วันจันทร์, พฤศจิกายน 25, 2024
Home > Cover Story > ของแพง หนี้ครัวเรือนยังวิกฤต ไฮเปอร์มาร์เก็ตรุกสงคราม O2O

ของแพง หนี้ครัวเรือนยังวิกฤต ไฮเปอร์มาร์เก็ตรุกสงคราม O2O

“กำลังซื้อหดตัว” ยังถือเป็นโจทย์ยากของกลุ่มไฮเปอร์มาร์เก็ต ค้าส่งค้าปลีก โดยเฉพาะช่วงไตรมาส 2 สินค้าต่างตบเท้าแห่ขึ้นราคาทุกกลุ่ม อ้างต้นทุนวัตถุดิบ น้ำมันแพง โดยเฉพาะการประกาศปรับราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) เดือนละ 1 บาทต่อกิโลกรัม (ก.ก.) ต่อเนื่อง 3 เดือน ตั้งแต่เดือนเมษายน-มิถุนายน ล้วนส่งผลต่อเศรษฐกิจปากท้องชาวบ้านย่ำแย่มากขึ้น

ที่สำคัญ คนไทยต่างเจอหนี้ครัวเรือนสะสมจากพิษโควิดแพร่ระบาดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศตัวเลขหนี้ครัวเรือนไทยคงค้าง ณ สิ้นปี 2564 อยู่ที่ 14.58 ล้านล้านบาท เติบโตขึ้น 3.9% ใกล้เคียงกับตัวเลขเติบโตเมื่อปี 2563 อยู่ที่ 4.0% ซึ่งเศรษฐกิจที่ยังเติบโตช้าทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพียังคงขยับสูงขึ้นมาที่ระดับ 90.1% เทียบปี 2563 อยู่ที่ระดับ 89.7%

นอกจากนี้ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ระบุว่า สถานะลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียทั้งหมดบนฐานข้อมูลของ “เครดิตบูโร” ณ สิ้นปี 2564 มีลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียสะสมทั้งหมด 4.3 ล้านบัญชี (ค้างชำระเกิน 90 วัน) และข้อมูลในเดือนมกราคม 2565 มีถึง 2.3 ล้านบัญชี คิดเป็นมูลค่าหนี้เสีย 2 แสนล้านบาท เพราะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เฉลี่ยเป็นหนี้เสียคงค้างต่อบัญชี 80,000 บาท

ส่วนลูกหนี้ในกลุ่มเอสเอ็มอีมีสินเชื่อทั้งระบบ 3.93 ล้านล้านบาท เป็นหนี้เสียสะสมแล้ว 286,300 ราย ยอดหนี้เสียรวม 3.2 แสนล้านบาท

แน่นอนว่า สมรภูมิการช่วงชิงกำลังซื้อและแย่งฐานลูกค้า ทั้งออฟไลน์-ออนไลน์ (Online to Offline:O2O) ระเบิดขึ้นทันที

อัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แม้ภาพรวมกำลังซื้อช่วงต้นปีที่ผ่านมายังค่อนข้างดี แต่เดือนมีนาคมเริ่มเห็นการชะลอตัว ซึ่งส่วนสำคัญมาจากสถานการณ์สงครามรัสเซียและยูเครน หากความขัดแย้งจบเร็วจะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจมากนัก แต่หากยืดเยื้อจะมีผลต่อธุรกิจหลายด้านและจะเห็นผลจริงในไตรมาส 2 ต้องเฝ้าจับตาดู ทั้งค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงจะกระทบกับราคาต้นทุนวัตถุดิบ และราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น รวมถึงผลกระทบที่ส่งผลต่อกำลังซื้อ

นั่นทำให้ธุรกิจค้าปลีกต้องปรับตัวอย่างหนัก โดยบริษัทวางแผนธุรกิจระยะยาว 5 ปี (2565-2569) ทุ่มงบลงทุน 60,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 12,000-14,000 ล้านบาทต่อปี เพื่อก้าวสู่ตลาดโลกและขยายเครือข่ายครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ถึงผู้บริโภค ชนิดที่ว่า ต้องลุยขยายสาขาทุกแพลตฟอร์ม

