำหน่ายผ่านร้านขายยา (OTC drug) เติบโต 1.7% มูลค่ารวม 3.7 หมื่นล้านบาท
กรุงศรีวิจัยระบุว่า การเติบโตของร้านขายยาเป็นผลจากมาตรการภาครัฐทำให้ร้านขายยามีบทบาทเพิ่มขึ้น เช่น การเปิดให้เข้าร่วมเป็นร้านธงฟ้าประชารัฐรองรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การเปิดโครงการ “รับยาที่ร้านยาเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล” โครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) นอกจากนี้ ร้านขายยายังเป็นจุดบริการให้กลุ่มเสี่ยงสำหรับโรค COVID-19 และโรคอื่นๆ ทั้งการกระจายยา ให้คำปรึกษา ให้บริการทางโทรศัพท์ การใช้แอปพลิเคชันสื่อสารกับผู้ป่วย
ดังนั้น ตลาดยาและร้านขายยามีโอกาสเติบโตอีกหลายเท่าตัว โดยเฉพาะช่องทางขายปลีกที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคและเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งน่าจะรวมถึงแพลตฟอร์มใหม่ๆ อย่างตู้ขายยา 24 ชม.ด้วย.