วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
Home > Cover Story > ชุมชนบ้านแหลม ท่องเที่ยวโดยชุมชน ที่พร้อมยกระดับสู่ Smart Tourism

ชุมชนบ้านแหลม ท่องเที่ยวโดยชุมชน ที่พร้อมยกระดับสู่ Smart Tourism

การท่องเที่ยวชุมชนเป็นอีกหนึ่งรูปแบบการท่องเที่ยวที่เป็นที่ชื่นชอบของหลายๆ คน และกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่การเดินทางถูกจำกัด ทำให้นักท่องเที่ยวเริ่มหันมาเที่ยวภายในประเทศอย่างการท่องเที่ยวชุมชนกันมากขึ้น เพื่อสัมผัสเสน่ห์ที่อยู่ใกล้ตัว

ปัจจุบันการท่องเที่ยวชุมชนมีอยู่อย่างมากมายทั่วประเทศ ซึ่งมีเอกลักษณ์และจุดขายที่แตกต่างกันออกไป และหนึ่งในท่องเที่ยวชุมชนที่น่าสนใจ คือ “วิสาหกิจท่องเที่ยววิถีชุมชนตำบลบ้านแหลม” จังหวัดสุพรรณบุรี ที่ดึงจุดแข็งในเรื่องวิถีชีวิตของชุมชนเก่าแก่ริมสายน้ำมาเป็นจุดขาย

และที่สำคัญยังเป็นการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่เข้มแข็ง ที่พร้อมจะยกระดับสู่ Smart Tourism หรือการท่องเที่ยวอัจฉริยะ โดยการผสานวิถีชีวิตเข้ากับนวัตกรรม เพื่อยกระดับการท่องเที่ยวชุมชนของจังหวัดสุพรรณบุรี

เสียงเพลงเกี่ยวข้าว เพลงฉ่อย เพลงอีแซว ตามมาด้วยเพลงเรือ ที่บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของชุมชน แนะนำสมาชิก ตลอดจนกิจกรรมต่างๆ ตบท้ายด้วยประโยคที่ว่า “เลี้ยวเลาะ เที่ยวท่อง ล่องวิถี คนเมืองเหน่อ บ้านแหลมสุพรรณจ้า” ที่มีความเหน่อเป็นเอกลักษณ์ คือการต้อนรับอันอบอุ่นที่นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสเป็นด่านแรกจากชาวชุมชนตำบลบ้านแหลม ที่ไม่ทิ้งลายของเมืองแห่งศิลปิน

ชุมชนตำบลบ้านแหลม ตั้งอยู่ที่ อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีเรือนไทยหลังคาแหลมใต้ถุนสูงอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำสุพรรณบุรี (ส่วนหนึ่งของแม่น้ำท่าจีนตอนที่ไหลผ่าน จ. สุพรรณบุรี) ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ “ชุมชนบ้านแหลม”

โดยสองฝั่งแม่น้ำมีทั้งเรือนไทยเดี่ยว เรือนไทยหมู่ เรือนไทยคหบดี วัดเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน และวิถีชีวิตของชาวชุมชนที่ผูกพันกับสายน้ำ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นเสน่ห์และจุดขายของท่องเที่ยวชุมชนตำบลบ้านแหลม

สำหรับ “วิสาหกิจท่องเที่ยววิถีชุมชนตำบลบ้านแหลม” เป็นการรวมตัวกันของชาวชุมชนตำบลบ้านแหลม ทั้ง 5 หมู่ จัดการท่องเที่ยวชุมชนโดยชุมชน ทำเป็นแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรม วิถีชีวิต และประวัติศาสตร์ของชุมชนริมแม่น้ำสุพรรณบุรี ซึ่งเริ่มรวมกลุ่มกันมาตั้งแต่ปี 2554 และเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนราวๆ ปี 2557

สิ่งที่นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสเมื่อมาเยือนชุมชนตำบลบ้านแหลม คือ วิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวบ้านแหลมที่อยู่คู่กับสายน้ำมาอย่างยาวนานดุจดังลมหายใจเดียวกัน ผ่านโปรแกรมล่องเรือตามเส้นทางเสด็จประพาสต้น อีกทั้งยังได้ย้อนรอยนิราศสุพรรณของกวีเอกสุนทรภู่ หรือจะปั่นจักรยานเพื่อเที่ยวชมชุมชนก็ได้ รวมถึงซึมซับวิถีชีวิตชาวบ้านแบบเจาะลึกกับการพักแบบโฮมสเตย์ และลิ้มรสอาหารคาวหวานตำรับดั้งเดิมของชุมชน

