ความสำเร็จของ “โอ้กะจู๋” ทั้งการสร้างแบรนด์และความเชื่อมั่นใช้เวลานานนับสิบปี โดยเฉพาะจุดแข็งสำคัญ คือ การปลูกผักในฟาร์มเมืองเชียงใหม่ส่งตรงถึงร้านและเสิร์ฟถึงจานลูกค้าในเวลาไม่เกิน 28 ชั่วโมง สด ไร้สารเคมีและยาฆ่าแมลง จนทุกวันนี้จากคาเฟ่เล็กๆ ในอำเภอสันทราย ล่าสุดมีสาขามากกว่า 20 แห่ง จุดขายอีกกว่า 100 จุด และวางแผนปูพรมทั่วประเทศ ปลุกสงครามผักสลัดได้อย่างดุเดือด
ปัจจุบันร้านโอ้กะจู๋มีสาขา 23 แห่ง แบ่งเป็นรูปแบบร้านอาหาร (Dine-in) 19 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในโครงการคอมมูนิตี้มอลล์ ส่วนที่เหลือเป็นรูปแบบ Healthy Fast Food อยู่ตามอาคารสำนักงาน ร้าน Delivery ร้านสาขาในปั๊มน้ำมัน ซึ่งเปิดนำร่องใน พีทีที สเตชั่น Active Park เมืองทองธานี และเริ่มทดลองเปิดโมเดล Drive-Thru แห่งแรกใน PTT Station เวสต์วิลเลจ บางใหญ่ รวมทั้งวางขายแบบ Grab & Go ผ่านร้าน Café Amazon กว่า 45 สาขา กูร์เมต์มาร์เก็ตและริมปิงซูเปอร์มาร์เก็ต เชียงใหม่
ชลากร เอกชัยพัฒนกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ จำกัด เปิดเผยกับ “ผู้จัดการ 360 องศา” ถึงแผนการดำเนินงานในปีนี้ บริษัทตั้งเป้าขยายสาขาร้านอาหารประมาณ 13 แห่ง พร้อมๆ กับเพิ่มบริการดีลิเวอรีในร้านที่มีความพร้อม ขยายจุดขายในร้านคาเฟ่อเมซอนเพิ่มเป็น 100 สาขา และเปิดโมเดลไดร์ฟทรูเพิ่มอีก 1 แห่งในพีทีทีสเตชัน วิภาวดี 62
“เรายังเน้นกลุ่ม Dine-In เป็นหลัก เพราะลูกค้าส่วนใหญ่อยากนั่งรับประทานที่ร้าน อยากรับประทานผักสลัดสดๆ เมนูของทอดอร่อยๆ และถือเป็นโมเดลที่สร้างรายได้หลัก โดยสาขาใหม่ๆ จะเน้นทำเลในศูนย์การค้าและเริ่มออกต่างจังหวัดไปทางภาคตะวันออก เช่น ชลบุรี ขณะที่ขยายในปั๊มน้ำมันอีก 2 แห่งในพีทีทีสเตชันวิภาวดี 62 และ PTT Station อ่างศิลา”
ส่วนสาขาไดรฟ์ทรูเป็นการทดลองโมเดลใหม่ๆ เหมือนช่วงสถานการณ์โควิดแพร่ระบาดมีการทดลองโมเดลดีลิเวอรี เปิดห้องแถว 1 ห้อง กลายเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทำได้และลงทุนไม่มาก เวลานี้จึงเกิดแนวคิดอยากทดลองโมเดลไดรฟ์ทรู ซึ่งความจริงตั้งเป้าเปิดตั้งแต่ปีที่แล้วในพีทีที สเตชัน วิภาวดี 62 ซึ่งเป็นแฟล็กชิปปั๊มน้ำมันต้นแบบในอนาคต คอนเซ็ปต์ Green แต่การก่อสร้างไม่แล้วเสร็จและต้องเปลี่ยนแผนเปิดสาขาบางใหญ่ก่อน ซึ่งผลตอบรับดีในระดับหนึ่ง
ชลากรเชื่อว่า เมื่อเปิดร้านและบริการไดรฟ์ทรูในพีทีที สเตชัน วิภาวดี 62 ผลตอบรับน่าจะดีมาก เพราะทำเลเป็นทางขาเข้าในเมือง กลุ่มลูกค้าสามารถแวะซื้อก่อนไปทำงาน เมนูหลักๆ ได้แก่ ชิกเก้นชีสบอล สลัดแรพส์แม็กซิกันชิกเก้น และสลัด ข้าวโบล์วแซลมอนกุ้งอะโวคาโด รวมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงเมนูในร้านทุกโมเดล ทุก 3-6 เดือน โดยเฉพาะการพัฒนากลุ่มคอนซูเมอร์โปรดักส์ พวกสแน็ก เช่น แคบหมูแบบไม่ทอด ขนมปังฟักทอง ผงผักสลัด
ขณะที่ช่องทางขายในคาเฟ่ อเมซอน เน้นเสิร์ฟเมนูพร้อมรับประทาน 3 รูปแบบ คือ Single รับประทานคนเดียว มีแซนด์วิชและสลัด ชุด Medium Box รับประทาน 2-3 คน และ Big Share
เมื่อถามถึงกลุ่มลูกค้าหลัก ชลากรบอกว่า โอ้กะจู๋ค่อนข้างครอบคลุมทุกกลุ่ม ขึ้นอยู่กับทำเล เช่น สาขาในเชียงใหม่ มีสวนสนุกและเพลย์กราวนด์ ดึงดูดกลุ่มลูกค้าเด็กๆ เข้ามาเยอะ เด็กๆ ส่วนใหญ่ชอบเมนูอาหารทอดๆ
