วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
Home > Cover Story > “เรือนแก้ว เกษมสวัสดิ์ศรี” กับภารกิจ ติดสปริง “เคทีซี พี่เบิ้ม” พร้อมโตแบบก้าวกระโดด

“เรือนแก้ว เกษมสวัสดิ์ศรี” กับภารกิจ ติดสปริง “เคทีซี พี่เบิ้ม” พร้อมโตแบบก้าวกระโดด

เคทีซีประกาศสร้างกำไรนิวไฮระลอกใหม่ ชู “เคทีซี พี่เบิ้ม” สินเชื่อมีหลักประกัน สู่การเป็น New S Curve พร้อมปรับเป้าการเติบโตแบบก้าวกระโดด จาก 1,000 ล้านบาท สู่ 11,500 ล้านบาทในปี 2565 ภายใต้การนำของผู้บริหารรุ่นใหม่อย่าง “เรือนแก้ว เกษมสวัสดิ์ศรี”

แม้ว่าปีที่ผ่านมาเป็นอีกหนึ่งปีแห่งความท้าทายของภาคธุรกิจในยุคโควิด-19 แต่บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เคทีซี ยังคงขับเคลื่อนองค์กรก้าวข้ามความท้าทายและสามารถสร้างผลกำไรในระดับที่วางไว้ อีกทั้งยังประกาศเดินเครื่องธุรกิจในปี 2565 ตั้งเป้าดันพอร์ตเกินแสนล้านบาท เพื่อสร้างกำไรนิวไฮระลอกใหม่หลังวิกฤตโควิด-19

นายระเฑียร ศรีมงคล ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เคทีซี เชื่อมั่นว่าในอนาคตอันใกล้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดี และเป็นโอกาสที่จะผลักดันธุรกิจของเคทีซีให้เติบโตและมีความเป็นไปได้ที่จะสร้างสถิติใหม่ของการทำกำไรสูงสุดมากกว่า 6 พันล้านบาท กับพอร์ตสินเชื่อที่เกินแสนล้านบาท

โดยกลยุทธ์หลักในปีนี้จะเน้นขยายธุรกิจสินเชื่อมีหลักประกันอย่าง “เคทีซี พี่เบิ้ม” และพัฒนาแพลตฟอร์ม “MAAI BY KTC” ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ต่อยอดมาจากระบบคะแนนสะสมอย่าง KTC Forever ที่ถือเป็นจุดแข็งของเคทีซี ซึ่งเป็น 2 โมเดลธุรกิจที่ถูกนำมาเป็นเรือธงในการขับเคลื่อนองค์กรเพื่อสร้าง New S Curve ดันรายได้ของเคทีซีให้โตอย่างต่อเนื่อง

สำหรับ MAAI by KTC เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ให้บริการกับพันธมิตรธุรกิจของเคทีซีที่มีความต้องการใช้ลอยัลตี้แพลตฟอร์ม โดยมีโซลูชั่นที่สำคัญคือ 1. ระบบบริหารจัดการสมาชิก 2. ระบบบริหารจัดการคะแนน และ 3. ระบบบริหารจัดการสิทธิประโยชน์ในรูปแบบคูปองอิเล็กทรอนิกส์ (e-Coupon Management) ทำให้การแลกคะแนนมีความหลากหลายและตรงกับกลุ่มลูกค้า โดยจะเริ่มเปิดตัวอย่างเป็นทางการในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565

อีกหนึ่งโมเดลธุรกิจที่น่าจับตาคือสินเชื่อมีหลักประกันอย่าง “เคทีซี พี่เบิ้ม” จากผลิตภัณฑ์สินเชื่อน้องใหม่ที่เปิดตัวมาได้ไม่นานสู่การเป็นเรือธงที่จะดึงกราฟการเติบโตของเคทีซีให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด จากเป้าพอร์ตสินเชื่อที่ตั้งไว้ที่ 1,000 ล้านบาท ในปี 2564 สู่เป้าใหญ่ 11,500 ล้านบาท ในปี 2565 ซึ่งนับเป็นความท้าทายใหญ่ของผู้บริหารรุ่นใหม่อย่าง “เรือนแก้ว เกษมสวัสดิ์ศรี” ในฐานะผู้อำนวยการ ธุรกิจสินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม”

