วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
Home > Cover Story > กลุ่มทุนไทยเร่งขยายธุรกิจโรงแรม รองรับการท่องเที่ยวฟื้นตัว

กลุ่มทุนไทยเร่งขยายธุรกิจโรงแรม รองรับการท่องเที่ยวฟื้นตัว

สัญญาณการท่องเที่ยวเริ่มกลับมาฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2565 หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย และมีการเปิดประเทศปลดล็อกการเดินทาง ส่งผลให้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวกลับมาคึกคักอีกครั้ง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือธุรกิจโรงแรมที่มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มทุนไทยที่เร่งขยายธุรกิจโรงแรมเตรียมพร้อมรับมือกับการกลับมาของการท่องเที่ยว

เริ่มที่ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมรายใหญ่ของไทย อย่างบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DUSIT ซึ่งปี 2565 ที่ผ่านมา กลุ่มดุสิตธานีสามารถทำรายได้จากธุรกิจโรงแรมกลับมาได้ถึง 85% ของรายได้ในปี 2562 ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นรายได้ที่สูงกว่าที่ประมาณการไว้ที่ 75% ของรายได้ธุรกิจโรงแรมในปี 2562

สำหรับปี 2566 กลุ่มดุสิตธานีมีแผนขยายธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ตเพิ่มขึ้นอีก 14 แห่ง รวมทั้งสิ้นประมาณ 1,700 ห้อง ใน 7 ประเทศทั่วโลก ทั้งในยุโรป เอเชีย และประเทศไทย ซึ่งนั่นจะทำให้พอร์ตโฟลิโอใน 17 ประเทศทั่วโลกของกลุ่มดุสิตธานีมีโรงแรมรวมกันทั้งสิ้น 62 แห่ง ห้องพักรวม 13,700 ห้อง และยังมีอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการอีกกว่า 60 แห่ง ที่คาดว่าจะเปิดให้บริการภายใน 3-4 ปีข้างหน้า

โดยล่าสุดกลุ่มดุสิตธานีเตรียมเปิดให้บริการโรงแรมในกรุงเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เป็นครั้งแรก ได้แก่ “Asai Kyoto Shijo” (โรงแรมอาศัย เกียวโต ชิโจ) ที่บริหารภายใต้แบรนด์ ASAI Hotel แบรนด์โรงแรมแนวไลฟ์สไตล์ในเครือดุสิตธานี โดยโรงแรมตั้งอยู่ในย่าน Shijo-Karasuma (ชิโจ-คาราสุมะ) จำนวนห้องพัก 114 ห้อง คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนมิถุนายน 2566

ส่วนอีกหนึ่งแห่ง คือ “Dusit Thani Kyoto” (โรงแรมดุสิตธานีเกียวโต) ในย่าน Hanganji Monzen-Machi (ฮังกันจิ มอนเซ็น-มาจิ) อยู่ห่างจากสถานีรถไฟเกียวโต (Kyoto Station) เพียง 850 เมตร จำนวนห้องพัก 150 ห้อง จะเปิดให้บริการในเดือนกันยายน 2566

ในขณะที่บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL ผู้บริหารโรงแรมและรีสอร์ตในเครือเซ็นทารา สร้างรายได้ในปี 2565 ถึง 18,216 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 57% ภาพรวมของอัตราการเข้าพัก (OCC) อยู่ที่ 52% และราคาห้องพักเฉลี่ยอยู่ที่ 4,791 บาท ส่งผลให้รายได้ต่อห้องพักเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 193% เทียบกับปีก่อนอยู่ที่ 2,486 บาท จากข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565 เซ็นทารามีโรงแรมและรีสอร์ตในเครือทั้งหมด 92 แห่ง (เปิดให้บริการแล้ว 50 แห่ง และอยู่ระหว่างการพัฒนา 42 แห่ง) มีจำนวนห้องพักทั้งหมด 19,348 ห้อง ใน 13 ประเทศ

โดยในช่วง 3 ปีนี้ CENTEL วางงบลงทุนทั้งธุรกิจอาหารและโรงแรมไว้ที่ 15,000-23,000 ล้านบาท เป็นงบลงทุนในธุรกิจอาหารราว 1,000 ล้านบาทต่อปี ที่เหลือจะเป็นงบลงทุนในธุรกิจโรงแรม สำหรับปี 2566 วางงบลงทุนด้านโรงแรมไว้ประมาณ 3,400-5,800 ล้านบาท โดยมีแผนเปิดโรงแรมเพิ่มอีก 6 แห่ง ในไทย 5 แห่ง และต่างประเทศ 1 แห่ง

สำหรับในประเทศประกอบด้วย 1. เซ็นทารา อุบลราชธานี จำนวน 160 ห้องพัก (เปิดให้บริการวันที่ 10 มีนาคม), 2. เซ็นทาราวัน ระยอง จำนวน 200 ห้องพัก (ไตรมาส 3), 3. สุราษฎร์ธานี จำนวน 110 ห้องพัก (ไตรมาส 3), 4. เซ็นทารา อยุธยา จำนวน 224 ห้องพัก (ไตรมาส 4) และ 5. เซ็นทารา สมุย จำนวน 61 ห้องพัก (ไตรมาส 3) รวมถึงมีการลงนามสัญญาบริหารโรงแรมเพิ่มอีก 5 แห่งในไทย ได้แก่ ที่สุราษฎร์ธานี หาดใหญ่ กระบี่ และเชียงราย

