วันพุธ, พฤศจิกายน 27, 2024
Home > Cover Story > JODD FAIRS เต็มคาราเบล จีแลนด์ขยายโซนจุกๆ 400 ร้าน

JODD FAIRS เต็มคาราเบล จีแลนด์ขยายโซนจุกๆ 400 ร้าน

ปี 2566 ถือเป็นปีทองของเจ้าพ่อตลาดนัด Night Market “ไพโรจน์ ร้อยแก้ว” หนุ่มร่างใหญ่ที่ใช้เวลาทั้งชีวิตค้นหาสูตรธุรกิจจนประสบความสำเร็จ มีบริษัทยักษ์ใหญ่จับมือสร้างสมรภูมิที่ใหญ่กว่าเดิมอีกหลายเท่า

ล่าสุด เพจเฟซบุ๊ก JODD FAIRS ประกาศเปิดจองล็อกโซนใหม่หลังศูนย์การค้าเซ็นทรัล พระราม 9 ติดกับพื้นที่เดิม จำนวนมากกว่า 400 ล็อก พร้อมดีเดย์เปิดให้บริการลูกค้าตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนยาวไปจนถึงสิ้นปี 2566

ขณะเดียวกัน แม้ทำเลตลาดจ๊อดแฟร์ พระราม 9 มีสัญญาเช่ากับบริษัท แกรนด์ คาแนล แลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ “จีแลนด์” เจ้าของที่ดิน เพียง 2 ปีเศษๆ เริ่มตั้งแต่ปลายปี 2564 และจะจบในสิ้นเดือนธันวาคม 2566 เนื่องจากบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ผู้ถือหุ้นใหญ่ จีแลนด์ มีแผนสร้างตึกสำนักงานเชื่อมกับศูนย์การค้า เซ็นทรัล พระราม 9

แต่ตลาดจ๊อดแฟร์ซึ่งมีร้านค้ามากกว่าพันรายจะขยับไปเปิดสมรภูมิใหม่ริมถนนรัชดาภิเษกติดสถานี MRT ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย หลังได้พันธมิตรระดับบิ๊กอย่าง บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) ภายใต้โครงการมิกซ์ยูสที่มีทั้งโซนอาคารสำนักงานและโซนค้าปลีก โดยไพโรจน์จะเป็นผู้บริหารพื้นที่รีเทล ทั้งภายในอาคารและด้านหน้าอาคาร ซึ่งจะเป็นไนต์มาร์เกตแห่งใหม่สไตล์จ๊อดแฟร์

ปัจจุบันไพโรจน์ยังเป็นผู้บริหารตลาดรถไฟ ย่านศรีนครินทร์ พื้นที่ 60 ไร่ มีร้านค้า 1,000 ร้าน เท่ากับว่า เจ้าพ่อตลาดนัดคนนี้มีเครือข่ายร้านค้ามากกว่า 3,000-4,000 ร้านค้า

ทว่า กว่าจะเดินมาถึงตรงนี้ได้ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องเรียนรู้วิทยายุทธ์และเก็บเกี่ยวประสบการณ์มากมาย

ไพโรจน์ ร้อยแก้ว เป็นคนอยุธยา พ่อมีอาชีพเป็นช่างไม้ นั่นทำให้ ด.ช.ไพโรจน์คลุกคลีกับงานไม้และของเก่าๆ มาตลอด วันหนึ่งไปเที่ยวบ้านเพื่อนที่หาดใหญ่ แหล่งของเก่าจากอเมริกา เขาประเดิมการเป็นพ่อค้าขายของเก่าตั้งแต่อายุ 15 ปี ซื้อเสื้อทหาร กางเกง กระเป๋า เป้ รองเท้า เอามาขายต่อเป็นค่ารถ ค่าเที่ยวฟรี จนเริ่มตีตั๋วลงไปหาดใหญ่เพื่อสร้างอาชีพซื้อของเก่ามาขายที่ตลาดโต้รุ่ง จ.อยุธยา จากนั้นไปลุยขายในตลาดโรงเกลือ จ.สระแก้ว และตลาดคลองถม

ไพโรจน์ค่อยๆ เรียนรู้กลยุทธ์ต่างๆ การเลือกสินค้าให้โดนกลุ่มลูกค้า จนมีลูกค้าประจำเพิ่มมากขึ้น รายได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จนเริ่มอยากเปิดร้านของตัวเองย่านจตุจักรแทนคลองถม อาศัยวิธีเปิดร้านเช้ากว่าคู่แข่งและปิดร้านดึกกว่าเจ้าอื่น เพื่อสร้างชั่วโมงการขาย สามารถหาเงินมาเซ้งร้านขยาย 9 ห้องติดกัน เปิดร้านขายของเก่า Rod’s Antique มีทั้งร้านอาหารและบาร์ในบรรยากาศยุคเก่า