“ตอนแรกเราเป็นทีมที่ตั้งขึ้นมาเพื่อทำพิโกไฟแนนซ์และนาโนไฟแนนซ์แต่จังหวะธุรกิจยังไม่ดีนัก ทำให้เคทีซีมองหาโอกาสทางธุรกิจที่จะเพิ่มแหล่งรายได้ใหม่ๆ ให้กับบริษัท และตอบโจทย์สภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป เราจึงได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมา จนกลายมาเป็นเคทีซี พี่เบิ้ม สินเชื่อมีหลักประกันที่ครอบคลุมทั้งทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ที่มาพร้อมกับคอนเซ็ปต์ “ทางเลือกคนไม่ท้อ” เพื่อเป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้ที่ขาดโอกาสด้านการเงินและไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ถูกต้องได้ ซึ่งเรามองว่าประชากรกลุ่มนี้มีจำนวนมากและกระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของเคทีซีที่หันมารุกธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถเป็นครั้งแรก” เรือนแก้วเปิดเผยถึงจุดเริ่มต้นของเคทีซี พี่เบิ้ม

โดย “เคทีซี พี่เบิ้ม” เปิดตัวครั้งแรกเมื่อไตรมาส 3 ของปี 2563 และถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากฝีมือของสตาร์ตอัปรุ่นใหม่ที่เข้ามาสร้างความหลากหลายในพอร์ตสินเชื่อของเคทีซีได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์โควิด-19 ที่ความเป็นไปทางเศรษฐกิจไม่คล่องตัวนัก

แต่ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนและพร้อมจะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทำให้การเดินทางของเคทีซี พี่เบิ้ม จากจุดเริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน ต้องพบกับโจทย์ที่ท้าทายอยู่เสมอ

“เราเป็นทีมเล็กๆ ทำงานเหมือนสตาร์ตอัป ต้องเร็ว เรียนรู้เร็ว ปรับตัวเร็ว ไม่ยึดติด และเปิดรับข้อมูลภายนอกอยู่เสมอ สำหรับปีแรกถือเป็นปีแห่งการเรียนรู้และทดลอง เป็น Test & Learn โดยใช้หลักการทำงานแบบ Design Thinking พัฒนาผลิตภัณฑ์ เริ่มจากลูกค้ากลุ่มเล็กๆ ก่อนขยายออกไปเรื่อยๆ พร้อมนำเอาฟีดแบ็กจากลูกค้ากลับมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อไป”

ช่วง 3 เดือนแรกหลังจากเคทีซี พี่เบิ้ม เปิดตัว เรียกได้ว่าเป็นไปในทิศทางที่ดี กลุ่มลูกค้าให้การตอบรับและสมัครสินเชื่อจนสามารถสร้างพอร์ตสินเชื่อได้ถึงราวๆ 200 ล้านบาท นำไปสู่การตั้งเป้าการเติบโตที่ 1,000 ล้านบาทในปีต่อมา

