วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > NDB และ AIIB สองพลังขับเคลื่อน “พญามังกร”?

NDB และ AIIB สองพลังขับเคลื่อน “พญามังกร”?

 
ข่าวสารว่าด้วยความเป็นไปของสังคมไทยในช่วงเดือนกรกฎาคมดูเหมือนจะให้น้ำหนักกับปัจจัยทางเศรษฐกิจมากขึ้นทุกขณะ และมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในคณะรัฐมนตรีอยู่เป็นระยะ ขึ้นอยู่กับจังหวะและโอกาสที่จะเกิดขึ้นเท่านั้น
 
ขณะที่ในระบบเศรษฐกิจภาพใหญ่ในระดับนานาชาติ ความเป็นไปในช่วงเดือนกรกฎาคมที่กำลังจะผ่านไปนี้ กลับปรากฏแรงกระเพื่อมที่ส่งผลต่อดุลยอำนาจของโลกมากพอสมควร และอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ในระบบเศรษฐกิจการเมืองของโลกอย่างที่ไม่เคยมีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้นได้มาก่อน
 
ต้องยอมรับว่า การประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศ BRICS ครั้งที่ 7 (7th BRICS Summit) ซึ่งประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ ในช่วงระหว่างวันที่ 8-9 กรกฎาคม อาจจะถูกบดบังด้วยข่าวการทรุดตัวลงของราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์จีน จนทำให้นักวิเคราะห์และผู้ลงทุนจำนวนไม่น้อยต่างหวั่นวิตกว่าเศรษฐกิจจีนอาจกำลังเผชิญกับภาวะฟองสบู่แตก
 
หากแต่ผลของการประชุมและการผสานเสียงของกลุ่มผู้นำประเทศทั้ง 5 ในกรอบความร่วมมือของ BRICS กลับดังกังวานและเริ่มปรากฏรูปธรรมชัดเจนด้วยการเปิดสำนักงานของ NDB (New Development Bank) ในนครเซี่ยงไฮ้ ของจีนเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา และกำลังจะก้าวขึ้นมาเป็นจักรกลในการท้าทายขั้วอำนาจในระบบเศรษฐกิจการเงินของโลกรายเดิม ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารโลก (World Bank) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) 
 
แม้สถาบันการเงินแห่งใหม่นี้ จะมีโครงสร้างการถือหุ้นและสิทธิในการออกเสียงระหว่าง 5 ประเทศผู้ก่อตั้ง ที่ร้อยละ 20 อย่างเท่าเทียมกัน หากแต่ภายใต้การจัดตั้งกองทุนเงินสำรองเผื่อกรณีฉุกเฉิน (Contingency Reserve Arrangement: CRA) ขนาด 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ จีนจะเป็นผู้สนับสนุนรายหลักด้วยจำนวน 4.1 หมื่นล้านเหรียญ ขณะที่รัสเซีย อินเดีย และบราซิล ต่างร่วมสนับสนุนประเทศละ 1.8 หมื่นล้านเหรียญ โดยมีแอฟริกาใต้จัดสรรทุนไว้ที่ 5 พันล้านเหรียญ โดย NDB วางแผนที่จะเริ่มปล่อยกู้ในปี 2016
 
การกำเนิดขึ้นของ NDB ดำเนินควบคู่ไปพร้อมกับแนวความคิดของผู้นำจีนว่าด้วยการจัดตั้งธนาคาร Asian Infrastructure Investment Bank (AIIB) โดยจีนเป็นแกนหลักที่พร้อมจะระดมเงินทุนถึง 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในฐานะที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งการเกิดขึ้นของ AIIB ถือเป็นธนาคารภูมิภาคที่พร้อมจะเป็นทางเลือกใหม่แทนธนาคาร Asian Development Bank (ADB) ที่ริเริ่มโดยญี่ปุ่นและมีบทบาทสำคัญในอดีต
 
ขณะเดียวกันจีนยังจัดตั้งกองทุน Silk Road Fund มูลค่าสูงถึง 40,000 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อเป็นกลไกในการลงทุนในโครงการพัฒนาตามแนวความคิด Silk Road Economic Belt: SREB และ Maritime Silk Road: MSR ซึ่งเป็นแกนความคิดและแนวนโยบายหลักของผู้นำจีนมาตั้งแต่ปี 2013
 
ความเป็นไปของทั้ง Silk Road Fund และธนาคาร AIIB ในด้านหนึ่งจึงจะเป็นแหล่งเงินสำหรับการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางการเงินและภาคการผลิตอุตสาหกรรม ตลอดจนการพัฒนาเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างประเทศต่างๆ ซึ่งสอดรับกับแนวความคิดของผู้นำจีนในการขยายบทบาทและอิทธิพลทางเศรษฐกิจการเมืองระดับนานาชาติ ด้วยการนำเสนอแนวความคิดว่าด้วย 21st Century Silk Route ซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของดุลยอำนาจระดับนานาชาติอย่างยากปฏิเสธ
 
หากแต่ประเด็นสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามจากกรณีการจัดตั้ง NDB และ AIIB รวมถึง Silk Road Fund และกองทุนอื่นๆ ที่อาจจะมีติดตามมาในอนาคตตามแนวทางการขยายอิทธิพลของจีนก็คือ ความพยายามที่จะบริหารจัดการทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ (foreign exchange reserves) ที่จีนมีอยู่อย่างมหาศาลและสูงที่สุดในโลก ให้ได้ประโยชน์เพิ่มมากขึ้น
 
