ในสถานการณ์เศรษฐกิจยุคกำลังซื้อหดตัวดูเหมือน “เซ็นทรัลรีเทล” เร่งปรับตัวและปูพรมเครือข่ายร้านค้าปลีกซีรีส์ “go!” เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหลายเท่าตัว ทั้งร้านขายสินค้าเบ็ดเตล็ดราคาถูก go! WoW และร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าเงินผ่อน go! Power รวมกันเกือบร้อยสาขา ยิ่งไปกว่านั้น เตรียมแตกไลน์ฟอร์แมต go! ตัวใหม่ๆ ในครึ่งปีหลังนี้ด้วย
ปัจจุบันหากดูข้อมูลล่าสุด ณ สิ้นปี 2564 บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือซีอาร์ซี มีเครือข่ายร้านค้าปลีกรวมมากกว่า 3,599 ร้านค้า ทั้งในและต่างประเทศ ครอบคลุม 4 กลุ่มธุรกิจ เริ่มจาก 1. กลุ่มฮาร์ดไลน์ จำหน่ายสินค้าตกแต่งและปรับปรุงบ้าน สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องเขียนและอุปกรณ์สำนักงาน หนังสือ และ e-Book ภายใต้แบรนด์ไทวัสดุ บ้านแอนด์บียอนด์ บีเอ็นบีโฮม เพาเวอร์บาย ออฟฟิศเมท บีทูเอส เมพ และเหงียนคิม ล่าสุดมีเครือข่ายรวม 466 สาขา
2. กลุ่มฟู้ด จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าทั่วไปในร้านสะดวกซื้อ เช่น เซ็นทรัลฟู้ดฮอลล์ ท็อปส์ แฟมิลี่มาร์ท บิ๊กซี GO! ลานชี มาร์ท ท็อปส์มาร์เก็ต เวียดนาม และมินิ โก (go!) ล่าสุดมีเครือข่ายรวม 1,155 แห่ง แบ่งเป็นกลุ่มไฮเปอร์มาร์เก็ตและซูเปอร์มาร์เก็ตรวม 350 แห่ง และกลุ่มร้านสะดวกซื้ออีก 805 แห่ง
3. กลุ่มแฟชั่น การจำหน่ายสินค้าเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ เช่น ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน ห้างสรรพสินค้ารีนาเชนเต ซูเปอร์สปอร์ต และเซ็นทรัล มาร์เก็ตติ้ง กรุ๊ป ล่าสุดมีเครือข่ายมากถึง 1,978 แห่ง แบ่งเป็นกลุ่มห้างสรรพสินค้า 83 แห่ง ร้านขายสินค้าเฉพาะทาง (Specialty Store) 98 แห่ง แบรนด์ช็อป 378 แห่ง และเคาน์เตอร์จำหน่ายสินค้าอีก 1,419 แห่ง
4. กลุ่มพร็อพเพอร์ตี้ ให้เช่าพื้นที่ร้านค้าของกลุ่มบริษัทฯ ร้านค้าและบริการของบุคคลภายนอก เช่น โรบินสันไลฟ์สไตล์เซ็นเตอร์ ท็อปส์พลาซ่า และบิ๊กซี / GO! เวียดนาม ล่าสุดมี 69 แห่ง
ขณะเดียวกันเตรียมแตกไลน์กลุ่มธุรกิจใหม่ในกลุ่มการดูแลสุขภาพและความงาม (Health & Wellness) ด้วยการเปิดตัวโมเดลใหม่ Tops Vita ร้านขายผลิตภัณฑ์สุขภาพและวิตามิน และ Tops Care รุกธุรกิจร้านขายยา ในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ โดยจะเริ่มช่องทางออนไลน์ก่อนและเปิดช่องทางออฟไลน์หรือหน้าร้าน 16-18 แห่งในปี 2565
