วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
Home > Life > ‘ดินสไลด์-บ้านทรุด’ ภัยพิบัติที่ไม่อาจมองข้าม

‘ดินสไลด์-บ้านทรุด’ ภัยพิบัติที่ไม่อาจมองข้าม

วันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา เกิดเหตุดินสไลด์ในพื้นที่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ สร้างความเสียหายแก่บ้านเรือนประชาชนกว่า 20 หลังคาเรือน จากการตรวจสอบพบว่า เดิมทีพื้นที่ที่ถล่มนั้นเคยเป็นบ่อเลี้ยงปลามาก่อน แต่ได้มีการถมและปล่อยให้เช่า ประกอบกับการถมดินไม่มีความแข็งแรงที่เพียงพอ อีกทั้งยังอยู่ติดกับบ่อที่เกิดจากการตักดินขายของเอกชน จึงอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดดินสไลด์ในครั้งนี้ ซึ่งนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดเหตุการณ์ดินสไลด์จนสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

พฤศจิกายน 2564 – เกิดเหตุดินทรุดตัวเป็นหลุมกว้างภายในสวนทุเรียน อ.บ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี ระหว่างการขุดเจาะบ่อบาดาล ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต

ตุลาคม 2564 – เกิดเหตุดินสไลด์ บริเวณถนนกัลปพฤกษ์ เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร โดยจุดดังกล่าวมีการขุดหลุมเพื่อซ่อมท่อประปา ทำให้คนงานได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต

ธันวาคม 2563 – เกิดเหตุดินสไลด์ทับบ้านเรือนประชาชนบริเวณ อ.เบตง จ.ยะลา จากฝนที่ตกต่อเนื่องมานานหลายวัน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต

นี่เป็นเพียงบางเหตุการณ์ที่หยิบยกขึ้นมาเพื่อให้เห็นภาพความเสียหายที่เราไม่อาจมองข้ามได้เท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าสาเหตุของการเกิดดินสไลด์มีทั้งปัจจัยจากดินฟ้าอากาศและจากการกระทำของมนุษย์

นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ได้เผยถึงสาเหตุของดินสไลด์ที่ อ.บางพลี ในครั้งนี้ว่า พื้นที่ดังกล่าวมีการขุดบ่อดินขนาด 400 ไร่ เพื่อนำดินไปขาย โดยมีแนวคันดินกว้างประมาณ 50 เมตร ติดกับคลองบางเหี้ยน้อยซึ่งมีความลึกมากกว่า 10 เมตร ใกล้คลองดังกล่าวเป็นที่ดินประมาณ 20 ไร่ ซึ่งเดิมทีเป็นบ่อปลาเก่าที่ได้ทำการปรับพื้นดิน โดยมีประชาชนขอเช่าปลูกอาคารที่พักอาศัยประมาณ 30 หลังคาเรือน

เมื่อขุดดินในบ่อดินลงไปประมาณ 100 เมตร แนวคันดินติดกับคลองเกิดพังทลายลงมาทำให้น้ำในคลองบางเหี้ยน้อยไหลออกลงไปในบ่อดินดังกล่าว จนคลองแห้งสนิท ทำให้ไม่มีแรงพยุงหรือแรงต้านน้ำหนักของดินที่อยู่ด้านข้างได้จึงเกิดดินสไลด์ลงไปในคลอง และเกิดรอยแตกแยกของดินโดยรอบขึ้น

ขณะที่บ้านเรือนของชาวบ้านซึ่งไม่ได้มีการตอกเสาเข็ม เทคอนกรีตเสริมเหล็กจึงทำให้รอยแตกของพื้นลามไปเรื่อยๆ จนเกิดดินสไลด์พัดพาเอาบ้านเรือนที่ปลูกอยู่ใกล้บ่อดินไหลลงไปกองรวมกันในบ่อดินประมาณ 20 หลัง

ด้าน ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างไทย และนักวิจัยในชุดโครงการ “ลดภัยพิบัติแผ่นดินไหวในประเทศไทย” ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เปิดเผยว่า บริเวณที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่ชั้นดินเหนียวอ่อนมาก มีค่ากำลังรับแรงเฉือนที่ต่ำ ซึ่งดินลักษณะนี้สามารถเคลื่อนตัวได้ง่าย นอกจากนี้พื้นที่ดังกล่าวยังขุดบ่อไว้แต่เดิม ส่วนพื้นที่เกิดเหตุที่มีการสไลด์ตัวมีการถมดินและเทพื้นคอนกรีตทางด้านบน และมีการก่อสร้างอาคารบนพื้นที่