นอกจากนั้น นักท่องเที่ยวยังได้เรียนรู้ภูมิปัญญาพื้นบ้านต่างๆ จากกิจกรรมที่มีอยู่อย่างหลากหลาย โดยมีพี่ป้าน้าอาชาวชุมชนเป็นผู้ถ่ายทอด ไม่ว่าจะเป็น

“สานผลิตภัณฑ์จากผักตบชวา” เนื่องด้วยชุมชนบ้านแหลมอยู่ติดแม่น้ำ ซึ่งบางช่วงจะมีผักตบชวาขึ้นเยอะ ชาวบ้านจึงนิยมนำผักตบชวาเหล่านี้มาอบให้แห้งและนำมาสานเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้ง หมวก กระเป๋า โคมไฟ สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนอีกทางหนึ่ง ซึ่งนักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้กรรมวิธีของการทำตั้งแต่ต้นจนออกมาเป็นผลิตภัณฑ์

“ทำธูปหอม” การทำธูปหอมถือเป็นอีกหนึ่งภูมิปัญญาของชาวบ้านแหลม โดยนักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้ทั้งส่วนประกอบของธูป วิธีการทำ และได้ลงมือทำด้วยตนเอง โดยธูปหอมจะมีหลากสี ทั้งสีส้ม แดง เขียว เหลือง ชมพู ม่วง ฟ้า ซึ่งเป็นสีประจำวันเกิด นอกจากจะมีสีสวยแล้วยังได้กลิ่นหอมจากดอกไม้นานาชนิด ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ของชาวบ้านแหลม

“ทำขนมไทยโบราณ” ซึ่งทางชุมชนมีหลากหลายเมนูให้เราเลือกลองทำ ทั้งเกสรลำเจียก ขนมทองม้วน หรือขนมเจ้าบ้านเจ้าเรือน ที่ประกอบด้วยขนม 5 อย่าง คือ ขนมต้มขาว, ขนมต้มแดง, ขนมคานหลาว, ข้าวเหนียวน้ำกะทิ และกล้วย ซึ่งเป็นขนมมงคลที่ทำกันมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายายจนถึงปัจจุบัน นิยมทำกันในประเพณีต่างๆ และต้องขอบอกเลยว่า นอกจากตัวขนมที่อร่อย หอม และสวยงามแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่นักท่องเที่ยวจะได้รับคือความสนุกสนานจากการได้ลงมือทำที่มีคุณย่าคุณยายชาวชุมชนเป็นผู้ถ่ายทอด

“ทำน้ำพริกเผาโบราณ” หรือ “น้ำพริกไปนาสูตรแม่โสภา” คือน้ำพริกที่ชาวบ้านจะเอาติดตัวไปเวลาไปทำนาสมัยก่อน ตัวน้ำพริกมีส่วนประกอบหลักคือ หอม กระเทียมที่นำไปเผา พริกย่าง กะปิจากกุ้งนา โขลกรวมกัน ปรุงรสด้วยมะขามเปียกที่แช่ในน้ำปลา ซึ่งเป็นน้ำปลาที่ทำไว้บริโภคเองในชุมชน ไม่ผัดน้ำมัน ไม่เติมน้ำตาล ไม่ใส่ผงชูรส และไม่มีสารกันบูด ที่บอกเลยว่าสายน้ำพริกต้องชื่นชอบแน่นอน

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลากหลายกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวสามารถเลือกได้ตามที่สนใจ โดยสามารถเดินทางมาเที่ยวได้ทั้งแบบไปเช้าเย็นกลับ (one day trip) และจะค้างคืนแบบโฮมสเตย์ก็สามารถทำได้

ท่องเที่ยวชุมชนบ้านแหลมถือเป็นท่องเที่ยวโดยชุมชนที่มีความแข็งแรง ทั้งในแง่ของการรวมตัวกันของสมาชิก โปรแกรมการท่องเที่ยว การบริหารจัดการต่างๆ โดยมีรางวัลการันตีมากมาย ทั้งรางวัลชนะเลิศ โครงการ Thailand Village Academy ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม, เป็น 1 ใน 10 ชุมชนต้นแบบ Thailand Village Tourism ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.), เป็นชุมชนต้นแบบโอทอปนวัตวิถี, ชุมชนต้นแบบหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ CIV ของกรมส่งเสริมอุสาหกรรม 1 ใน 215 ชุมชนจากทั่วประเทศ

