“ฝุ่นพิษ PM2.5” ยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังที่ส่งผลกระทบทั้งต่อสุขภาพและเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมามีความพยายามจากหลายฝ่ายเพื่อหาทางแก้ปัญหาและลดผลกระทบที่เกิดขึ้นให้เบาบางลง และที่ถือเป็นก้าวย่างที่สำคัญและน่าจับตาคือ ความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่รวมตัวผลักดันร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาดฉบับเครือข่ายอากาศสะอาด (พ.ร.บ. อากาศสะอาด) นำเสนอต่อรัฐสภา เพื่อหวังเป็นเครื่องมือที่จะมาแก้ปัญหา PM2.5
เป็นที่ทราบกันดีกว่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 เป็นมลพิษทางอากาศที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพและเศรษฐกิจของประเทศอย่างฝังลึก และเป็นสิ่งที่คนไทยกำลังเผชิญอยู่ทุกปี จากการติดตามสถานการณ์ PM2.5 โดยสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศอัตโนมัติของกรมควบคุมมลพิษ จํานวน 64 สถานี ใน 34 จังหวัดทั่วประเทศ พบว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2562-2564 สถานการณ์ PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง สูงเกินเกณฑ์มาตรฐานในช่วงต้นปีและปลายปี โดยเฉพาะในเมืองขนาดใหญ่ที่มีการจราจรหรือบรรทุกขนส่งหนาแน่น เขตอุตสาหกรรม พื้นที่ก่อสร้าง และพื้นที่มีการเผาในที่โล่ง เช่น กรุงเทพมหานครและปริมณฑล แม่ฮองสอน เชียงราย น่าน ลำปาง แพร่ นครสวรรค์ และสระบุรี เป็นต้น
โดยแหล่งกำเนิดหลักๆ ของ PM2.5 เกิดทั้งปัจจัยทางธรรมชาติและมนุษย์ ทั้งการเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิงจากยานพาหนะ โรงงานอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้า การเผาไหม้ชีวมวล การเผาขยะ และการเผาพื้นที่ทางการเกษตรเพื่อเตรียมสำหรับการเพาะปลูก
ช่วงระยะเวลาที่ผ่านมามีความพยายามจากทั้งภาครัฐ เอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาวิธีแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เกินค่ามาตรฐานมาโดยตลอด ทั้งเชิงนโยบาย การศึกษาวิจัย และด้านกฎหมาย แน่นอนว่าการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนต้องแก้ที่แหล่งกำเนิดมลพิษ แต่อีกหนึ่งประเด็นที่มีความสำคัญไม่แพ้กันคือการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มข้นและจริงจัง ตั้งแต่ระดับนโยบายจนถึงระดับพื้นที่ และต้องมีกฎหมายสำหรับแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศขึ้นเป็นการเฉพาะ เพราะที่ผ่านมาการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศของไทยยังคงติดอยู่กับปัญหาเชิงโครงสร้าง หน่วยงานและกฎหมายที่เกี่ยวข้องแยกส่วน กระจัดกระจาย ขาดเอกภาพ ทำให้การบังคับใช้กฎหมายไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรจะเป็น
ความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่รวบรวมรายชื่อประชาชนกว่า 26,500 รายชื่อ เพื่อนำเสนอ “ร่างพระราชบัญญัติกำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ. ….” (พ.ร.บ. อากาศสะอาด) ต่อรัฐสภาให้พิจารณาเห็นชอบบังคับใช้เป็นกฎหมาย เมื่อ 21 มกราคมที่ผ่านมา จึงเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าจับตาและเป็นความหวังว่า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้จะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ได้อย่างยั่งยืน
ร่าง “พ.ร.บ. อากาศสะอาด” เป็นร่างกฎหมายฉบับประชาชนที่ผลักดันโดย “เครือข่ายอากาศสะอาด” เพื่อแก้ปัญหามลพิษเชิงโครงสร้างและบูรณาการกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้าด้วยกัน ตั้งแต่ระดับนโยบาย ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ และยุติวงจรการแก้ปัญหา PM2.5 แบบเดิมๆ ตามฤดูกาลที่เคยกระทำกันมา เพื่อให้ประชาชนมีอากาศที่ปลอดภัยต่อชีวิตและสุขภาพ โดยเชื่อว่า “อากาศสะอาดเป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคน”
