วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
Home > Cover Story > PTTGC ขยายฐาน รุกลงทุนต่างแดน

PTTGC ขยายฐาน รุกลงทุนต่างแดน

 
ภายใต้ vision การเป็นผู้นำทางด้านเคมีภัณฑ์ เพื่อสร้างสรรค์คุณภาพชีวิต ล่าสุด บริษัท พีทีที โกลบอล เคมีคอล จำกัด (มหาชน) PTTGC เตรียมแผนลงทุนในต่างประเทศ เพื่อเป็นการรองรับการขยายตัวในตลาดต่างประเทศ ให้สอดคล้องกับแผนการเติบโตของบริษัทฯ ทั้งในด้านการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ธุรกิจปิโตรเคมีของพีทีที โกลบอล เคมิคอล ซึ่งเป็นทั้งการขยายฐานการผลิตและการตลาด
 
PTTGC เกิดจากการควบรวมกิจการระหว่างบริษัท ปตท. เคมิคอล จำกัด (มหาชน) PTTCH กับบริษัท อะโรเมติกส์ และการกลั่น จำกัด (มหาชน) PTTAR เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม2554 เพื่อก้าวขึ้นเป็นแกนนำของกลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์ (Chemical Flagship) ของ ปตท.
 
ภายใต้ Core uplift project ที่ประกอบไปด้วย operational excellence, Marketing excellence, Synergy excellence และ Debottle necking การขยายตลาดสู่ต่างประเทศ เช่น อินโดนีเซีย จีน และสหรัฐฯ การต่อยอดสินค้าสู่ new product และจบลงด้วยความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นโรดแมพ ถือเป็นกลยุทธ์ในการดำเนินงานที่สะท้อนให้เห็นวิสัยทัศน์ของบริษัทได้เป็นอย่างดี
 
ปัจจุบัน PTTGC มีโรงงานตั้งอยู่ที่จังหวัดระยอง ซึ่งถือว่าใหญ่ที่สุดในอาเซียน โดยแต่ละโรงงานมีการขยายที่ต่อเนื่องกัน การลงทุนในประเทศจึงเป็นการขยายฐานการผลิตเพื่อเติบโตแบบ Organic Growth และต่อยอดสร้างคุณค่าจากผลิตภัณฑ์
 
ขณะเดียวกัน  PTTGC ก็มีแผนลงทุนในต่างประเทศ ทั้งนี้เพื่อเป็นการรองรับการขยายตัวในตลาดต่างประเทศให้สอดคล้องกับแผนการเติบโตของบริษัทฯ ทั้งในด้านการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ธุรกิจปิโตรเคมีของพีทีที โกลบอล เคมิคอล ซึ่งเป็นทั้งการขยายฐานการผลิตและการตลาด โดยเป็นการลงทุนในลักษณะ  joint  venture 
 
สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดใหญ่ของ PTTGC ระบุถึงแนวคิดในการลงทุนในต่างประเทศว่า “เราเป็นบริษัทคนไทย การที่จะรุกลงทุนในต่างแดนแม้จะสามารถทำคนเดียวได้แต่เพื่อป้องกันความเสี่ยง จึงต้องหา jont venture ที่ดี ฐานะการเงินมั่นคง เป็นยุทธศาสตร์ที่จะเติบโตไปด้วยกัน” 
 
ทั้งนี้ โครงการลงทุนในต่างประเทศที่  PTTGC กำลังดำเนินการแบบคู่ขนาน ไม่ว่าจะเป็นการร่วมมือกับ มารูเบนี ยักษ์ใหญ่เทรดดิ้งญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้ค้าที่ทำการตลาดค้าผลิตภัณฑ์ในสหรัฐฯ ร่วมทุนสร้างปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในสหรัฐอเมริกา โครงการนี้ถือเป็น World Scale ปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ ด้วยงบลงทุน 5.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
 
ซึ่งนอกจากมารูเบนีแล้ว PTTGC ก็จะหาพันธมิตรใหม่เพิ่มอีกรายเข้ามาร่วมทุน โดยโครงการนี้  PTTGC จะถือหุ้นใหญ่ประมาณ 51% โดยเลือกมลรัฐโอไฮโอ บริเวณแหล่งมาร์เซลลัส ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกา เป็นที่ตั้งโครงการนี้ เนื่องจากเป็นแหล่ง Shale Gas (ก๊าซธรรมชาติจากหินดินดาน) ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ ซึ่งมีวัตถุดิบ คือ ก๊าซอีเทนซึ่งมีปริมาณสำรองสูง และมีต้นทุนที่ต่ำ ซึ่งจะช่วยสร้างความสามารถในการแข่งขันได้ดี 
 