ซึ่งลักษณะการเคลื่อนตัวของดิน (land slide) ในครั้งนี้มีขนาดค่อนข้างใหญ่ โดยน่าจะเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน ได้แก่

1. ความแตกต่างระหว่างแรงดันดิน ส่งผลให้ดินเกิดการเคลื่อนตัว

2. น้ำหนักกดทับของพื้นที่ที่ถมดินและมีการก่อสร้างอาคาร

3. ดินถมเคลื่อนตัวได้ง่ายและอาจมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นหากมีความชื้นหรือฝนตกก่อนหน้า

4. กำลังรับน้ำหนักหรือกำลังแรงเฉือนของดินลดลงเมื่อดินอุ้มน้ำหรือมีความชื้น

ศ. ดร.อมร กล่าวต่อไปว่า ประเด็นที่เกี่ยวกับการขุดดินขนาดใหญ่ถือเป็นประเด็นสำคัญ เพราะการขุดดินขนาดใหญ่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาดินสไลด์ได้ง่าย
ที่ผ่านมามีกฎหมายที่เกี่ยวข้องในประเด็นนี้ ได้แก่ พระราชบัญญัติการขุดดินและถมดิน พ.ศ. 2543 ซึ่งกำหนดว่าการขุดดินที่มีความลึกจากระดับพื้นดินเกิน 3 เมตรหรือมีพื้นที่ปากบ่อดินเกิน 10,000 ตารางเมตร ต้องมีแบบแปลน รายการประกอบแบบ และรายการคำนวณของวิศวกรผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมสาขาวิศวกรรมโยธาไม่ต่ำกว่าระดับสามัญวิศวกรตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกร

นอกจากนี้ หากขุดดินที่มีความลึกเกิน 20 เมตร ต้องป้องกันพังทลายของดินหรือสิ่งปลูกสร้าง โดยติดตั้งอุปกรณ์สำหรับวัดการเคลื่อนตัวของดินและต้องมีแบบแปลน รายการประกอบแบบแปลน และรายการคำนวณของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมสาขาวิศวกรรมโยธา ระดับวุฒิวิศวกร เป็นผู้ลงนาม นอกจากนี้ ตามกฎกระทรวงกำหนดสาขาวิชาชีพวิศวกรรมและวิศวกรรมควบคุม ปี 2550 ยังกำหนดให้การก่อสร้างกำแพงกันดินหรือกันน้ำที่มีความสูงตั้งแต่ 1.5 เมตร เป็นวิศวกรรมควบคุมอีกด้วย

สำหรับบ่อดินที่ได้ขุดไว้นานแล้ว เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินของบ่อจะต้องดำเนินการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและเสถียรภาพของบ่ออยู่ตลอด โดยมีวิศวกรที่ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกร ดำเนินการตรวจวัดติดตามการเคลื่อนตัวของดิน โดยใช้อุปกรณ์วัดต่างๆ หรือด้วยวิธีการทางวิศวกรรมที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีฝนตกอาจเกิดการสไลด์ตัวได้ง่าย

หากพบว่าบ่อมีโอกาสจะพังทลาย จะต้องเสริมความแข็งแรงด้วยวิธีการตามหลักวิศวกรรม รวมถึงต้องระมัดระวังเรื่องการสูบน้ำออกจากบ่ออย่างทันทีทันใด ซึ่งอาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เร่งให้ผนังบ่อพังทลายได้ง่ายขึ้นเนื่องจากการสูญเสียแรงดันนั่นเอง

ถึงแม้จะมีกฎหมายคอยกำกับแต่หากขาดซึ่งการปฏิบัติตามในวิถีที่ควรคงไม่ใช่สิ่งที่ดีนัก จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นบทเรียนที่สำคัญ แม้สาเหตุของการเกิดดินสไลด์อันมาจากธรรมชาติจะอยู่เหนือการควบคุม แต่สาเหตุที่มาจากการกระทำของมนุษย์เองเป็นสิ่งที่เราสามารถควบคุมได้ เพื่อป้องกันและลดความเสียหายอันจะเกิดขึ้นในอนาคต.

ใส่ความเห็น