วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > โลตัสรุกลูกค้าพรีเมียม แก้เกมรากหญ้าหดตัว

โลตัสรุกลูกค้าพรีเมียม แก้เกมรากหญ้าหดตัว

ท่ามกลางวิกฤตซ้อนวิกฤต ค้าปลีกต่างต้องช่วงชิงกำลังซื้อทุกวิธี แม้กระทั่งยักษ์ใหญ่ “โลตัส” งัดกลยุทธ์ปรับโฉมสาขาแนวไลฟ์สไตล์ต่อเนื่อง ภายใต้แนวคิดและเป้าหมายใหญ่ คือ SMART Retail and Food Destination ด้านหนึ่งเร่งขยายฐานลูกค้าระดับพรีเมียมมากขึ้น เพื่อชดเชยกลุ่มรากหญ้าที่รายได้หดตัว อีกด้านหนึ่งเปิดโอกาสเพิ่มอัตราค่าเช่าพื้นที่ได้ด้วย

ล่าสุด งัด “โลตัส โก เฟรช (Lotus’s go fresh)” ซูเปอร์มาร์เกตโฉมใหม่แห่งแรกบนถนนนวลจันทร์ ชูคอนเซ็ปต์ SMART Urban Supermarket หลังจากไล่เปิดตัวสาขาหลากหลายดีไซน์ตั้งแต่ต้นปี 2565

ไม่ว่าจะเป็นสาขาเลียบคลอง 2 ที่พลิกไฮเปอร์มาร์เกตแบบเดิมๆ สู่แนวคิด Smart Community Center ศูนย์รวมการใช้ชีวิต ขนาดพื้นที่ 4,000 ตารางเมตร และนำร่องสาขาแรกสไตล์ open air mall มีพื้นที่ศูนย์การค้าทั้ง outdoor และ indoor พื้นที่ร้านค้าเช่า ร้านอาหารแบรนด์ดัง โดยเฉพาะ Bonchon และ Salad Factory เปิดตัวสาขาแรกในโลตัส มีพื้นที่ food truck พื้นที่ Artist market พื้นที่ Pet-friendly zone พาสัตว์เลี้ยงเข้ามาร่วมทำกิจกรรมกับเจ้าของได้

ขณะที่เปิดสาขา โลตัส โก เฟรช (Lotus’s go fresh) สุทธิสาร เน้นความเป็นซูเปอร์มาร์เกตรูปแบบไลฟ์สไตล์ ภายใต้คอนเซ็ปต์ SMART F&B Heaven สวรรค์ของนักกินตามสไตล์การใช้ชีวิตของกลุ่มเป้าหมายย่านนั้น โดยรวบรวมร้านอาหารและเครื่องดื่ม ทั้งอาหารไทย อาหารญี่ปุ่น ฟาสต์ฟู้ด เบเกอรี่ คาเฟ่กาแฟและเครื่องดื่ม ตั้งแต่มื้อเช้าถึงมื้อดึก มีร้านเปิดให้บริการเช้าสุด 06.00 น. และปิดดึกสุดถึง 23.00 น.

มีการดึงพันธมิตรร้านอาหารแบรนด์ใหม่เข้ามาเปิดสาขาแรกในโลตัสเช่นเดียวกัน ได้แก่ Subway, Phoenix Lava ร้านซาลาเปาหน้าตาน่ารักแบรนด์ดัง, MX bakery ร้านเค้กและเบเกอรี่อันดับหนึ่งจากฮ่องกง, Mikka ร้านคาเฟ่และเบเกอรี่ชื่อดัง มีร้านค้าดีไซน์เอ็กซ์คลูซีฟ Swensen’s และ Shushi Express

หรือการชิงทำเลริมแม่น้ำโขง เปิดโลตัส โก เฟรช สาขาริมโขง ในจังหวัดนครพนม นำร่องมินิซูเปอร์มาร์เกตต้นแบบที่ชูดีไซน์สถาปัตยกรรมท้องถิ่นบวกกับสถาปัตยกรรมแบบร่วมสมัย หลังคาทรงจั่วบังแดดและฝนบริเวณชายคา ผนังก่ออิฐ ช่องแสง และผนังฝาปะกน มี 2 ชั้น โดยพื้นที่จับจ่ายใช้สอยหลักอยู่บนชั้น 1 ส่วนชั้น 2 จัดพื้นที่ชิลๆ จิบกาแฟ และชมวิวแม่น้ำโขง