เฉพาะในประเทศไทย บริษัทจะขยายบิ๊กซี ไฮเปอร์มาร์เก็ตเพิ่มเป็น 160 สาขา จากปัจจุบัน 153 สาขา บิ๊กซี มินิ เพิ่มเป็น 2,853 สาขา จากปัจจุบัน 1,352 สาขา บิ๊กซี ซูเปอร์มาร์เก็ตและขายส่ง เพิ่มเป็น 84 สาขา จากปัจจุบัน 59 สาขา นอกจากนี้ วางแผนขยายสาขาบิ๊กซี ไฮเปอร์มาร์เก็ต ในชื่อ “Big C Place” ในกรุงเทพฯ เพื่อดึงดูดนักช้อปรุ่นใหม่ผ่านสินค้าและบริการที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ รวมถึงรีโนเวตบิ๊กซี ไฮเปอร์มาร์เก็ต 90 สาขาทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มความทันสมัย เพิ่มร้านอาหารชื่อดัง เพิ่มพื้นที่ co working space และ relax zone โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีโมเดลธุรกิจ O2O (Online to Offline) ครอบคลุมทุกมิติ

ขณะที่ช่วงกลางปี 2564 บริษัทเปิดโมเดลธุรกิจเอ็มเอ็ม ฟู้ดเซอร์วิส (MM Food Service) ในประเทศไทยสาขาแรกที่โชคชัย 4 รูปแบบร้านขายส่งสินค้ากว่า 6,000 รายการ รองรับลูกค้ากลุ่มโรงแรมและร้านอาหารที่ต้องซื้อสินค้าในแต่ละครั้งจำนวนมาก และเปิดธุรกิจร้านค้า “โดนใจ” สนับสนุนร้านค้าโชวห่วยในรูปแบบทันสมัยกว่า 498 ราย

ทั้งหมดจะช่วยขยายฐานลูกค้าทุกเซกเมนต์ ทุกพื้นที่และเพิ่มฐานสมาชิกอย่างน้อยอีก 1 ล้านราย จากปัจจุบันอยู่ที่ 17.4 ล้านราย โดยล่าสุดทุ่มงบกว่า 100 ล้านบาท รีแบรนดิ้งซีอาร์เอ็ม แพลตฟอร์มของบิ๊กซีใหม่ ปรับเปลี่ยนชื่อจาก “บิ๊กซีการ์ด” เป็น “บิ๊กพอยท์” ปรับภาพลักษณ์ใหม่ เพิ่มสิทธิประโยชน์และมูลค่ามากขึ้น ทั้งส่วนลดโปรโมชั่นพิเศษสำหรับลูกค้าที่เป็นเพื่อนใน LINE Big C TH และเมื่อสมัครสมาชิกบิ๊กพ้อยท์ จะได้แต้มบิ๊กพ้อยท์ 100 คะแนน พร้อมคูปองส่วนลดมากกว่า 2,700 บาท ทันที

ด้านค่ายโลตัสในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) จัดเต็มทุกกระบวนท่า ไม่ว่าจะเป็นการนำแคมเปญ “ราคามหาชน” กลับมาเล่นกับกระแส “ของแพง” ลดราคาสินค้ากว่า 500 รายการ สูงสุด 50% นาน 7 สัปดาห์ ทั้งในร้านค้ากว่า 2,100 สาขาทั่วประเทศ และช่องทางออนไลน์ รวมถึงตัดราคาเมนูอาหารในศูนย์อาหาร แคมเปญ “อิ่มคุ้มเพียงมื้อละ 29 บาท” ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมายาวจนถึงวันที่ 20 เมษายน

การนำแคมเปญ “แสตมป์แลกคุ้ม” กระตุ้นการจับจ่าย โดยจับจ่ายทุก 100 บาทที่ Lotus’s Go Fresh รับแสตมป์ 1 ดวง และซื้อสินค้าอาหารสดครบ 100 บาท จะได้รับเพิ่มอีก 1 ดวง ให้ลูกค้าสะสมแลกสินค้าฟรี เริ่มตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม-18 พฤษภาคม 2565

ล่าสุด เปิดตัว Lotus’s SMART App เพื่อเป็นแอปพลิเคชันที่รวมรีวอร์ดโปรแกรม (Rewards Program) “My Lotus’s” ที่มาแทนบัตรคลับการ์ด เน้นแพลตฟอร์มสั่งซื้อสินค้าออนไลน์และใช้ AI (Artificial Intelligence) ประมวลผล big data นำเสนอโปรโมชั่นและส่วนลดสินค้าที่ออกแบบเฉพาะสำหรับลูกค้าแต่ละคน