ต่อมา ร้านในตลาดจตุจักรถูกเวนคืน ต้องปิดร้านทั้ง 9 ห้อง แต่เหมือนจังหวะชีวิต ไพโรจน์เห็นพื้นที่โล่งๆ บริเวณใกล้ๆ กันของการรถไฟฯ เกิดปิ๊งไอเดีย ตัดสินใจเปิด “ตลาดรถไฟ” สไตล์วินเทจที่มีทั้งของกินของใช้

ปรากฏว่า ใช้เวลาไม่ถึงปีมีร้านค้าขอเช่าเต็มพื้นที่และด้วยการเลือกร้านค้า เลือกสินค้าตามคอนเซ็ปต์สไตล์วินเทจ ทำให้ตลาดรถไฟจตุจักรเป็นที่รู้จักชนิดดังสุดขีด มีผู้คนเข้ามาเดินหาซื้อสินค้าที่ไม่มีในตลาดอื่นเกือบหมื่นคนต่อวัน

2 ปีต่อมา ตลาดรถไฟจตุจักรหมดสัญญาเช่า และถูกเรียกคืนเพื่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ไพโรจน์ย้ายไปเช่าพื้นที่ย่านถนนศรีนครินทร์ เปิดตลาดรถไฟศรีนครินทร์ ด้านหลังห้างซีคอนสแควร์ พื้นที่ 62 ไร่ พร้อมพื้นที่จอดรถกว่า 20 ไร่ มีแผงขายของ 1,600 แผง พลาซ่า 500 ล็อก โซนโกดัง 9 โกดัง และพื้นที่รองรับผู้ค้าที่ไม่ได้ทำสัญญาอีกประมาณ 500 แผง

ก่อนหน้านี้ยังขยายตลาดนัดรถไฟ หลังห้างเอสพลานาด แต่ปิดให้บริการช่วงโควิดแพร่ระบาด

ปลายปี 2564 หลังโควิดผ่อนคลายและผู้คนกำลังโหยหาบรรยากาศการใช้ชีวิตกลางแจ้ง ไพโรจน์เห็นเทรนด์ Night Market ยังมาแรงมาก เขาติดต่อขอเช่าพื้นที่กับจีแลนด์เปิดตลาดจ๊อดแฟร์ (JODD Fair) ในทำเลระหว่างตึก G Tower และอาคาร Unilever สร้างบรรยากาศเหมือนมางานแฟร์ขนาดใหญ่

พื้นที่แบ่งเป็น 3 โซนหลัก คือ โซนลานกิจกรรม ซึ่งตกแต่งตามธีมเทศกาลต่างๆ เพื่อสร้างสีสันและจุดถ่ายภาพเช็กอิน พร้อมรองรับงานอีเวนต์ต่างๆ เช่น คอนเสิร์ตเล็กๆ โซนร้านค้าแนวแฟชั่น ทั้งเสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า และโซนอาหาร แนว Street Food ซึ่งมีแบรนด์ดังๆ แบรนด์เก่าแก่ และแบรนด์คนรุ่นใหม่ เข้ามาเช่าพื้นที่ เช่น ร้านเครื่องดื่มสุดฟิน FRESH ME ร้านขนมครกใบเตย บ้าบิ่น แป้งจี่ ร้านเตี๋ยวต้มยำหมูเด้งจากร้าน ตั้งใจปรุง ร้านทะเลดอง 20บาท ร้าน สึเกะ takoyaki ร้านน้ำผลไม้ปั่น Belong Smoothie โดยจัดพื้นที่ส่วนกลางให้ดื่มกินได้

แน่นอนว่า จ๊อดแฟร์กลายเป็นจุดเช็กอิน ทั้งลูกค้าคนไทยและนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะทัวร์จีนที่กำลังไหลทะลักเข้าไทย และติด 1 ใน 5 จุดหมายที่ชาวต่างชาติชอบไปมากที่สุด

การขยับขยายพื้นที่ที่ใหญ่กว่าเดิมและเปิดสมรภูมิใหม่ จึงเต็มคาราเบลมาก.