และล่าสุดยังได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ในโครงการ “นวัตกรรมระบบการท่องเที่ยวอัจฉริยะ (Smart Tourism) ส่งเสริมจังหวัดสุพรรณบุรี” ภายใต้ทุนวิจัยพื้นฐานจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ซึ่งมี รศ. ดร.พรรณี สวนเพลง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เป็นหัวหน้าโครงการ เพื่อยกระดับการท่องเที่ยวจังหวัดสุพรรณบุรีให้เป็นการท่องเที่ยวอัจฉริยะ

รศ. ดร.พรรณี มองว่าสุพรรณบุรีถือเป็นพื้นที่ที่มีทุนทางด้านท่องเที่ยวที่หลากหลาย ทั้งประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต ทรัพยากรธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม เหมาะที่จะส่งเสริมให้เป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวที่มุ่งเน้นวัฒนธรรมความเป็นอยู่ในทุกมิติ

โดยโครงการดังกล่าวเป็นการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาจัดการและพัฒนาการท่องเที่ยว อันประกอบด้วย

1. ใช้แอปพลิเคชันแนะนำโปรแกรมท่องเที่ยวแก่นักท่องเที่ยวรายบุคคล โดยใช้ AI เข้ามาช่วยเก็บข้อมูลเกี่ยวกับความสนใจของนักท่องเที่ยว เช่น รูปแบบการท่องเที่ยวที่สนใจ งบประมาณ ระยะเวลาที่ใช้ในการท่องเที่ยว รวมถึงที่พักที่ต้องการ เป็นต้น เพื่อนำมาประมวลและนำไปใช้พัฒนาโปรแกรมการท่องเที่ยวต่อไป

2. พัฒนาเด็กและเยาวชนในท้องถิ่นเพื่อเป็นมัคคุเทศก์ โดยจะมีการสอนหลักสูตรการทำวิดีทัศน์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับชุมชน รวมถึงใช้ Metaverse ในการแนะนำชุมชน

3. พัฒนาสื่อดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและทำการตลาด

4. จัดทำข้อมูลคาดการณ์แนวโน้มนักท่องเที่ยวล่วงหน้าเพื่อวางแผนร่วมกับชุมชนและจังหวัด

5. เก็บสถิติต่างๆ ของนักท่องเที่ยว เช่น ความพึงพอใจ คำแนะนำ เพื่อนำไปปรับปรุงการท่องเที่ยวให้โดนใจนักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น

6. พัฒนาสุพรรณบุรีให้เป็นเมืองท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ (Low Carbon)

รศ. ดร.พรรณี ในฐานะหัวหน้าโครงการ เปิดเผยว่า “เราใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) เพื่อดูแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดสุพรรณบุรี การจัดกิจกรรมต่าง ๆ และข้อมูลการท่องเที่ยวชุมชน เพื่อประเมินศักยภาพความพร้อมของชุมชน ตลอดจนขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยว จากนั้นจะเลือกชุมชนต้นแบบในแต่ละมิติเพื่อพัฒนาและสร้างแบรนด์ใหม่ของการท่องเที่ยวจังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อสร้างฐานให้เป็นแบรนด์ของคนสุพรรณบุรีอย่างแท้จริง ตามนโยบายของผู้ว่าราชการจังหวัดที่ต้องการพัฒนาสุพรรณบุรีให้เป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) และการท่องเที่ยวชุมชนเชิงเกษตร อันเป็นแหล่งเรียนรู้การปลูกข้าวและเกษตรอื่นๆ รวมถึงวัฒนธรรมชุมชน”

ซึ่งหลังจากที่ได้มีการพัฒนาโครงการร่วมกันแล้ว แผนในอนาคตต่อไปคือ การพัฒนา “ชุมชนบ้านแหลม” ให้เป็นชุมชนต้นแบบด้านการท่องเที่ยวอัจฉริยะ และเป็นโมเดลสำหรับนำไปพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ เพื่อยกระดับการท่องเที่ยวในจังหวัดสุพรรณบุรี ให้ทันสมัย หลากหลาย และตอบโจทย์นักท่องเที่ยวมากขึ้น

โดยหวังว่าในอนาคต “สุพรรณบุรี” จะเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการมาสัมผัสธรรมชาติ วิถีชีวิต และวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์.

ใส่ความเห็น