วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
Home > Life > สร้างพื้นที่แห่งการรับฟัง เพราะซึมเศร้าหลังคลอดไม่ใช่เรื่องไกลตัว

สร้างพื้นที่แห่งการรับฟัง เพราะซึมเศร้าหลังคลอดไม่ใช่เรื่องไกลตัว

งานวิจัยจาก 80 ประเทศทั่วโลกที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature ระบุว่า ผู้หญิง 1 ใน 6 พบกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอด โดยแต่ละคนจะมีลักษณะและความหนักของอาการที่ต่างกันออกไป นอกจากนี้ยังพบอาการทางจิตเวชอื่นๆ ที่เกิดกับผู้หญิงในช่วงก่อนและหลังการคลอดบุตร แต่กลับเป็นประเด็นที่ไม่ถูกกล่าวถึงในวงกว้าง และน้อยคนที่จะรับรู้ถึงภาวะอาการเหล่านี้

อีกทั้งสังคมเองยังมีมุมมองเกี่ยวกับปัญหาทางจิตที่ไม่ค่อยดีนัก ทำให้ผู้ที่ประสบภาวะอาการเหล่านี้เกิดความกังวล ไม่กล้าที่จะเปิดเผย กลัวการถูกตัดสินจากภายนอก ส่งผลให้การต่อสู้กับภาวะอาการทางจิตในช่วงตั้งครรภ์และหลังคลอดบุตรดำเนินไปอย่างยากลำบาก

เดือนกันยายน ปี 2564 เกิดเหตุการณ์ที่สร้างความสะเทือนใจ เมื่อคุณประณัยยา อุลปาทร และลูกชาย น้องอาร์เธอร์ ต้องจากไปอันสืบเนื่องมาจากภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ซึ่งสร้างความสูญเสียให้กับครอบครัวเป็นอย่างมาก แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้สังคมเริ่มตระหนักถึงภาวะซึมเศร้าหลังคลอดมากขึ้น จนกลายเป็นที่มาของการก่อตั้ง มูลนิธิประณัยยาและอาร์เธอร์มากอฟฟิน (Pranaiya & Arthur Magoffin Foundation) หรือ PAM Foundation ในที่สุด

PAM Foundation ก่อตั้งโดย มร.เฮมิช มากอฟฟิน สามีของคุณประณัยยา โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างการรับรู้ สนับสนุนการดูแล และศึกษาวิจัยเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอดและภาวะอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนและหลังการคลอดบุตร เพื่อให้สังคมตระหนักในประเด็นดังกล่าวมากขึ้น

ข้อมูลจาก พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ทารกแรกเกิด ระบุว่า หลังคลอดบุตรถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งในชีวิตของผู้หญิง และมักเกิด 3 สภาวะความผิดปกติทางจิตใจหลังคลอดที่มีอาการตั้งแต่เบาไปหนัก ขึ้นอยู่กับร่างกายและสภาพแวดล้อมของแต่ละคน ดังนี้

1. ภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอด (Postpartum Blue หรือ Baby Blue ) ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติที่คุณแม่มือใหม่ต้องเจอระหว่างวันที่ 3-10 หลังจากคลอดบุตร เพราะระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ สาเหตุส่วนใหญ่มาจากความเครียดโดยปกติทั่วไป เนื่องจากหลังคลอด อดนอน นอนน้อย ต้องดูแลลูก เหตุเพราะไม่มีคนช่วยเลี้ยงลูก โดยเฉพาะแม่ที่ให้นมลูกก็ต้องตื่นบ่อยๆ แต่หลังจากที่ได้หลับนานๆ เพื่อฟื้นร่างกายก็จะกลับมาเป็นปกติ และจะมีอาการอ่อนเพลีย วิตกกังวล อารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ เปลี่ยนแปลงง่าย หงุดหงิดง่าย ร้องไห้ง่าย เศร้าง่าย เซื่องซึมง่ายบ้าง ถือว่าอาการไม่รุนแรง

2. โรคซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum Depression: PPD) ซึ่งต่อเนื่องจากภาวะแรกหากมีอาการนานเกิน 2 สัปดาห์ ก็จำเป็นต้องรักษาและพบแพทย์ ซึ่งโรคซึมเศร้าหลังคลอดมักมีอาการดังนี้

– ซึมเศร้า หม่นหมอง หดหู่ ร้องไห้

– ความรู้สึกสนุก สนใจ ทำกิจวัตรประจำวันที่เคยชอบลดลง หรือรู้สึกเบื่อหน่ายในการดูแลลูก

– เบื่ออาหารหรืออยากกินอาหารตลอดเวลา

– ไม่มีกะจิตกะใจทำอะไร เหนื่อยง่าย อ่อนเพลียตลอดเวลา

– การนอนเปลี่ยนแปลง อาจง่วงนอนอยู่ตลอดเวลา หรือนอนไม่หลับ

– รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า เป็นแม่ที่ไม่มีความสามารถ

