วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > แฟรนไชส์ไทย-ต่างชาติ คึกคัก 100 แบรนด์แห่ช่วงชิงลูกค้า

แฟรนไชส์ไทย-ต่างชาติ คึกคัก 100 แบรนด์แห่ช่วงชิงลูกค้า

ธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทยมีมากกว่า 90,000 ราย เกิดใหม่มากกว่า 20 แห่งต่อวัน และมีบริษัทเจ้าของแฟรนไชส์มากกว่า 1,000 ราย มูลค่าตลาดพุ่งทะลุเกินกว่า 200,000 ล้านบาท จนกลายเป็นหนึ่งในประเทศศูนย์กลางที่บรรดาต่างชาติแห่เข้ามาช่วงชิงลูกค้ามากขึ้นทุกปี

สิ่งที่น่าจะสะท้อนภาพได้อย่างดี คือ งาน Thailand Franchise & Business Opportunities (TFBO 2022) ซึ่งถือเป็นงานแสดงแฟรนไชส์ที่ใหญ่สุดในประเทศไทยและจัดต่อเนื่องยาวนานเป็นปีที่ 18 มีนักลงทุนไทยและต่างชาติกว่า 6,000 คนเข้าร่วมชมงาน โดยปีนี้เริ่มจัดระหว่างวันที่ 20-23 ตุลาคม ณ ไบเทค บางนา

แน่นอนว่า ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 หลังผ่านวิกฤตโควิดและหลายฝ่ายต่างคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจน่าจะขยายตัวดีกว่าที่ผ่านมา แม้ยังมีปัจจัยเสี่ยง ทั้งภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย อัตราดอกเบี้ย ค่าเงินบาทและเงินเฟ้อยังอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่ในตลาดแฟรนไชส์ยังมีความต้องการสูง โดยเฉพาะแบรนด์และกิจการที่มีศักยภาพสูง ค่าสิทธิ์ต่างๆ อยู่ในระดับคุ้มค่าเหมาะสม

มหกรรม TFBO 2022 จึงมาได้ถูกจังหวะ ซึ่งปีนี้มีธุรกิจแฟรนไชส์เข้าร่วมนับ 100 แบรนด์ ครอบคลุม 10 กลุ่มธุรกิจ ทั้งกลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม ไอศกรีม เบเกอรี เครื่องหยอดเหรียญ ธุรกิจสะดวกซัก คาร์แคร์ ความสวยความงาม งานบริการ ธุรกิจค้าปลีก การขนส่ง จากแฟรนไชส์แบรนด์ไทยและอีกหลายประเทศ ทั้งอเมริกา สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน อินเดีย เช่น ชาไข่มุกไอ-ฉะ บันนี่เชคคาเฟ่ คาเคาโอ้ โกโก้ เดลิเวอรี่คาเฟ่ เลอมง ราเมง ควิกวอช ออฟฟิศเมท พลัส

อย่างไรก็ตาม หากวิเคราะห์ธุรกิจแฟรนไชส์กลุ่มต่างๆ มีหลากหลายรูปแบบ ซึ่ง ThaiFranchiseCenter.com ระบุว่า เป็นประเด็นที่ผู้ลงทุนต้องนำพิจารณา เพราะนั่นหมายถึงรูปแบบการดำเนินงาน เงินลงทุน ข้อดีข้อเสีย โดยเท่าที่รวบรวมมี 4 โมเดลใหญ่ๆ

เริ่มจากกลุ่ม Company Owned Company Operated (COCO) บริษัทเจ้าของแบรนด์เป็นเจ้าของร้าน และบริหารจัดการเองทุกอย่าง ทั้งการลงทุน การบริหารจัดการร้าน การขยายสาขา การจ้างพนักงาน ผู้จัดการร้าน รวมถึงรับผิดชอบในเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยบริษัทเจ้าของแบรนด์มีรายได้และผลกำไรเพียงผู้เดียว รวมถึงรับผิดชอบในกรณีขาดทุนเพียงผู้เดียวด้วย

สำหรับธุรกิจหรือร้านในรูปแบบดังกล่าวสามารถเปิดดำเนินการเพื่อเป็นร้านต้นแบบ เมื่อกิจการมีรายได้และผลกำไรดี ได้รับความนิยม จึงต่อยอดนำเสนอผลิตภัณฑ์และขายแฟรนไชส์ เช่น เอ็มเคสุกี้ บาร์บีคิวพลาซ่า สุกี้ตี๋น้อย วราภรณ์ซาลาเปา ฮะจิบังราเมน ร้านขนมหวาน เช็งซิมอี๊ มนต์นมสด เคอรี่เอ็กซ์เพรส Sukiya (สุคิยะ) นิตยาไก่ย่าง บี-ควิก Tiger Sugar Thailand Brown Café The Alley KOI BEARHOUSE ชาตรามือ Jones Salad

