ห้างค้าปลีกเจอพิษผลกระทบไวรัสกลายพันธุ์ “โอมิครอน” เข้าอย่างจัง โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนแคมเปญเคานต์ดาวน์ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2565 ยกเลิกมหกรรมฉลองสุดอลังการดึงดูดผู้คนทั่วสารทิศ ทำลายความหวังการกอบโกยรายได้หลายหมื่นล้านหายไปในพริบตา
ขณะเดียวกัน ท่ามกลางความหวาดกลัวเรื่องการแพร่ระบาดที่อาจรุนแรงขึ้นและลุกลามเกิดคลัสเตอร์ใหญ่ส่งผลโดยตรงต่อการออกมาจับจ่ายซื้อสินค้า ซึ่งศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565 คาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัดจากการใช้จ่ายของประชาชนทั่วประเทศราว 85,796.49 ล้านบาท ลดลง 6.2% จากปีก่อน และถือว่าปีนี้ต่ำสุดในรอบ 12 ปี นับตั้งแต่ปี 2554 จากเดิมที่เคยคาดการณ์ว่าการใช้จ่ายปีใหม่จะอยู่ในกรอบเดิม 120,000-140,000 ล้านบาท เป็นผลจากการแพร่ระบาดของโอมิครอน การประกาศยกเลิก Test & Go และการงดจัดงานเคานต์ดาวน์ในหลายๆ แห่ง
ยิ่งไปกว่านั้น ตัวเลขกว่า 86,000 ล้านบาท ยังต้องดูบรรยากาศจริง ซึ่งอาจลดลงได้อีก 5,000-10,000 ล้านบาท หากโควิดระลอกใหม่รุนแรงขึ้น
ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า เทศกาลปีใหม่ 2565 น่าจะให้ภาพบรรยากาศที่กลับมาคึกคักมากขึ้นกว่าปีก่อน จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และการเข้าถึงวัคซีนที่ดีขึ้นประกอบกับมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อของภาครัฐและการเร่งจัดแคมเปญส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการในช่วงเทศกาล แต่ต้องติดตามการระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน โดยประเมินเม็ดเงินการใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลปีใหม่น่าจะอยู่ที่ประมาณ 30,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% จากฐานที่ต่ำในช่วงปีใหม่ปีที่แล้ว
ทั้งนี้ ประมาณการมูลค่าการใช้จ่ายตามประเภทกิจกรรม ได้แก่ การเลี้ยงสังสรรค์ ค่าอาหารเครื่องดื่ม มีเม็ดเงินมากที่สุด 10,750 ล้านบาท
รองลงมา กิจกรรมชอปปิ้ง ซื้อสินค้าส่วนตัว ของขวัญ 8,100 ล้านบาท การเดินทางในประเทศ ค่าเดินทาง ที่พัก 7,800 ล้านบาท ค่าบริการ กิจกรรมสันทนาการ 1,900 ล้านบาท การทำบุญ ไหว้พระ สวดมนต์ 1,350 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ให้เงินครอบครัว มอบบัตรของขวัญ อยู่ที่ 600 ล้านบาท
สำหรับการใช้จ่ายซื้อสินค้าและของขวัญในช่วงส่งท้ายปี 2564 น่าจะฟื้นตัวจากภาวะหดตัวในปีก่อนที่ประชาชนปรับลดงบประมาณการชอปปิ้ง โดยค่าใช้จ่ายชอปปิ้งซื้อสินค้าภาพรวมในปีนี้ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการขยายเวลาเปิดร้านค้าและห้างสรรพสินค้า อานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และการเร่งจัดแคมเปญการตลาด โปรโมชั่นลดราคาอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขคาดการณ์ต่างๆ อยู่ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดที่ไม่รุนแรง หลายฝ่ายจึงจับตาสัญญาณความหวั่นวิตก หลังเกิดคลัสเตอร์ในร้านอาหารกึ่งผับและการออกมาประกาศยกเลิกการจัดกิจกรรมทั้งหมดของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ทั้งกิจกรรมปีใหม่ และกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีในวันที่ 31 ธันวาคม 2564 และ 1 มกราคม 2565 ที่ลานคนเมือง รวมถึงในส่วนสำนักงานเขตและหน่วยงานทั้งหมดของ กทม.
