วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > “ไฟว์เวล” จับกระแสโลก ปูทางนักลงทุนไทยสู่การลงทุนยุคดิจิทัล

“ไฟว์เวล” จับกระแสโลก ปูทางนักลงทุนไทยสู่การลงทุนยุคดิจิทัล

ปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในชีวิตมากขึ้นในทุกมิติ ทั้งการแพทย์ การศึกษา การทำงาน รวมไปถึง “การลงทุน” ที่แบบเดิมเป็นการลงทุนในตลาดหุ้น ทองคำ ไวน์ หรือการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าเป็นหลัก แต่เมื่อโลกกำลังเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล การลงทุนย่อมเปลี่ยนโฉมหน้าไปด้วยเช่นกัน

คำว่า Metaverse, Deep Technology, Cryptocurrency หรือแม้กระทั่ง NFT คือเทคโนโลยีดิจิทัลที่เข้ามาอยู่ในการรับรู้ของคนสังคมและมีบทบาทในชีวิตมากขึ้นในทุกขณะ และยิ่งไปกว่านั้นยังถือเป็นโอกาสในการลงทุนในโลกยุคใหม่ที่เป็นหมุดหมายของถนนหลายสาย

การประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัทจาก Facebook เป็น “Meta” ของมาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ถือเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าจับตา เมื่อองค์กรระดับโลกอย่างเฟซบุ๊กกำลังมุ่งหัวเรือเข้าสู่โลกแห่ง Metaverse โลกที่เทคโนโลยีผสานกับชีวิตจริง ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่เพียงในเกมอย่างที่เคยเป็นมาเท่านั้น แต่ปัจจุบันถูกนำไปใช้ในวงกว้างทั้งการประชุม, การจัดงานอีเวนต์, อีคอมเมิร์ซ, วงการแพทย์, อสังหาริมทรัพย์ และในกลุ่มธุรกิจต่างๆ

ซึ่งเว็บไซต์ Bloomberg ได้มีการคาดการณ์ไว้ว่า ภายในปี 2024 Metaverse จะกลายเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงถึง 8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 27 ล้านล้านบาท และเป็นแพลตฟอร์มสำคัญจุดเปลี่ยนพลิกชะตาธุรกิจ ในขณะที่กระแสเงินดิจิทัลหรือคริปโทเคอร์เรนซีและ NFT (Non-Fungible Tokens) ก็มาแรงไม่แพ้กัน จึงไม่น่าแปลกใจที่ทั้งสตาร์ตอัป องค์กรต่างๆ และนักลงทุนต่างให้ความสนใจและมองเห็นลู่ทางในการสร้างรายได้ในอนาคต

ถ้าลองสำรวจตามสื่อโซเชียลต่างๆ จะพบหลักสูตรสอนการลงทุนในโลกดิจิทัลที่ออกมาเพื่อตอบสนองเทรนด์การลงทุนวิถีใหม่อยู่อย่างมากมาย แตกต่างไปตามเนื้อหาและกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงหลักสูตรที่เรียกได้ว่าเอ็กซ์คลูซีฟอย่าง “Alpha Wealth” (อัลฟ่า เวลท์) จากผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนและผู้นำด้านการจัดหลักสูตรสำหรับผู้บริหารระดับสูงโดยเฉพาะอย่างไฟว์เวล (FIVEWHALE)

“วิกฤตโควิด-19 เป็นปัจจัยเร่งให้การลงทุนในเทคโนโลยีชั้นสูงเติบโตอย่างรวดเร็วและส่งผลให้การใช้ชีวิตเปลี่ยนไป รวมถึงเทรนด์การลงทุนจากเดิมที่มักลงทุนในหุ้น ทองคำ ซึ่งในปัจจุบันไม่สามารถสร้างผลตอบแทนได้เหมือนในอดีต ในช่วงที่ผ่านมาเกิดนักลงทุนรุ่นใหม่ซึ่งอยูในเจเนอเรชันอัลฟ่า ซึ่งเป็นเจนฯ ที่มีความสามารถทางเทคโนโลยีสูง และสามารถใช้เทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งกลุ่มนักลงทุนรุ่นใหม่นี้จะนิยมลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซี ประกอบกับเทคโนโลยีทางการเงิน (Fin Tech) และเทคโนโลยีชั้นสูง (Deep Tech) มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคและการดำเนินธุรกิจต่างๆ ไปทั่วโลก จึงเดินหน้าเปิดหลักสูตร ‘Alpha Wealth’ หลักสูตรให้ความรู้ความเข้าใจด้านการลงทุนในเทคโนโลยีชั้นสูงยุคดิจิทัล เพื่อปูทางให้นักลงทุนไทยเตรียมพร้อมเข้าสู่เทรนด์การลงทุนแห่งอนาคต” ดร.ศุภชัย สุขะนินทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไฟว์เวล จำกัด เปิดเผยถึงที่มาของหลักสูตรอัลฟ่า เวลท์