รศ.ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้าทีมยกร่าง พ.ร.บ. กำกับดูแลการจัดการอากาศเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ ระบุว่า ร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาด เป็นร่างกฎหมายเชิงปฏิรูปอันเกิดจากการเล็งเห็นช่องโหว่ของกฎหมายเดิมที่มีอยู่นั้นไม่ครอบคลุมและไม่สามารถตอบโจทย์บางอย่างได้ อีกทั้งการบังคับใช้กฎหมายในไทย ยังมีความอ่อนแอในหลายจุด
ซึ่ง ร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาดฉบับนี้มีเป้าหมายสำคัญ คือการดูแลสิ่งแวดล้อมควบคู่กับการดูแลสุขภาพประชาชน โดยใช้ “เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์” เข้ามาสร้างแรงจูงใจควบคู่กับบทลงโทษ เช่น มาตรการลดภาษี ลดค่าธรรมเนียม เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยสาระสำคัญที่ถือเป็นหัวใจหลักของร่างกฎหมายที่จะเป็นแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันพิษได้นั้น ประกอบด้วย
1. ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้สถาปนาสิทธิที่จะหายใจอากาศสะอาด ที่จะนำไปสู่การกำหนดให้รัฐมีหน้าที่ต้องดำเนินการเพื่อให้ประชาชนในรัฐได้มาซึ่งสิทธิดังกล่าว ซึ่งบุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลที่เกี่ยวกับคุณภาพของอากาศและผลกระทบของคุณภาพอากาศต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ มีสิทธิในการมีส่วนร่วมกับรัฐในการกำหนดโยบาย จัดทำกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการอากาศสะอาด
2. กฎหมายฉบับนี้บูรณาการมิติด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมควบคู่กัน เพราะการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศไม่ควรหยุดอยู่เพียงปัญหาสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ควรให้ความสำคัญในฐานะปัญหาสุขภาพที่มาพร้อมกันด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อยู่ในกลุ่มเปราะบาง อย่าง เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ทำงานกลางแจ้ง บุคคลกลุ่มนี้ควรได้รับการดูแลจากรัฐเป็นพิเศษ ทั้งการตรวจสุขภาพจากโรงพยาบาลและสถานพยาบาลซึ่งรัฐควรจัดให้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เป็นต้น
3. มีการกำหนดกลไกการกำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการทั้งในระดับนโยบาย ระดับกำกับดูแล และระดับปฏิบัติการ เชื่อมโยงกับทั้งส่วนกลาง จังหวัด และเขตพื้นที่เฉพาะ เพื่อคอยควบคุม ติดตาม ดูแล ตรวจสอบ และเร่งรัดการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ให้บังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างจริงจัง
4. เป็นกฎหมายที่สร้างแรงจูงใจควบคู่ไปกับบทลงโทษ โดยกำหนดหมวดกฎหมายที่เกี่ยวกับเครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อสร้างและเพิ่มหรือลดแรงจูงใจ นำไปสู่การเปลี่ยนแบบแผนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
5. มุ่งเน้นการจัดการร่วม (Co-management) ที่เชื่อมโยงระหว่าง “ระบบจัดการโดยรัฐ” กับ “ระบบจัดการโดยชุมชน” เข้าไว้ด้วยกัน โดยเป็นการจัดการร่วมที่มีคุณสมบัติพิเศษ เรียกว่า “การจัดการที่มีชุมชนเป็นฐาน” ซึ่งชุมชนจะเป็นผู้มีบทบาทหลักและรัฐมีบทบาทรองในการสนับสนุนส่งเสริม ตั้งแต่การจัดทำนโยบาย การกำกับดูแล และการปฏิบัติการ
6. มีการเปิดช่องทางแก้ปัญหาหมอกควันพิษในพื้นที่ที่มีลักษณะเฉพาะ เพราะปัญหาหมอกควันพิษมีลักษณะแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ไม่สามารถใช้วิธีการเดียวกันในการแก้ปัญหาทุกพื้นที่ได้
7. เป็นกฎหมายที่มุ่งการบูรณาการในการทำงานเชิงระบบ เพื่อหลีกเลี่ยงการทำงานแบบต่างคนต่างทำ เนื่องจากปัญหาหมอกควันพิษเป็นปัญหาที่มีความเชื่อมโยงหลายภาคส่วน และสลับซับซ้อนเกินกว่าที่จะขับเคลื่อนด้วยองค์กรใดองค์กรหนึ่ง หรือใช้วิธีการใดวิธีการหนึ่ง
