วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > SODEXO ชู “Flexible Model” กลยุทธ์สู่การเติบโตก้าวข้ามวิกฤตโควิด

SODEXO ชู “Flexible Model” กลยุทธ์สู่การเติบโตก้าวข้ามวิกฤตโควิด

ชื่อของ “โซเด็กซ์โซ่” อาจจะไม่เป็นที่พบเห็นได้บ่อยนัก แต่บริษัทสัญชาติฝรั่งเศสแห่งนี้กลับเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่อยู่เบื้องหลังบริษัทชั้นนำมากมาย และมีสาขาอยู่ในประเทศต่างๆ กว่า 56 ประเทศทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย และที่สำคัญมีผลประกอบการและการเติบโตชนิดที่เรียกได้ว่า “ไม่ธรรมดา”

โซเด็กซ์โซ่ หรือ Sodexo ก่อตั้งขึ้นที่เมืองมาร์เซย์ (Marseilles) ประเทศฝรั่งเศส ในปี 1966 โดยเริ่มต้นธุรกิจด้วยการให้บริการด้านอาหารและโภชนาการแก่โรงเรียน โรงพยาบาล และสถาบันต่างๆ ก่อนจะขยายธุรกิจสู่การให้บริการหลากหลายรูปแบบทั้งบริหารวิศวกรรมอาคาร ซ่อมบำรุง รักษาความปลอดภัย บริการพนักงานต้อนรับและจุดบริการข้อมูล ทำความสะอาด ดูแลสวนและภูมิทัศน์ พร้อมขยายตลาดไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยในปี 2004 หรือใน พ.ศ. 2547

สำหรับโซเด็กซ์โซ่ ประเทศไทย ยังคงมีแกนหลักของธุรกิจเช่นเดียวกับบริษัทแม่จากฝรั่งเศส อย่างธุรกิจการให้บริการด้านอาหารสำหรับลูกค้าในธุรกิจสถานพยาบาล องค์กรทั่วไป นักเรียนในสถานศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงเรียนนานาชาติ รวมถึงพนักงานที่แท่นขุดเจาะนอกชายฝั่งซึ่งถือเป็นจุดแข็งที่สร้างรายได้ให้กับธุรกิจได้อย่างดี

อีกหนึ่งส่วนที่สำคัญคือการให้บริการด้านอาคารที่ครอบคลุมทั้งด้านเทคนิคและวิศวกรรมอาคาร (Hard Services) อย่างการดูแลซ่อมบำรุงอาคาร บริการก่อสร้าง บริหารโครงการ บริการระบบปรับอากาศและประปา บริการด้านสิ่งแวดล้อม บริหารการจัดการขยะ บริการจัดการเทคโนโลยีทางการแพทย์ รวมถึงบริการทั่วไป (Soft Services) บริการทำความสะอาด รักษาความปลอดภัย พนักงานต้อนรับและจุดบริการข้อมูล ดูแลสวนและภูมิทัศน์ บริการจัดการคลังสินค้า บริหารจัดการห้องประชุม บริการซักรีด และบริการควบคุมกำจัดสัตว์รบกวน

“เราให้บริการทุกอย่างที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักขององค์กรนั้นๆ เหมือนเป็นหลังบ้านให้กับเขา อย่างธุรกิจโรงพยาบาลเขาก็มุ่งให้บริการทางด้านการแพทย์และการรักษาเป็นหลัก โซเด็กซ์โซ่ก็เข้าไปให้บริการด้านอาหารและโภชนาการแทน รวมถึงงานซ่อมบำรุงต่างๆ ซึ่งนั่นทำให้เรามีผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ มากที่สุดในประเทศไทย” อาร์โนด์ เบียเลคกิ ประธานบริหาร โซเด็กซ์โซ่ ประเทศไทย และผู้อำนวยการ กลุ่มลูกค้าองค์กร เอเชียตะวันออกเฉียงใต้, ไทย, ฟิลิปปินส์, มาเลเซียและอินโดนีเซีย กล่าวถึงขอบข่ายการให้บริการที่ครอบคลุมในทุกด้าน