สำหรับหลักสูตรอัลฟ่า เวลท์ เป็นหลักสูตรอบรมเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับนักลงทุนชาวไทยสู่โลกการลงทุนแห่งอนาคต โดยมีเนื้อหาที่ครอบคลุมในเรื่องของ Metaverse, Deep technology, คริปโทเคอร์เรนซี, NFT ในประเด็นต่างๆ เช่น การซื้อขายภาพใน NFT, การนำระบบคอมพิวเตอร์มาช่วยบริหารพอร์ต (Robot Trade) ซึ่ง ดร.ศุภชัย ได้เสริมว่า การลงทุนในตลาดหุ้นมีช่วงเวลาเปิด-ปิดตลาด แต่โลกของคริปโทฯ ที่ทุกอย่างอยู่บนบล็อกเชน (Blockchain) และโลกออนไลน์นั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุด ดังนั้นการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจึงมีส่วนสำคัญและทำให้การลงทุนไร้ข้อจำกัด

นอกจากนี้ เนื้อหาในหลักสูตรยังรวมถึงการจัดการทางบัญชี-ภาษีที่เกี่ยวกับการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล, กองทุน NFT, Property Technology หรือการนำเทคโนโลยีมาใช้ในวงการอสังหาริมทรัพย์ ทั้งช่วยอำนวยความสะดวกภายในบ้าน คอนโดมิเนียม สำนักงาน หรือการนำเทคโนโลยีมาช่วยการขาย การโฆษณา เป็นต้น

ท่ามกลางคอร์สอบรมสอนการลงทุนสมัยใหม่ในโลกดิจิทัลที่มีอยู่อย่างมากมาย แต่สิ่งที่ทำให้อัลฟ่า เวลท์ แตกต่างและเรียกได้ว่าเป็นจุดแข็งของหลักสูตรนอกเหนือจากเนื้อหาสาระที่ครบถ้วนแล้ว คือ วิทยากร ผู้เข้าร่วมอบรม และคอนเนกชัน

“วิทยากรที่เราเชิญมานั้น เราไม่เน้นอาจารย์ แต่เน้นเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ปฏิบัติจริง อย่างซีอีโอของบริษัทต่างๆ ที่เรียกได้ว่าเป็นตัวจริงของแต่ละวงการมาให้ความรู้และแบ่งปันประสบการณ์ ทั้งผู้บริหารของบิตคับ, Zipmex, ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย สำหรับในส่วนของผู้เข้าร่วมอบรม เราโฟกัสที่ผู้บริหารระดับสูงหรือเจ้าของกิจการที่มีความสนใจในการลงทุนยุคใหม่ ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีอำนาจในการตัดสินใจและสามารถต่อยอดธุรกิจได้ทันที” พิชัญญา กัญจนาภรณ์ กรรมการผู้บริหาร บริษัท ไฟว์เวล จำกัด อีกหนึ่งหัวเรือใหญ่ในการผลักดันหลักสูตรอัลฟ่า เวลท์ กล่าวถึงจุดแข็งของหลักสูตร พร้อมกล่าวเพิ่มเติมว่า

ถ้ามองในด้านหนึ่งอัลฟ่า เวลท์ จึงเปรียบเสมือนเป็นสะพานเชื่อมนักลงทุนโลกเก่าหรือที่เรามักจะเรียกว่าเศรษฐีเก่าให้เขาได้รู้จักกับนักลงทุนโลกใหม่ที่หาเงินจากเทคโนโลยีให้มารู้จักกัน สร้างคอนเนกชันและต่อยอดธุรกิจเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไปได้

Silicon Wadi: Silicon Valley แห่งอิสราเอล
นอกจากภาคทฤษฎีแล้ว อีกหนึ่งไฮไลท์ของหลักสูตรอัลฟ่า เวลท์ คือบิสซิเนส ทริป ที่จะพาผู้อบรมไปดูงานและเปิดโลกแห่งการลงทุนที่ “Silicon Wadi” ประเทศอิสราเอล ย่านสำคัญทางเศรษฐกิจคล้ายกับ Silicon Valley ของสหรัฐอเมริกา และเป็นศูนย์กลางแห่งเทคโนโลยีขั้นสูงอันดับ 3 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกาและจีน

“อิสราเอลถือเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสูงมาก ทั้งที่เป็น Deep Tech, คริปโท, บล็อกเชน และเป็นแหล่งบ่มเพาะสตาร์ตอัปที่มีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูง อีกส่วนหนึ่งคือเขาเป็นประเทศที่มีการสู้รบอยู่บ่อยครั้ง และเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยต่างๆ มักจะอยู่ในกองทัพและถ่ายทอดมายังประชากรในประเทศของเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีด้านความปลอดภัย ซึ่งเราเชื่อว่าการไปดูงานที่อิสราเอลจะเป็นช่วงเวลาทองของนักลงทุนเลยทีเดียว” พิชัญญาเปิดเผยถึงเหตุผลที่เลือกอิสราเอลเป็นสถานที่ในการดูงานในครั้งนี้

โดยหลังจากจบภาคทฤษฎี ผู้เข้าร่วมอบรมจะใช้เวลาในการไปดูงานที่ประเทศอิสราเอลเป็นเวลา 1 สัปดาห์ เพื่อศึกษาเทรนด์การลงทุนจากสตาร์ตอัปและนวัตกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจและสามารถนำมาต่อยอดในธุรกิจ การลงทุน รวมไปถึงจับคู่ทางธุรกิจได้

อิสราเอลเป็นประเทศที่มีสัดส่วนการลงทุนด้านวิจัยวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมอยู่ที่ร้อยละ 4.3 ของ GDP ทั้งประเทศ มีจำนวนประชากรราวๆ 9 ล้านคน ซึ่งใน 1,000 คน จะมีผู้จบการศึกษาด้านวิศวกรรมถึง 25 คน และมีจำนวนสตาร์ตอัปมากถึง 8,200 ราย ถือเป็นสัดส่วนที่มากที่สุดในโลก
สำหรับหลักสูตรอัลฟ่า เวลท์ ได้มีการเปิดหลักสูตรรุ่นแรกไปเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยได้รับความสนใจจากนักธุรกิจชั้นนำของเมืองไทยเข้าร่วม ไม่ว่าจะเป็น เจตุบัญชา อำรุงจิตชัย, วัชระ เอมวัฒน์, ทอมมี่ เตชะอุบล, ภิมลภา สันติโชค, ยุพดี รัตนศรีสมโภช, รอยย์ ออกุสตินัส กุนารา, สกลกรย์ สระกวี เป็นต้น

แต่แน่นอนว่าการลงทุนมีความเสี่ยง ซึ่งการลงทุนในยุคดิจิทัลก็มีความเสี่ยงเช่นเดียวกัน

ซึ่ง ดร. ศุภชัย ได้เปิดเผยเพิ่มเติมว่า การลงทุนทุกประเภทมีความเสี่ยง การลงทุนในยุคดิจิทัลก็มีความเสี่ยงด้วยเช่นกัน และเป็นความเสี่ยงที่มากกว่าการลงทุนแบบเดิมเพราะเป็นเรื่องใหม่ เพราะฉะนั้นเราต้องศึกษาเพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา โดยหลังจากนี้ไฟว์เวลจะยังคงเดินหน้าเปิดอบรมในรุ่นต่อๆ ไป แต่เนื้อหาจะถูกปรับเปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นเพื่อให้ทันกับกระแสของโลก

นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของ “ภาษีคริปโท” ประเด็นร้อนแรงที่กำลังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในช่วงนี้

ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ครม. มีมติเห็นชอบปรับกฎหมายยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มคริปโท และให้หักกลบกำไรขาดทุนได้ ตามที่กรมสรรพากรเคยชี้แจงแนวทางปรับเปลี่ยนการเก็บภาษีคริปโทก่อนหน้านี้ โดย ครม. มีมติเห็นชอบหลักการมาตรการบรรเทาภาระภาษีสำหรับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ยกเว้นภาษีคริปโทเคอร์เรนซี-โทเคนดิจิทัล ตั้งแต่ 1 เมษายน 2565-31 ธันวาคม 2566

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบหลักการมาตรการบรรเทาภาระภาษีสำหรับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล โดยยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการโอนคริปโทเคอร์เรนซี หรือโทเคนดิจิทัล ในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (Exchange) และการโอนสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมทั้งอนุญาตให้หักผลขาดทุนจากการขายสินทรัพย์ดิจิทัลใน Exchange ออกจากกำไรจากการขายสินทรัพย์ดิจิทัลใน Exchange ได้ ซึ่งจะทำให้การซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของนักลงทุนในประเทศไทยเกิดขึ้นใน Exchange ของประเทศไทยซึ่งมีความน่าเชื่อถือ ปลอดภัย และทำให้ประชาชนมีทางเลือกในการใช้เงินดิจิทัลในอนาคต

จากความตื่นตัวของภาคธุรกิจและความก้าวหน้าเชิงนโยบายจากภาครัฐ ภาพการลงทุนในยุคดิจิทัลต่อจากนี้ น่าจะมีความเคลื่อนไหวที่น่าติดตามไม่น้อยเลยทีเดียว.

ใส่ความเห็น