– ไม่มีสมาธิ ความคิด อ่าน จดจ่อในสิ่งที่ทำลดลง

– เคลื่อนไหวช้าลง หรืออยู่ไม่สุข

– มีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย

ทั้งนี้ การวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอดนั้น ต้องมีอาการอย่างน้อย 5 ใน 9 ข้อ และมีข้อ 1 ข้อ 2 ร่วมด้วย ซึ่งอาการทั้ง 9 จะมีอาการต่อเนื่องเกือบตลอดเวลา และเป็นทุกวันไม่มีทางหายเอง หรือเป็นๆ หายๆ และต้องมีอาการขึ้นมาเองจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย ไม่ใช่จากผลข้างเคียงของการใช้ยา การวินิจฉัยต้องการระยะเวลาที่เป็นต่อเนื่องอย่างน้อย 2 สัปดาห์

3. โรคจิตหลังคลอด (Postpartum psychosis) ซึ่งเป็นอาการที่รุนแรงสุด เป็นภาวะอันตราย และฉุกเฉินที่ต้องไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด ถึงแม้พบได้ไม่บ่อย ประมาณ 0.1-0.2% แต่อาการมักรุนแรง โดยมักจะมีอาการทางระบบประสาท อาทิ หวาดระแวง ประสาทหลอน เช่น มีหูแว่ว พฤติกรรมแปลกประหลาด วุ่นวายผิดแปลก อารมณ์ก้าวร้าวรุนแรง ซึมเศร้า หรืออารมณ์ดีแบบไม่สมเหตุสมผล และอารมณ์เปลี่ยนแปลงเร็ว มีความคิดหลงผิด คิดว่าลูกไม่ใช่ลูกตัวเอง หรือมีการคิดทำร้ายตนเอง คนรอบข้าง หรือแม้กระทั่งลูกน้อย

เมื่อเร็วๆ นี้ PAM Foundation ได้เปิดตัวมูลนิธิพร้อมจัดงาน “เปิดใจคุยกัน มารู้จักกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอด” เพื่อให้ความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอด โดย มี Dr.Maddalena Miele-Norton (Perinatal Psychiatrist) จิตแพทย์จากสหราชอาณาจักรและผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชช่วงตั้งครรภ์และหลังคลอด และ พญ.ญาดาวี ตั้งตรงไพโรจน์ แพทย์จิตเวชศาสตร์ ร่วมให้ความรู้

ซึ่ง พญ.ญาดาวี ได้เปิดเผยว่า การเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นแม่เป็นสิ่งที่ท้าทายมากและเต็มไปด้วยการเปลี่ยนทั้งร่างกาย ฮอร์โมน ผู้หญิงหลังคลอด 50% จะมีภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอด โดยที่ 10% จะเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอด และ 1% จะเป็นโรคจิตหลังคลอด

ในขณะที่ Dr.Maddalena กล่าวว่า ควรให้ความใส่ใจอาการป่วยทางจิตทุกประเภทที่อาจเกิดขึ้นในช่วงตั้งครรภ์และระยะเวลาหนึ่งปีหลังคลอดบุตร เพราะเป็นสิ่งที่พบได้บ่อยมากและยากที่จะสังเกตเห็นอาการ ที่สำคัญคือต้องเข้าใจว่าอาการป่วยทางจิตเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เช่นเดียวกับอาการป่วยทางกาย และไม่ควรรู้สึกผิดหรืออายที่พบว่าตนเองมีอาการป่วยทางจิต

หลักการดูแลผู้มีภาวะผิดปกติทางจิตใจหลังคลอด
Dr.Maddalena ยกตัวอย่างในประเทศอังกฤษ จะมีการสอนให้พยาบาลผดุงครรภ์ สูติแพทย์ รวมไปถึงกุมารแพทย์ ให้รู้จักกับอาการป่วยทางจิตขณะตั้งครรภ์และหลังคลอด เพราะบุคลากรทางการแพทย์เหล่านี้เป็นด่านหน้าที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่มาพบ จะได้สามารถระบุอาการเบื้องต้นและสามารถส่งต่อไปยังแพทย์เฉพาะทางได้ ซึ่งการรักษามีหลายรูปแบบ เช่น พฤติกรรมบำบัด บำบัดด้วยการเคลื่อนไหวของลูกตา ศิลปะบำบัด ดนตรีบำบัด และการใช้ยา ที่สำคัญต้องรู้ตัวให้เร็วและไม่ต้องรู้สึกผิดที่จะขอความช่วยเหลือ สำหรับคู่ครองและครอบครัว ต้องมีพื้นที่สำหรับการรับฟังและพูดคุยกัน พยายามให้ความอุ่นใจ

และสิ่งสำคัญคือผู้ใกล้ชิดต้องคอยสังเกตและยื่นมือเข้ามาช่วย โดยต้องอดทน เข้าใจกัน คอยให้กำลังใจ สนับสนุน ไม่ตำหนิ กล่าวโทษ โกรธ หรือโมโห เวลาคุณแม่มีอารมณ์เหวี่ยง และหากพบว่ามีภาวะอาการซึมเศร้า หม่นหมอง ความรู้สึกสนุกสนใจในการทำกิจวัตรประจำวันที่เคยชอบลดลงมากกว่า 2 สัปดาห์ โดยมีอาการมากขึ้นกระทั่งมีความคิดฆ่าตัวตาย หรือมีพฤติกรรมแปลกๆ ให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อช่วยให้คุณแม่หลายคนไม่ต้องจมทุกข์อยู่เพียงลำพัง.

ใส่ความเห็น