นอกจากนั้น กทม. ยังขอความร่วมมือภาคเอกชนงดจัดกิจกรรมด้วย แต่หากจะจัดต้องมีมาตรการเข้มข้นขึ้น โดยใช้มาตรการ Covid Free Setting ที่รัฐบาลกำหนด และหลีกเลี่ยงไม่ไปในที่ที่มีคนรวมตัวจำนวนมาก เพื่อไม่ให้เกิดสถานการณ์ซ้ำรอยการระบาดหนักในช่วงที่ผ่านมา
ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เซ็นทรัลพัฒนาตัดสินใจปรับรูปแบบงานเคานต์ดาวน์ Central World Bangkok Countdown 2022 เป็นแบบ 3D Virtual ถ่ายทอดสดการแสดงพลุวินาทีข้ามปีต่อเนื่องกว่า 7 นาที พร้อมร่วมส่ง “MESSAGE TO THE WORLD” ข้อความจุดประกายแรงบันดาลใจไปยังทั่วโลก ย้ำความเป็นโกลบอลซิติเซ็นและไทมส์สแควร์แห่งเอเชีย
ในวันส่งท้ายปี 31 ธันวาคม 2564 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์จะเปิดให้บริการถึง 23.00 น. ต้นคริสต์มาสและคริสต์มาสมาร์เก็ตหน้าลานเซ็นทรัลเวิลด์เปิดให้บริการถึง 24.00 น. และคุมเข้มมาตรการ Safe Plus+ ทุกจุด ผู้เที่ยวในงานต้องแสดงหลักฐานรับวัคซีน 2 เข็มขึ้นไป หลักฐานการตรวจ ATK ที่ไม่พบเชื้อ ไม่เกิน 48 ชั่วโมง โดยศูนย์การค้าเตรียมจุดบริการตรวจ ATK ค่าตรวจ 100 บาทต่อคน
ส่วนเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ ปรับงาน ASIATIQUE Thailand Countdown 2022 ภายใต้แนวคิด From Dusk till Dawn ผ่าน Live Streaming Asiatique The Riverfront โดยจัดการแสดงพลุเคานต์ดาวน์สื่อความหมายการส่งมอบความรักให้แก่กัน (Love) ความรุ่งเรือง (Prosperous) และความสุขสมหวัง (Happiness) เพื่อเป็นกำลังใจให้ผู้ชมทั้งในประเทศและทั่วโลก ควบคุมการแสดงพลุโดยนักออกแบบพลุชาวไทย สราวุฒิ ต่ายทรัพย์ หนึ่งในทีม Pyro 2000 แชมป์โลกจากประเทศอังกฤษ และการเปิดแผ่นเสียงของ DJ Lady Punch ตั้งแต่เวลา 23.00 – 00.25 น.