8. กำหนดหมวดหมอกควันพิษข้ามแดน อันเนื่องมาจากปัญหาหมอกควันพิษเป็นปัญหาที่ไร้พรมแดน เหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดหมอกควันพิษในประเทศหนึ่ง อาจส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ รอบข้างได้ จึงจำเป็นที่ต้องกำหนดมาตรการเพื่อป้องกัน และแก้ไขเยียวยาปัญหาที่เกิดขึ้นจากหมอกควันพิษข้ามแดนขึ้น
จากสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. ข้างต้น ทำให้หลายฝ่ายมองว่า ร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาด ฉบับนี้จะเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหา PM2.5 ได้อย่างสัมฤทธิผล สำหรับสถานการณ์ ณ ปัจจุบันนั้น เครือข่ายอากาศสะอาดได้ยื่นร่าง พ.ร.บ. ต่อรัฐสภาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงรอการพิจารณาจากรัฐสภาต่อไป
นอกจากการผลักดันด้านกฎหมายแล้ว ความเคลื่อนไหวด้านวิชาการและวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรมตลอดจนเครื่องมือที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหา PM2.5 ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน ล่าสุดมีการนำเสนอนวัตกรรมแก้ปัญหาฝุ่นพิษผ่านเวทีเสวนา “ปลดล็อก! เพื่ออากาศสะอาด” From Output to Impact : ระบบวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมไทยกับการแก้วิกฤตฝุ่น PM2.5 ที่ได้นำเสนอนวัตกรรมที่น่าสนใจจากหลายหน่วยงาน
“DustBoy” เครื่องวัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก ที่พัฒนาโดยทีมนักวิจัยจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถือเป็นเครื่องตรวจวัดฝุ่นแบบ Low cost sensor ที่ราคาไม่สูงนัก จึงสามารถติดตั้งได้เป็นจำนวนมาก และที่สำคัญสามารถตรวจวัดค่า PM2.5 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเก็บเป็นข้อมูลและสื่อสารกับประชาชนในการปฏิบัติตัวเพื่อลดผลกระทบจากฝุ่น ซึ่งเครื่อง DustBoy นี้ ได้มีการติดตั้งในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่มาตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าผู้ป่วยโรคระบบหายใจมีแนวโน้มลดลง
แอปพลิเคชันจัดการไฟป่าและฝุ่น PM2.5 “FireD” สำหรับวางแผนการเผาเพื่อจัดการพื้นที่ทางการเกษตรที่ยังคงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเกษตรกรบางกลุ่มในจังหวัดเชียงใหม่ เพราะมาตรการห้ามเผาโดยเด็ดขาดหรือ Zero Burning ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด โดยแอปฯ FireD จะเป็นตัวช่วยบริหารจัดการเชื้อเพลิง เชื่อมโยงชุมชนท้องถิ่นเข้ากับแผนวิทยาศาสตร์ ถ้าเกษตรกรมีความจำเป็นต้องทำการเผาพื้นที่ทางการเกษตร ต้องยื่นคำร้องผ่านแอปฯ และต้องได้รับอนุมัติจากเจ้าหน้าที่รัฐเสียก่อนจึงจะเผาได้ โดยที่ผ่านมาสามารถลดจุดเกิดความร้อนได้ถึง 60%
“นวัตกรรมรถตัดอ้อย” โรงงานน้ำตาลมิตรผล ซึ่งถือเป็นบทบาทของภาคเอกชนในการแก้วิกฤตฝุ่นควัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝุ่น PM2.5 ที่เกิดจากการเผาไร่อ้อยในฤดูเก็บเกี่ยวเพื่อแก้ปัญหาขาดแรงงานคนในการตัดอ้อย และฝุ่นควันจากเศษใบอ้อยอย่างที่รู้จักกันในชื่อ “หิมะดำ” ซึ่งรถตัดอ้อยนี้นอกจากลดการเผาแล้ว ยังช่วยให้ผลผลิตได้ราคาดีขึ้นอีกด้วย
นอกจากที่กล่าวมา ทางฟากวิชาการยังคงเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมและองค์ความรู้ต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 อย่างต่อเนื่อง แต่ประเด็นที่ต้องคิดต่อและถือเป็นข้อกังวลคือการสนับสนุนจากภาครัฐในระดับนโยบายเพื่อให้นวัตกรรมที่คิดค้นขึ้นโดยคนไทยได้รับการยอมรับ และมีการนำไปใช้ในวงกว้าง เพื่อลดปัญหาฝุ่นพิษได้อย่างทั่วถึง และลดการพึ่งพิงและซื้อเทคโนโลยีจากต่างชาติโดยไม่จำเป็น
และประเด็นที่ต้องติดตามกันต่อคือความคืบหน้าของ ร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาด ในกระบวนการของรัฐสภาในการพิจารณาและบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป ซึ่งหลายฝ่ายต่างหวังว่าที่สุดแล้ว ร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาด ที่เป็นความหวังในการแก้ปัญหา PM2.5 ฉบับนี้ จะไม่ถูก “ปัดตก”