กลุ่มต่อมา Company Owned Franchise Operated (COFO) บริษัทเจ้าของแบรนด์และเจ้าของร้าน แต่ให้แฟรนไชซีบริหารจัดการ โดยบริษัทเจ้าของแบรนด์ริเริ่มทำธุรกิจและลงทุนเองทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาสถานที่เปิดร้าน ค่ามัดจำเช่าสถานที่ ค่าวัตถุดิบ ค่าอุปกรณ์ ส่วนแฟรนไชส์ดูแลค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน การจ้างพนักงาน ค่าเช่าสถานที่ ค่าไฟ ค่าน้ำ

ข้อดี คือ แฟรนไชส์มีค่าใช้จ่ายน้อยในการเริ่มต้นทำธุรกิจ เพราะแฟรนไชซอร์หรือบริษัทเจ้าของแบรนด์เป็นผู้ลงทุน แต่การลงทุนที่ต่ำทำให้แฟรนไชซีได้รับส่วนแบ่งรายได้และกำไรต่ำตามไปด้วย

รูปแบบนี้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในกรณีบริษัทเจ้าของแบรนด์หรือแฟรนไชซอร์ ไม่ต้องการเพิ่มค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและบริหารจัดการร้าน ไม่มีระบบการบริหารจัดการร้านและพนักงาน จึงมองหาแฟรนไชซีที่มีความรู้ความสามารถมาช่วยบริหารจัดการร้านเหมือนเป็นผู้ประกอบการเอง แต่ถ้าแฟรนไชซีบริหารจัดการร้านไม่ดีจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และชื่อเสียงของแบรนด์

ตัวอย่างเช่น แฟรนไชซี (ผู้รับเหมา) บริหารจัดการโรงอาหารในบริษัทหรือองค์กร โรงงาน โรงเรียน โรงพยาบาล บริษัทรักษาความปลอดภัย (รปภ.)

กลุ่มที่ 3 Franchise Owned Company Operated (FOCO) รูปแบบแฟรนไชซีเป็นเจ้าของร้าน เจ้าของสถานที่ ผู้ดูแลสถานที่ หรือเป็นเจ้าของทรัพย์สิน และเป็นผู้ลงทุนในช่วงเริ่มต้น ส่วนบริษัทเจ้าของแบรนด์เป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารจัดการดำเนินงานต่างๆ การก่อสร้างและติดตั้งร้านทั้งหมด โดยแฟรนไชซีหรือเจ้าของพื้นที่ได้รับส่วนแบ่งกำไรผลการดำเนินกิจการจากบริษัทเจ้าของแบรนด์ แต่บางครั้งถ้าผลประกอบการหรือยอดขายไม่เป็นไปตามเป้า แฟรนไชซีจะได้รับส่วนแบ่งน้อยด้วย

ตัวอย่าง คือ ธุรกิจตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ ธุรกิจหยอดเหรียญ ตู้เติมเงิน ตู้กดน้ำ ตู้เอทีเอ็ม เครื่องซักผ้า เช่น ซันเวนดิ้ง มีแฟรนไชซีเจ้าของสถานที่ลงทุนเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ 30 เครื่อง 600,000 บาท ระยะเวลาสัญญา 3 ปี ส่วนแบ่งจากกำไรการขายสินค้าผ่านเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ สัดส่วนแฟรนไชซีร้อยละ 65 และ SVT ร้อยละ 35

หรือกรณี คาเฟ่ อัตโนมัติ 24 ชั่วโมง “เต่าบิน” เจ้าของพื้นที่ เช่น บริษัท โรงงาน โรงพยาบาล โรงแรม คอนโด มหาวิทยาลัย โดยเต่าบินขอติดตั้งและดูแลตู้ให้ฟรี ยอดขายขั้นต่ำ 85 แก้วต่อวัน แต่พื้นที่ต้องผ่านการประเมินจากบริษัทก่อน

กลุ่มสุดท้าย Franchise Owned Franchise Operated (FOFO) แฟรนไชซีเป็นเจ้าของร้าน ผู้ลงทุนและบริหารจัดการเอง โดยได้รับการถ่ายทอดรูปแบบและขั้นตอนการทำงานจากแฟรนไชซอร์