ถ้าเป็นสาขาในกรุงเทพฯ โซนในเมืองชั้นกลาง เช่น สยามสแควร์ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยรุ่น กลุ่มออฟฟิศ และถ้าเป็นโซนรอบนอก เช่น เดอะเซอร์เคิล ราชพฤกษ์ ย่านสายไหม ลูกค้าเกือบทั้งหมดเป็นกลุ่มครอบครัว
อย่างไรก็ตาม ส่วนหนึ่งของการขยายธุรกิจอย่างรวดเร็วในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า การจับมือกับบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ คือจุดเปลี่ยนสำคัญ ซึ่งกว่าจะเจรจาตกลงกันต้องใช้เวลาถึง 2 ปี และเข้ามาวางระบบต่างๆ อีก 2 ปี
กระทั่งปิดดีลลงนามสัญญาในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งนางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ “OR” ในเวลานั้น เป็นประธานในพิธีลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้นและสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้น ระหว่าง บริษัท มอดูลัส เวนเจอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของโออาร์ เพื่อลงทุนในธุรกิจใหม่ในประเทศไทย กับ บริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ จำกัด ผู้ดำเนินกิจการร้านอาหารเพื่อสุขภาพภายใต้แบรนด์ “โอ้กะจู๋” มี นางสาวราชสุดา รังสิยากูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลยุทธ์องค์กร นวัตกรรมและความยั่งยืน ในฐานะกรรมการ บริษัท มอดูลัส เวนเจอร์ จำกัด และ 3 ผู้ร่วมก่อตั้ง “โอ้กะจู๋” คือ ชลากร จิรายุทธ ภูวพูนผล และวรเดช สุชัยบุญศิริ ร่วมลงนาม
ดีลครั้งนั้นฝ่ายโออาร์ถือหุ้นในบริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ รวม 20% ตามยุทธศาสตร์การเติบโตจากภายนอก เพื่อเพิ่มผลกำไรในระยะยาว รูปแบบการร่วมทุนกับบริษัทที่มีศักยภาพ เพื่อขยายธุรกิจค้าปลีกในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม (Food & Beverage) โดยวางโรดแมปการขยายสาขาร้านโอ้กะจู๋เพิ่มเติมในสถานีบริการน้ำมัน PTT Station การจำหน่ายอาหารแบบ Grab & Go ผ่านร้าน Café Amazon ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และภาคเหนือ
นอกจากนั้น โออาร์ต้องการสนับสนุนผู้ประกอบการ SME และเกษตรกรผู้ปลูกผักในรูปแบบเกษตรอินทรีย์ให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าผ่าน PTT Station ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 2,000 สาขาทั่วประเทศ และ ร้าน Café Amazon ที่มีสาขามากกว่า 3,000 แห่ง
ด้าน “โอ้กะจู๋” วางแผนใช้เงินทุนเพิ่มเทคโนโลยี Smart Farm เพื่อสร้างผลผลิตที่สม่ำเสมอและมีคุณภาพ การสร้างครัวกลางที่จังหวัดเชียงใหม่ การสร้างศูนย์กระจายสินค้ารองรับการขยายสาขาไปยังภูมิภาคต่าง ๆ และมีโครงการทำศูนย์การเรียนรู้การปลูกผักแบบวิถีเกษตรอินทรีย์ให้นักเรียน นักศึกษา และผู้ที่สนใจ รวมถึงแผนการช่วยเหลือเกษตรกรโดยเป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างเกษตรกรที่ไม่มีช่องทางขายกับผู้บริโภคที่ต้องการผักอินทรีย์ผ่านทางแอปพลิเคชันของบริษัท
ชลากรย้ำกับ “ผู้จัดการ 360 องศา” ว่า ตั้งแต่เริ่มปลูกผักวันแรกและเปิดร้านโอ้กะจู๋ ยืนยันเรื่องความสดใหม่ตั้งแต่ตัดผักจากฟาร์มเสิร์ฟถึงจานลูกค้า ใช้เวลาไม่เกิน 28 ชั่วโมง ความสดอาจไม่ใช่ 100% เหมือนรับประทานที่เชียงใหม่ อาจเป็น 90-95% แต่พยายามคงความสดให้มากที่สุด เพราะผักส่งวันต่อวัน วันนี้ ร้านใช้ไม่หมด วันรุ่งขึ้นมีผักใหม่มาแทนทันที ซึ่งนั่นถือเป็นโจทย์ข้อใหญ่ที่บริษัทต้องทำให้ได้ แม้ปีหน้าเตรียมผุดร้านมากขึ้นและเน้นไปทางภาคอีสานในระยะทางไกลขึ้นก็ตาม.