สงครามตลาดสดติดแอร์ร้อนแรงขึ้นทันที เมื่อกลุ่ม “ไทยฟู้ดส์กรุ๊ป” เร่งเปิดฉากปูพรมขยายสาขาร้านสะดวกซื้อเนื้อสดแปรรูป “Thai foods fresh market shop” เจาะตลาดเขตพื้นที่กรุงเทพฯ มากขึ้น หลังใช้เวลาเกือบ 1 ปี ปลุกปั้นแบรนด์ในต่างจังหวัด เพื่อรองรับความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ ชูจุดขายเรื่องคุณภาพ ความปลอดภัย แถมโปรโมชั่นดุเดือดชนเจ้าตลาดรายใหญ่ ทั้งซีพีเฟรชมาร์ทและโลตัส
ขณะเดียวกันเคยมีการประเมินตลาดค้าปลีกอาหาร (Food Retail) ในประเทศไทยเติบโตสูงมาก มูลค่ารวมมากกว่า 1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ Traditional Trade หรือตลาดสด มีสัดส่วนการซื้อขายราว 45% และ Modern Trade ที่มีสัดส่วนการซื้อขาย 55% ได้แก่ กลุ่มซูเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์เก็ต และคอนวีเนียนสโตร์ ซึ่งมีแตกไลน์รูปแบบต่างๆ มากขึ้น
สำหรับร้านไทยฟู้ดส์ เฟรซ มาร์เก็ต (Thai foods fresh market) เริ่มเปิดตัวช่วงปลายปี 2563 โดยบริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TFG ตั้งเป้าหมายสร้างเครือข่ายเพิ่มช่องทางการจำหน่ายไก่และสุกรของบริษัทให้เข้าถึงผู้บริโภคโดยตรง รวมทั้งเพิ่มยอดขายและสนับสนุนพอร์ตรายได้ให้มีเสถียรภาพอย่างยั่งยืนด้วย
อันที่จริง ไทยฟู้ดส์กรุ๊ปไม่ใช่ผู้ประกอบการหน้าใหม่ แต่อยู่ในวงการนานกว่า 35 ปี โดย วินัย เตียวสมบูรณ์กิจ ก่อร่างสร้างฐานจากธุรกิจฟาร์มเลี้ยงไก่แห่งแรกในจังหวัดลพบุรีเมื่อปี 2530 จากกำลังการผลิต 20,000 ตัว บุกเบิกขยายกิจการจนกระทั่งจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2544 ภายใต้ชื่อ บริษัท ไทยฟู้ด (2001) จำกัด
ต่อมาเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2545 จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ไทย ฟู้ดส์ โพลทรีย์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
หลังจากนั้นจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัทไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด และแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2557
ช่วงปี 2554-2557 บริษัทจัดโครงสร้างกลุ่มธุรกิจจากเดิมที่นายวินัย เตียวสมบูรณ์กิจ และผู้เกี่ยวข้อง เป็นผู้ควบคุมการประกอบธุรกิจทั้งหมดปรับมารวมอยู่ที่บริษัท ทำให้การประกอบธุรกิจทุกประเภทอยู่ภายใต้การควบคุมของบริษัทโดยตรง พร้อมๆ กับขยายกิจการฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ผลิตและจำหน่าย รวมถึงรุกตลาดส่งออกต่างประเทศ กลายเป็นผู้ผลิตอาหารครบวงจร จนกระทั่งแตกไลน์ธุรกิจใหม่ ทั้งธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ) และธุรกิจให้สินเชื่อผ่านแอปพลิเคชัน “มันนี่ฮับ” (Money Hub)