ตลาดนัดยุคใหม่
ตอบโจทย์ชีวิตโหยหาหลังโควิด

“ตลาดนัด” เกิดขึ้นพร้อมๆ กับวิถีชีวิตของคนไทย ไลฟ์สไตล์และภาวะเศรษฐกิจ เรียกชื่อแตกต่างกัน

ในยุคสมัยก่อนมีตลาดนัดปากคลองตลาด ตลาดท่าเตียน สินค้าส่วนใหญ่เป็นข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ สำหรับบรรดาข้าราชสำนักโดยเฉพาะ รวมถึงตลาดนัดของคนจีนแถวตลาดน้อย สำเพ็ง ตลาดนัดของคนเขมร คนญวนแถวคลองผดุงกรุงเกษม และตลาดนัดของพวกฝรั่งแถวบางรัก บางคอแหลม

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เปิดตลาดนัดส่งเสริมอาชีพกสิกรรมและเกษตรกรรมที่ศาลาเทศบาลนครกรุงเทพ แต่ยังไม่ค่อยเป็นที่นิยม เพราะสินค้ามีจำนวนน้อย กระทั่งปรับสินค้าหลากหลายมากขึ้นดึงดูดชาวบ้าน สถานที่เริ่มคับแคบจึงย้ายไปเปิดตลาดนัดสนามหลวง เมื่อปี 2491

ต่อมา ทางการต้องการใช้พื้นที่สนามหลวงจึงย้ายตลาดนัดไปอยู่ในพระราชอุทยานสราญรมย์ แต่กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเดิมทำการอยู่ที่พระราชวังสราญรมย์ ร้องเรียนกลิ่นปลาเค็ม หอยดอง กะปิ ปลาร้า น้ำปลา ร้องเรียนมากเข้า ต้องย้ายมาอยู่แถวคลองหลอด แต่เกิดปัญหาเช่นเดิมอีก จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี จึงสั่งย้ายกลับสนามหลวงในปี 2501 มีผู้ค้า 300-400 ราย

เวลานั้นยังมีตลาดนัดสี่มุมเมืองหมุนเวียนตลอดทั้งสัปดาห์ คือ วันจันทร์ เปิดตลาดนัดที่ท่าเรือบี ไอ ริมถนนเจริญกรุง, วันอังคารที่ถนนสังคโลกข้างวชิรพยาบาล, วันพุธที่ถนนพระราม 5 หน้าทำเนียบรัฐบาล, วันพฤหัสบดีที่ย่านคลองเตยสะพานดำ ส่วนวันเสาร์และวันอาทิตย์ เปิดตลาดนัดที่สนามหลวง และสวนลุมพินี อย่างไรก็ตาม สุดท้ายเหลือตลาดนัดสนามหลวงเพียงแห่งเดียว

วันที่ 2 มกราคม 2525 กรุงเทพมหานครใช้พื้นที่สนามหลวงจัดงานเฉลิมฉลองสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี จึงปิดตลาดนัดสนามหลวงและย้ายมายังสวนจุตจักรที่เปิดค้าขายกันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” ปี 2540 หลายธุรกิจเลิกจ้างพนักงานจำนวนมาก หลายคนต้องเอาข้าวของเหลือใช้ สินค้ามือสอง เสื้อผ้า อุปกรณ์ต่างๆ มาวางขายหลังท้ายรถ รวมตัวกันเป็น “ตลาดเปิดท้ายขายของ” เป็นที่นิยมมากและกลายเป็นอาชีพยอดฮิตของผู้คนมากมาย พร้อมๆ กับตลาดนัดที่เปิดตัวใหม่ราวดอกเห็ดทั่วทุกมุมเมือง ทั้งย่านธุรกิจ แหล่งรวมออฟฟิศขนาดใหญ่ หรือใกล้สถานที่ราชการ เช่น ตลาดนัดข้างกระทรวงศึกษาธิการ ตลาดหลังสำนักงานการบินไทย ตลาดหลังตึก ปตท. ตลาดซอยละลายทรัพย์ ตลาดข้างตึกเมืองไทยประกันชีวิต ตลาดนัดเมืองทองธานี

สำหรับตลาดนัดยุคนี้เน้นไลฟ์สไตล์แนวใหม่ เช่น ตลาดนัดสไตล์ถนนคนเดิน (Walking Street) และตลาดยามค่ำคืน Night Market รองรับกลุ่มเป้าหมายหลังเลิกงาน คนที่ไม่อยากเจอแดดร้อนๆ ช่วงกลางวัน หรือใช้เวลาช่วงจราจรติดขัด โดยเฉพาะหลังโควิดที่ผู้คนต่างโหยหาชีวิตรูปแบบใหม่ๆ ตลาดนัดจึงเน้นบรรยากาศที่มีเสน่ห์มากขึ้น.