วรวรรณ เพียรลิขิตวงศ์ ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายการตลาด โลตัส กล่าวว่า โลตัสพัฒนาแอปพลิเคชัน Lotus’s SMART App เพื่อเป็น one-stop และเปิดตัวรีวอร์ดโปรแกรมใหม่ My Lotus’s (มายโลตัส) แทนโปรแกรมเดิม เน้นการสะสมและแลกสิทธิประโยชน์ได้ง่ายขึ้น โดยจุดเด่นของ My Lotus’s คือ ทุกการใช้จ่าย 100 บาท สมาชิกจะได้รับ 1 โลตัสคอยน์ ซึ่งเท่ากับ 1 บาท สามารถใช้เป็นส่วนลดได้ทันที ทั้งในสาขาและในแอปพลิเคชัน ไม่ต้องรอการส่งสเตตเมนต์รายเดือนและคูปองเหมือนในอดีต นอกจากนี้ สมาชิกสามารถแลก 50 โลตัสคอยน์ เป็นคูปองเงินสด 100 บาท เดือนละ 1 ครั้ง

การที่โลตัสเร่งขยายตลาดออนไลน์มาจากพฤติกรรมการช้อปปิ้งของลูกค้าที่เปลี่ยนไป มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นปัจจัยเร่งสำคัญ ดูจากธุรกิจออนไลน์ของโลตัสในช่วงปี 2564 เติบโตพุ่งพรวดกว่า 250% และตั้งเป้าหมายในอีก 5 ปีข้างหน้า จะเพิ่มสัดส่วนยอดขายออนไลน์จากเลขหลักเดียว (single digit) เป็นเลขสองหลัก (double digit) เนื่องจากมีจุดแข็งจากจำนวนสาขาครอบคลุมทั่วประเทศ ทั้งไฮเปอร์มาร์เก็ตและโลตัส โก เฟรช รวมกว่า 2,300 สาขา สามารถเป็นจุดกระจายสินค้าส่งสินค้าตรงถึงลูกค้าและจับมือกับพันธมิตรแพลตฟอร์ม delivery ต่างๆ ช่วยจัดส่งในวันเดียวกัน (same day delivery) หรืออย่างช้าในวันถัดไป (next day delivery)

ส่วนยักษ์ค้าส่ง บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หลังเปิดตัว MakroClick เจาะช่องทางออนไลน์ ทั้ง website และ Mobile Application เมื่อปี 2562 มาปีนี้ประกาศพัฒนา B2B Marketplace หรือตลาดค้าส่งออนไลน์สำหรับผู้ประกอบการ ภายใต้ชื่อ maknet ภายใต้กลยุทธ์ End to End Solution รองรับกลุ่มลูกค้าร้านอาหารแบบครบวงจร โดยจะเป็นแพลตฟอร์มครบวงจรสำหรับ B2B มีสินค้าครอบคลุมมากกว่า 100,000 รายการ และตั้งเป้าหมายพัฒนาเป็นแพลตฟอร์ม B2B online Marketplace อันดับ 1 ของไทย

ปัจจุบัน maknet มีร้านค้าที่เข้าร่วมบนแพลตฟอร์มแล้ว 1,000 ราย และภายใน 3 ปี (ปี 2567) จะเพิ่มขึ้นเป็น 7,000 ราย มีลูกค้าผู้ประกอบการ 500,000 ราย จะผลักดันยอดขายสินค้าผ่านช่องทาง Omni channel จาก 12% เป็น 30%

ดังนั้น หากดูข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่คาดการณ์ธุรกิจ B2C E-commerce ปี 2565 จะมีมูลค่าตลาดราว 5.65 แสนล้านบาท ขยายตัวเพียง 13.5% (YoY) ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวต่ำสุดเมื่อเทียบกับในช่วง 3 ปีก่อนหน้า (ปี 2562-2564) ที่เติบโตเฉลี่ยปีละ 40% แต่มาจากรายการสินค้าที่เปลี่ยนแปลงจากเดิมที่ผู้บริโภคนิยมช้อปออนไลน์สินค้าแฟชั่น เฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งบ้าน เครื่องใช้ไฟฟ้า มาเป็นกลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม และของใช้ส่วนตัว ซึ่งราคาไม่สูงมากและมีโปรโมชั่นถี่ยิบ

นั่นยิ่งทำให้สงคราม O2O ในกลุ่มไฮเปอร์มาร์เก็ตสโตร์มีแนวโน้มร้อนแรงดุเดือดและต้องวัดว่า ค่ายไหนจะมีเครือข่ายรองรับการรุกตลาดออนไลน์ได้แข็งแกร่งกว่ากัน.

ใส่ความเห็น