วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > ไทยฝันไกล ฮับกัญชา ชิงเม็ดเงินตลาดโลกล้านล้าน

ไทยฝันไกล ฮับกัญชา ชิงเม็ดเงินตลาดโลกล้านล้าน

ณ วินาทีนี้ ธุรกิจเล็กใหญ่แห่งัดกลยุทธ์รับดีเดย์ปลดล็อก “พืชกัญชา” ไม่เป็นยาเสพติดให้โทษ สามารถปลูก ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย เสพ ครอบครอง ชนิดที่ว่า กลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอางเสริมความงาม ต่างหยิบใช้เป็นส่วนผสมสร้างจุดขายใหม่ ไม่ใช่แค่รุกตลาดลูกค้าในไทย แต่หวังเจาะตลาดโลกชิงเม็ดเงินมหาศาลหลักล้านล้านบาทด้วย

หลายฝ่ายคาดการณ์กันว่า หลังจากนี้ ตลาดสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับกัญชา-กัญชงจะมีมูลค่าเชิงเศรษฐกิจเติบโตมากกว่า 100% เทียบจากปี 2564-2568 โดยตลาดเครื่องดื่มสายสีเขียวระยะแรกมีมูลค่า 280 ล้านบาท จะเพิ่มขึ้นเป็น 7,600 ล้านบาท เติบโต 128% ธุรกิจอาหาร จาก 240 ล้านบาท เป็น 5,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 120% และธุรกิจยา จาก 50 ล้านบาท เป็น 1,240 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 123%

ขณะเดียวกัน ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ระบุว่า อย. มีการอนุญาตผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของกัญชา กัญชง และสารสกัดแคนนาบิไดออล (CBD) รวมทั้งสิ้นมากกว่า 935 รายการ แยกเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร 90 รายการ ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง 818 รายการ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร 12 รายการ และผลิตภัณฑ์ยา 15 รายการ

พรชัย ปัทมินทร นายกสมาคมการค้าอุตสาหกรรมกัญชงไทย (Thai Industrial Hemp Trade Association: TIHTA) เปิดเผยว่า การปลดล็อกกัญชาและกัญชงพ้นบัญชียาเสพติดจะช่วยเปิดทางการช่วงชิงส่วนแบ่งในตลาดโลก ซึ่งมีมูลค่ากว่า 1.039 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3.53 ล้านล้านบาทตามรายงาน The Global Cannabis Report ของ Prohibition Partners และตลาดกัญชาทางการแพทย์ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2563-2567 มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง เฉลี่ย 26% ต่อปี มูลค่าประมาณ 2,700 ล้านบาท และคาดว่าจะพุ่งพรวดถึง 40,000 ล้านบาท ภายในปี 2570

ล่าสุด สมาคมได้ลงนามข้อตกลง (MOA) ร่วมกับ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. เอ็กซิบิชั่น ออกาไนเซอร์ จำกัด เพื่อจัดงานแสดงเทคโนโลยี นวัตกรรม และผลิตภัณฑ์กัญชง-กัญชานานาชาติ (Asia International HEMP and Cannabis Expo 2022) ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 2 ธันวาคม 2565 ซึ่งเป็นการจัดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย

งานนี้จะรวบรวมนวัตกรรมและเทคโนโลยีการเพาะปลูกกัญชงและกัญชาอย่างครบวงจร จัดโซนแสดงนิทรรศการครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งเทคโนโลยีการเพาะปลูก เทคโนโลยีการวิจัย เทคโนโลยีการแปรรูป ครอบคลุม 12 อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น อาหาร เครื่องดื่ม อาหารเสริม การแพทย์ สปาและสมุนไพร เครื่องสำอาง แฟชั่นเสื้อผ้าและสิ่งทอ ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เฟอร์นิเจอร์ อาหารสัตว์ รวมถึงการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจเจาะตลาดโลก เพื่อผลักดันไทยก้าวสู่การเป็นฮับกัญชงและกัญชาในภูมิภาค ดึงดูดเม็ดเงินจากต่างประเทศ

แน่นอนว่า ที่ผ่านมาก่อนการปลดล็อกกัญชาเสรีนั้น บรรดาธุรกิจต่างเห็นโอกาสทอง โดยเฉพาะกลุ่มทุนขนาดใหญ่เร่งขออนุญาตปลูกเชิงพาณิชย์ ใช้นวัตกรรมออกผลิตภัณฑ์เข้ามาปลุกกระแสการบริโภค ประชันอาหารและเครื่องดื่มหลากหลายเมนู

ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอาร์เอส กรุ๊ป เปิดตัวเครื่องดื่มฟังก์ชันนอล ดริงก์ วิตามินซีแบรนด์แรกที่มีส่วนผสมจากใบกัญชง “คามูซี พลัส กัญชง”

กลุ่มทิปโก้รีบผลิตเครื่องดื่มผสมกัญชา Tipco Leafly และเครื่องดื่มมอลต์ผสมใบกัญชาแอลกอฮอล์ 0.0 และกลุ่มไทยฮา เจ้าของแบรนด์ตราเกษตร ประกาศลุยเครื่องดื่ม Hemp shot และน้ำกระท่อมผ่านแบรนด์ “ดอยธัมม์”

กลุ่มโอสถสภาจับมือโรงพยาบาลยันฮี ผู้ผลิตน้ำดื่มวิตามิน “ยันฮี วิตามิน วอเตอร์” จัดตั้งบริษัท โอสถสภา ยันฮี เบฟเวอเรจ จำกัด ประเดิมน้ำดื่มกัญชาผสมวิตามิน แบรนด์ยันฮี เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ เน้นการดูแลสุขภาพในช่วงโควิด-19 ช่วยผ่อนคลายความกดดันและความเครียดในการใช้ชีวิตประจำวันทั้งการทำงานและการเรียน