ล่าสุด ไทยฟู้ดส์กรุ๊ปมีบริษัทในเครือเกือบ 20 บริษัท โดยมีธุรกิจอาหารเป็นแกนหลัก ประกอบด้วย 1. ธุรกิจไก่ ได้แก่ การเพาะพันธุ์ไก่ การผลิตและจำหน่ายเนื้อไก่ ลูกไก่ ไก่พันธุ์เนื้อ รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อไก่ 2. ธุรกิจสุกร ได้แก่ การเพาะพันธุ์สุกร การจำหน่ายสุกรมีชีวิตและชิ้นส่วนสุกร 3. ธุรกิจอาหารสัตว์ ได้แก่ การผลิตและการจำหน่ายอาหารสัตว์ โดยมุ่งเน้นอาหารสำหรับไก่และสุกร 4. ธุรกิจอื่นๆ ได้แก่ ให้บริการศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีนและเวชภัณฑ์ การผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารสัตว์และอุปกรณ์การเกษตรที่ทำจากพลาสติก ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มและซอสปรุงรส
ด้านรายได้รวมของบริษัทและบริษัทย่อยไล่มาตั้งแต่ปี 2561 อยู่ที่ 28,357.21 ล้านบาท ปี 2562 อยู่ที่ 29,105.51 ล้านบาท ปี 2563 อยู่ที่ 31,857.38 ล้านบาท และปี 2564 ช่วง 9 เดือนแรกมีรายได้รวม 25,272.72 ล้านบาท โดยรายได้ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจไก่ รองลงมาเป็นธุรกิจสุกรและอาหารสัตว์
เพชร นันทวิสัย ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TFG เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้รวมของปี 2565 เติบโต 15-20% จากปี 2564 โดยธุรกิจหมูมีโอกาสเติบโตสูงกว่า 20% ทั้งจากในไทยและเวียดนาม โดยในเวียดนามมีการเติบโตขึ้นเท่าตัวจากเดิมที่มียอดขาย 15,000 ตันต่อเดือน จะเพิ่มเป็น 30,000 ตันต่อเดือน
สำหรับธุรกิจไก่คาดเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งออกปี 2565 จะสูงถึง 75,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่ 65,000 ตัน โดยตลาดส่งออกหลักอยู่ที่ยุโรป ญี่ปุ่น และจีน
“อีกปัจจัยที่จะสนับสนุนการเติบโตมาจากร้านสะดวกซื้อสำหรับเนื้อสดแปรรูป Thai foods fresh market ถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเนื้อสัตว์ โดยปีนี้คาดว่าจะขยายสาขาเป็น 200 สาขา จากปี 2564 มีจำนวนสาขา 88 สาขา เพื่อขยายฐานธุรกิจ Shops เพิ่มเติมและเป็นหนึ่งในแผนการลงทุนที่เตรียมเม็ดเงินไว้ 5,500 ล้านบาท นอกเหนือจากการขยายในกลุ่มธุรกิจหมู ทั้งในประเทศไทยและเวียดนาม” นายเพชรกล่าว
ทั้งนี้ แผนการขยายร้านไทยฟู้ดส์ เฟรซ มาร์เก็ต ระยะแรกเน้นเจาะตลาดต่างจังหวัด เช่น จังหวัดสุพรรณบุรี ประจวบคีรีขันธ์ อยุธยา เพชรบุรี นครปฐม นนทบุรี นครนายก สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี ชลบุรี ปราจีนบุรี สระบุรี ล่าสุดเปิดให้บริการมากกว่า 70 สาขา และช่วงตั้งแต่กลางปี 2564 เริ่มรุกพื้นที่เขตกรุงเทพฯ โดยปัจจุบันเปิดให้บริการมากกว่า 15 สาขา ส่วนใหญ่เน้นแหล่งชุมชนและทำเลใกล้ตลาดสด เช่น ย่านสายไหม รามอินทรา เคหะร่มเกล้า ทุ่งครุ
รูปแบบร้านมีทั้งสาขาอาคารพาณิชย์ 2-3 คูหา และสาขาสแตนด์อะโลน โดยสินค้าจะแยกเป็นหมวดเนื้อสัตว์ อาหารแปรรูป อาหารพร้อมปรุง ข้าวสาร ไข่ไก่ กลุ่มเครื่องปรุงรส และเครื่องดื่ม พร้อมบริการดีลิเวอรีในแต่ละพื้นที่
แน่นอนว่า แม้เปรียบเทียบจำนวนสาขากับยักษ์ใหญ่ ซีพีเฟรชมาร์ท ซึ่งล่าสุดปูพรมมากกว่า 300 สาขา อาจยังดูห่างไกลกัน แต่เมื่อไทยฟู้ดส์กรุ๊ปประกาศจัดเต็มปูพรมปีนี้ไม่ต่ำกว่า 200 สาขา และเดินหน้าเต็มสูบ