นายสมพงษ์ รุ่งนิรัติศัย ประธานคณะผู้บริหาร ธุรกิจโลตัส ประเทศไทย กล่าวว่า โลตัส เดินหน้าพัฒนาการบริการและออกแบบสาขารูปแบบใหม่อย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ของลูกค้า และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนละแวกใกล้เคียงให้สามารถเข้าถึงสินค้าคุณภาพสูงในราคาที่เอื้อมถึง ตอบสนองรูปแบบการใช้ชีวิตของคนในย่านนั้น ๆ

การดีไซน์สาขาจึงอยู่กับลักษณะเฉพาะของทำเล แต่มีเป้าหมายเดียวกัน คือ มุ่งสู่การเป็น Food Destination เน้นอาหารสดคุณภาพสูง ทั้งในซูเปอร์มาร์เกต ศูนย์การค้า และช่องทางออนไลน์

สำหรับสาขาใหม่ โลตัส โก เฟรช (Lotus’s go fresh) นวลจันทร์ เป็นซูเปอร์มาร์เกตแห่งแรกบนถนนนวลจันทร์ คอนเซ็ปต์ SMART Urban Supermarket ขนาดพื้นที่รวม 1,450 ตร.ม. เน้นความพรีเมียมมากขึ้น ทั้งอาหารสด วัตถุดิบเกรดพรีเมียมนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งจำหน่ายในสาขานี้เป็นที่แรก เช่น ล็อบสเตอร์ ปลาไหลญี่ปุ่น ปลาหิมะ รวมถึงสินค้าแบรนด์ใหม่ที่จำหน่ายในโลตัสสาขานี้เป็นที่แรก เช่น ไอศกรีมฮาเก้น-ดาส และสินค้าแบรนด์นำเข้าต่างๆ เช่น นมอัลมอนด์ ซีเรียล ชา กาแฟ น้ำแร่ วัตถุดิบประกอบอาหาร

นอกจากนั้น ดึงร้านอาหารและเครื่องดื่ม ทั้ง MK Restaurant, Santafé, MEAT THINGS, Jungle Café, Colla Tea, MARU Waffle, Dunkin’ Donuts, Chicky Chic และร้านอาหาร food truck เพื่อกระตุ้นกลุ่มเป้าหมายเข้ามาใช้บริการง่ายๆ ขึ้น ไม่ต้องเดินทางไกลไปถึงห้างขนาดใหญ่ด้านนอก

ขณะเดียวกันถนนนวลจันทร์เป็นถนนเส้นสำคัญที่เชื่อมต่อไปยังถนนเกษตรนวมินทร์ ประดิษฐ์มนูธรรม และรามอินทรา ซึ่งมีประชากรหนาแน่น กำลังซื้อสูง และมีโครงการที่อยู่อาศัยจำนวนมาก รวมถึงสามารถดึงผู้คนในย่านใกล้เคียงที่ไม่อยากเดินทางฝ่ารถติดในถนนเลียบทางด่วนได้อีกด้วย

แน่นอนว่า โลตัสพยายามปรับกระบวนทัพและรูปโฉมโมเดลสาขาตามการเปลี่ยนแปลงต่างๆ พลิกดีไซน์ให้แตกต่างจากเทสโก้โลตัสเดิม และตอกย้ำแบรนด์ใหม่ “โลตัส โก เฟรช (Lotus’s go fresh)” หลังเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ “ซีพี” เข้าซื้อกิจการจากกลุ่มเทสโก้ โดยแบ่งเป็น 3 รูปแบบหลัก คือ สาขาไฮเปอร์มาร์เกตขนาดใหญ่ ล่าสุดมี 220 สาขา สาขา Go Fresh Supermarket ซึ่งปรับโฉมจากโมเดลตลาดโลตัสเดิม ล่าสุดอยู่ที่ 200 สาขา และสาขา Go Fresh ซึ่งปรับโฉมจากโลตัสเอ็กซ์เพรสอีก 1,870 แห่ง