ด้านค่ายเจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย วางแผนพัฒนาเครื่องดื่มและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีสารสกัดจากกัญชง 5-6 รายการในรูปแบบ Shot Drink

ขณะที่กลุ่มศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง อัดโฆษณาหนักหน่วงโปรโมต เมจิก ฟาร์ม เฟรช น้ำผลไม้รวมผสมน้ำใบกัญชา ทั้ง 4 รสชาติ ได้แก่ มิกซ์เบอร์รี่ ลิ้นจี่ สับปะรด และมะนาว บรรจุขวดขนาด 250 มล. พร้อมเร่งปูพรมสินค้า โดยเฉพาะช่องทางร้านสะดวกซื้อ เซเว่นอีเลฟเว่น ทุกสาขาทั่วประเทศ

แม้กระทั่งยักษ์ใหญ่เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ขอเกาะเทรนด์สายเขียวให้บริษัท เชสเตอร์ฟู้ด จำกัด ธุรกิจร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดในเครือบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ชิมลางตลาดส่งเมนูไก่ย่าง ไก่เผ็ดกัญชาพร้อมซอสกัญ ส่วนผสมของใบกัญชาจากแหล่งปลูกมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ระยะเวลาเพียง 1 เดือน และรอดูจังหวะเวลาส่งเมนูตัวใหม่

ล่าสุด ซีพีเอฟตัดสินใจลุยช่องทางธุรกิจห้าดาว (FIVE STAR) ส่งไก่ย่างกัญชา “ไก่กัญ” และ “ซอสกัญ” เพื่อรุกเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายระดับแมสมากขึ้น พร้อมอัดโปรโมชั่นราคาชิ้นละ 69 บาท จากปกติ 85 บาท

ทว่า ทั้งหมดต้องลุ้นว่า เทรนด์พืชกัญชาจะมาแรง ยืนระยะยาวฝ่ามรสุมเศรษฐกิจ เป็นอาวุธใหม่ให้ธุรกิจเอกชนรายใหญ่รายย่อยพลิกวิกฤตเป็นโอกาสมหาศาลได้จริงหรือไม่.

 

ปลดล็อกพืชกัญชา ปลูก ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย เสพ

ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 ปลดล็อก “พืชกัญชา” ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษ ประเภท 5 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติดอีกต่อไป ยกเว้นสารสกัดที่มีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (THC) ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท เกิน 0.2%

ดังนั้น การผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย เสพ หรือครอบครอง พืชกัญชา หรือการกระทำอื่นเกี่ยวกับพืชกัญชา จึงไม่เป็นความผิดเหมือนในอดีต

1. ผู้ต้องหาที่อยู่ระหว่างถูกดำเนินคดี หรือจำเลยที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลในความผิดเกี่ยวกับพืชกัญชาดังกล่าว พ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด

2. สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (5)

3. ศาลไม่อาจขังผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ในระหว่างสอบสวนหรือระหว่างการพิจารณาคดีของศาลได้อีกต่อไป ดังนั้น เมื่อสำนวนความปรากฏแก่ศาล ต้องยกเลิกการฝากขัง ปล่อยตัวผู้ต้องหา หรือตรวจคืนหลักประกันในการปล่อยชั่วคราว (ถ้ามี) หรือหากคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล ต้องพิพากษายกฟ้อง

4. คดีความผิดเกี่ยวกับพืชกัญชาที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว จำเลยที่ได้รับโทษอยู่ ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง ดังนั้น หากจำเลยอยู่ระหว่างการถูกกักขังแทนค่าปรับ ศาลต้องปล่อยตัวจำเลย เนื่องจากไม่มีโทษปรับที่จะกักขังแทนค่าปรับต่อไปได้

หรือหากจำเลยอยู่ระหว่างการคุมประพฤติ ก็ต้องยกเลิกการคุมประพฤติ และหากจำเลยอยู่ระหว่างการถูกจำคุกในการกระทำความผิดฐานอื่นด้วย ก็จะต้องมีการแก้ไขหมายจำคุก เพื่อยกเลิกการบังคับโทษสำหรับความผิดเกี่ยวกับพืชกัญชา

5. ไม่อาจนำคดีความผิดเกี่ยวกับพืชกัญชา ซึ่งศาลเคยมีพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกจำเลยในคดีก่อนมาเป็นเหตุเพิ่มโทษ บวกโทษ หรือไม่รอการลงโทษในคดีหลังได้ ถือว่าจำเลยไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดเกี่ยวกับพืชกัญชาในคดีก่อน

6. พืชกัญชาไม่เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 อีกต่อไป จึงมิใช่ทรัพย์สินที่ต้องริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 และประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 134

สำหรับการปลูกนั้นประชาชนสามารถปลูกพืชกัญชา กัญชง ในครัวเรือน เพื่อประโยชน์ในการรักษาและดูแลสุขภาพได้ จะปลูกกี่ต้นก็ได้ โดยไม่ต้องขออนุญาต แต่ให้จดแจ้งผ่านแอปพลิเคชันของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่ชื่อว่า “ปลูกกัญ” ซึ่งเริ่มโหลดได้ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. ที่ผ่านมาและเปิดใช้ได้ตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. เป็นต้นไป ส่วนการปลูกในเชิงพาณิชย์ ยังต้องขออนุญาตก่อน.

 

ใส่ความเห็น