นอกจากนี้มลรัฐโอไฮโอยังมีความพร้อมในด้านต่างๆ อาทิ มีทำเลดี อากาศดี, มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน, แรงงานเพียงพอ, อยู่ใจกลางโครงข่ายอีเทน, และได้รับการสนับสนุนโครงการจากมลรัฐ (State Government Incentives) ได้แก่ การสนับสนุนด้านภาษี และเงินสนับสนุนจากภาครัฐ  
 
โดยโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในสหรัฐฯ นี้ จะประกอบด้วยโครงการอีเทน แครกเกอร์ โดยใช้ก๊าซอีเทนจาก Shale Gas ผลิตเอทิลีน 1 ล้านตันต่อปี และมีโรงงานผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง ผลิตเม็ดพลาสติกโพลีเอทิลีนชนิดความหนาแน่นสูง (HDPE) 7 แสนตัน/ปี, โรงงานผลิตโมโนเอทิลีนไกลคอล (MEG) 5แสนตัน/ปี และโรงงานผลิตเอทิลีนออกไซด์ (EO) 1 แสนตัน/ปี
 
แม้สหรัฐอเมริกาจะมีความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีสูง แต่ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งนอกจากจะมีแหล่งวัตถุดิบ ตลาดอเมริกายังเป็นเป้าหมายสำคัญอีกด้วย โดยบริษัทฯ เตรียมเซ็นสัญญาร่วมทุนในโครงการประมาณไตรมาส 3 หรือ 4 ปีนี้ และคาดว่าจะเริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในปี  5 ปีข้างหน้า 
 
“เรามีความชำนาญและเป็นบริษัทคนไทยที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้มานานกว่า 30 ปี เราจะนำความรู้ ประสบการณ์ด้านปิโตรเคมิคอลเข้าไปใช้วัตถุดิบซึ่งอเมริกาไม่ใช้และมีราคาถูก การที่เราเข้าไปเป็นเจ้าแรกจึงมีอำนาจการต่อรองสูง” สุพัฒนพงษ์กล่าวถึงโครงการนี้ 
 
ในขณะที่อีกหนึ่งโครงการใหญ่ คือ โครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ที่อินโดนีเซีย ตลาดอินโดนีเซียใหญ่และมีอัตราการเติบโตสูง PTTGC ได้เซ็นสัญญาร่วมทุนกับเปอร์ตามิน่า บริษัทน้ำมันแห่งชาติของประเทศอินโดนีเซีย เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว โดยได้จัดตั้งบริษัท พีที อินโดไทย เทรดดิ้ง (PT IndoThai Trading) เพื่อจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์และรองรับตลาดสินค้าต่อเนื่องของกลุ่มโอเลฟินส์ โดยโครงการนี้ตั้งอยู่ที่บาลองกัน เกาะชวา 
 
สัดส่วนการร่วมทุนของโครงการนี้คือ PTTGC 49% และ PT Pertamina 51%  จุดประสงค์หลักคือขยายตลาดกลุ่มสินค้าโพลิเมอร์ในประเทศอินโดนีเซีย และลงทุนร่วมในโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ที่มีความครบวงจร และมีความสามารถในการแข่งขันจากกำลังการผลิตขนาดใหญ่ ซึ่งประกอบด้วยโรงงานโอเลฟินส์ กำลังการผลิต 1 ล้านตันต่อปี เป็นหน่วยผลิตต้นน้ำ และโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกต่อเนื่อง ที่ใช้วัตถุดิบจากโรงงานโอเลฟินส์ ได้แก่ PE, PP และ MEC
 
ล่าสุด PTTGC และ Pertamina กำลังเจรจากับซาอุดิ อารัมโก เพื่อให้มาร่วมลงทุน หลังจากเปอร์ตามิน่าเลือกซาอุดิ อารัมโกมาเป็นพันธมิตรปรับปรุงโรงกลั่นน้ำมันเพื่อให้มีแนฟทามาต่อยอดทำปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ ทั้งนี้ เปอร์ตามิน่าจะเป็นผู้เจรจากับซาอุดิ อารัมโกต่อไป
 
โครงการนี้ใช้เงินลงทุนประมาณ 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าจะได้ผลสรุปประมาณไตรมาส3ปี 2558 นี้ ทั้งนี้ PTTGC คาดว่าโครงการดังกล่าวจะสามารถเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2560    
 
ส่วนอีกหนึ่งโครงการ คือ  PU Project  ซึ่งเป็นการลงทุนครบวงจรในห่วงโซ่ผลิตภัณฑ์โพลิยูรีเทน PTTGC ลงทุนซื้อหุ้น Vencorex ในฝรั่งเศส ทำให้ได้เทคโนโลยีการผลิต Isocyanate ผลิตภัณฑ์ต้นน้ำในการผลิตโพลิยูรีเทน บริษัทคาดว่าจะร่วมทุนกับพันธมิตรที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีและตลาดได้ภายในไตรมาส 3 นี้ เพื่อตั้งโรงงานผลิต โพรพิลีนออกไซด์ (PO) ขนาด 2 แสนตัน/ปี และโครงการโพลีออล (Polyols) ขนาด 1-1.5 แสนตัน/ปี มูลค่าการลงทุนประมาณ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการและผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส 4/2562
 