เรียกได้ว่าเป็นบริษัทเอาต์ซอร์ส (outsource) ที่ให้บริการแบบ On-Site เต็มรูปแบบและครอบคลุมในทุกด้าน ซึ่งนั่นทำให้กลุ่มลูกค้าของโซเด็กซ์โซ่หลากหลายด้วยเช่นกัน ทั้งองค์กรทั่วไป สถานพยาบาล องค์กรพื้นที่ห่างไกล และสถานศึกษา ซึ่งล้วนแต่เป็นเบอร์ต้นๆ ของแวดวงธุรกิจในประเทศทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลสมิติเวช, โรงพยาบาลกรุงเทพ, โรงพยาบาลพญาไท, โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์, โรงเรียนนานาชาติคอนคอร์เดียน, บริษัท กูเกิล ประเทศไทย, หัวเว่ย ประเทศไทย, บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน), ยูนิลีเวอร์, มหาวิทยาลัยกรุงเทพ รวมถึงองค์กรในพื้นที่ห่างไกลอย่าง คริสเอ็นเนอร์ยี่, เชลฟ์ ดริลลิ่ง และเชฟรอน

แม้ว่ากลุ่มลูกค้าของโซเด็กซ์โซ่จะหลากหลายและล้วนเป็นองค์กรชั้นนำของประเทศ แต่แน่นอนว่าการเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยย่อมมีความท้าทาย อาร์โนด์ได้กล่าวถึงความท้าทายในการทำธุรกิจของโซเด็กซ์โซ่ในไทยไว้ว่า

“ความท้าทายอย่างหนึ่งของธุรกิจนี้คือเรื่องของคน ธุรกิจการให้บริการอย่างแม่บ้าน รปภ. ช่าง เป็นงานที่ไม่ค่อยมีคนอยากเข้ามาทำเท่าไรนัก ซึ่งเป็นปัญหาที่พบได้ในทุกประเทศ แต่ทางฝั่งยุโรปด้วยค่าเงินและค่าตอบแทนที่สูงกว่าทำให้ยังมีคนอยากเข้าไปทำ แต่เมืองไทยค่อนข้างหายาก ทำให้พนักงานด้านนี้จึงยังไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด”

กลยุทธ์ที่โซเด็กซ์โซ่นำมาแก้ปัญหาคือการเพิ่มสวัสดิการและค่าตอบแทนที่พอเหมาะ แต่ไม่สูงกว่าตลาดจนเกินไปนัก เพื่อให้การแข่งขันทางการตลาดยังคงสามารถดำเนินต่อไปได้ รวมถึงการสร้างโอกาสในการเติบโตทางสายงาน เพิ่มทักษะที่สำคัญและนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ร่วมด้วยเพื่อสร้างรายได้ที่มากขึ้นให้พนักงาน

อาร์โนด์เน้นย้ำว่า “โซเด็กซ์โซ่ไม่ใช่บริษัทที่ผลิตสินค้าแต่เราสร้างคน เพราะฉะนั้นพนักงานคือสิ่งที่สำคัญที่สุด เราต้องทำให้พนักงานอยากมาทำงานกับเรา มีความสุขและเติบโตในการทำงาน และอยู่กับองค์กรไปนานๆ”

ปัจจุบันโซเด็กซ์โซ่ มีสำนักงานอยู่ใน 56 ประเทศ จำนวนพนักงานทั้งสิ้น 420,000 คนทั่วโลก ซึ่งถือเป็นองค์กรที่มีพนักงานมากที่สุดเป็นอันดับ 19 ของโลก สร้างรายได้รวมกว่า 17.4 พันล้านยูโร ในขณะที่โซเด็กซ์โซ่ ประเทศไทย มีพนักงานกว่า 4,000 คน ให้บริการลูกค้าทุกกลุ่มรวมกันมากกว่า 190 แห่ง ปีที่ผ่านมาสร้างรายได้ราวๆ 2.1 พันล้านบาท