สมรภูมิรอบนี้จึงไม่ใช่แค่น้ำจิ้ม แต่เป็นศึกช่วงชิงส่วนแบ่งที่อาจพลิกโฉมทอปทรีก็เป็นได้
ย้อนเส้นทางอาณาจักร “ไทยฟู้ดส์กรุ๊ป”
เส้นทางอาณาจักร “ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป” เริ่มต้นเมื่อ วินัย เตียวสมบูรณ์กิจ ก่อร่างสร้างฐานจากธุรกิจฟาร์มเลี้ยงไก่ฟาร์มแรกในจังหวัดลพบุรีเมื่อปี 2530 กำลังการผลิต 20,000 ตัว บุกเบิกขยายกิจการจนกระทั่งจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2544 ภายใต้ชื่อ บริษัท ไทยฟู้ด (2001) จำกัด
ปี 2545 เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ไทยฟู้ดส์ โพลทรีย์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
ปี 2546 เริ่มธุรกิจโรงผลิตชิ้นส่วนไก่โรงแรกใน จ.กาญจนบุรี กำลังการผลิต 139,000 ตัวต่อวัน
ปี 2547 เริ่มธุรกิจฟาร์มไก่พ่อแม่พันธุ์ โดยซื้อฟาร์มไก่พ่อแม่พันธุ์ 3 ฟาร์มและโรงฟักไข่ 1 โรง ใน จ.ชลบุรี เพิ่มกำลังการผลิตไก่พ่อแม่พันธุ์เป็น 312,000 ตัว โรงฟักไข่เพิ่มเป็น 699,840 ฟองต่อสัปดาห์
ปี 2550 เริ่มธุรกิจโรงผลิตอาหารสัตว์โรงแรกใน จ.สุพรรณบุรี กำลังการผลิต 30,000 ตันต่อเดือน
ปี 2553 เริ่มธุรกิจฟาร์มสุกรทวดพันธุ์ฟาร์มแรกใน จ.กาญจนบุรี กำลังการผลิต 450 ตัว
ปี 2554 เริ่มธุรกิจฟาร์มไก่พันธุ์ไข่ฟาร์มแรกใน จ.กาญจนบุรี กำลังการผลิต 38,400 ตัว
ปี 2555เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด เริ่มธุรกิจฟาร์มสุกรพ่อแม่พันธุ์ฟาร์มแรกใน จ.นครสวรรค์ กำลังการผลิต 1,800 ตัว
ปี 2556 เริ่มธุรกิจเลี้ยงสุกรในประเทศเวียดนาม กำลังการผลิต 1,400 ตัว
ปี 2557 เพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 3,750 ล้านบาท เป็น 5,400 ล้านบาท โดยจัดสรรให้ผู้ถือหุ้นเดิมไม่เกิน 250 ล้านหุ้น และจัดสรรหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 1,400 ล้านหุ้น
18 ส.ค. 2557 แปรสภาพบริษัทเป็นบริษัทมหาชนจำกัดและเปลี่ยนชื่อเป็น บมจ. ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป
ปี 2558 ไทยฟู้ดส์กรุ๊ปเริ่มส่งออกเนื้อไก่ให้ลูกค้าในประเทศญี่ปุ่นและกลุ่มสหภาพยุโรป รวมทั้งเริ่มจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปประเภทไส้กรอก รูปแบบ OEM
8 ต.ค. 2558 บริษัทเริ่มซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ปี 2559 โรงงานไส้กรอกไก่ใน จ.ปราจีนบุรี เริ่มการผลิตอย่างเป็นทางการ
ปี 2562 บริษัทอนุมัติตั้งบริษัทย่อยแห่งใหม่ ชื่อ บริษัท ทีเอฟ เทค จำกัด เพื่อประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ)
11 ส.ค. 2563 บริษัทตั้งบริษัทย่อยแห่งใหม่ ชื่อ บริษัท ไทยฟู้ดส์ เฟรซ มาร์เก็ต จำกัด เพื่อประกอบกิจการศูนย์จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค ภายใต้ชื่อร้าน ไทยฟู้ดส์ เฟรซ มาร์เก็ต
ต่อมา วันที่ 25 พ.ย. 2563 ตั้งบริษัทย่อยแห่งใหม่ ชื่อ บริษัท มันนี่ ฮับ เซอร์วิส จำกัด เพื่อประกอบธุรกิจให้สินเชื่อภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย ผ่านแอปพลิเคชัน “มันนี่ฮับ” (Money Hub)