ในต่างประเทศ CENTEL เตรียมเปิดให้บริการโรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ โอซาก้า โรงแรมหรูแห่งแรกภายใต้แบรนด์เซ็นทาราแกรนด์ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นโรงแรมระดับ Upper Upscale ตั้งอยู่ใจกลางเมืองย่านนัมบะ ด้วยจำนวนห้องพักรวม 515 ห้อง โดยจะเปิดให้บริการในวันที่ 1 กรกฎาคม 2566

นอกจากนี้ ยังมีแผนพัฒนาโรงแรมใหม่ที่มัลดีฟส์ จำนวน 3 เกาะ ได้แก่ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ มัลดีฟส์, เซ็นทารา มิราจ มัลดีฟส์ และโรงแรมเซ็นทารา รีเซิร์ฟ มัลดีฟส์ โดยทั้ง 3 โรงแรมที่มัลดีฟส์คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในช่วงปลายปี 2567

อีกทั้งยังได้ลงนามสัญญาบริหารเพื่อเปิดให้บริการโรงแรมในประเทศกลุ่มอาเซียน เช่น สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม รวมถึงจับมือกับพันธมิตรในจีนเพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจโรงแรม โดยมีกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางเป็นตลาดหลัก

ด้านบริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ของกลุ่ม “สิริวัฒนภักดี” มีอสังหาริมทรัพย์ในธุรกิจโรงแรมและการบริการ (Hospitality) ที่ตั้งอยู่ในเมืองท่องเที่ยวทั้งในกรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต เกาะสมุย กระบี่ พัทยา และหัวหิน ในหลากหลายแบรนด์ เช่น แมริออท, เดอะ ลักซ์ชัวรี่ คอลเลคชั่น, เลอ เมอริเดียน, เชอราตัน, บันยันทรี, ฮิลตัน, ฮอลิเดย์ อินน์ เอ็กซ์เพรส และโอกุระ ซึ่งข้อมูล ณ สิ้นปี 2565 ระบุว่า บริษัทมีจำนวนโรงแรมที่เป็นสินทรัพย์ดำเนินการทั้งหมด 20 โรงแรม รวม 5,458 ห้อง เติบโตต่อเนื่องเมื่อเทียบกับปี 2562 ที่มี 16 โรงแรม และจำนวนห้องรวม 3,432 ห้อง

ปีที่ผ่านมา AWC เติบโตอย่างก้าวกระโดด ด้วยผลกำไร 3,981 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 280 โดยไตรมาส 4 ของปี 2565 เป็นไตรมาสที่ดีที่สุด มีกำไรสุทธิ 1,438 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้เป็นผลมาจากการเติบโตของกลุ่มโรงแรมที่สามารถสร้างอัตราค่าห้องพักเฉลี่ยต่อวัน หรือ ADR (Average Daily Rate) สูงสุดเป็นประวัติการณ์ของ AWC โดยไตรมาส 4/2565 มีอัตราการเข้าพักของโรงแรมในเครืออยู่ที่ร้อยละ 63.5 และมีราคาห้องพักเฉลี่ยต่อวัน อยู่ที่ 5,697 บาทต่อคืน เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 45.7 เมื่อเปรียบเทียบช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงที่สุดตลอดการดำเนินงานของบริษัท

สำหรับปี 2566 AWC เดินหน้าขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง มีแผนพัฒนาโครงการต่างๆ ในทุกกลุ่มธุรกิจ และเตรียมเปิดบริการโรงแรม อินน์ไซด์ กรุงเทพ สุขุมวิท และโรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล เชียงใหม่ แม่ปิง

อีกทั้งยังได้ลงนามข้อตกลงในการพัฒนาและบริหารโรงแรมกับกลุ่มแอคคอร์ (Accor) พร้อมเปิดตัวโรงแรมแฟร์มอนท์ แบงคอก สุขุมวิท (รีแบรนด์จากโรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว แบงค็อก วินด์เซอร์) เป็นแบรนด์ Fairmont แห่งแรกในไทย เพื่อยกระดับกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางตลาด MICE ลักชัวรีระดับโลก โดยมีกำหนดเปิดให้บริการในปี 2567

และล่าสุดผนึกกำลังกับเครืออินเตอร์คอนติเนนตัล โฮเต็ลส์ กรุ๊ป หรือ IHG ลงนามข้อตกลงในการพัฒนาและบริหารโรงแรมคิมป์ตัน พัทยา (Kimpton Pattaya) ซึ่งเป็นโรงแรมคิมป์ตันแห่งที่ 2 ของ AWC ถัดจากโรงแรมคิมป์ตัน หัวหิน และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Aquatique โครงการเมกกะโปรเจกต์ของ AWC ที่จะร่วมยกระดับพัทยาสู่เมืองท่องเที่ยวริมทะเลระดับโลก โดยมีกําหนดเปิดให้บริการในปี 2571

จากความเคลื่อนไหวต่างๆ ที่เกิดขึ้น รับรองว่าธุรกิจโรงแรมนับจากนี้จะแข่งขันกันอย่างเข้มข้นขึ้นแน่นอน.