ไม่เพียงตัวเลขรายได้และจำนวนสาขาที่กระจายไปในหลายประเทศเท่านั้นที่น่าสนใจ แต่การร่วมมือกับองค์กรธุรกิจชั้นนำในไทยก็ถือเป็นการเติบโตทางธุรกิจที่น่าจับตาไม่น้อย อย่างการจับมือกับบริษัท อมตะ ฟาซิลิตี้ เซอร์วิส จำกัด ในเครืออมตะ คอร์ปอเรชัน ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ ก่อตั้งบริษัท โซเด็กซ์โซ่ อมตะ เซอร์วิสเซส จำกัด ขึ้นในปี 2558 เพื่อให้บริการกับบริษัทที่ดำเนินธุรกิจอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม อมตะซิตี้ ชลบุรี และนิคมอุตสาหกรรม อมตะซิตี้ ระยอง ซึ่งมีการเติบโตในทิศทางที่ดีและมีลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ที่สำคัญยังมีการจัดตั้ง Amata Command Center (ACC) ศูนย์กลางในการบริหารจัดการพื้นที่ภายในนิคมที่ให้บริการ 24 ชั่วโมง ทั้งการซ่อมบำรุง รักษาความปลอดภัย และอัคคีภัย ช่วยทำให้ลูกค้าในนิคมลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้ และเป็นโมเดลที่ตอบโจทย์ในยุคโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี

ปฏิเสธไม่ได้ว่าวิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้นได้สร้างผลกระทบและความเปลี่ยนแปลงให้กับทุกองค์กรรวมถึงโซเด็กซ์โซ่ด้วยเช่นกัน การประกาศล็อกดาวน์ ปิดสถานศึกษา และมาตรการ work from home สร้างผลกระทบโดยตรง ทำให้ลูกค้าบางส่วนขอลดจำนวนแม่บ้าน รปภ. และบริการต่างๆ เพื่อลดค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มลูกค้าที่เป็นโรงเรียน ธุรกิจโรงแรม และโรงพยาบาล

ช่วงที่เกิดการระบาดอย่างหนักโรงพยาบาลซึ่งเป็นหนึ่งในลูกค้าหลักของโซเด็กซ์โซ่ได้รับผลกระทบโดยตรง การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพซึ่งเป็นจุดแข็งของธุรกิจโรงพยาบาลไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ ผู้ป่วยทั่วไปที่อาการไม่หนักมักจะเลื่อนการรักษาออกไปก่อน ส่งผลให้โรงพยาบาลหลายแห่งมีรายได้ลดลง รวมถึงลูกค้ากลุ่มสำนักงานต่างๆ ก็ประกาศปิดเพื่อให้พนักงานทำงานที่บ้านแทน ซึ่งส่งผลกระทบต่อโซเด็กซ์โซ่โดยตรง ทั้งในฐานะผู้ให้บริการด้านอาหารในโรงพยาบาล บริการรักษาความปลอดภัย และแม่บ้านทำความสะอาด

สิ่งที่โซเด็กซ์โซ่ทำคือการปรับการให้บริการ มีการนำเสนอบริการใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ อย่างบริการทำความสะอาดเพื่อฆ่าเชื้อ ถ่ายโอนพนักงานไปยังธุรกิจที่สามารถดำเนินต่อไปได้อย่างนิคมอุตสาหกรรมและการผลิต รวมถึงการนำโมเดลธุรกิจที่เรียกว่า “Flexible Model” มาใช้ เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจในยุคโควิด

“Flexible Model” เป็นการให้บริการโดยปรับตามความต้องการของลูกค้าหรือ out put เป็นหลัก พร้อมนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ เข้ามาช่วย เพื่อลดจำนวนพนักงานและลดค่าใช้จ่ายในระยะยาว จากเดิมที่การจ้างงานเน้นจำนวนคน แต่ปัจจุบันจะดูว่าลูกค้าต้องการอะไร แล้วโซเด็กซ์โซ่จะนำมาคำนวณว่าต้องใช้พนักงานเท่าไร มีเทคโนโลยีอะไรที่นำมาช่วยได้ อย่างเช่น command center หรือศูนย์บัญชาการกลางในนิคมอุตสาหกรรมที่มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ กล้อง CCTV หรืออย่างหุ่นยนต์ทำความสะอาดเป็นต้น ทำให้ช่วยลดจำนวนคนแต่ยังคงประสิทธิภาพไว้เช่นเดิม และคิดค่าบริการตามจริง เช่น คิดค่าทำความสะอาดตามจำนวนห้องหรือจำนวนพื้นที่ที่เปิดให้บริการเท่านั้น