“ปีที่สองเป็นปีที่เราตั้งใจขยายธุรกิจเพราะเห็นแล้วผลิตภัณฑ์นี้ไปได้ จากที่โฟกัสลูกค้ากลุ่มเล็กๆ เริ่มขยายไปสู่กลุ่มที่ใหญ่ขึ้นซึ่งถือเป็นความท้าทายใหญ่ คุณระเฑียรเคยพูดอยู่เสมอว่าการพัฒนาผลิตภัณฑ์ว่ายากแล้ว แต่การทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ออกมาขยายตัวและเติบโตอย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งที่ยากที่สุด ยิ่งเมื่อเจอกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เราต้องปรับแผนในการขยายธุรกิจอยู่ตลอดเวลา ถือเป็นปีที่เจอกับความท้าทายรอบด้าน แต่ก็เป็นความโชคดีในโชคร้าย เพราะทำให้เราได้เรียนรู้และหาทางแก้ปัญหาใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา เป็นการเรียนรู้ที่ต่างจากปีแรก เพราะปีแรกเรายังเป็นน้องใหม่ในธุรกิจ เรียนรู้เรื่องผลิตภัณฑ์ เรียนรู้เรื่องลูกค้า แต่ปีที่สองเป็นที่เรียนรู้การทำธุรกิจและขยายตลาดอย่างแท้จริง”

เรือนแก้วยอมรับว่าจากสถานการณ์ของโควิด ทำให้ช่องทางในการเข้าถึงลูกค้าทำได้ยากมากขึ้น ส่งผลให้พอร์ตสินเชื่อของเคทีซี พี่เบิ้ม ของปีที่ผ่านมาอาจยังไม่เป็นไปตามที่คาด แต่ยังคงเชื่อมั่นว่าสินเชื่อมีหลักประกันยังคงเป็นธุรกิจที่ยังสามารถไปต่อได้ในระยะยาว ประกอบกับมีการปรับแผนธุรกิจและได้รับการสนับสนุนหลักจาก “ธนาคารกรุงไทย” นำไปสู่การตั้งเป้าการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อที่ก้าวกระโดดแตะ 11,500 ล้านบาท ในปี 2565

“ปี 2565 เป็นปีที่เราตั้งเป้าใหญ่มาก จากพันล้านสู่หมื่นล้าน แต่ที่ทำให้เรากล้าตั้งเป้าก้าวกระโดดถึงขนาดนั้นเพราะได้รับการสนับสนุนจากธนาคารกรุงไทยที่เล็งเห็นโอกาสของธุรกิจนี้จริงๆ ในขณะเดียวกันเรามีการวิจัยดูตัวเลขแล้วพบว่าธุรกิจนี้โตได้แน่ๆ เพราะช่วงที่ผ่านมาสินเชื่อจำนำทะเบียนได้รับความนิยมสูงมากทั้งแบงก์และนอนแบงก์ต่างเข้ามาทำธุรกิจนี้”

สำหรับกลยุทธ์ในการนำพาเคทีซี พี่เบิ้ม ไปสู่เป้าที่วางไว้คือ “การเข้าถึงลูกค้า” เพื่อให้ลูกค้าได้รู้จักพี่เบิ้มมากขึ้นคือปัจจัยสำคัญที่สุดในการที่จะขยายธุรกิจ รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการทำงานอยู่ตลอดเวลา การได้รับการสนับสนุนจากธนาคารกรุงไทยที่มาพร้อมกับจำนวนสาขาของธนาคารกว่า 900 สาขาทั่วประเทศ จึงกลายเป็นช่องทางในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าสำหรับพี่เบิ้มได้อย่างทันที

ปีที่ผ่านเคทีซีพี่เบิ้มยังไม่เป็นที่รู้จักของกลุ่มลูกค้าต่างจังหวัดมากนัก ดังนั้นในปีนี้เคทีซีจะเร่งขยายฐานสมาชิกอย่างต่อเนื่องเพื่อผลักดันให้พอร์ตสินเชื่อ โดยเน้นการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในแต่ละพื้นที่แบบเชิงรุกผ่านบริการพี่เบิ้ม เดลิเวอรี่ โดยใช้ทีมขายของเคทีซีทั่วประเทศ ไปให้บริการสินเชื่อถึงบ้านของลูกค้าหรือสถานที่ที่ลูกค้าสะดวก รวมถึงผูกไปกับช่องทางของเครือข่ายธนาคารกรุงไทยทั่วประเทศ 900 สาขา และกรุงไทยธุรกิจ ลีสซิ่ง (KTBL) อีก 11 สาขา ซึ่งเป็นกลยุทธ์หลัก และจะเน้นสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์ซึ่งลูกค้ากลุ่มเป้าหมายเปิดรับเป็นหลัก