ทั้งนี้ การพัฒนาร้านค้าและช่องทางจำหน่ายสินค้ารูปแบบใหม่อย่างต่อเนื่องถือเป็นกลยุทธ์ของซีอาร์ซีในการรุกขยายไปยังพื้นที่ที่มีโอกาสเติบโต โดยเฉพาะต่างจังหวัด และตอบโจทย์ลูกค้าหลากหลายตามวิชั่นใหญ่ เช่น มีร้านค้าระดับไฮเอนด์รองรับตลาดกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูงในทำเลเมือง มีร้านค้าภายใต้แบรนด์ค้าปลีกที่เจาะตลาดกลุ่มลูกค้าทั่วไป (Mass Market) ในทำเลชานเมือง มีร้านค้าขนาดเล็กในเขตชุมชนเมืองที่มีพื้นที่จำกัด มีพลาซ่าขนาดใหญ่ในพื้นที่ต่างจังหวัด
เมื่อความต้องการของลูกค้า หรือสภาพการแข่งขัน หรือกฎหมายของแต่ละพื้นที่เปลี่ยนไป บริษัทสามารถงัดโมเดลตอบโจทย์ได้ทันที
นายไท จิราธิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการเงิน ซีอาร์ซี กล่าวในงาน Opportunity Day ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ผ่านมาว่า แผนงานหลักในปี 2565 บริษัทยังคงดำเนินงานภายใต้กลยุทธ์สร้าง CRC Retailligence เติมเต็มทุกประสบการณ์ให้ลูกค้าแบบไร้พรมแดนและไร้ขีดจำกัด โดยเตรียมเงินลงทุนรวม 18,000-20,000 ล้านบาท และเป็นงบประมาณการขยายสาขาใหม่มากถึง 40% เพิ่มขึ้น 2-3 เท่า จากปกติขยายร้านค้าปลีกในเครือข่ายทุกประเภท 150-200 สาขาต่อปี เพราะปีก่อนยังเจอผลกระทบการแพร่ระบาดโควิด-19 และต้องเลื่อนแผนทั้งหมด
ที่สำคัญ บริษัทจะเร่งเปิดร้าน go! WoW เพิ่มจำนวน 60 สาขา และ go! Power เพิ่มอีก 30 สาขา เพื่อขยายฐานลูกค้ากลุ่มแมสในพื้นที่ต่างจังหวัดตามเป้าหมายลุยปักหมุดครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศไทยภายใน 4-5 ปีข้างหน้า
หากย้อนที่มาของร้านค้าฟอร์แมท “go!” เริ่มต้นจากแผนปลุกปั้นแบรนด์หลังซื้อกิจการบิ๊กซีเวียดนามเมื่อปี 2559 และใช้เวลากว่า 2 ปี ปรับระบบต่างๆ เพื่อทดแทนแบรนด์บิ๊กซี เนื่องจากสิ้นสุดสัญญาการใช้แบรนด์ โดยวางคอนเซ็ปต์ กิน-ช้อป-เที่ยว ที่เดียวจบ เน้นเจาะตลาดเมืองรองและลูกค้ากลุ่มแมส ส่วนตลาดในเมืองใหญ่อย่างฮานอยและโฮจิมินห์ ล่าสุดใช้แบรนด์ Tops market ปรับโฉมบิ๊กซีเดิม เพื่อเจาะกลุ่มกำลังซื้อสูงและกลุ่มคนรุ่นใหม่
แน่นอนว่า ความสำเร็จของแบรนด์ GO! ในเวียดนาม ทั้งในแง่การเติบโตของจำนวนลูกค้าและยอดขายส่งผลให้ซีอาร์ซีนำเข้ามาเจาะลูกค้าคนไทยกลุ่มแมสและพื้นที่ต่างจังหวัด เพื่อแยกจากแบรนด์ค้าปลีกอย่างเซ็นทรัล ท็อปส์ และเพาเวอร์บาย ซึ่งต้องการคงภาพลักษณ์ความเป็นพรีเมียมมากกว่า โดยประเดิม 2 ธุรกิจในกลุ่มฮาร์ดไลน์ คือ โก! ว้าว (go! WOW) ร้านสินค้าเบ็ดเตล็ดภายในบ้าน เปิดสาขาแรกที่บ้าน แอนด์ บียอนด์ จ. ขอนแก่น และโก! เพาเวอร์ (go! Power) ร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ครบวงจร เปิดสาขาแรกที่หัวหิน