เพราะข้อเท็จจริงประการหนึ่งก็คือ แม้ว่าจีนจะได้รับการประเมินว่ามีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศอยู่มากถึงกว่า 4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดยในจำนวนนี้เป็นการลงทุนอยู่ในหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกามากถึง 1.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และยังถือเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของสหรัฐฯ ผ่านการถือครองพันธบัตรที่มีมูลค่ามากกว่า 1.16 ล้านล้านเหรียญอีกด้วย แต่การผูกพันทุนสำรองไว้กับเงินเหรียญสหรัฐในสัดส่วนที่มากถึง 2 ใน 3 เช่นว่านี้ย่อมไม่ใช่หลักประกันถึงความมั่งคั่งของจีนในระยะยาวเลย
 
ความพยายามที่จะนำทุนสำรองของจีนออกไปแสวงประโยชน์ในรูปแบบอื่นๆ โดยเฉพาะการจัดตั้ง NDB และ AIIB รวมถึงกองทุนต่างๆ ที่จีนจัดตั้งขึ้นมา ในด้านหนึ่งนอกจากจะเป็นทางเลือกให้ทุนสำรองของจีนสามารถแสวงหาผลตอบแทนที่ดีขึ้น และกระจายความเสี่ยงจากการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มากเกินไปแล้ว 
 
นี่ยังเป็นหนึ่งในช่องทางและกลไกสำคัญที่จะทำให้เงินหยวนถูกนำไปใช้และได้รับการยอมรับในระดับสากล ซึ่งเป็นหนึ่งในความพยายามที่จะหลบออกจากเงาของค่าเงินเหรียญสหรัฐ และต่อยอดให้เงินหยวนก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในเงินสกุลหลักของโลกในอนาคต
 
ประเด็นสำคัญที่น่าจับตามองอีกประการหนึ่งก็คือ จีนได้เริ่มทำให้ถ้อยแถลงต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับแนวความคิดว่าด้วย AIIB และ Silk Road Fund ปรากฏเป็นรูปเป็นร่างอย่างที่สามารถจับต้องได้แล้ว โดยจีนได้ประกาศเข้าไปลงทุนในโครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาด 720 เมกะวัตต์ ที่ Karot ในปากีสถานด้วยเงินลงทุน 1.4 พันล้านเหรียญ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา และคาดว่าการก่อสร้างจะเริ่มต้นในช่วงปลายปี 2015 และเสร็จสิ้นภายในปี 2020 โดยไฟฟ้าที่ผลิตได้รัฐบาลปากีสถานจะเป็นผู้รับซื้อเข้าสู่ระบบ ตามสัญญาผูกมัด 30 ปี ซึ่งจะช่วยให้ปากีสถานสามารถเติมเต็มความต้องการด้านพลังงานได้ในระดับหนึ่ง
 
แม้ว่าโครงการไฟฟ้าพลังน้ำที่ Karot จะเป็นโครงการแรกที่ได้รับการสนับสนุนจาก Silk Road Fund ซึ่งเพิ่งก่อตั้ง แต่ก่อนหน้านี้ จีนก็ได้เข้าไปขยายการลงทุนและให้ความช่วยเหลือทางการเงินในโครงการพัฒนาของประเทศที่อยู่ในแนวการพัฒนา Silk Road Economic Belt: SREB และ Maritime Silk Road: MSR อยู่อย่างต่อเนื่อง พร้อมกับการส่งออกการลงทุนและผู้ประกอบการไปแสวงโอกาสทางการค้าในดินแดนเหล่านั้นอีกด้วย
 
พัฒนาการของ NDB ในกรอบความร่วมมือ BRICS และความริเริ่มของจีนว่าด้วย AIIB รวมถึงกองทุนเพื่อการพัฒนาหลากหลายที่จีนกำลังนำเสนอจึงไม่ได้ดำเนินไปในฐานะที่เป็นเพียงเครื่องมือในการสร้างเสริมบทบาทในเวทีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเท่านั้น 
 
หากแต่ยังเป็นประหนึ่งกลไกในการสร้างพลวัตทางเศรษฐกิจของจีนให้สามารถเดินหน้าต่อไป ทั้งในมิติของการเพิ่มโอกาสให้บรรดาวิสาหกิจและบรรษัทของจีนได้ออกไปลงทุนในโครงการต่างๆ ในต่างประเทศ และเพิ่มช่องทางในการส่งออกเทคโนโลยีและสินค้าที่อาจผูกพันด้วยสัญญาการลงทุนและช่วยเหลือในโครงการที่จะเกิดขึ้นด้วย
 
กระนั้นก็ดี ความแข็งแกร่งของพญามังกรแห่งเอเชีย จะสามารถโลดแล่นและสยายบทบาทอิทธิพลแผ่กว้างไปได้ไกลและนานเพียงใด ยังคงเป็นคำถามที่ผู้สังเกตการณ์จำนวนไม่น้อยเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด และหวังว่าพญามังกรจะไม่ประสบเหตุร้ายให้ต้องตกอยู่ในฐานะคนป่วยที่จะเป็นต้นทางให้เกิดโรคระบาดในวงกว้างต่อไป