วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
Home > Life > เมื่อความอยากอาหารเข้าจู่โจม วิธีควบคุมไม่ให้กินมากเกินไป

เมื่อความอยากอาหารเข้าจู่โจม วิธีควบคุมไม่ให้กินมากเกินไป

ที่ผ่านมา “ผู้จัดการ 360 องศา” เคยเขียนถึงวิธีการลดน้ำหนัก แนะนำโภชนาการที่เหมาะสม ตลอดจนเทคนิควิธีต่างๆ ในการควบคุมไขมันและน้ำหนักไม่ให้มากเกินไป ทว่า ท้ายที่สุดพบว่า ยังมีอีกหนึ่งปัญหาที่หลายคนหาทางแก้ไขไม่ได้ในช่วงเวลานั้นๆ จนส่งผลให้น้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์เกินมาตรฐาน นั่นคือ การควบคุมความอยาก

หลายคนมักจะรับประทานอาหารเมื่อ “ความอยาก” เข้าจู่โจม มากกว่าจะรับประทานเมื่อรู้สึกหิว นั่นส่งผลต่อน้ำหนักตัวและไขมันส่วนเกินที่กำลังก่อตัวขึ้นอย่างช้าๆ แม้บางคนจะเข้าใจถึงการกำหนดหลักโภชนาการ และสัดส่วนสารอาหารที่เหมาะสมกับร่างกายตัวเอง แต่ไม่อาจหักห้ามใจระงับความอยากได้ นอกจากนี้ บางคนยังพ่ายแพ้ให้แก้โปรโมชัน ยอมเป็นเหยื่อการตลาด ซื้อสินค้าในปริมาณมาก และรับประทานด้วยความเสียดาย

วันนี้ “ผู้จัดการ 360 องศา” จะมาแนะนำเทคนิควิธีรับมือเมื่อความอยากอาหารเข้าจู่โจม และลองนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับตัวเอง

1. เลือกอาหารสุขภาพก่อน
หลายครั้งเรามักจะมองหาโปรโมชัน สินค้าลดราคา ซึ่งบางทีสินค้าเหล่านั้นอาจไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการ แต่เราอาจหลงเดินตามเสียงที่โหมทำการตลาดและหยิบสินค้านั้นๆ มาโดยที่ไม่ได้มีความต้องการจริงๆ แนะนำว่า ในครั้งต่อไปที่คุณจะต้องจับจ่ายเลือกของกินเข้าบ้าน ควรเลือกอาหารหลักก่อน เช่น เนื้อสัตว์ต่างๆ ผัก ผลไม้ตามฤดูกาล ผลิตภัณฑ์จากนม ธัญพืช เมื่อเราเลือกอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพแล้ว ตัวเลือกที่เกิดขึ้นจากความอยากเพียงอย่างเดียวจะถูกลืมไป และเราจะมองเห็นความจำเป็นของอาหารแต่ละอย่างชัดเจนขึ้น

2. อย่าซื้ออาหารเวลาหิวจัด
เชื่อว่าข้อนี้หลายคนคงเคยประสบกันมาบ้าง ทุกครั้งที่เราหิวจัดเรามักจะซื้ออาหารในปริมาณที่เกินความจำเป็น และส่วนใหญ่จะจ่ายเงินซื้อจากเหตุผลเพียงแค่ “ดูน่ากิน” มากกว่าความต้องการของร่างกาย นั่นทำให้เราสิ้นเปลืองเงินโดยใช่เหตุ นอกจากนี้ คุณยังมีปริมาณอาหารที่ซื้อมามากเกินความจำเป็น แม้บางคนอาจจัดสรรและเลือกอาหารบางชนิดเก็บเข้าตู้เย็นเพื่ออุ่นกินในมื้อถัดไป แต่นั่นอาจไม่ใช่ทุกคน เพราะบางคนมีความคิดว่า ของที่ทำมาใหม่ๆ หลังจากซื้อมาแล้วควรรับประทานให้หมดในครั้งเดียว จนทำให้ไม่สามารถควบคุมความอยากของตัวเองได้