ในขณะเดียวกัน บริษัท ฯ ก็มีแผนการลงทุนไปอีกหลายประเทศ อาทิ จีน หรือแถบอาเซียน โดยเฉพาะ กลุ่มประเทศ CLMV อีกด้วย
 
ทั้งนี้ บริษัทกำลังปรับปรุงโมเดลการผลิตรองรับการใช้แนฟทาที่ได้จากกระบวนการกลั่นมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตโอเลฟินส์มากขึ้น จากปัจจุบันที่บริษัทฯ ใช้ก๊าซเป็นวัตถุดิบหลักเกือบทั้งหมด เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างก๊าซกับแนฟทา เพื่อความมั่นคงในระยะยาว  
 
ซึ่งการรุกต่างประเทศนั้นนอกจากจะมุ่งเน้นประเทศที่มีศักยภาพทางการตลาดแล้ว ยังเน้นด้านแหล่งวัตถุดิบอีกด้วย ถือเป็นแผนรองรับการจัดหาวัตถุดิบเพื่อผลิตปิโตรเคมีในอนาคต จากปัจจุบันที่ต้องพึ่งพิงวัตถุดิบจากก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ที่อาจมีปริมาณลดลงในอนาคต  ดังนั้น บริษัทฯ จึงต้องศึกษาแผนรองรับหลายแนวทาง ทั้งการใช้วัตถุดิบจากโรงกลั่นน้ำมันของบริษัทเอง (แนฟทา) การนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ และการนำก๊าซจากหินดินดานจากสหรัฐฯ มาใช้ ทั้งนี้เพื่อสร้างมั่นใจว่าจะไม่ทำให้กำลังการผลิตปิโตรเคมีของบริษัทลดลง
 
ปัจจุบัน บริษัท พีทีที โกลบอล เคมีคอล จำกัด (มหาชน) PTTGC เป็นผู้ผลิตปิโตรเคมีรายใหญ่ในประเทศไทย ดำเนินธุรกิจปิโตรเลียม และการกลั่นครบวงจร (integrated Petrochemical and Refining) ด้วยกำลังการผลิตปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์รวม 8.75 ล้านตันต่อปี และมีกำลังการกลั่นน้ำมันดิบและคอนเดนเสทรวม 280,000  บาร์เรลต่อวัน ซึ่งถือเป็นผู้ผลิตปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่มีความหลากหลายมากถึง 7 กลุ่มธุรกิจ มีความครบวงจรจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทำให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มแก่วัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ได้อย่างเต็มศักยภาพ  
 
กลุ่มธุรกิจ 7 กลุ่มหลัก ได้แก่ (1) กลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและสาธารณูประการ (2) กลุ่มผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์ (3) กลุ่มผลิตภัณฑ์โอ เลฟินส์ (4) กลุ่มผลิตภัณฑ์โพลิเมอร์ (5) กลุ่มธุรกิจเอทิลีนออกไซด์ (6) กลุ่มผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม (7) กลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษ  
 
จากผลประกอบการไตรมาสแรก ปี 2558  PTTGC มีรายได้จากการขาย 99,251 ล้านบาท กำไรสุทธิ 5,631 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 218 จากไตรมาส 4/2557 
 
“ผลประกอบการที่ดีขึ้นเนื่องราคาน้ำมันลดลง ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่ดีมาก ทั้งนี้ เราไม่มีความประมาทใดๆ ทั้งสิ้นจากบทเรียนปีที่แล้วเราได้ปรับปรุงการดำเนินงาน และติดตามสถานการณ์ตลาดอย่างใกล้ชิด”  สุพัฒนพงษ์ ระบุ
 
ขณะเดียวกันราคาน้ำมันที่กลับมาปรับตัวสูงขึ้นที่ระดับ 64-65 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล จากไตรมาสแรกที่เฉลี่ย 52 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ทำให้ราคาเม็ดพลาสติกปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1,400 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน จะช่วยให้ผลประกอบการ PTTGC ในไตรมาส 2 ดียิ่งขึ้น แม้จะมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบ เช่น ราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น หรือภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวทั้งในญี่ปุ่น ยุโรป และประเทศจีนก็ตาม
 
การก้าวเดินอย่างระมัดระวังและรอบคอบของ PTTGC บริษัทสายเลือดไทยจะก้าวไกลไปยังเวทีโลก จะราบรื่นหรือไม่คงต้องรอดู