ส่วนโครงการ นอร์ธ ราชพฤกษ์ ซึ่งเตรียมเปิดตัว Big Project ภายในไตรมาส 3 หรือช้าสุดไตรมาส 4 ถือเป็นจุดพีกสำคัญในปีนี้ เพื่อนำเสนอ SMART Community Center แห่งแรก ศูนย์กลางการชอปปิง กิน ดื่ม เที่ยว และการใช้ชีวิตในแบบ 24 ชั่วโมง โดยปักหมุดแรกบนถนนราชพฤกษ์ ซึ่งเป็นทำเลที่อยู่อาศัยศักยภาพสูงในกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตก มีประชากรมากกว่า 200,000 คน อาศัยอยู่ในรัศมี 6 กิโลเมตรรอบโครงการ และมีค่าเฉลี่ยการไปศูนย์การค้ามากถึง 4.5 ครั้งต่อเดือน

ก่อนหน้านี้ผู้บริหารธุรกิจโลตัส ประเทศไทย ระบุว่า โครงการนอร์ธ ราชพฤกษ์ มีบริเวณสวนหย่อมเป็นจุดศูนย์กลางของโครงการทั้ง 2 ชั้น และเชื่อมต่อโซนต่างๆ ทั้ง Lotus’s Mega Food Store พื้นที่ 5,000 ตารางเมตร เพื่อให้เป็นมากกว่าไฮเปอร์มาร์เกต มี Lotus’s Eats ศูนย์รวมร้านอาหารชื่อดังจากทั่วไทย โซนสินค้าแฟชั่น สินค้าสุขภาพและความงาม สินค้าตกแต่งบ้าน สินค้าอุปกรณ์ IoT และ gadget ธนาคารและแหล่งบริการด้านการเงิน โซน Pet Us จุดหมายของคนรักสัตว์เลี้ยง

ด้านคู่แข่งหลักอย่างค่าย “บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์” ของกลุ่มเบอร์ลี่ยุคเกอร์ (บีเจซี) เร่งเดินหน้าตามแผนธุรกิจ 5 ปี (ปี 2565-2569) ภายใต้งบลงทุน 60,000 ล้านบาท เพื่อก้าวสู่ตลาดโลกและวางห่วงโซ่อุปทานครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ผู้บริโภค โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีกบิ๊กซี พุ่งเป้าขยายช่องทางการค้าแบบ Omni-channel ผลักดันยอดขาย ทั้งแพลตฟอร์มออนไลน์และบริการจัดส่งผ่านบิ๊กซี แอปพลิเคชัน, Call for shop, Line chat shop, Drive thru, บริการจัดส่งด่วนภายใน 1 ชั่วโมง และผลักดันยอดขายสินค้าเฮาส์แบรนด์แตะระดับ 5 หมื่นล้านบาทภายในปี 2569 เช่น We are fresh, Besico, Big C Happy Price, Big C Happy Price pro

ที่สำคัญ บริษัทแม่สั่งลุยขยายสาขาทุกแพลตฟอร์ม โดยในไทยเร่งเปิดบิ๊กซี ไฮเปอร์มาร์เกต เพิ่มเป็น 160 สาขา บิ๊กซี มินิ เพิ่มเป็น 2,853 สาขา บิ๊กซี ซูเปอร์มาร์เกตและขายส่ง เพิ่มเป็น 84 สาขา เน้นการปรับโฉมบิ๊กซี ไฮเปอร์มาร์เกต ในชื่อ “Big C Place” เพื่อดึงดูดนักช้อปรุ่นใหม่ อัปเกรดและขยายฐานลูกค้ากว้างขึ้น

รีโนเวตบิ๊กซี ไฮเปอร์มาร์เกต รวม 90 สาขาให้ดูทันสมัย เพิ่มร้านอาหารชื่อดัง เพิ่มพื้นที่ co working space และ relax zone เพื่อเป็นจุดหมายของคนรุ่นใหม่ และใช้เทคโนโลยีโมเดลธุรกิจ O2O (Online to Offline) ผสมผสานระหว่างธุรกิจจากออนไลน์ไปยังออฟไลน์

ทว่า ทั้งหมดต้องวัดกัน ค่ายไหนจะไลฟ์สไตล์โดนใจกลุ่มเป้าหมายได้มากกว่ากัน.

ใส่ความเห็น