3. จ่ายด้วยเงินสด
การชำระค่าสินค้าด้วยเงินสดนั้นมีข้อดีที่ว่า คุณจะรู้ข้อกำหนดของตัวเองจากจำนวนเงินที่มีอยู่ในกระเป๋า เมื่อจ่ายเงินออกไปครั้งหนึ่งแล้ว สิ่งที่ได้กลับมานั้นเหมาะสมกับจำนวนเงินที่ลดน้อยลงไป ในขณะที่หากคุณจ่ายด้วยบัตรเครดิต คุณอาจเลือกซื้ออาหารในปริมาณที่มากขึ้นและจ่ายเงินชนิดที่แทบไม่รู้ตัวเลยว่า “เท่าไร” สิ่งที่ได้มาอาจเป็นอาหารประเภทที่ไม่อยู่ในความจำเป็น เช่น ขนมขบเคี้ยว

4. ใช้จาน ชาม ขนาดที่เหมาะสมกับปริมาณอาหาร
เลือกใช้ภาชนะที่มีขนาดกำลังดี ไม่ใหญ่จนเกินไป หากใช้จานหรือชามใบใหญ่ใส่อาหาร จะทำให้เรารู้สึกว่าปริมาณอาหารนั้นน้อยเกินไป อาจทำให้เราตักอาหารเพิ่มมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว การใช้จานชามขนาดพอเหมาะ ช่วยให้รู้สึกว่าปริมาณอาหารนั้นเพียงพอแล้ว และรับประทานเท่าที่มีในจาน ลดการรับประทานมากเกินความพอดีได้

5. ห้ามงดมื้อเช้า หรือรวบมื้อเช้าไปไว้มื้อเที่ยง
การงดมื้อเช้าเป็นเวลานาน โดยที่บางคนอาจรวบไปรับประทานอาหารในมื้อเที่ยงทีเดียวนั้น ทำให้ร่างกายขาดสารอาหารนานเกินไป มีโอกาสที่จะทำให้คุณรับประทานมากกว่าปกติในมื้อถัดไป การกินมื้อเช้านั้นช่วยควบคุมความอยากอาหารในปริมาณที่มากเกินไปได้

6. ดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม
ก่อนรับประทานอาหาร ควรดื่มน้ำก่อนสักหนึ่งแก้ว เพื่อช่วยให้คุณรู้สึกอิ่มเร็วขึ้น

7. เพิ่มโปรตีนในมื้ออาหารหลัก
คนส่วนใหญ่มักเลือกที่จะเพิ่มปริมาณคาร์โบไฮเดรตในมื้ออาหาร เพราะเชื่อว่าจะช่วยให้อิ่มนานขึ้น บางคนรับประทานข้าวเหนียวในปริมาณมาก หรือเพิ่มขนมปังในมื้อเช้า ลองปรับเปลี่ยนสักนิด ด้วยการเพิ่มปริมาณโปรตีนจากเดิมขึ้นอีก 1 ฝ่ามือ เพราะโปรตีนจะช่วยให้เราอิ่มนานขึ้น ร่างกายใช้เวลาย่อยนานขึ้นด้วย

8. หยุดกินทันทีที่รู้สึกอิ่ม
หมั่นสังเกตตัวเอง ถามตัวเองตลอดเวลาในขณะที่กำลังรับประทาน ว่าเราอิ่มแล้วหรือยัง หากรู้สึกอิ่มแล้วควรวางช้อนส้อมทันที เพราะการรับประทานอาหารมากเกินความต้องการของร่างกายอาจส่งผลร้ายมากกว่าที่คิด แม้ว่าอาหารในจานจะยังไม่หมด ก็ไม่ควรรู้สึกผิด อย่างน้อยทำให้เราได้เรียนรู้ว่า ปริมาณอาหารแค่ไหนที่เราสามารถรับประทานได้แล้วรู้สึกอิ่มกำลังพอดี เพราะความอยากจะทำให้เราสวาปามอาหารทุกอย่างที่อยู่ในจานหรือบนโต๊ะจนหมด จะทำให้เราสะสมไขมันให้พอกพูนขึ้นเรื่อยๆ.

ใส่ความเห็น