สุทธิสาร จิราธิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีอาร์ซี ไทวัสดุ จำกัด ในเครือเซ็นทรัล รีเทล กล่าวว่า กระแสการเติบโตของสินค้ากลุ่ม Home Convenience ในประเทศไทยขยายตัวสูงขึ้นต่อเนื่องและเติบโตแบบสวนกระแสภาวะเศรษฐกิจ โดย go! WoW เป็นร้านขายสินค้าเบ็ดเตล็ดที่ต่อยอดธุรกิจค้าปลีกวัสดุก่อสร้างและสินค้าสำหรับบ้าน เน้นทำเลเข้าถึงง่าย ในแหล่งชอปปิ้ง ศูนย์การค้า และแหล่งชุมชน เพื่อเจาะกลุ่มผู้บริโภคทุกเพศทุกวัย
จุดขายสำคัญ คือ ราคาเริ่มต้น 5 บาท ถูกยิ่งกว่าร้านสินค้า 20 บาท ที่มีอยู่ทั่วไปในตลาด และสินค้ามีความหลากหลายมากถึง 14,000 รายการ ครอบคลุม 16 หมวดหมู่ เช่น เครื่องเขียน เสริมความงาม ไฟฟ้า-แสงสว่าง ของแต่งบ้าน ของขวัญ ทำความสะอาด-ซักรีด เครื่องมือช่าง อุปกรณ์ห้องน้ำ ของเล่น อุปกรณ์จัดเก็บ ประดับยนต์ จัดแต่งสวน อุปกรณ์กีฬา เครื่องครัว ไอที และท่องเที่ยวเดินทาง โดยอาศัยความเชื่อมั่นในฐานะแบรนด์ค้าปลีกภายใต้ร่มเงา “เซ็นทรัล” เป็นตัวการันตีคุณภาพสินค้า แต่ราคาถูก เนื่องจากความแข็งแกร่งด้านระบบขนส่งที่ทำให้ต้นทุนต่ำลง
เฉพาะมีนาคมเดือนเดียว ซีอาร์ซี ไทวัสดุ เปิดร้าน go! WOW รวม 8 สาขา ตามแหล่งชอปปิ้งในต่างจังหวัด ได้แก่ ในโรบินสัน บ้านฉาง ระยอง โรบินสัน สมุทรปราการ โรบินสัน ศรีราชา บิ๊กซีลำปาง โรบินสัน ฉะเชิงเทรา ห้างลีวิวัฒน์ สงขลา ยูดี ทาวน์ อุดรธานี และเพาเวอร์บาย หัวหิน จากช่วงปีที่ผ่านมาเริ่มกระจายสาขาทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รวม 21 สาขา ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด
ด้าน go! Power วางคอนเซ็ปต์ “เป็นมากกว่าร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าเคียงคู่ลูกค้าในยุคเศรษฐกิจปัจจุบัน” ชูจุดขายซื้อขาย ผ่อนน้อย อนุมัติไว ได้ของแท้ การันตีคุณภาพ โดยจับมือคู่ค้าผู้ให้บริการด้านสินเชื่อ ทั้งสุจิตรา ชโย สบายลิสซิ่ง เพียงใช้บัตรประชาชนใบเดียวผ่อนได้ทันที และมีไลน์สินค้ามากกว่า 5,000 รายการ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า แอร์ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ ทำให้ลูกค้ามีเครื่องใช้ไฟฟ้าง่ายขึ้นในราคาต่ำกว่า 1,000 บาท
ล่าสุด เปิดให้บริการแล้ว 7 สาขา นำร่องในหัวเมืองตามต่างจังหวัดต่างๆ ได้แก่ สาขาหัวหิน จ.ประจวบฯ สาขากระนวน จ. ขอนแก่น สาขาศรีบุญเรือง จ. หนองบัวลำภู สาขาอมตะ จ. ชลบุรี สาขาชุมแพ จ. ขอนแก่น สาขายูดีทาวน์และสาขาบ้านผือ จ. อุดรธานี
ดังนั้น ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจหลายด้าน ซีรีส์ go! ยังมีโอกาสเจาะตลาดต่อเนื่องและเมื่อยักษ์ใหญ่หันมาเล่นสมรภูมิตลาดล่างด้วย ด้านหนึ่งสงครามการแข่งขันรุนแรงขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งบรรดาร้านราคาเดียว 20 บาท หรือบางอย่าง 20 บาท ต้องปรับตัวมากขึ้น โดยเฉพาะการแข่งขันด้านคุณภาพสินค้า ไม่ใช่ใช้ทีสองทีเจ๊งจนลูกค้าเซ็งอย่างที่ผ่านๆ มาแน่.