ข้อดี คือ แฟรนไชซอร์มีค่าใช้จ่ายในการลงทุนน้อย เพราะใช้เงินส่วนหนึ่งจากแฟรนไชซี ส่วนยอดขายและผลกำไรรวมถึงขาดทุนจะเป็นของแฟรนไชซี โดยแฟรนไชซอร์ได้รับส่วนแบ่งเล็กน้อยจากค่าแฟรนไชส์ ค่าสิทธิ์รายเดือน ค่าสินค้าและวัตถุดิบบางส่วน

ปัจจุบันธุรกิจแฟรนไชส์ทั่วโลกประมาณ 90% จะดำเนินกิจการในรูปแบบ FOFO เช่น ธุรกิจห้าดาว เชสเตอร์ บาจา กาแฟพันธุ์ไทย ออฟฟิศเมท ร้านยาเอ็กซ์ต้า พลัส และเซเว่นอีเลฟเว่น ร้านมินิโซ ร้านถูกดี มีมาตรฐาน สตาร์คอฟฟี่ อินทนิล คาเฟ่ อเมซอน ไฮพอร์ค ไจแอ้นลูกชิ้นระเบิด เคเอฟซี แมคโดนัลด์

วรรณกานต์ ทองคำ ผู้ก่อตั้งร้านคาเฟ่ของหวานและเครื่องดื่ม “มานีมีนม” เป็นอีกคนที่เริ่มก่อตั้งร้านมานีมีนมและตัดสินใจเปิดขายแฟรนไชส์ ซึ่งเข้ารูปแบบที่ 4 คือ แฟรนไชซีเป็นเจ้าของร้าน ผู้ลงทุนและบริหารจัดการเอง โดยได้รับการถ่ายทอดรูปแบบและขั้นตอนการทำงานจากมานีมีนม

เธอกล่าวว่า ช่วง 6-7 ปีก่อน แฟรนไชส์ร้านขนมปังยังมีน้อยและส่วนตัวไม่มีความรู้ด้วย จึงใช้เวลาศึกษาและดีไซน์โมเดลที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร โดยเน้น 3 เรื่องหลัก คือ คุณภาพ การเข้าถึงลูกค้าและดูแลลูกค้าผู้ร่วมลงทุนได้เต็มร้อย ทั้งการให้ข้อมูลตรงไปตรงมา จริงใจ ถ้าลูกค้าได้ข้อมูลด้านบวกอย่างเดียว ไม่ใช่การทำธุรกิจ แม้แฟรนไชส์เป็นสูตรสำเร็จรูป มาสเตอร์ลองผิดลองถูกมาแล้ว คุณทำตามแผนที่เซตไว้ โลเคชันไม่เสี่ยง มีโอกาสการขาย แต่มีบางสาขาต้องปิดตัวเช่นกัน บริษัทต้องบอกตรงๆ ปัญหามาจากไหน

“สมัยเปิดขายแฟรนไชส์แรกๆ เราพิจารณาร่วมกับลูกค้า บางที่ลูกค้าช่ำชองแต่เปิดแล้วไม่ได้เป็นแบบนั้น เราต้องนำข้อมูลมาสร้างเงื่อนไขความยากกับลูกค้าคนต่อไป เพื่อลดการปิดตัวน้อยที่สุด สาขาที่ลูกค้าเปิดยุคแรกๆ ถึงวันนี้ก็มี บางคนเปิดมากกว่า 1 สาขาก็มี บางคนเปิดไม่ถึงครึ่งปีปิดตัวก็มี ซึ่งในฐานะคนขายแฟรนไชส์ เราต้องแชร์ข้อมูลต่างๆ ไม่ใช่งบลงทุนหรือข้อมูลด้านบวกอย่างเดียวเพราะเราต้องอยู่กับเขาอีกนาน”

ดังนั้น ไม่ว่าค่าแฟรนไชส์แพงหลักล้านหรือต่ำหลักหมื่น สิ่งที่สำคัญสูงสุด คือการให้ข้อมูลรอบด้าน ทั้งบวกและลบ เพราะมีลูกค้าหลายรายลงทุนเงินก้อนสุดท้ายซื้อกิจการแฟรนไชส์ หวังสร้างรายได้ใหม่ แต่สุดท้ายต้องปิดตัว ซึ่งไม่มีใครอยากเป็นเช่นนั้นแน่.