อีกหนึ่งกลยุทธ์ที่พี่เบิ้มวางไว้คือการสร้างผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายให้ครบทุกความต้องการของตลาด ทั้งบัตรกดเงินสด “เคทีซี พี่เบิ้ม” ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของสินเชื่อทะเบียนรถยนต์และรถมอเตอร์ไซต์ในรูปแบบของบัตรกดเงินสด ที่สามารถรูด-โอน-กด-ผ่อน ผ่านบัตรได้ทันที โดยเคทีซีได้เปิดตัวบัตรกดเงินสดสำหรับรถมอเตอร์ไซค์วงเงินหลักหมื่นไปเมื่อปีที่ผ่านมา และปีนี้จะเปิดตัวบัตรกดเงินสดสำหรับรถยนต์วงเงินหลักแสนเพิ่มเติม รวมไปถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในกลุ่มธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ (Hire Purchase) ภายใต้ใบอนุญาตของกรุงไทยธุรกิจ ลีสซิ่ง ซึ่งเคทีซีถือหุ้นอยู่ 75.05%

“นอกจากสินเชื่อทะเบียนรถแล้ว เคทีซีพี่เบิ้มจะพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่นๆ ตามมา เราเน้นทำเร็ว แต่ทำอย่างระมัดระวัง อันไหนที่เสี่ยงและทำให้พอร์ตไม่ดีจะไม่ทำต่อ และมีแผนเตรียมขอไลเซนส์เพิ่มเติม เพราะไลเซนส์คือปัจจัยสำคัญในการขยายไลน์ผลิตภัณฑ์”

นอกจากนี้ ยังพัฒนากระบวนการทำงานโดยใช้หลักดิจิทัล ทวิน (Digital Twin) นำเทคโนโลยีมาใช้ในการสมัครและอนุมัติสินเชื่อ เพื่อให้เกิดการบริการที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยมากขึ้น ทั้งในรูปแบบของการเซ็นสัญญาดิจิทัล โดยจะมีการนำการยืนยันตัวตนรูปแบบดิจิทัล หรือ NDID (National Digital ID) มาใช้ ซึ่งจะทำให้สามารถอนุมัติได้ไว โดยยังคงการันตีการอนุมัติภายใน 1.5 ชั่วโมงเช่นเดิม และขยายวงเงินสินเชื่อมากขึ้นถึง 1 ล้านบาท

แม้ว่ากลยุทธ์ที่เตรียมไว้จะสร้างความเชื่อมั่นในการขับเคลื่อนเคทีซีพี่เบิ้มในปีนี้ แต่เรือนแก้วยอมรับว่าเป้าที่วางไว้เป็นความท้าทายและกดดันไม่น้อย
“ยอมรับว่ามันเป็นสิ่งที่ท้าทายและกดดัน แต่เป็นความกดดันที่เราคิดว่ามันเป็นไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีผู้ใหญ่ให้การสนับสนุนซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีมาก ในฐานะที่เราเป็นผู้ดูแลธุรกิจนี้ แล้วมีคนมาบอกว่าทำเลยจะช่วยเต็มที่ แล้วทำไมเราถึงจะไม่ทำ ประกอบกับที่ได้ทำวิจัย ศึกษาทิศทางและดูตัวเลขการเติบโตในตลาดแล้ว เราเชื่อว่าเป้าที่วางไว้ไม่ไกลเกินเอื้อม”

คงต้องดูกันต่อไปว่าภายใต้สถานการณ์ที่ไม่แน่นอนและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาเช่นนี้ “เคทีซี พี่เบิ้ม” ภายใต้ผู้บริหารรุ่นใหม่จะบรรลุตามเป้าหมื่นล้านที่วางไว้ได้หรือไม่.

ใส่ความเห็น