ขณะที่ “ไอคอนสยาม” แม้เดินหน้าการจัดงานฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ Amazing Thailand Countdown 2022 แต่ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัยสูงสุด เปิดให้ประชาชนเข้าร่วมงานในจำนวนจำกัด ภายใต้มาตรการ COVID Free Setting โดยต้องลงทะเบียนรับสิทธิ์สำรองที่นั่งเข้าชมงานล่วงหน้า คนละ 1 สิทธิ์ ผ่านแอปพลิเคชัน ONESIAM SuperApp และผู้ที่ได้รับสิทธิ์ต้องมาแสดงตน พร้อมหลักฐานบัตรประชาชนตัวจริง หลักฐานการฉีดวัคซีน 2 เข็ม จากแอปพลิเคชัน หมอพร้อม หรือออกโดยโรงพยาบาล พร้อมเข้ารับการตรวจ Antigen Test Kit หรือ ATK ณ จุดบริการไอคอนสยาม และแสดงผล Negative เท่านั้น
แน่นอนว่า เครือข่ายห้างค้าปลีกอีกหลายแห่งสูญเสียโอกาสปลุกรายได้ช่วงโค้งสุดท้ายของปีจากบรรยากาศที่อาจซบเซาทำให้ต้องเตรียมกลยุทธ์ปลุกบรรยากาศการจับจ่ายในไตรมาสแรกของปี 2565 ซึ่งยังเป็นช่วง High Season ควันหลงช่วงเฉลิมฉลองปีใหม่และมีเทศกาลใหญ่ๆ ดึงดูดนักชอปและนักท่องเที่ยว ทั้งวาเลนไทน์ ตรุษจีน และสงกรานต์ โดยมีมาตรการรัฐที่เพิ่งประกาศมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน คือ “ช้อปดีมีคืน” เป็นตัวกระตุ้น
โครงการนี้กำหนดให้ผู้มีเงินได้สามารถหักลดหย่อนค่าสินค้าหรือค่าบริการ เมื่อซื้อสินค้าหรือการรับบริการจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมถึงค่าซื้อหนังสือและค่าบริการหนังสือที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตและค่าสินค้าโอท็อป ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30,000 บาท เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-15 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งกระทรวงการคลังคาดการณ์ว่า รัฐอาจสูญเสียรายได้ภาษีราว 6,200 ล้านบาท แต่จะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากกว่า 42,000 ล้านบาท ดันอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจ 0.12% และดึงผู้ประกอบการทั่วไปเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) มากขึ้นจากผู้เข้าร่วมโครงการ 1.4 ล้านราย
นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า สมาคมผู้ค้าปลีกไทยผลักดันมาตรการช้อปดีมีคืนมาตลอด เพราะถือเป็นกุญแจสำคัญในการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทยได้โดยทันทีและมีกลุ่มเป้าหมายผู้มีเงินได้ในระบบกว่า 3.7-4.0 ล้านคน ถือเป็นกระสุนทางเศรษฐกิจนัดแรกที่มีประสิทธิภาพ สนับสนุนการใช้จ่ายของผู้คนได้ตรงจุด และส่งเสริมมาตรการท่องเที่ยวของรัฐ จะสร้างเม็ดเงินสะพัดเข้าระบบเศรษฐกิจกว่า 4-5 หมื่นล้านบาท และอยากให้รัฐบาลดำเนินโครงการต่อเนื่อง เพื่อเป็นกระสุนทางเศรษฐกิจนัดต่อๆ ไป ดึงเม็ดเงินจากผู้ที่มีกำลังซื้อสูง เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยทั้งระบบ
ก่อนหน้านี้ สมาคมผู้ค้าปลีกไทยเคยเสนอให้รัฐเร่งฟื้นมาตรการช้อปดีมีคืนกลับมาใช้ในโค้งสุดท้ายของปี 2564 ตั้งแต่ 15 พฤศจิกายน-31 ธันวาคม 2564 โดยไม่จำกัดเงื่อนไขและไม่จำกัดสิทธิกลุ่มที่เคยลงทะเบียนในมาตรการอื่นๆ ของรัฐบาล เช่น คนละครึ่ง และยิ่งใช้ยิ่งได้ เพราะคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมโครงการกว่า 1.5-2.0 ล้านคน และขยายวงเงินเป็น 200,000 บาท จากเดิม 30,000 บาท เพื่อปลุกกระแสเงินสะพัดกว่า 3-4 แสนล้านบาท ส่งผลให้ GDP เติบโตขึ้นถึง 0.7-1.0%
แม้วงเงินไม่ได้ตามเป้าและจังหวะเวลาช้ากว่าที่คาดหมาย แต่กระสุนเศรษฐกิจนัดนี้ถือเป็นอีกความหวังของกลุ่มธุรกิจค้าปลีกหลังชวดมหกรรมทำเงินแคมเปญเคานต์ดาวน์ไปอย่างน่าเสียดายแล้ว