อาร์โนด์เปิดเผยว่า โมเดลดังกล่าวมีการเตรียมพร้อมมาก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 แล้วระยะหนึ่งแต่ลูกค้ายังไม่ค่อยสนใจ จนเมื่อเกิดการระบาดโมเดลดังกล่าวจึงถูกนำมาเป็นกลยุทธ์หลัก ซึ่งได้รับการตอบรับจากกลุ่มลูกค้าเป็นอย่างดีเพราะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ แต่ผลลัพธ์ที่ต้องการยังคงเหมือนเดิม อีกทั้งยังคล่องตัวและสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา นั่นทำให้องค์กรได้รับผลกระทบจากโควิดเพียงช่วงแรกเท่านั้น ในขณะที่ภาพรวมของธุรกิจยังคงเป็นไปในทิศทางที่ดี

จากผลสำเร็จจากการนำโมเดลดังกล่าวมาใช้ ทำให้โซเด็กซ์โซ่วาง “Flexible Model” ให้เป็นกลยุทธ์หลักในการดำเนินธุรกิจในอนาคต เพราะถือเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพในการรับมือและทำให้ธุรกิจของโซเด็กซ์โซ่สามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องท่ามกลางความท้าทายจากวิกฤตโควิด-19

อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่น่าจับตามองคือการทุ่มงบลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท ของกลุ่มบริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) เพื่อสร้างโรงเรียนสอนประกอบอาหาร เลอโนท ประเทศไทย (Lenôtre Culinary Arts School Thailand) โรงเรียนสอนศิลปะการทำอาหารสัญชาติฝรั่งเศส ณ บริเวณพื้นที่ลานริมทะเลสาบเมืองทองธานี เมื่อเดือนตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งแบรนด์เลอโนท ถือเป็นอีกหนึ่งบริษัทในเครือของโซเด็กซ์โซ่ด้วยเช่นกัน โดยทางโซเด็กซ์โซ่ได้เข้าซื้อกิจการของเลอโนท ปารีส มาตั้งแต่ปี 2554

สำหรับการเปิดโรงเรียนสอนประกอบอาหาร เลอโนท ในประเทศไทยนั้น บางกอกแลนด์ได้ทำสัญญากับเลอโนท ปารีส เป็นระยะเวลา 10 ปี โดยคาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จและสามารถเปิดการเรียนการสอนทั้งหลักสูตรระยะสั้นและระยะยาวให้กับผู้เรียนในประเทศและจากนานาชาติได้ในช่วงปลายปี 2565 และถือเป็นการเปิดให้บริการเป็นแห่งแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากเปิดโรงเรียนสอนทำอาหารแล้ว บางกอกแลนด์ยังมีแผนในการเปิดร้านเบเกอรี่แบรนด์เลอโนทเพิ่มเติมอีกด้วย

ซึ่งเลอโนทเคยเข้ามาทำการตลาดในประเทศไทยเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ในฐานะร้านเบเกอรี่จากฝรั่งเศส แต่กลับเงียบหายไปหลังจากนั้น การนำแบรนด์เลอโนทกลับมาอีกครั้งของบางกอกแลนด์จะเข้ามาตอบโจทย์ธุรกิจไมซ์ซึ่งเป็นธุรกิจหลักในเครือบางกอกแลนด์ ทั้งการจัดงานประชุมสัมมนา การแสดงสินค้าและนิทรรศการ รวมถึงเสริมธุรกิจจัดเลี้ยงภายใต้แบรนด์ อิมแพ็ค เคเทอริ่ง ได้เป็นอย่างดี โดยจะใช้เจาะกลุ่มลูกค้าตลาดบนจากฐานลูกค้าเดิมเพิ่มเติม

แน่นอนว่าเมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จน่าจะสร้างความเคลื่อนไหวในแวดวงธุรกิจอาหารและสร้างเม็ดเงินให้ทั้งกับบางกอกแลนด์และโซเด็กซ์โซ่ในอนาคตได้เป็นอย่างดี

ใส่ความเห็น